ภาษาฝรั่งเศส เข้ามา ใน ไทย ได้ อย่างไร

การติดต่อสัมพันธ์กันทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทย  ด้วยสาเหตุหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้ 

1.ความสัมพันธ์กันทางเชื้อชาติและถิ่นที่อยู่อาศัยตามสภาพภูมิศาสตร์

ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อหรือใกล้เคียงกันกับมิตรประเทศกับประเทศต่าง ๆ หลายประเทศได้แก่ พม่า ลาว มาเลเซีย เขมร มอญ  ญวน จึงทำให้คนไทยที่อยู่อาศัยบริเวณชายแดนมีความเกี่ยวพันกับชนชาติต่าง ๆ โดยปริยาย มีการเดินทางข้ามแดนไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน มีการแต่งงานกันเป็นญาติกัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้ภาษาของประเทศเหล่านั้นเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทย

2.ความสัมพันธ์กันทางด้านประวัติศาสตร์

ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการอพยพโยกย้ายของคนไทยเข้ามาอยู่ในถิ่น  ซึ่งชนชาติอื่นเคยอาศัยอยู่ก่อน  หรือมีการทำศึกสงครามกับชนชาติอื่น  มีการกวาดต้อนชนชาติอื่น เข้ามาเป็นเชลยศึก  หรือชนชาติอื่นอพยพเข้ามาอยู่ ในแผ่นดินไทยด้วยเหตุผล ต่าง ๆ และอาจจะกลายเป็นคนไทยในที่สุด ผลที่ตามมาก็คือคนเหล่านั้น ได้นำถ้อยคำภาษาเดิม ของตนเองมาใช้ปะปนกับ ภาษาไทย

3.ความสัมพันธ์กันทางด้านการค้า

จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยมีการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับชนชาติต่าง ๆ มาเป็นเวลาอันยาวนาน เช่น ชาวจีน ชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา ตลอดถึงญี่ปุ่น ยิ่งปัจจุบันการค้าขายระหว่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้น มีการใช้ภาษา-ต่างประเทศในวงการธุรกิจการค้ามากขึ้น คำภาษาต่างประเทศมีโอกาสเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยได้ตลอดเวลาไม่มีวันสิ้นสุด

4. ความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา

คนไทยมีเสรีภาพในการยอมรับนับถือศาสนามาเป็นเวลาช้านาน เมื่อยอมรับนับถือศาสนาใดก็ย่อมได้รับถ้อยคำภาษาที่ใช้ในคำสอน หรือคำเรียกชื่อต่าง ๆ ในทางศาสนาของศาสนานั้น ๆ มาปะปนอยู่ในภาษาไทยด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤต ศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลี ศาสนาอิสลามใช้ภาษาอาหรับ และศาสนาคริสต์ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ ในทางศาสนาก็จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยด้วย

5.ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี

เมื่อชนชาติต่าง ๆ เข้ามาสัมพันธ์ติดต่อกับชนชาติไทย หรือเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย ย่อมนำเอาวัฒนธรรมและประเพณีที่เคยยึดถือปฏิบัติอยู่ในสังคมเดิมของตนมาประพฤติปฏิบัติในสังคมไทย นาน ๆ เข้าถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและประเพณีเหล่านั้น ก็กลายมาเป็นถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น จนถึงปัจจุบันการหยิบยืมคำจากภาษาอื่นมาใช้ในการสื่อสารยังไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่เรายังติดต่อ สัมพันธ์ กับชาวต่างชาติ การหยิบยืมภาษาต่างประเทศมาใช้ในการสื่อสารจะต้องคงมีตลอดไป ภาษาไทยหยิบยืมภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร เข้ามาใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทั้งในส่วนของรูปคำและวิธีการสร้างคำใหม่จำนวนมากมาย เป็นเวลายาวนานจนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ  ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลในการติดต่อสื่อสารจึงเป็นภาษา ต่างประเทศที่เข้ามามี อิทธิพลต่อคนไทยมากที่สุด

6.ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี

ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีของประเทศที่เจริญแล้ว ทำให้เกิดเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับอำนวยความสะดวกแก่บุคคลในสังคมต่าง ๆ คนไทยก็ได้รับอิทธิพลจากความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีของประเทศเหล่านี้มาเช่นเดียวกัน มีการสั่งซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากมาย ชื่อของเครื่องมือเครื่องใช้และถ้อยคำ

ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านั้นได้เข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยมากขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เอนเตอร์ แผ่นดิสก์ ไอคอน เมาส์ เป็นต้น

7.การศึกษาวิชาการต่าง ๆ

การศึกษาของไทยมีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แต่ความรู้ในสาขาวิชาการต่าง ๆ ส่วนใหญ่รับมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้งวิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถาบันต่าง ๆ มีการใช้ตำราภาษาต่างประเทศ ประกอบการเรียนและศึกษาค้นคว้า นอกจากนี้ คนไทยยังนิยมเดินทางไปศึกษาวิชาการต่าง ๆ ในต่างประเทศ เมื่อกลับมาประเทศก็ได้รับเอาคำบางคำ ของภาษาต่างประเทศเหล่านั้นมาใช้ปะปนกับภาษาไทยด้วย

8.การศึกษาภาษาต่างประเทศโดยตรง

ในประเทศมีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิชาภาษาไทยในระดับสูง เพราะเรารับรูปคำและวิธีการสร้างคำจากภาษาเหล่านั้นมามากได้แก่ การศึกษาภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร และการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการสื่อสารโดยตรง เช่น การศึกษาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น

9.ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนต่างชาติ

มีคนไทยจำนวนมากมายที่คบหาสมาคมกับคนต่างชาติและมีคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่สมรสกับคนต่างชาติ ทำให้มีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกันในทางภาษา ใช้ทั้งภาษาไทย   และภาษาต่างประเทศ ในครอบครัวของตนเอง จึงทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามา ปะปนอยู่ในภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น

10.ความสัมพันธ์ทางการทูต

การเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ทำให้มีการใช้ภาษาต่าง ๆ สื่อสารสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดการแพร่กระจายของภาษาต่าง ๆ เข้ามาในประเทศไทย

ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
คำภาษาอื่นๆ


๑. คำภาษาญี่ปุ่น
               คำภาษาญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับอาหารการกิน และชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างคำภาษาญี่ปุ่น
               กิโมโน                 หมายถึง                              เสื้อชุดประจำชาติญี่ปุ่น
               คาราเต้                 หมายถึง                              ศิลปะการต่อสู้ด้วยสันหรือนิ้วมือ
               เคนโด                  หมายถึง                              ศิลปะการต่อสู้ด้วยไม้
               ซามูไร                  หมายถึง                              ทหารอาชีพ เดิมใช้มีดดาบเป็นอาวุธ
               ปิยาม่า                  หมายถึง                              เสื้อคลุมแบบญี่ปุ่น
               สาเกะ,สาเก         หมายถึง                              สุรากลั่นจากข้าว
               สุกียากี้                 หมายถึง                              ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง
               ปิ่นโต                   หมายถึง                              ภาชนะใส่อาหาร

๒. คำภาษาโปรตุเกส
               ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับโปรตุเกสทางด้านการค้าขายตั้งแต่สมัยอยุธยาผ่านทางดินแดนมลายู โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาผูกขาดการค้าขายแถบเอเชีย

ตัวอย่างคำภาษาโปรตุเกส
               บาทหลวง           หมายถึง                              นักบวชในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค
               กัมปะโด              หมายถึง                              นายหน้าซื้อ ขาย
               กะละแม              หมายถึง                              ขนมเหนียวสีดำ กวนด้วยกะทิและน้ำตาล
               สบู่                   หมายถึง                              สิ่งที่ใช้ฟอกตัว
               ปั้นเหน่ง              หมายถึง                              เข็มขัด
               เลหลัง                หมายถึง                              ซื้อขายด้วยวิธีประกวดราคา
               เหรียญ                  หมายถึง                              โลหะที่ทำเป็นรูปกลมแบน

๓. คำภาษาฝรั่งเศส
               ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และมีการส่งคณะฑูตไปเจริญสัมพันธไมตรีซึ่งกันและกัน ประเทศฝรั่งเศสเกี่ยวข้องกับประเทศไทยทั้งด้านการเมืองและการค้าขาย คำยืมภาษาฝรั่งเศสมักจะเป็นคำทับศัพท์ทั้งชื่อเฉพาะ และศัพท์ทั่วไป

ตัวอย่างคำภาษาฝรั่งเศส
กงสุล                   หมายถึง                              พนักงานดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาวต่างประเทศ
กับปิตัน                หมายถึง                              นายเรือ
คิว                         หมายถึง                              การเรียงลำดับก่อนหลัง
โก้เก๋                     หมายถึง                              สวยเข้าทีจนอวดได้
บูเก้ต์                    หมายถึง                              ช่อดอกไม้
คาเฟ่                     หมายถึง                              กาแฟ
บุฟเฟ่ต์                 หมายถึง                              อาหารที่บริการด้วยตนเอง
ครัวซองต์            หมายถึง                              ขนมประเภทหนึ่งทำด้วยแป้ง
คูปอง                   หมายถึง                              บัตรหรือตั๋วให้ซื้อของ
โชเฟอร์                หมายถึง                              พนักงานขับรถ
บัลเล่ต์                  หมายถึง                              การเต้นระบบำปลายเท้า
กีตาร์                    หมายถึง                              เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง
เรสตัวรองต์        หมายถึง                              ภัตตาคาร
ปารีส                    หมายถึง                              ชื่อเมืองหลวงประเทศฝรั่งเศส
เช็ค                       หมายถึง                              ตั๋วเงินชนิดหนึ่งซึ่งผู้ฝากเงินสั่งธนาคารให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือ

๔. ภาษาเปอร์เซีย-อาหรับ
               ชาวเปอร์เซียและอาหรับซึ่งนับถือศาสนาอิสลามได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีความคุ้นเคยกับราชสำนักของไทย ชาวเปอร์เซียและอาหรับได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก ภาษาเปอร์เซียและภาษาอาหรับไทยรับเข้ามาใช้ทั้งในวรรณคดีและใช้ในคำศัพท์ทั่วไป

ตัวอย่างคำภาษาเปอร์เซีย
               กากี                       หมายถึง                              ฝุ่นหรือดิน
               กุหลาบ                หมายถึง                              น้ำดอกไม้เทศ
               เกด                       หมายถึง                              ลูกเกด หรือองุ่นแห้ง
               คาราวาน              หมายถึง                              หมู่คนหรือยานพาหนะซึ่งเดินทางไกลร่วมกันเป็นขบวนยาว
               ปั้นหยา                 หมายถึง                              เรือนที่มีหลังคาเอนเข้าหาอกไก่ทั้ง 4 ด้าน
               ตาด                       หมายถึง                              ผ้าไหมปักเงินหรือทองแล่ง
               ตราชู                    หมายถึง                              เครื่องชั่ง
               บัดตรี                   หมายถึง                              เชื่อมโลหะ
               สักหลาด              หมายถึง                              ผ้าทำด้วยขนสัตว์
               องุ่น                      หมายถึง                              ผลไม้
               ยี่หร่า                    หมายถึง                              ชื่อเรียกผลแก่แห้งของไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ใช้เป็นเครื่องเทศได้
               ชุกชี                      หมายถึง                              ฐานปราน
               ตรา                       หมายถึง                              เครื่องหมาย
               ฝรั่ง                       หมายถึง                              ชาวเปอร์เซียใช้เรียกชาวยุโรป
               ราชาวดี                หมายถึง                              พลอยสีฟ้า
               สนม                     หมายถึง                              หญิงฝ่ายใน

ตัวอย่างคำภาษาอาหรับ
               กะลาสี                 หมายถึง                              ลูกเรือ
               การบูร                  หมายถึง                              ชื่อไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง เนื้อไม้มีสารสีขาว กลิ่นฉุนร้อน
               ระยำ                     หมายถึง                              ชั่วช้า, ต่ำช้า
               สลาม                    หมายถึง                              คำอวยพร
               อักเสบ                 หมายถึง                              มีพิษกำเริบเนื่องจากแผล
               อำพัน                   หมายถึง                              ยางไม้ที่แข็งเป็นก้อน สีเหลืองใสเป็นเงา
               ฝิ่น                        หมายถึง                              ชื่อไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ยางซึ่งกรีดจากผลนำมาเคี่ยวให้เหนียวเป็น
                                                                    ยาเสพติด ใช้ทำยาได้

๕. ภาษาชวา- มลายู
               ชวา-มลายู เป็นดินแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับตอนใต้ของประเทศไทย และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการค้า และการคมนาคม ไทยรับวัฒนธรรมต่างๆ ของอินเดียผ่านทางชาวชวา-มลายู นอกจากนี้ภาษาชวา-มลายูได้เข้ามาปะปนในภาษาไทยผ่านทางวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เรื่อง ดาหลัง และอิเหนา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าหญิงกุณฑล และเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎตามลำดับ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องดาหลังและอิเหนาขึ้นมาอีกครั้งเพื่อรักษาและสืบทอดวรรณคดีที่สูญหายหลังจากทำศึกสงครามกับพม่า และในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นยุคทองของวรรณคดีพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้แสดงละครใน และอิเหนาในรัชกาลที่ ๒ ก็ได้รับยกย่องว่าเป็นยอดของบทละครใน
               อิทธิพลของวรรณคดี เรื่องดาหลังและอิเหนา ทำให้ภาษาชวา-มลายู เป็นที่รู้จักของคนไทยในสมัยนั้น คำภาษาชวา-มลายูหลายคำได้นำมาใช้พูดและแต่งคำประพันธ์ต่างๆ ในภาษาไทย และสืบทอดกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ตัวอย่างคำภาษาชวา
               บุหงา                    หมายถึง                              ดอกไม้
               ยิหวา                    หมายถึง                              ดวงใจ
               ระเด่น                  หมายถึง                              โอรส ธิดาของกษัตริย์เมืองใหญ่
               อิเหนา                  หมายถึง                              ชายหนุ่ม, พระยุพราช
               ละลัด                   หมายถึง                              แมลงวัน
               ซ่าหริ่ม                 หมายถึง                              ขนม
               ยาหยี                    หมายถึง                              น้อง, ที่รัก
               สาหรี                    หมายถึง                              น่ารัก, ดี
               แดหวา                 หมายถึง                              เทวา
               สะตาหมัน           หมายถึง                              สวนดอกไม้
               บุหรง                   หมายถึง                              นก
               บุหลัน                  หมายถึง                              พระจันทร์
               ระตู                       หมายถึง                              เจ้าเมืองน้อย
               ตุนาหงัน              หมายถึง                              คู่หมั้น

ตัวอย่างคำภาษามลายู
ฆ้อง                      หมายถึง                              เครื่องตีให้เกิดเสียงอย่างหนึ่ง
ลองกอง                  หมายถึง                              ชื่อลางสาดพันธุ์หนึ่ง
ลางสาด                 หมายถึง                              ชื่อไม้ต้นชนิดหนึ่ง ผลกลมๆ ออกเป็นพวง กินได้
ละไม                    หมายถึง                              ชื่อไม้ต้นชนิดหนึ่ง ผลและรสคล้ายมะไฟ
ละมุด                   หมายถึง                              ชื่อไม้ต้นชนิดหนึ่ง ผลสุกรสหวาน กินได้
จำปาดะ                หมายถึง                              ชื่อไม้ต้นคล้ายต้นขนุน เยื่อหุ้มเมล็ดเนื้อเหลว กลิ่นฉุน กินได้
ทุเรียน                  หมายถึง                              ชื่อไม้ต้นผลเป็นพูๆ มีหนามแข็งทั่วลูก เนื้อมีรสหวานมัน
เงาะ                      หมายถึง                              ชื่อไม้ต้น ผลกินได้ เปลือกมีขนยาว สีเหลืองหรือแดง
โกดัง                    หมายถึง                              โรงเก็บสินค้า หรือสิ่งของ
สละ                      หมายถึง                              ชื่อระกำพันธุ์หนึ่ง ส่วนมากผลมีเมล็ดเดียว
กุญแจ                   หมายถึง                              เครื่องสำหรับใส่ประตู เพื่อยึดไม่ให้เปิดเข้าออกได้
สตูล                      หมายถึง                              กระท้อน
ว่าว                       หมายถึง                              เครื่องเล่นอย่างหนึ่ง
ตะเบ๊ะ                  หมายถึง                              ทำวันทยหัตถ์ (ภาษาปาก)
โสร่ง                    หมายถึง                              ผ้านุ่งเป็นถุงมีลวดลายต่างๆ อย่างชาวมลายูนุ่ง
กอและ                 หมายถึง                              เรือประมง