ประวัติศาสตร์ การเมือง พม่า จนถึง ปัจจุบัน

  • ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์
  • ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

1 กุมภาพันธ์ 2022

ประวัติศาสตร์ การเมือง พม่า จนถึง ปัจจุบัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

เช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพเมียนมานำกำลังเข้าควบคุมตัว ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counsellor) และผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD) ประธานาธิบดี วิน มยิ้น และผู้นำระดับสูงในพรรค NLD อีกหลายคน

ในเวลาไล่เลี่ยกัน MRTV กระบอกเสียงของรัฐบาลอ่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่กองทัพเมียนมาตั้งไว้เบื้องต้น 1 ปี โดยอ้างว่าเพื่อจัดการกับปัญหาการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่ง NLD คว้าชัยกวาดที่นั่งไปได้กว่าร้อยละ 71 ของที่นั่งทั้งหมด ชี้ให้เห็นความนิยมในพรรค และออง ซาน ซู จี ที่ไม่ลดลงไปเลย

วัฒนธรรมที่เน้นบทบาทของกองทัพ และอำนาจนำของคน "บะหม่า" (คนเชื้อชาติพม่าแท้) อยู่คู่กับการเมืองเมียนมามายาวนานและไม่เปลี่ยนแปลง ผลการเลือกตั้งทั่วไปตั้งแต่ในปี 1990 มาจนถึง 2015 และ 2020 ที่ NLD ชนะแบบท่วมท้นทุกครั้ง ชี้ให้เห็นฉันทามติของสังคมว่าผู้คนในเมียนมาต่างเบื่อหน่ายระบอบอำนาจนิยมแบบทหาร แต่กองทัพกลับมองว่าประชาธิปไตยไม่เหมาะกับสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกแยกอย่างเมียนมา

แม้เมียนมามีการปฏิรูปทางการเมืองแบบช้า ๆ และค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลของคณะทหารในนาม สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) สู่ สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council - SPDC) มาสู่รัฐบาลกึ่งพลเรือนของ นายพล เตง เส่งและรัฐบาล NLD แต่รัฐประหารปี 2021 คือภาพสะท้อนความไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเรือน ความเชื่อที่ว่านักการเมืองฉ้อฉล ไร้ความสามารถ และระบอบประชาธิปไตยทำให้ประเทศวุ่นวาย จนนำไปสู่ข้อสรุปว่า กองทัพต้องกลับมาเป็นผู้ควบคุม ประคับประคองประเทศต่อไป

  • รัฐประหารเมียนมาจะพาประเทศไปทางไหนต่อ
  • รัฐประหารเมียนมา เหมือนหรือต่างกับลายพรางยึดอำนาจในไทย
  • เส้นทางข่าวลือรัฐประหารในเมียนมา กับความพยายามสกัดรถถัง
  • เลือกตั้งเมียนมา 2020 : กับข้อครหาไม่เป็นประชาธิปไตย

ที่มาของภาพ, Getty Images

รัฐประหารปี 2021 เป็นบทพิสูจน์หลายอย่างสำหรับเมียนมา กองทัพมองว่ามีเหตุให้ยึดอำนาจ และประเมินว่ารัฐประหารจะทำให้เมียนมากลับมาเป็นเอกภาพ อีกทั้งกองทัพจะกลับเข้ามาควบคุมการเมืองได้อย่างเด็ดขาดอีกครั้ง แต่กองทัพและฝ่ายสนับสนุนย่อมมีราคาที่ต้องจ่ายตามมาด้วย การต่อต้านรัฐประหารเริ่มขึ้นทันที ประชาชนพร้อมใจกันตีหม้อไหในบ้านของตนเองเพื่อประกาศขับไล่ความชั่วร้าย บุคลากรทางการแพทย์ ครูอาจารย์ ข้าราชการ และคนในอีกหลากหลายอาชีพ พร้อมใจกันนัดหยุดงานประท้วง ประชาชนจำนวนมากออกมารวมตัวกันเพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐประหาร แต่กองทัพเลือกตอบโต้ประชาชนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงอย่างสงบด้วยความรุนแรง มีประชาชนเสียชีวิตจากการปราบปรามของกองทัพไปแล้ว 1,490 คน มีผู้ถูกจับกุมไปแล้ว 8,762 คน และมีผู้ถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต 43 คน (สถิติวันที่ 24 มกราคม 2022) ในจำนวนนี้มี เพียว เซยา ตอ อดีตผู้นำวง ACID วงฮิปฮอปแรกของเมียนมา ที่ผันตัวมาลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรในนามพรรค NLD และ จ่อ มิน ยู หรือ "โก จิมมี่" นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญ รวมอยู่ด้วย

การปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างหนัก ไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชน ผลักดันให้กลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหารบางส่วน หนีออกจากเมือง และไปเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วเกิดเป็นกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force - PDF) และกลุ่มพันธมิตรระหว่าง PDF กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกองทัพคะเรนนี และกองกำลังกลุ่มอื่น ๆ ทั้งในรัฐกะเหรี่ยง กะฉิ่น และฉิ่น และเริ่มโจมตีกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะฐานที่มั่นของทหารและตำรวจ

ปฏิบัติการของ PDF และพันธมิตรสร้างความเสียหายให้กับกองทัพและคณะรัฐประหาร จนต้องเปิดฉากโจมตีฐานปฏิบัติการของ PDF และกองกำลังกลุ่มอื่น ๆ ตั้งแต่รัฐกะฉิ่นในภาคเหนือ จรดรัฐกะเหรี่ยงทางตอนกลาง เมื่อการสู้รบในเมียนมารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีคลื่นผู้อพยพที่หนีภัยสงครามเข้ามาในไทย ในการปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังกะเหรี่ยงแถบชายแดนจังหวัดเมียวดีกับอำเภอแม่สอด ทำให้มีผู้อพยพจากเมียนมาหนีเข้ามาในไทยราว 4,000 คน และยังมีที่รอเข้ามาอีกหลายพันคน

คำบรรยายวิดีโอ,

"อารยะขัดขืน" ต้านยึดอำนาจในเมียนมา

  • หมอและพยาบาลผู้ต่อต้านกองทัพเมียนมา
  • บีบีซีพบหลักฐานทหารเมียนมาสังหารชาวบ้าน 40 คน
  • ผู้ประท้วงหญิงเผย ถูกทหารเมียนมาประทุษร้ายทางเพศ - ซ้อมทรมานในที่คุมขัง

อิหลักอิเหลื่อ

นโยบายของไทยที่เกี่ยวกับผู้อพยพสะท้อนให้เห็นความอิหลักอิเหลื่อของรัฐไทย ที่ใช้นโยบายด้านความมั่นคง การทหารนำนโยบายการต่างประเทศและนโยบายด้านสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จึงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ที่ทำให้สังคมไทยมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นภาระ เมื่อรัฐบาล NLD เข้ามาเป็นรัฐบาลในปี 2016 สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในไทยเปลี่ยนไปบางส่วน เริ่มมีการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับประเทศของตนเองโดยสมัครใจ แต่ผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับเมียนมาด้วยกระบวนการนี้มีจำนวนน้อยอย่างน่าใจหาย ด้วยกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ยุ่งยาก ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมียนมาที่กลุ่มชาติพันธุ์ยังคุกรุ่นอยู่ และยังไม่มีแรงจูงใจมากพอให้ผู้ลี้ภัยกลับไปเมียนมา จากตัวเลขของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในเดือนกันยายน 2021 ไทยให้ที่พักพิงกับผู้อพยพจากเมียนมา 91,479 คน ค่ายผู้อพยพ หรือที่พักพิงชั่วคราวที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่บ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ที่มีผู้อพยพจากเมียนมาราว 40,000 คน

การสู้รบในเมียนมาที่นับวันก็จะรุนแรงขึ้นจะนำมาสู่วิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ ซึ่งจะพิสูจน์ความสามารถด้านการจัดการ กับภาวะวิกฤตของภาครัฐไทย

  • เสียงระเบิด-ปืน สภาพที่ รร.ชายแดนไทย-เมียนมาต้องเผชิญ
  • ทหารเมียนมาสู้รบเคเอ็นยูบานปลาย ไทยยืนยันไม่มีผลกระทบ
  • ฮุน เซนเยือนเมียนมา พบมิน อ่อง หล่าย

คำบรรยายวิดีโอ,

บ้านโกนเกน ผลกระทบจากการสู้รบในพม่า

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในต้นปี 2021 ท่าทีของหลายชาติในอาเซียนต่อเมียนมาเป็นไปในเชิงแข็งกร้าว ในช่วงแรก ผู้นำอาเซียนพยายามหาทางเจรจาเพื่อให้กองทัพเมียนมาเลิกใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมประท้วง จนเกิดเป็น "ฉันทามติ 5 ข้อ" ในเดือนเมษายน 2021 และบรูไนในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2021 ก็เดินทางเข้าไปในเมียนมาเพื่อไกล่เกลี่ยและหาทางเจรจาเพื่อให้เมียนมากลับมาสู่สถานการณ์ปกติ แต่ผลที่ได้กลับไม่เป็นดังที่อาเซียนหวัง เพราะคณะรัฐประหารกีดกันไม่ให้คณะทำงานจากอาเซียนเข้าพบผู้นำพรรค NLD และกลุ่มผู้ต่อต้านคณะรัฐประหาร จนนำไปสู่การคว่ำบาตรเมียนมาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุดในเดือนตุลาคม 2021

แม้ไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งอาเซียน แต่ท่าทีของไทยที่มีต่อกรณีเมียนมาต่างออกไปจากมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน หรืออินโดนีเซีย เพราะไทยมองเมียนมาผ่านเลนส์ของฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก เมื่อถูกตั้งคำถามเรื่องการเดินทางไปเยือนเมียนมาในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2021 ว่าเป็นการไปเยือนแบบ "ลับ ๆ ล่อ ๆ" หรือไม่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลุกขึ้นตอบกระทู้ถามสด มีเนื้อหาโดยสรุปคือเมียนมามีสถานะ "พิเศษ" สำหรับไทย เพราะมีชายแดนติดกับเมียนมายาวที่สุด ดังนั้นสถานการณ์ภายในเมียนมาจึงมีผลกระทบกับไทยด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการคบหากับเมียนมา ไทยยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักการตั้งต้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องช่วยเหลือชาวเมียนมาที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในฝั่งไทย "ตามหลักสิทธิมนุษยชน" อันเป็นหลักการสากล

ที่มาของภาพ, Press Eye

คำบรรยายภาพ,

มิน อ่อง หล่าย

รมว. ต่างประเทศมองว่าด้วยเงื่อนไขของไทย ไทยไม่สามารถมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับเมียนมาได้โดยตรง แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าแท้จริงแล้วที่ไทยพยายามเล่นบท Good Cop ที่มีจุดยืนแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ขาดความหนักแน่น เลือกใช้วิธีการทูตแบบที่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว (Backdoor Diplomacy) เพราะไทยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลในเมียนมา และไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาเป็นหลัก ไทยมักจะอธิบายกับชาวโลกว่าท่าทีที่ไทยมีต่อสถานการณ์ในเมียนมาเป็นไปตามเนื้อผ้า และผลประโยชน์ของชาติมีความสำคัญสูงสุด ไทยให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ได้นิ่งเฉยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา แต่ไทยก็มีแนวทางหรือหลักทางการทูตที่อาจผ่อนหนักให้เป็นเบา และลดความรุนแรงของสถานการณ์ในเมียนมาได้บ้าง