Guideline เบาหวาน ทันต กรรม

แนวปฏิบัติทางทันตกรรม  ในการรักษาผู้ป่วยโรคทางระบบ

            ในการให้การบำบัดทางทันตกรรม  หรือศัลยกรรมช่องปากแก่ผู้ป่วยโดยทั่วไปนั้น  ทันตแพทย์ไม่สามารถที่จะเลือกปฏิบัติกับคนปกติที่ไม่มีโรคประจำตัว   ขณะเดียวกันผู้ป่วยเหล่านี้และยาต่างๆ ที่ผู้ป่วยได้รับมีผลต่อการให้การบำบัดทางทันตกรรมมีความซับซ้อนมากขึ้น   ดังนั้น  ทันตแพทย์ควรสามารถวางแผนการรักษาให้ถูกต้องเหมาะสม   เพื่อป้องกันอันตรายและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย   ซึ่งโรคทางระบบที่พบบ่อยและการวางแผนการรักษาทางทันตกรรม   มีดังนี้

·        โรคความดันโลหิตสูง (Hypertensive disease)

·        โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)

·        โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)

·        โรคลิ้นหัวใจพิการ (Valvular heart disease)

·        ฮีโมฟิเลีย (Hemophilia)

·        โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)

·        โรคหัวใจวายจากเลือดคั่ง (Congestive heart  failure)

แนวปฏิบัติทางทันตกรรม  ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ( Diabetes mellitus)

            เบาหวาน  เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน  เนื่องจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือมีการขัดขวางการจับอินซูลินในอวัยวะต่างๆ ทำให้มีความผิดปกติของคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน ทำให้เกิดความผิดปกติของผนังหลอดเลือด เส้นประสาทส่วนปลาย  ไตและเรตินา

 การวางแผนการรักษาทางทันตกรรม
  1. ข้อปฏิบัติโดยทั่วไป

1.1    ถ้าไม่มีประวัติมาก่อน ให้ซักประวัติ อาการและอาการแสดงทางคลินิกแล้ว ส่งปรึกษาแพทย์

1.2    ถ้าได้รับการควบคุมโรคเบาหวานเป็นอย่างดีมาตลอดให้การบำบัดทางทันตกรรมถอนฟันหรือผ่าตัดเล็กได้ปกติ แต่ระวังการติดเชื้อง่ายและแผลหายช้า

1.3    ควรนัดผู้ป่วยมารักษาในตอนเช้า

1.4    ถ้าเกิดอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้ผู้ป่วยรีบบอกก่อนจะมีอาการมากขึ้นจะได้ให้ผู้ป่วยกินน้ำหวานหรือกลูโคสทันที

1.5    แม้ว่าจะมีประวัติได้รับการรักษาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเสมอ แต่ถ้ามาพบทันตแพทย์เนื่องจากโรคปริทันต์ที่มีเหงือกอักเสบมาก ฟันผุลุกลามมากขึ้น มี candidiasis  หรือ symptomatic erosive lichen planus  เป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อยๆ ผู้ป่วยลักษณะนี้ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพราะมักจะเกิดสภาพระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติขึ้นได้อีก

  1. ข้อปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่ได้รับอินซูลิน

2.1    ระวังการเกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จากยาควบคุมระดับน้ำตาล ป้องกันโดยให้ผู้ป่วยกินอาหารตามปกติให้ตรงเวลา เตรียมน้ำหวานหรือน้ำตาลให้ผู้ป่วยกินก่อนหรือหลังการรักษา

2.2    เมื่อผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ให้ใช้ยาได้ตามปกติ

2.3    ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยอินซูลิน แล้วมีอาการติดเชื้อเป็นหนองควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเพิ่มปริมาณอินซูลินและเตรียมการรักษาการติดเชื้อให้หายขาดโดยเร็ว

  1. การเตรียมผู้ป่วยเพื่อการผ่าตัดและการทำผ่าตัด

3.1    ไม่ควรใช้ยาบีบหลอดเลือดที่ให้ผลต่อหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า epinephrine ที่มีความเข้มข้น 1: 100,000  หรือไม่ใช้ยาบีบหลอดเลือดผสมในยาชาเลยในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานรุนแรง จนมีลักษณะแผลหายช้า มีแผลเรื้อรังหรือมีเนื้อตายอยู่แล้ว

3.2    การถอนฟันและการผ่าตัดควรทำด้วยความระมัดระวัง  ถ้ากระดูกรองรับฟันนูนยื่นออกมาจากเบ้าฟันควรตัดแต่งให้เรียบร้อย เพราะจะนำไปสู่การติดเชื้อและกระดูกตายได้ง่ายกว่าคนปกติ