การออกกําลังกายควรปฏิบัติสิ่งใดก่อน

  • แชร์ไปยัง Facebook
  • แชร์ไปยัง Tweet
  • แชร์ไปยัง LINE


การออกกําลังกายควรปฏิบัติสิ่งใดก่อน

6 ข้อปฏิบัติก่อนออกกำลังกาย

การเตรียมความพร้อม ก่อนออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ควรทำและสำคัญอย่างยิ่งค่ะ เพราะเป็นการช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี แถมยังสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นหลังออกกำลังกายได้อีกด้วย ดังนั้นลองทำตาม 6 ข้อปฏิบัตินี้ดูนะคะ

1. ควรอบอุ่นร่างกายก่อนเสมอ คุณสามารถทำได้โดยการยืดเส้นยืดสาย เพื่อเป็นการวอร์มอัพให้ร่างกายตื่นตัว ควรขยับแข้งขยับขาเบาๆ ช้าๆ แล้วค่อยเพิ่มความเร็วขึ้น ทำให้ร่างกายได้ปรับตัวพร้อมเล่นกีฬา

2. ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง ข้อนี้ควรทำอย่างยิ่งเลยค่ะ เพราะเมื่อออกกำลังกาย ร่างกายของคุณจะขับเหงื่อออกมาเยอะ อาจจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ จุดนี้คุณควรจะระวังไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ

3. ควรประเมินความพร้อมของตัวเอง เริ่มจากสำรวจตัวเองก่อนว่า คุณสามารถออกกำลังกายได้หนักสุดแค่ไหน แต่ไม่ควรหักโหมมากเกินไป แนะนำให้ออกกำลังกายในระดับปานกลาง เป็นเวลา 20-30 นาที ดีกว่าออกกำลังกายหนักโดยใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้นนะคะ

4. อย่าฝืนตัวเอง ถ้ารู้สึกไม่ไหวหรือเหนื่อยให้นั่งพักสัก 5 นาทีก่อน เพื่อผ่อนคลายอาการนั้น ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ หลังจากนั้นค่อยเริ่มออกกำลังกายต่อเบาๆ

5. ศึกษาเครื่องออกกำลังกายก่อนทุกครั้ง ควรศึกษาทั้งวิธีการใช้และปรึกษาเทรนเนอร์เกี่ยวกับหลักการใช้เครื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือส่งผลเสียในระยะยาวได้ เพราะเครื่องออกกำลังกายบางชนิด หากคุณใช้ผิดวิธี อย่างเช่น ลงน้ำหนักมากเกินไป หรือใช้แรงมากกินไป จะส่งผลให้กล้ามเนื้อข้อเท้าหรือเข่าได้รับความเสียหาย

6. ผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย ด้วยการออกกำลังกายเบาๆ ทำให้กล้ามเนื้อปรับตัวเป็นปกติ รวมทั้งระดับการเต้นของหัวใจที่จะช้าลงตามไปด้วย

สาวๆ ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ อย่าลืมนำข้อปฏิบัติที่กล่าวมานี้ไปใช้ด้วยนะคะ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว แถมยังไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายอีกด้วย

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารเรื่องผู้หญิง ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ประเภทออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวกาย 

การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวกายมีประโยชน์ต่อร่างกายคือทำให้อวัยวะต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด เป็นต้น แข็งแรงมากขึ้นและมีความเสื่อมช้าลง  การออกกำลังกายที่เหมาะสมและตนเองพึงพอใจจะทำให้การออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน 

                การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวกายแบ่งได้ดังนี้

                1. household physical activity คือการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวกายที่เป็นกิจกรรมของงานบ้าน เช่นการถูบ้าน ขัดพื้น ทำความสะอาดหน้าต่าง ทำสวน รดน้ำต้นไม้ และกวาดใบไม้ เป็นต้น

                2. transportation physical activity คือการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวกายขณะมีการเดินทาง เช่นการเดินทางไปทำงาน การเดินไปโรงเรียน และการขี่จักรยาน เป็นต้น

                3. occupation physical activity คือการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวกายขณะประกอบอาชีพ เช่น การยกของ การแบกหาม งานไม้ และงานซ่อมรถ เป็นต้น

                4. leisure-time physical activity คือการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวกายขณะว่างจากการประกอบอาชีพหรือการเดินทาง เช่น  การเล่นกีฬา และ กิจกรรมนันทนาการอื่นๆ เป็นต้น

                หลักการการเคลื่อนไหวฝึกออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย 

     การเคลื่อนไหวฝึกออกกำลังกายด้วยปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอย่อมก่อเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสมรรถภาพทางร่างกายให้ดีขึ้น  แต่ถ้ามากเกินไปก็เกิดโทษได้  ฉะนั้นการกำหนดปริมาณความหนักหรือขนาดของงานในการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย ในแต่ละครั้งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ  เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ร่างกาย  ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วันขึ้นไป ครั้งละ 30 นาทีจะทำให้สุขภาพดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจส่งผลให้มีพลังในการปฏิบัติงานต่อไปอีกนาน

               - ความบ่อย (frequency) ประมาณ 3-5 วันต่อสัปดาห์  ถ้าความหนักระดับปานกลาง ใช้เวลา 5 วัน แต่ถ้าความหนักมากใช้เวลา 3 วัน

                 - ความหนัก (intensity) ประมาณร้อยละ 55/65 – 90 ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด (maximum heart rate) 

                 - ระยะเวลา (time/duration) ประมาณ 20-60 นาที แบบต่อเนื่องหรือเป็นช่วงๆ

                 - ประเภทของกิจกรรม (mode) กิจกรรมใดๆที่มีการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เคลื่อนไหวเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่อง และใช้ออกซิเจนในการทำกิจกรรมเป็นหลัก เช่น  การเดินเร็ว  การวิ่งเหยาะ  การเต้นแอโรบิค หรือการปั่นจักรยาน  เป็นต้น

ขั้นตอนปฏิบัติของการออกกำลังกายในแต่ละครั้ง  ประกอบด้วย 

  การออกกำลังกายประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน คือช่วงอบอุ่นร่างกายโดยการยืดเส้น แล้วจึงเริ่มออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ตามด้วยช่วงฝึกจริงและช่วงผ่อนคลาย

                  1. การอบอุ่นร่างกาย  (warm – up)  มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับร่างกายให้พร้อมก่อนที่จะออกกำลังจริงๆ  โดยจะมีผลทำให้มีการเพิ่มอุณหภูมิของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการเพิ่มความเร็วของการชักนำกระแสประสาท  ลดการยึดตึงของกล้ามเนื้อเป็นผลให้การหดตัวของกล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น  เพิ่มออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อโดยมีการขยายตัวของเส้นเลือดฝอยและเพิ่มความสามารถการจับออกซิเจนได้มากขึ้น  ช่วยปรับความไวของศูนย์การหายใจต่อการกระตุ้นและช่วยเพิ่มจำนวนเลือดที่ไหลกลับหัวใจ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บขณะออกกำลังกาย ลดและป้องกันการเต้นผิดปกติของหัวใจ  และ ลดการขาดเลือดของหัวใจ

               การอบอุ่นร่างกายควรจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เกิดการเพิ่มอุณหภูมิร่างกายและกล้ามเนื้อโดยไม่มีการอ่อนล้าหรือเสียพลังงานมากเกินไป  มักจะใช้เวลาประมาณ  5 -10 นาที โดยมีการเคลื่อนไหวของร่างกายทุกส่วน เช่น การทำท่ากายบริหาร หรือ การเดิน  การวิ่งแบบช้าๆ

               2. การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ  (stretching) เป็นการเตรียมสภาพการทำงานของกระดูก ข้อต่อ  เอ็น พังพืด  และกล้ามเนื้อ  ด้วยการเพิ่มมุมการเคลื่อนไหวของบริเวณข้อต่อ  เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านความเร็วและความคล่องแคล่วว่องไว  รวมทั้งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จำเป็นสำหรับการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายทุกประเภท  ยิ่งกว่านั้นการฝึกการยืดเหยียดกล้ามเนื้อยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บ  หลักการฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อควรทำหลังจากที่ได้มีการอบอุ่นร่างกายพร้อมแล้วหรือเมื่ออุณหภูมิกล้ามเนื้อได้รับการปรับให้สูงขึ้น  ทั้งนี้เนื่องจากเอ็นและกล้ามเนื้อที่ได้รับการอบอุ่นพร้อมแล้ว  จะมีความยืดหยุ่นตัวดีกว่าเมื่อตอนที่ยังไม่ได้รับการอบอุ่น  นอกจากนี้การฝึกการยืดเหยียดกล้ามเนื้อควรกระทำซ้ำอีกครั้งในขั้นตอนหลังจากเสร็จสิ้นการออกกำลังกาย  วิธีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเริ่มจากทำการยืดค้างไว้ในจังหวะสุดท้ายของการเคลื่อนไหว  จากนั้นทำการยืดจนกระทั่งถึงจุดที่รู้สึกว่ามีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อเกิดขึ้น    จุดนี้ให้ควบคุมท่าการเคลื่อนไหวหยุดนิ่งค้างไว้ประมาณ  10-30  วินาที 

3.การออกกำลังกาย  (exercise)           

            - การออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจน  (anaerobic  exercise)  เป็นการออกกำลังกายช่วงสั้นๆ  สลับกับการพัก  ใช้ระบบพลังงานที่มีสำรองในกล้ามเนื้ออยู่แล้ว  การออกกำลังกายในช่วงนี้ใช้เวลา  0  -  30  วินาที  ตัวอย่างเช่น  ยกน้ำหนัก  กอล์ฟ  วิ่งระยะสั้น  และ  กรีฑาประเภทลาน  เป็นต้น

                          - การออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน  (aerobic  exercise) เป็นการออกกำลังกายในเวลาที่ยาวนานขึ้น  มีความต่อเนื่อง  สม่ำเสมอ  ไม่หยุดพัก  ทำให้การใช้ระบบพลังงานสำรองในกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ  ร่างกายจึงต้องหายใจเอาออกซิเจนไปเผาผลาญในขบวนการสร้างพลังงานยกตัวอย่างเช่น  วิ่งระยะไกล  ว่ายน้ำ  ปั่นจักรยาน  เดินเร็ว  เทนนิส  แบดมินตัน  เป็นต้น

                4. ขั้นคลายอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ  (cool  down)  คือ  การเปิดโอกาสให้ร่างกายค่อยๆปรับตัวกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างต่อเนื่องทีละน้อย ซึ่งเป็นการลดความหนักจากการออกกำลังกายทำให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการเหน็ดเหนื่อยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยผ่อนคลายความเครียดพร้อมทั้งอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อ  การหยุดออกกำลังกายอย่างทันทีโดยไม่เปิดโอกาสให้กล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนเลือดค่อยๆปรับตัวคืนสู่สภาวะปกติทีละน้อยจะเป็นสาเหตุให้เลือดที่เคยไหลผ่านหัวใจครั้งละจำนวนมากๆขณะออกกำลังกายอย่างหนักกลับลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วทำให้การระบายของกรดแลคติคที่เกิดขึ้นในระหว่างออกกำลังกายช้าลง  เมื่อระบบไหลเวียนเลือดและ กล้ามเนื้อลดปริมาณการทำงานลงอย่างรวดเร็วทำให้กรดแลคติคค้างอยู่ตามกล้ามเนื้อจึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาการล้า  หรือ  ปวดเมื่อย  หรือ  ตะคริว

ประโยชน์ของการออกกำลังกายที่มีต่อสุขภาพ 

            1.เพิ่มพูนสมรรถภาพของหัวใจและหลอดเลือด

                          -กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง

                          -อัตราการเต้นหัวใจช้าลง

                          -คลื่นไฟฟ้าหัวใจสม่ำเสมอและดีขึ้น

                          -ลดบทบาทการควบคุมหัวใจของประสาทซิมพาเธติก

                          -เพิ่มออกซิเจนไปยังสมอง

                          -ลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในหลอดเลือด

                          -เพิ่มไขมันชนิดดี (HDL)

                          -ป้องกันและยับยั้งการเกาะของไขมันบริเวณหลอดเลือด

                          -เพิ่มการไหลเวียนหลอดเลือดส่วนปลาย

                          -เพิ่มการไหลเวียนหลอดเลือดหัวใจ

                          -ลดความเสี่ยงต่อการมีความดันโลหิตสูง

              2. เพิ่มพูนความแข็งแรงและอดทนของกล้ามเนื้อ

                          -ขนาดของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น

                          -ลดโอกาสบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ

                        -ความหนาแน่นของกระดูกสูงขึ้น

                          -ลดโอกาสการเกิดโรคกระดูกพรุน

                3.  ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

                4. ลดความตึงเครียดของจิตใจ

                          -ลดอารมณ์ซึมเศร้า  อาการเครียดทางจิตใจ

                          -นอนหลับได้ดีขึ้น   

                5. เพิ่มพูนความอ่อนตัวกล้ามเนื้อและเอ็นยึดข้อยืดหยุ่นตัวดีขึ้น

                6. ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของข้อต่อ

                7. เพิ่มพูนประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวร่างกาย

                8. ประโยชน์สุขภาพอื่นๆ 

                        -อายุยืนยาว

                        -ภูมิคุ้มกันร่างกายดีขึ้น และลดปัจจัยต่อการเกิดโรคภัยต่างๆ

       ข้อควรปฏิบัติสำหรับการออกกำลังกาย 

               1. เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย

 2. เริ่มออกกำลังกายจากน้อยไปหามาก

 3. เลือกกิจกรรมที่ง่ายประหยัดงบประมาณ

 4. ออกกำลังกายในสภาพอากาศที่เหมาะสม เช่น ตอนเช้า หรือ ตอนเย็น

 5. พักผ่อนให้เพียงพอหลังจากออกกำลัง

 6 หมั่นตรวจสมรรถภาพทางกายของตนเอง เช่น จับชีพจรหลังจากตื่นนอน

 7. เมื่อมีปัญหาในการออกกำลังกายให้ปรึกษาแพทย์

 8. การออกกำลังกายต้องทำอย่างสม่ำเสมอ

 9. ควรออกกำลังกายเป็นกลุ่มหรือหมู่คณะเพื่อความสนุกสนาน

10. ควรทำการทดสอบสมรรถภาพทุก 2 เดือน

ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย 

               1. ผู้ป่วยโรคหัวใจ  ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน  ผู้สูงอายุ  ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการออกกำลังกาย และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

 2. ควรหยุดออกกำลังกายทันทีเมื่อมีอาการต่อไปนี้

      - รู้สึกเหนื่อยมาก  แน่นหน้าอก

      - มีอาการใจสั่น

                      - มีอาการหายใจขัดหรือหายใจไม่ทั่วท้อง

                      - มีอาการคลื่นไส้  เวียนศีรษะ  หน้ามืด

      - มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ควบคุมไม่ได้

         ข้อห้ามสำหรับการออกกำลังกาย 

              1. มีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้  ท้องร่วง ฯลฯ

              2. หลังจากฟื้นไข้ใหม่ๆและในระหว่างพักฟื้นจากการบาดเจ็บ

              3. หลังจากรับประทานอาหารใหม่ๆ (ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย   2-3 ชั่วโมง) 

              4. ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดและอบอ้าวมาก

              5. พักผ่อนไม่เพียงพอ

       การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ 

วัยสูงอายุเป็นวัยที่มีภาวะเสื่อมโทรมของระบบต่างๆและมีสมรรถภาพทางร่างกายทุกๆด้านอยู่ในเกณฑ์ต่ำ มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆสูง  การจัดกิจกรรมออกกำลังกายต้องมีความเหมาะสมกับสภาวะของร่างกาย ความพร้อมทางจิตใจและมีแรงกระแทกต่ำ  โดยเน้นพัฒนาสมรรถภาพทางด้านความอดทนของระบบไหลเวียนเลือด  ระบบหายใจและระบบกล้ามเนื้อ  ความแข็งแรงและความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ การทรงตัว   ควรเลือกการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสภาพร่างกายของตนเอง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องออกแรง เกร็ง เบ่ง กระแทก กระโดด การวิ่งด้วยความเร็วสูง การนั่งยองๆ การเดินบนทางลาด เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุมีหลายประเภท เช่นการเดิน การวิ่งช้าๆ การบริหารร่างกายท่าต่างๆ การรำมวยจีน การฝึกโยคะ การเดินเร็ว การว่ายน้ำ  และการรำไม้พลองเป็นต้น

สรุป

                การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวกายไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดล้วนมีผลต่อสุขภาพและสมรรถภาพของร่างกาย การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวกายทำได้ตั้งแต่กิจกรรมที่กระทำอยู่ในลักษณะของกิจวัตรประจำวันจนถึงการออกกำลังกายที่มีรูปแบบชัดเจน การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวกายสามารถทำเป็นช่วงๆสะสมให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีในหนึ่งวันก็นับว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี นับเป็นการสร้างสุขภาพด้วยตนเองที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย  หลังจากอ่านบทความนี้แล้วผู้เขียนขอเชิญชวนให้ท่านมาเริ่มสร้างสุขภาพให้ตนเองกันเถิด โดยเริ่มจากการเดินรอบบ้านหรือทำงานบ้านโดยสะสมเวลาให้ได้วันละ 30 นาที แล้วจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยจนกระทั่งการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่จะขาดการออกกำลังกายไม่ได้ หลังจากออกกำลังไปได้สักพักหนึ่งท่านจะพบกับความแปลกใหม่ ความสดชื่น ความเปล่งปลั่งของร่างกาย และสัดส่วนที่สวยงามจนคนรอบข้างต้องสงสัยซึ่งก็จะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะช่วยเป็นแบบอย่างให้แก่บุคคลทั่วไปในการสร้างสุขภาพที่ดี ดังคำกล่าวที่ว่าสุขภาพหาซื้อไม่ได้  อยากได้ต้องสร้างเอง