ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน


แนวคิดเรื่อง “เมืองสร้างสรรค์” หรือ Creative City เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) ในประเทศออสเตรเลีย โดย David Yencken นักธุรกิจผู้หลงใหลในการอนุรักษ์แหล่งมรดกชาวอังกฤษที่ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย แนวคิดเมืองสร้างสรรค์นี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ด้านการวางผังเมือง อันเน้นย้ำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ระหว่างเมือง ประชาชนผู้อยู่อาศัย และสร้างประสบการณ์ความพึงพอใจของสถานที่นั้น ๆ

ย้อนกลับไปในช่วงราวปลายยุคทศวรรษที่ 70 และต้นทศวรรษที่ 80 ในประเทศอังกฤษเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจและความดึงดูดด้านวัฒนธรรม กล่าวถึงความสำคัญของวัฒนธรรมอันมีผลต่อคุณภาพชีวิต การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการสร้างงานแก่ผู้คน โดยหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ การวางแผนบนฐานวัฒนธรรม และ ทุนทางด้านวัฒนธรรม 

ปัจจัยสองสิ่งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกแบบเมือง งานสถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมด้านศิลปะและการท่องเที่ยว ต่อมาแนวคิดนี้ได้ถูกศึกษาและพัฒนาโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)  และสหภาพยุโรป (EU) โดยในปี พ.ศ. 2547 ยูเนสโกได้ก่อตั้ง เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ หรือ The UNESCO Creative Cities Network (UCCN) มีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและร่วมกันสร้างกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  

ในบริบทประเทศไทย มีการกล่าวถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จำแนกอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ “มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ศิลปะ สื่อ และงานสร้างสรรค์และออกแบบ” โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และในปี พ.ศ. 2548 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ” หรือ TCDC ซึ่งปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็น “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” (องค์การมหาชน) หรือ CEA อันกลายมาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเป้าประสงค์หลัก คือ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรสร้างสรรค์และธุรกิจไทย ให้นำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ยกระดับสินค้าและบริการของไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล 
 

ต้นทุนของความสร้างสรรค์ เมื่อการขับเคลื่อนไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจแสดงการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในช่วงปี พ.ศ. 2553 - 2559 มีอัตราเติบโตแบบทบต้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 5.61 โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีมูลค่ามากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รองลงมาเรียงตามลำดับ คือ อุตสาหกรรมอาหารไทย โฆษณา และแฟชั่น มูลค่าของอุตสาหกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นบนฐานความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและทรัพยากรของประเทศที่ก่อรูปและพัฒนามาเป็นเวลายาวนานจนเกิดความสร้างสรรค์เฉพาะตน

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

การเข้าใจความหมายของอุตสาหกรรม เมือง เศรษฐกิจ และย่านสร้างสรรค์ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ทั้งยังถูกจำกัดความและให้ความหมายแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ แต่หากมองแบบองค์รวมแล้ว หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม เมือง เศรษฐกิจ และย่านสร้างสรรค์ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 ประการ คือ “วัฒนธรรม กิจกรรม ผู้คน และเมือง” กล่าวคือในบริบทของ “ความสร้างสรรค์” ในระดับประเทศหรือระดับเมือง จำเป็นต้องมี “วัฒนธรรม” อันเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจและสังคม มี “กิจกรรม” ด้านวัฒนธรรมและกลไกการขับเคลื่อนบนฐานวัฒนธรรมให้เกิดอุตสาหกรรมและการกระจายรายได้ มี “ผู้คน” ที่ทำงานสร้างสรรค์และผู้ประกอบการสร้างสรรค์รวมตัวกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมี “เมือง” ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุน การผลิตและจำหน่าย เต็มไปด้วยพื้นที่คุณภาพเพื่อประกอบกิจกรรมสร้างสรรค์ 

เมืองซึ่งเป็นที่ตั้งหรือต้นกำเนิดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน มีวิสัยทัศน์และการบริหารจัดการเมืองที่สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และองค์ประกอบอีกด้านของเมืองที่น่าสนใจ ก็คือ ย่าน (District) อันเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งหรือการรวมตัวของกลุ่มกิจกรรมจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยลักษณะย่านที่สนับสนุนต่อกิจกรรมสร้างสรรค์ควรเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายด้านกิจกรรม หมายรวมถึงการใช้ประโยชน์อาคาร มีความหนาแน่นสูงและสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินหรือจักรยาน

ทั้งนี้ ความสร้างสรรค์มิใช่การมีองค์ประกอบครบถ้วนทั้ง 4 ประการเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องคำนึงถึง “คุณภาพ” ขององค์ประกอบเหล่านั้นอีกด้วย ซึ่งมักถูกประเมินโดยเกณฑ์ชี้วัดสากล อาทิ เครื่องมือประเมินเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของสหภาพยุโรป (The Cultural and Creative Cities Monitor) อันกล่าวถึง ความมีชีวิตชีวาทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ สิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ อีกเกณฑ์ชี้วัดที่สำคัญ คือ เกณฑ์วัดการเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network)  ซึ่งจำแนกเมืองสร้างสรรค์ออกเป็น 7 กลุ่ม ภายใต้กรอบการประเมินที่สำคัญได้แก่ การมีพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ ให้เมืองเป็น “แหล่ง” รวมนักคิด และ “ผู้ประกอบการสร้างสรรค์” เมืองต้องมีการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีองค์กรสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์  และมีกลุ่มนักคิดหรือนักสร้างสรรค์และบุคลากร ทำงานเป็นเครือข่ายในทุกระดับ (ท้องถิ่น ประเทศ และนานาชาติ)  โดยเมืองเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีความโดดเด่นประกอบด้วย การมีงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านถึง 9 สาขา มีหน่วยงานการศึกษาและองค์การปกครองในท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุน และมีความพร้อมในการเป็นเมืองสร้างสรรค์มากถึงร้อยละ 80.57 

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานต้นทุนสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น เริ่มจากองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมประกอบกับภูมิปัญญาของผู้คน ซึ่งถูกพัฒนาต่อยอดจนกลายมาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ และการกระจายรายได้เหล่านั้นกลับเข้าสู่ผู้คน ชุมชน และเมืองผู้เป็นเจ้าของต้นทุนทางวัฒนธรรม องค์ประกอบทั้ง 4 ของความสร้างสรรค์ข้างต้น ล้วนมีความสำคัญเชื่อมโยงกันก่อให้เกิดกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ 

การวัดผลของความสร้างสรรค์มิได้วัดผลผ่านเพียงมูลค่าตัวเลขที่เกิดขึ้นด้านเศรษฐกิจ หรือการใช้หลักเกณฑ์สากลเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีการวัดผลด้าน “คุณค่า” ของความสร้างสรรค์ร่วมอยู่ด้วย การพัฒนาต่อยอดความสร้างสรรค์จำเป็นต้องเกิดจากความเข้าใจด้านวัฒนธรรมอันแท้จริงเพื่อรักษารากเหง้าอันเป็นต้นทุนสำคัญ กิจกรรมสร้างสรรค์ต้องถูกแสดงผ่านความตระหนักถึงคุณค่าและสาระสำคัญของวัฒนธรรม มีกระบวนการถ่ายทอดและรักษาองค์ความรู้วัฒนธรรมโดยผู้คนที่เข้าใจและเห็นคุณค่าขององค์ความรู้ ภายใต้บริบทสิ่งแวดล้อมเมืองที่มีคุณภาพเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้กลไกเหล่านี้ยังคงอยู่เกิดการพัฒนาและการปรับตัวตามสภาวะของโลก

การประเมินย่านสร้างสรรค์ เริ่มจากการสำรวจตนเอง

การประเมินหรือการให้ความหมายด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เมือง และย่านสร้างสรรค์ จะถูกจำกัดความและกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินโดยองค์กรนั้น ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานในการชี้วัด ซึ่งนับเป็น “เครื่องมือ” หนึ่งที่ช่วยให้เมืองต่าง ๆ สามารถเข้าใจคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของตนเองได้

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

ตัวอย่างหลักในการประเมิน “เมืองสร้างสรรค์เชียงใหม่ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน” ภายใต้เกณฑ์จากองค์การยูเนสโก แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการวิจัยและการเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้าน ทั้งในเชิงอุตสาหกรรม งานนวัตกรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ร้อยละ 97) ด้านการสร้างพื้นที่และรูปแบบเมืองที่สามารถใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์ (ร้อยละ 96) และด้านการมีความพร้อมด้านแรงงานและบุคลากรสำหรับงานเชิงความรู้ (ร้อยละ 92) 

ย้อนกลับไปที่องค์ประกอบสำคัญ 4 ประการของความสร้างสรรค์ อันประกอบไปด้วย วัฒนธรรม ผู้คน กิจกรรม และ เมือง การประเมินองค์ประกอบเหล่านั้นสามารถทำได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการประเมิน การประเมินเชิงปริมาณตัวชี้วัดมุ่งเน้นปริมาณเชิงตัวเลข ความหนาแน่น และสัดส่วนเป็นหลัก ในขณะที่การประเมินเชิงคุณค่าต้องอาศัยมิติเชิงสังคม ความเชื่อ และผู้คน เข้ามามีส่วนร่วมด้วย  

การประเมินไม่ว่าจะด้วยหลักเกณฑ์ใด ๆ ก็ตาม ต่างมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาหรือยกระดับความสร้างสรรค์ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เมือง และย่านในพื้นที่ของตน ตัวอย่างเมืองสร้างสรรค์ที่น่าสนใจและเป็นตัวอย่างที่ดีในการยกระดับและพัฒนาหัตถกรรมสร้างสรรค์ คือ “เมืองคานาซาวะ” ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกในปี พ.ศ. 2552 มีงานหัตถกรรมถึง 22 ประเภท และงานหัตถกรรมที่โดดเด่น คือ การผลิตทองคำ งานเครื่องเขิน และ เทคนิคการย้อมผ้าคะงะยูเซน ทั้งยังมีย่านเมืองฮิงาชิ ชายะ อันมีภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สวยงาม 

เมืองคานาซาวะมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการพัฒนารักษางานหัตถกรรม ประกอบไปด้วย การเชื่อมโยงวัฒนธรรมกับธุรกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาด้านวัฒนธรรม และการดึงดูดความสนใจในระดับนานาชาติ วิสัยทัศน์ที่น่าสนใจอย่างมาก คือ การตอกย้ำคุณค่าของงานฝีมือในชีวิตประจำวัน (Reconfirmation of the value of crafts in everyday life) เพื่อให้งานหัตถกรรมท้องถิ่นสามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคุณค่าเหล่านี้มีความเชื่อมโยงผูกพันกับบุคคลมาเป็นเวลานาน หากแต่การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตทำให้ความสร้างสรรค์หรืองานหัตถกรรมกลายเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องสำหรับคนเฉพาะกลุ่มไป 

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน


“คุณค่าทางวัฒนธรรม” หรือ Cultural Significance มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการประเมินความสร้างสรรค์ หัวใจสำคัญของการประเมินคุณค่า คือ วัฒนธรรมเหล่านั้นยังมีความจริงแท้ หรือ Authenticity มากน้อยแค่ไหน สามารถประเมินได้จากการปฏิบัติ หรือ Cultural Practices ของผู้คนอันเป็นเจ้าของวัฒนธรรม รวมไปถึงการถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติเหล่านี้ผ่านคนรุ่นหลัง กิจกรรมทางวัฒนธรรมแฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ผ่านการแสดงออก และสิ่งประดิษฐ์เพื่อประกอบ โดยมีผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์ คือ ช่าง หรือ สล่า คนเหล่านี้ถือเป็นคลังสมองมีชีวิตที่คอยสร้างสรรค์ ฝึกฝน และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ตนเองพัฒนาขึ้นสู่คนรุ่นต่อไป สิ่งเหล่านี้ผูกพันกับประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อมที่เราอยู่อาศัย สังคมที่เราเติบโต 

การค้นหาองค์ประกอบความสร้างสรรค์ทั้ง 4 ประการนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก หรือไม่จำเป็นต้องอาศัยหลักเกณฑ์ประเมินสากลอย่างเดียว หากแต่เราสามารถเริ่มจากการตั้งคำถามภายในชุมชนของเราเอง เช่น 

  • ในละแวกบ้านหรือชุมชนของเรามีวัฒนธรรมเฉพาะตนอันเป็นเอกลักษณ์หรือไม่ 
  • ยังมีการสืบทอดหรือปฏิบัติวัฒนธรรมเหล่านั้นอยู่หรือไม่ 
  • การสืบทอดนั้นทำโดยลักษณะใด
  • ใครเป็นผู้มีองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมนั้น และมีการปฏิบัติอย่างไร 
  • สภาพแวดล้อมในชุมชนลักษณะไหนที่มีลักษณะเฉพาะอันช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมในชุมชน 

คำถามเหล่านี้ก่อให้เกิดการพูดคุยถ่ายทอดจากคนรุ่นก่อน การจดบันทึกข้อมูลหรือสามารถทำได้โดยการการบันทึกตำแหน่งคุณค่าลงบนแผนที่ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “การทำแผนที่วัฒนธรรม” (Cultural Mapping) นำไปสู่การวิเคราะห์และแนวทางการพัฒนา โดยคุณค่าเหล่านี้ คือ ฐานข้อมูลสำคัญของการต่อยอดวัฒนธรรมสู่ความสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรม การออกแบบ และการผลิต อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างรู้คุณค่า ความสร้างสรรค์ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ล้วนต้องอยู่บนพื้นฐานของการรู้และเข้าใจคุณค่าโดยผู้คนในชุมชนและผู้คนในพื้นที่

เมืองเก่าเชียงใหม่ และ ศักยภาพการเป็นย่านสร้างสรรค์ 

งานวิจัยที่ทำการศึกษาและประเมินเกี่ยวกับเศรษฐกิจและเมืองโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency : CEA ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลเชิงเศรษฐกิจและศึกษากรอบแนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์จังหวัดเชียงใหม่ มีกรอบการวิจัยเพื่อสำรวจและประเมินสภาพปัจจุบันของย่านเมืองเก่าเชียงใหม่อันนำไปสู่แนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการประเมิน 3 กระบวนการหลักได้แก่ 

1) การเข้าใจเครื่องมือในการประเมินและดัชนีชี้วัด ผ่านการทบทวนวรรณกรรมและกรณีศึกษา
2) การสำรวจข้อมูลย่านสร้างสรรค์ อันประกอบไปด้วยการสำรวจกายภาพ (อาคาร สถานที่ ที่ว่าง) เศรษฐกิจ (กิจกรรมในอาคาร) และ สิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ (สิ่งจูงใจ ความหลากหลาย ความสามารถ)
3) การวิเคราะห์ข้อมูลการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ โดยทำการศึกษาชุมชน 13 ชุมชนในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ผ่านเครื่องมือสำรวจ อาทิ ภาพถ่าย แผนที่แสดงข้อมูลกายภาพสร้างสรรค์ และการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ 

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

ผลจากการประเมินพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ พบว่า มีความหลากหลายด้านกิจกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นย่านสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ของสหภาพยุโรป ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความมีชีวิตชีวาทางวัฒนธรรม โดยเมืองเชียงใหม่มีศาสนสถาน อาคารประเภทพิพิธภัณฑ์ และศูนย์วัฒนธรรม ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางหรือพื้นที่สาธารณะในการประกอบกิจกรรมด้านวัฒนธรรม แสดงออกถึงความสร้างสรรค์ทั้งในระดับชุมชนและระดับเมือง ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเมืองเก่าเชียงใหม่มีจุดเด่น 2 ประการ คือ มีงานที่มีฐานความรู้ด้านงานสร้างสรรค์กลุ่มอาหาร มีสัดส่วน 1 ต่อ 4.5 รองลงมา คือ แพทย์แผนไทย และท่องเที่ยวตามลำดับ ทั้งนี้มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีกระบวนการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพียง 73 กิจกรรม จากทั้งหมด 5,760 กิจกรรม และสุดท้ายคือ ด้านสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ โดยมีจุดแข็ง คือ ทุนทางการศึกษาและทุนด้านบุคคล พิจารณาจากตัวเลขการสำรวจในพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ราว 2.24 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนอาคารทางการศึกษารวมทุกระดับ จำนวน 150 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการใช้งานอาคารทั้งหมดในเมืองเก่าเชียงใหม่ พบว่ามีจำนวนสูงสุด 3 อันดับ คือ อาคารเพื่อธุรกิจการค้า (ร้อยละ 40.88)  อาคารที่พักอาศัย (ร้อยละ 35.75) และ ศาสนสถาน (ร้อยละ 8.03)  

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

เชียงใหม่มีศักยภาพสูงในมิติการเชื่อมโยงในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ เนื่องจากมีสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองเก่า โดยปี พ.ศ. 2561 รองรับผู้มาใช้บริการราว 10.9 ล้านคน ปัจจัยส่งเสริมศักยภาพอีกประการที่สำคัญ คือ คุณภาพขององค์กรปกครองในระดับท้องถิ่น โดยมีเทศบาลนครเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นกำลังหลักในการสนับสนุนกิจกรรมด้านประเพณีวัฒนธรรม ส่งเสริมกิจกรรมร่วมกับภาคประชาสังคม และการอนุรักษ์คุณค่ามรดกเมืองเชียงใหม่ 

ผลการประเมินทั้ง 13 ชุมชน ในเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ แสดงข้อมูลชุมชนที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านต่างกัน ด้านกิจกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ ชุมชนพระเจ้าเม็งรายสามัคคี ชุมชนหมื่นเงินกอง และ ชุมชนล่ามช้าง ในขณะที่ชุมชนบ้านปิง มีกิจกรรมที่มีการใช้กระบวนการสร้างสรรค์มากที่สุด รองลงมาคือ ชุมชนหมื่นเงินกอง และ ชุมชนพระเจ้าเม็งรายสามัคคี กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทอาหาร มีปริมาณสูงสุดในชุมชนพระเจ้าเม็งรายสามัคคี ในขณะที่ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทแพทย์แผนไทย มีปริมาณสูงสุดในชุมชนล่ามช้าง และ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทการท่องเที่ยว มีปริมาณสูงสุดใน ชุมชนบ้านปิง ด้านภูมิทัศน์วัฒนธรรมพิจารณาผ่านวัสดุอาคารประเภทไม้พบว่า ชุมชนล่ามช้าง ชุมชนช่างแต้ม และชุมชนพวกแต้ม มีอาคารที่สร้างด้วยวัสดุไม้กระจายตัวอยู่ในชุมชน ข้อมูลด้านหัตถกรรมพิจารณาจากงานหัตถกรรมประณีตศิลป์ปรากฎในพื้นที่ ชุมชนพันอ้น ชุมชนหมื่นเงินกอง ชุมชนเชียงมั่น และ ชุมชนบ้านปิง จำนวนชุมชนละ 2 แห่ง ในขณะที่ชุมชนอื่นปรากฏเพียง 1 แห่ง หรือไม่ปรากฏ 

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

ย่านสร้างสรรค์ และ The New Normal

การศึกษาเกี่ยวกับ “ละแวกบ้านสร้างสรรค์” หรือ Creative Neighborhood โดย Martin Prosperity Institute (MPI) และ University of Toronto ได้ทำการศึกษาสภาพแวดล้อมที่ช่วยกระตุ้นความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และ ดนตรี  โดยทำการศึกษาในพื้นที่เมืองโตรอนโต แวนคูเวอร์ และ มอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยเข้าไปศึกษาคุณลักษณะของเมืองที่มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ ภาพยนตร์ เพลง สถานีวิทยุ การผลิตรายการทีวี และ งานออกแบบ รวมไปถึงศิลปิน นักเขียน และนักแสดง โดยนำมาเปรียบเทียบกับเมืองที่มีอุตสาหกรรมทางวิทยาศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า ละแวกบ้านสร้างสรรค์ มีคุณลักษณะที่สำคัญประกอบด้วย มีความหนาแน่นสูง มีการใช้อาคารหลากหลายประเภทในพื้นที่เดียวกัน มีเครือข่ายเชิงสังคมขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ สามารถเดินทางได้ด้วยการเดิน หรือการปั่นจักรยาน ขนาดของธุรกิจหรือบริษัทมีขนาดเล็ก แหล่งงานมีการกระจายตัว และเต็มไปด้วยร้านอาหาร บาร์ และร้านกาแฟ ซึ่งยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการทำงานสร้างสรรค์อีกด้วย ความน่าสนใจอีกประการ คือ กลุ่มคนที่ทำงานสร้างสรรค์กว่าร้อยละ 60 ทำงานโดยอาศัยเครือข่ายด้านสังคม โดยละแวกบ้านสร้างสรรค์ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ช่วยสนับสนุนความมีชีวิตชีวาด้านวัฒนธรรม (Cultural Vibrancy) ได้เป็นอย่างดี 

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

หากย้อนกลับไปดูผลการประเมินเมืองเชียงใหม่ด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พบว่าคุณลักษณะเด่นของเมืองเก่าเชียงใหม่ คือ ความหลากหลายของการใช้งานอาคาร มีความหนาแน่นของกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ เต็มไปด้วยร้านอาหาร บาร์ และร้านกาแฟ ทั้งยังสามารถเดินทางได้ด้วยจักรยาน และการเดินเท้า แม้คุณภาพทางเท้าจะอยู่ในระดับปานกลางและไม่มีทางจักรยานที่เหมาะสม การแทรกตัวของอาคารอยู่ในทุกชุมชน ความผสมผสานระหว่างการอยู่อาศัย การค้าขาย การทับซ้อนของกิจกรรม วัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมใหม่ และความหนาแน่นของประชากรสูง ทำให้เมืองเก่าเชียงใหม่มีคุณลักษณะเป็นย่านสร้างสรรค์ไปโดยปริยาย 

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นตัวผลักดันหลักของธุรกิจสร้างสรรค์ ข้อมูลงานวิจัยแสดงจำนวนอาคารธุรกิจร้านค้าคิดเป็นร้อยละ 40.88 แสดงให้เห็นว่าเมืองเก่าเชียงใหม่ได้ปรับเปลี่ยนตนเองเป็นพื้นที่บริการ (Service Station) และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เกิดวิกฤตทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสุขอนามัยของประชากรทั่วโลก เมืองเชียงใหม่ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวกลายเป็นเมืองที่เงียบสงัด ร้านค้าและโรงแรมต่าง ๆ ปิดให้บริการชั่วคราว ผู้คนว่างงานจำนวนมากจากเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก 

ในขณะเดียวกัน คนในเมืองที่เคยใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและคลาคล่ำไปด้วยกิจกรรม ได้กลับมาใช้ชีวิตที่เงียบสงบและเนิบช้า เมืองสะอาดขึ้นจากปริมาณขยะที่ลดลง ชุมชนกลับมามีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งขึ้นจากกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อช่วยเหลือกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพที่หายไปจากเมืองเก่าเชียงใหม่เป็นเวลานาน ก่อให้เกิดคำถามที่ว่า คุณลักษณะการเป็นย่านสร้างสรรค์ของเมืองเก่าเชียงใหม่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไรในภาวะวิกฤตนี้ และหลังจากวิกฤตความเป็นย่านสร้างสรรค์ของเมืองเก่าเชียงใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

วิถีคนในเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างกะทันหัน ความมั่นคงทางอาหารและสุขอนามัยกลายเป็นเรื่องสำคัญภายใต้วิกฤตนี้ เมื่อเมืองไม่มีนักท่องเที่ยว เหลือเพียงผู้คนดั้งเดิมที่อยู่อาศัย การพึ่งพาอาศัยเพื่อช่วยเหลือกันกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมืองเก่าเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายอาหารเพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ ศาสนสถานเป็นพื้นที่คอยช่วยเหลือยามวิกฤต ชุมชนในพื้นที่เมืองเก่าเริ่มพึ่งพาอาศัยตนเองเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ ธุรกิจในพื้นที่โดยเฉพาะร้านอาหารเริ่มปรับตัวเน้นการรองรับผู้อยู่อาศัยในเมืองมากกว่านักท่องเที่ยว เกิดธุรกิจขนาดเล็กที่เน้นการสร้างรายได้ให้ร้านอาหารหรือตลาดท้องถิ่นเพื่อรองรับวิถีที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนคุณลักษณะของย่านสร้างสรรค์ในเมืองที่ทำหน้าที่แตกต่างออกไปจากสภาวะปกติ 

ความสามารถของเมืองในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง หรือ Urban Resilience กลายเป็นความท้าทายที่สุดในช่วงหลังเกิดวิกฤต รูปแบบการใช้ชีวิตแบบ New Normal ทำหน้าที่เสมือนตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อ “การพึ่งพาอาศัยกันของผู้คนในเมือง” ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญของการอยู่รอด ธุรกิจอาจจำเป็นต้องหันมาพึ่งพากำลังการซื้อจากผู้คนภายในเมือง อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทอาหารอาจต้องปรับเปลี่ยน เน้นอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจสร้างสรรค์ต้องเกิดจากพื้นฐานความจำเป็นด้านสุขอนามัย เมืองจากพื้นที่บริการสำหรับนักท่องเที่ยว อาจต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย พื้นที่ในเมืองต้องสนับสนุนกิจกรรมด้านสุขภาพและไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ซึ่งโจทย์สำคัญที่สุด คือ ในห้วงวิกฤตนี้ ธุรกิจสร้างสรรค์ได้เริ่มวางแผนหรือปรับตัวอย่างไร  และการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบความสร้างสรรค์ทั้ง 4 ประการ คือ วัฒนธรรม กิจกรรม ผู้คน และเมือง จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน เรื่องนี้ยังคงต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ต่อไป 
 

ดาวน์โหลดภาพ Infographic - Creative City

ตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มี อะไร บ้าง

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ประกอบด้วย 15 สาขา คือ 1) งานฝีมือและหัตถกรรม 2) ดนตรี 3) ศิลปะการแสดง 4) ทัศนศิลป์ 5) ภาพยนตร์ 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7) การพิมพ์ 8) ซอฟต์แวร์ 9) การโฆษณา 10) การออกแบบ 11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12) แฟชั่น 13) อาหารไทย 14) การแพทย์แผนไทย 15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความสำคัญอย่างไร

เศรษฐกิจสร้างสรรค์สามารถสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable growth) เนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อต่อยอดต่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ผ่านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม นอกจากนี้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์สามารถเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพของแรงงานได้โดยตรง โดยการถ่ายทอด ...

เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีคุณลักษณะอย่างไรที่จะสามารถมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะสมบูรณ์ได้ต้องมีความแข็งแกร่งของ B2P คือ business, people and place (ธุรกิจ, ผู้คน และพื้นที่) พัฒนาไปด้วยกัน เศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงไม่ใช่การมุ่งใช้จินตนาการเพื่อสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการคิดถึงทุกฝ่าย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แล้วผลลัพธ์ในท้ายสุดคือ ธุรกิจมีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง มีฐานรากที่ ...

อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ มีอะไรบ้าง

สัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อ GDP ของประเทศ.
งานฝีมือและหัตถกรรม.
ดนตรี.
ศิลปะการแสดง.
ทัศนศิลป์.
ภาพยนตร์.
แพร่ภาพและกระจายเสียง.
การพิมพ์.
ซอฟท์แวร์.