วัยรุ่นตอนต้นหรือวัยแรกรุ่น

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น หมายถึง การพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญาในช่วงอายุประมาณ 12-18 ปี โดยผู้หญิงมักจะเจริญเติบโตทางร่างกายเร็วกว่าผู้ชายประมาณ 2 ปี ในขณะที่พัฒนาการด้านสติปัญญานั้นอาจใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของวัยรุ่นอย่างเหมาะสม ถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้วัยรุ่นเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มีการเจริญเติบโตทางร่างกายและทางสติปัญญา ดังนี้

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น ทางร่างกาย

ร่างกายของวัยรุ่นมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งกล้ามเนื้อและรูปร่าง แต่ผู้หญิงกับผู้ชายอาจมีพัฒนาการทางร่างกายที่แตกต่างกัน ดังนี้

วัยรุ่นหญิง ส่วนใหญ่เริ่มมีพัฒนาการทางเพศตั้งแต่อายุ 8-13 ปี และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วระหว่างอายุ 10-14 ปี โดยผู้หญิงจะเริ่มมีการเปลี่ยนทางร่างกายหลายส่วน ได้แก่

  • ความสูงของร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • หน้าอกเริ่มใหญ่ขึ้นและสะโพกเริ่มมีส่วนเว้าส่วนโค้งมากขึ้น
  • เริ่มมีขนรักแร้ ขนที่อวัยวะเพศ โดยปกติจะเริ่มมีขนภายใน 6-12 เดือนหลังจากเต้านมเริ่มขยาย
  • ส่วนประกอบของระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูก คลิตอริส ช่องคลอด เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก อาจมีประจำเดือนตอนอายุประมาณ 13 ปี

เมื่อผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน การพัฒนาของความสูงอาจเพิ่มขึ้นอีก 1-2 นิ้วและการพัฒนาของความสูงอาจค่อย ๆ ช้าลงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย

วัยรุ่นชาย ส่วนใหญ่เริ่มมีพัฒนาการทางเพศตั้งแต่อายุ 10-14 ปี และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนอายุประมาณ 16 ปี ซึ่งการเจริญเติบโตของเด็กผู้ชายมักช้ากว่าผู้หญิง 2 ปี โดยส่วนใหญ่เมื่อผู้ชายอายุ 16 ปี ร่างกายจะหยุดเติบโตแต่กล้ามเนื้อยังคงพัฒนาต่อไป โดยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ชาย ได้แก่

  • องคชาตและอัณฑะมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • เริ่มมีขนรักแร้ หนวด เครา ขนบนใบหน้า และขนที่อวัยวะเพศ
  • เสียงเริ่มแตกหนุ่มและเข้มขึ้น
  • ลูกอัณฑะเริ่มผลิตอสุจิ อาจเริ่มมีฝันเปียก
  • ผู้ชายบางคนอาจมีลูกกระเดือกใหญ่ขึ้นจนมองเห็นได้ชัด

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น ทางสติปัญญา

วัยรุ่นเริ่มมีพัฒนาการและความสามารถทางความคิดอย่างมีระบบ ลึกซึ้งและซับซ้อนมากขึ้น รู้จักการจัดการกับอารมณ์และการแก้ปัญหา ซึ่งช่วยในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจที่นำไปสู่การพัฒนาทางปัญญาของวัยรุ่น การเจริญเติบโตของวัยรุ่นทางสติปัญญาแต่ละช่วงวัย มีดังนี้

วัยรุ่นตอนต้น เริ่มมีความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้นและรู้จักตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เช่น

  • เริ่มพูดและแลกเปลี่ยนความเห็นในมุมมองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวเอง เช่น ควรเข้ากลุ่มกับเพื่อนคนไหนดี ควรเล่นกีฬาชนิดไหนดี ควรสร้างบุคลิกแบบไหนถึงน่าดึงดูด
  • เริ่มแสดงความคิดเห็น แนะนำ โต้ตอบในเรื่องการเรียน
  • เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมและมาตรฐานทางสังคมมากขึ้น

วัยรุ่นตอนกลาง เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องอนาคตมากขึ้น เช่น

  • เริ่มคิดเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกของตัวเองในอนาคต
  • เริ่มคิดและวางแผนการใช้ชีวิต และตั้งเป้าหมายของตัวเองในอนาคต
  • เริ่มคิดถึงการกระทำและผลของการกระทำในระยะยาวมากขึ้น
  • เริ่มคิดถึงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น

วัยรุ่นตอนปลาย เริ่มมีกระบวนการความคิดที่ซับซ้อน คิดถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและอาจสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น เช่น

  • เริ่มให้ความสนใจในการเรียนต่อ และตัดสินใจเลือกอาชีพในอนาคต
  • แสดงความคิดเห็นและโต้ตอบเมื่อไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวคิดของตนเอง
  • เริ่มมีแนวคิดและให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น เช่น การเมือง กฎหมาย ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางเพศ

การเจริญเติบโตของวัยรุ่น มีวิธีส่งเสริมได้อย่างไรบ้าง

การส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งทางร่างกายและทางสติปัญญาของวัยรุ่น สามารถทำได้ดังนี้

  • การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วัยรุ่นควรนอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง
  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ วัยรุ่นควรรับประทานอาหารที่หลากหลายทั้งผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีน และอาหารไขมันต่ำ ไม่ควรรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดบ่อยเกินไป
  • การออกกำลังกาย วัยรุ่นควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 60 นาที เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโตที่ดี อาจเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ว่ายน้ำ เตะฟุตบอล เต้น
  • ส่งเสริมให้วัยรุ่นแบ่งปันความคิดเห็นกับผู้ใหญ่ ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับหัวข้อ ประเด็น และเหตุการณ์ปัจจุบันที่หลากหลาย และแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ตัดสิน เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นมีอิสระทางความคิด และฝึกใช้เหตุและผลในการพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัว
  • ส่งเสริมและช่วยวัยรุ่นในการกำหนดเป้าหมายของตนเองในอนาคต เช่น การเรียนต่อ การทำงาน หากวัยรุ่นทำสิ่งใดผิดพลาด อาจช่วยสอน ตักเตือน และหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำ
  • ชมเชยและยกย่องวัยรุ่นที่ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างรอบคอบ หรือทำสิ่งที่ดีต่อตนเองและสังคม เช่น การทำความดี การช่วยเหลือผู้อื่น

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

วัยรุ่นตอนต้นหรือวัยแรกรุ่น

การเข้าสู่วัยรุ่นเร็วหรือช้า (Early versus late maturation) มีผลต่อจิตใจของวัยรุ่น

ปัญหาหนึ่งที่สำคัญสำหรับช่วงวัยรุ่นก็คือการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วหรือช้า ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากทางด้านร่างกายของวัยรุ่น ในวัยแรกรุ่นหรือที่เรียกว่า Puberty เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยรุ่น ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก หรือส่วนสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต วัยแรกรุ่นนี้จะมีระยะเวลาประมาณ 4 ปี โดย 2 ปีแรกจะซ้อนกับวัยเด็กตอนปลาย และ 2 ปีหลังจะซ้อนกับวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งในผู้หญิงกับผู้ชายก็จะมีวัยแรกรุ่นด้วยอายุที่แตกต่างกัน เด็กผู้หญิงจะเริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 10-12 ปี ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มต้นเมื่ออายุ 12-16 ปี

การเข้าสู่วัยแรกรุ่นเร็วหรือช้า ในเด็กผู้ชายและผู้หญิง ไม่ได้ส่งผลต่อร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายยังมีผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของวัยรุ่นแตกต่างกันไปด้วย

วัยรุ่นตอนต้นหรือวัยแรกรุ่น

เด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นเร็ว

มักจะมีอารมณ์ที่ดีกว่า มีความรู้สึกผ่อนคลายกว่าเด็กคนอื่นๆ เนื่องจากการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ในเด็กผู้ชายจะมีรูปร่างที่สูงใหญ่มากขึ้น ตัวสูงและหนาขึ้น มีกล้ามเนื้อมากขึ้น หรือเสียงแตก ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรง และลักษณะของความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กคนอื่น จึงทำให้เด็กชายมีความมั่นใจในตนเอง มองภาพลักษณ์ตนเองในเชิงบวก ส่งผลให้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งเด็กเหล่านี้มักจะได้รับการยอมรับในกลุ่มเพื่อน และมักได้รับเลือกให้เป็นผู้นำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่แสดงออกถึงการเป็นวัยรุ่นมากกว่าเด็กคนอื่นๆ

วัยรุ่นตอนต้นหรือวัยแรกรุ่น
เด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นช้า

ตรงข้ามกับเด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นเร็ว เนื่องจากการเปลี่ยนทางด้านร่างกายที่ช้ากว่าเพื่อนคนอื่นๆ ทำให้ถูกมองเป็นลักษณะของคนอ่อนแอ เช่น ตัวเล็ก รูปร่างผอมบาง ซึ่งทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และมีความวิตกกังวลกับความเป็นตัวเอง มองตนเองในเชิงลบหรือการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ อาจโดนล้อจากเพื่อนๆ โดนแกล้งหรือรังแก เด็กเหล่านี้จะปรับตัวได้ยากกว่าคนอื่นๆ

วัยรุ่นตอนต้นหรือวัยแรกรุ่น
เด็กหญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นเร็ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเด็กเหล่านี้คือ มักไม่เป็นที่นิยมของเพื่อน เนื่องจากการเปลี่ยนทางด้านร่างกายที่รวดเร็วของเด็กผู้หญิงจะถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย เป็นสิ่งที่ต้องปกปิด เช่น การมีประจำเดือน การมีหน้าอก หรือการที่มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนอื่นๆ ทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และมองเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ อาจรู้สึกแปลกแยก รู้สึกว่าตนเองไม่เหมือนเพื่อน และรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ไม่ได้ จึงมีการปรับตัวได้ยาก

วัยรุ่นตอนต้นหรือวัยแรกรุ่น
เด็กหญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นช้า

ตรงกันข้ามกับเด็กหญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นเร็ว คือมักเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ การที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงช้า ทำให้ยังคงมีรูปร่างเหมือนวัยเด็ก เช่น ตัวเล็ก รูปร่างผอมบาง จึงเป็นที่ยอมรับในสายตาเพื่อน ๆ ทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้มาเกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย หากแต่เกิดจากปฏิกิริยาและความคาดหวังของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือเพื่อนวัยเดียวกัน ฯลฯ  เพราะคาดหวังให้เด็กเป็นในแบบที่เขาต้องการ หรืออยากให้เหมือนกับคนอื่นๆ อาจจะมีการเปรียบเทียบ พูดแซว ล้อเลียนเรื่องรูปร่างหน้าตา หรือส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ  จึงทำให้เด็กเกิดความวิตกกังวล ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง การมองเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ ซึ่งมีผลต่ออารมณ์และจิตใจของวัยรุ่น เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ของตนเอง หากรับรู้ว่าภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองตัวเองนั้นไม่ดี ก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจวัยรุ่นได้มากเช่นกัน

ความจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายช้าหรือเร็วนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม อาหาร ฮอร์โมน การออกกำลังกาย โรคเรื้อรัง เป็นต้น  และการเปลี่ยนแปลงของแต่ละคน อาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกันและไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องกังวล ถ้าผู้ใหญ่และเด็กเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วหรือช้าที่กล่าวมานี้ก็อาจจะลดลงได้  แต่ถ้ามีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

อธิญา ยุทธนาศาสตร์

(นิสิตฝึกงานสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

ข้อมูลอ้างอิง

เมื่อลูกเป็นสาวเร็ว : https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=259