อาหารสำหรับผู้ป่วย เบาหวาน ชนิดที่ 2

อาหารสำหรับผู้ป่วย เบาหวาน ชนิดที่ 2


ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องเรียนรู้ในการปรับการรับประทานอาหารให้เหมาะสม ดังข้อแนะนำต่อไปนี้

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานแบ่งง่ายๆ ออกเป็น 3 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 

อาหารที่ห้ามรับประทาน

ได้แก่ น้ำตาลและขนมหวาน เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ลอดช่อง อาหารเชื่อม เค้ก ช็อกโกแลต ไอศครีม และขนมหวานอื่นๆ

เครื่องดื่มที่ห้ามรับประทาน

เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม น้ำเขียว น้ำแดง โอเลี้ยง เครื่องดื่มชูกำลัง นมข้นหวาน น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ ซึ่งมีน้ำตาลประมาณ 8-15% เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นน้ำมะเขือเทศ มีน้ำตาลประมาณ 1% ควรดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำชาไม่ใส่น้ำตาล ถ้าดื่มกาแฟ ควรดื่มกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล นมข้นหวาน หรือครีมเทียม (ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลกลูโคส 58% น้ำมันปาล์ม 33%) ควรใส่นมจืดพร่องมันเนย สำหรับนมเปรี้ยวส่วนใหญ่ไม่ใช่นมพร่องไขมัน และมีน้ำตาลอยู่ประมาณ 15% เป็นส่วนใหญ่ ส่วนนมถั่วเหลืองมีน้ำตาลน้อยกว่าประมาณ 5-6% ถ้าน้ำอัดลม ควรดื่มน้ำอัดลมที่ใส่น้ำตาลเทียม เช่น เป๊ปซี่แม็กซ์ โค้กซีโร่ โค้กไลท์ เป็นต้น

น้ำตาลเทียม น้ำตาลเทียมที่มีอยู่ในปัจจุบันมี 3 ประเภท คือ

1. แอสปาแทม จำหน่ายแบบเม็ดและแบบซอง แอสปาแทมเป็นสารอาหาร คือ กรดอะมิโนเอซิด (amino acid) มีสารอาหารต่ำ ใน 1 เม็ดมี 2 กิโลแคลอรี่ ใน 1 ซอง มี 4 กิโลแคลอรี่ จึงรับประทานได้ แต่ไม่มากจนเกินไป ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล สำหรับคำเตือนข้างกล่องน้ำตาลเทียมและกระป๋องน้ำอัดลม ว่าห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นฟีนิลคีโตนยูเรีย (phenylketonuria) โรคนี้พบน้อยในเมืองไทย และถ้าเป็นโรคนี้จะได้รับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่เด็ก

2.แซคคารีน (saccharin) หรือขัณฑสกร ชื่อทางการค้าว่า สวีทแอนด์โลว์ (sweet and low) ไม่มีสารอาหาร มีการศึกษาว่าทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในหนู แต่ต้องใช้ปริมาณสูงมาก ในคนยังไม่มีหลักฐานว่าจะทำให้เกิดโรคมะเร็ง

3.น้ำตาลฟรุคโตส หรือซอร์บิทอล เป็นน้ำตาลที่ผสมอยู่ในช็อกโกแลตเบาหวาน แยมเบาหวาน เป็นต้น หรือจำหน่ายเป็นผงในกระป๋อง น้ำตาลชนิดนี้เป็นน้ำตาลจากผลไม้มีสารอาหารเท่ากับน้ำตาล ไม่ควรรับประทานน้ำตาลเทียมชนิดนี้ เพราะอาจเข้าใจผิดว่าไม่มีสารอาหาร และส่วนใหญ่ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานผลไม้อยู่แล้ว

4.อะซิซัลเฟม เค เป็นส่วนประกอบในน้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล

ประเภทที่ 2 อาหารที่รับประทานได้ไม่จำกัดจำนวน

ได้แก่ ผักใบเขียวทุกชนิด เช่น ผักกาด ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ถั่วงอก ทำเป็นอาหาร ตัวอย่างเช่น ต้มจืด ยำ สลัด ผัดผัก เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีสารอาหารต่ำ นอกจากนั้นยังมีกากใยอาหารที่เรียกว่า ไฟเบอร์ ซึ่งทำให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลง

ประเภทที่ 3 อาหารที่รับประทานได้แต่ต้องเลือกชนิด หรือจำกัดจำนวน

ได้แก่ อาหารพวกแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) ปัจจุบันอาหารพวกแป้งนั้นไม่จำกัดจำนวน ถ้าผู้ป่วยไม่อ้วนมาก เนื่องจากลดอาหารจำพวกแป้ง ทำให้ต้องเพิ่มอาหารจำพวกไขมัน ซึ่งอาจเป็นผลทำให้ระดับไขมันสูง และเพิ่มเนื้อสัตว์ทำให้หน้าที่ของไตเสียเร็วขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคไตร่วมด้วย ผลไม้นั้นต้องจำกัดจำนวน ควรรับประทานพร้อมกับอาหารครั้งละ 1 ส่วน 

เนื่องจากอาหารกลุ่มพวกแป้งหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะอาหารไทย ดังนั้น จึงควรเลือกรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงปัจจัย 2 อย่าง คือ

  • ปริมาณไฟเบอร์ (เส้นใยอาหาร)
  • ไกลซีมิค อินเด็กซ์ (glycemic index)

สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ รพ.กรุงเทพพัทยา หรือโทร.1719

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้เป็นอาหารพิเศษแตกต่างจากอาหารที่คนทั่วไปรับประทานกัน เพียงแต่ต้องใส่ใจและเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกชนิดอาหาร และควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้รับน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ในแต่ละวันควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่  และแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อย่อย 5 มื้อต่อวัน เพื่อไม่ให้แต่ละมื้อรับประทานมากเกินไป เนื่องจากระยะเวลาระหว่างมื้อห่างกันเกินไป

ตัวอย่างรายการอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานใน 1 วัน

3 มื้อหลัก + 2 มื้อว่าง = อาหาร 5 มื้อ

* เลือกรายการอาหารแบบใดแบบหนึ่งในแต่ละมื้อ หรือจัดสรรเมนูที่มีสารอาหารและปริมาณที่ใกล้เคียงแทนได้

อาหารเช้า  

ข้าวต้มกุ้งหรือโจ๊กหมูสับ 1 ถ้วย, แคนตาลูป 1 จานเล็ก/ส้มเขียวหวาน 1 ผล

แซนด์วิชผักโขม ไข่ และชีส, แคนตาลูป 1 จานเล็ก, กาแฟดำ/กาแฟใส่นมไขมันต่ำ + น้ำตาล 1 ช้อนชา

ขนมปังโฮลวีท 1 แผ่น,  ไข่ดาว/ไข่ต้ม 1 ฟอง, ผักสลัด 1 จาน, กาแฟดำ/กาแฟใส่นมไขมันต่ำ + น้ำตาล 1 ช้อนชา

อาหารว่างมื้อสาย (เลือกแบบใดแบบหนึ่ง หรือจัดสรรเมนูที่มีสารอาหารและปริมาณที่ใกล้เคียงแทนได้)

ผลไม้ไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง, แคนตาลูป, แอปเปิล, ชมพู่ 1 จานเล็ก หรือกล้วยหอม 1 ผล

อาหารทดแทนชงดื่ม 1 แก้ว หรือนมพร่องมันเนย/นมไขมันต่ำ 1 แก้ว

โยเกิร์ตรสจืดไขมันต่ำ, สตรอว์เบอร์รี่ 3-4 ลูก

อาหารกลางวัน (เลือกแบบใดแบบหนึ่ง หรือจัดสรรเมนูที่มีสารอาหารและปริมาณที่ใกล้เคียงแทนได้)

ก๋วยเตี๋ยวน้ำหรือแห้ง 1 ชาม, ผลไม้ไม่หวานจัด 1 จานเล็ก (1 ถ้วย) 

ส้มตำไทย 1 จาน, ไก่ย่างไม่ติดหนัง 1 ชิ้น, ข้าวเหนียว 1 จานเล็ก (1/2 ถ้วย)

ข้าวผัด 1 จาน, ผักสลัด 1 จาน

อาหารว่างมื้อบ่าย (เลือกแบบใดแบบหนึ่ง หรือจัดสรรเมนูที่มีสารอาหารและปริมาณที่ใกล้เคียงแทนได้)

อาหารทดแทนชงดื่ม 1 แก้ว, สตรอว์เบอร์รี่ 4-5 ผล

แครกเกอร์โฮลวีท 3-4 ชิ้น, น้ำผักผลไม้ปั่นไม่แยกกาก 1 แก้ว

ขนมจีบ 3 ลูก หรือซาลาเปา 1 ลูก, เก็กฮวยร้อน/ชาร้อนแบบไม่หวาน 1 แก้ว

อาหารเย็น (เลือกแบบใดแบบหนึ่ง หรือจัดสรรเมนูที่มีสารอาหารและปริมาณที่ใกล้เคียงแทนได้)

ข้าวกล้อง/ข้าวสวย 1 ทัพพี, แกงส้มผักรวม/ผัดผักรวมกุ้ง/แกงจืดตำลึงเต้าหู้หมูสับ, ปลานึ่งหรือปลาเผา 1 ชิ้น

ข้าวกล้อง/ข้าวสวย 1 ทัพพี, ปลาทูทอด 1 ตัว, น้ำพริก+ผักสดและผักลวก 1 จาน

สเต็กปลาหรือไก่ย่างไม่ติดมัน, สลัดผักน้ำใสหรือผักลวก 1 จาน

รายการอาหารที่นำเสนอเป็นเพียงตัวอย่าง ผู้ป่วยเบาหวานมีอิสระในการเลือกอาหารได้หลากหลายเหมือนคนทั่วไป เพียงแต่จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการเลือกชนิดอาหาร ปริมาณที่เหมาะสม รู้จักแลกเปลี่ยน ปรับใช้  รวมทั้งการเลือกรับประทานอาหารทดแทนเพื่อจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ