ฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ ผลตอบแทนคือ

การประชุม กนง. จะมีการกำหนดตารางการประชุมไว้ล่วงหน้าหนึ่งปี และในการประชุมแต่ละครั้ง กนง. จะประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน เพื่อพิจารณากำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม คณะเลขานุการ กนง. จะทำหน้าที่รายงานข้อมูลล่าสุดทั้งด้านการเงิน การคลัง การต่างประเทศ การใช้จ่ายของภาคเอกชน และการผลิต ปัจจัยต่าง ๆ ที่จะกระทบราคาสินค้าและบริการ อาทิ ราคาน้ำมันโลกหรือราคาสินค้าเกษตรโลก ตลอดจนความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้ กนง. พิจารณาประมาณการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ และตัดสินนโยบายการเงินว่าจะปรับขึ้น/คง/ลด อัตราดอกเบี้ยนโยบาย  ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างปัจจุบันทันด่วน ก็อาจจะมีการจัดประชุม กนง. นัดพิเศษขึ้นก่อนที่จะถึงรอบการประชุมที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้

การสื่อสารผลการตัดสินนโยบาย​การเงิน​

หลังการประชุม กนง. แต่ละครั้ง จะมีการเผยแพร่ผลการประชุม กนง. เวลา 14.00 น. และ เลขาฯ กนง. จะแถลงผลการประชุม ในเวลา 14.30 น. ของวันประชุม พร้อมทั้งตอบคำถามสื่อมวลชนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินนโยบายและการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ

หลังจากการประชุม กนง. ประมาณ 2 สัปดาห์ จะมีการเผยแพร่รายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อ บนเว็บไซต์ของ ธปท. โดยรายงานการประชุมจะอธิบายการประเมินภาพเศรษฐกิจและทัศนะของกรรมการที่มีผลต่อการตัดสินนโยบายการเงิน นอกจากนี้ ธปท. ยังจัดทำรายงานนโยบายการเงิน ทุกไตรมาสเพื่อชี้แจงรายละเอียดในการประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน และสื่อสารมติของ กนง. ต่อนักลงทุนและสาธารณชนพร้อมทั้งอธิบายเหตุผลของการตัดสินนโยบายต่าง ๆ อีกด้วย

เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน

ในการดูแลระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เป็นไปตามที่ กนง. กำหนดนั้น ธปท. จะอาศัยเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน (Monetary Policy Instrument) 3 ประเภทหลักดังต่อไปนี้
1) การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirements) ซึ่งได้แก่ ข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายโดยเฉลี่ยรายปักษ์ เป็นสัดส่วนต่อค่าเฉลี่ยของฐานเงินฝากและหนี้สินในปักษ์ก่อนหน้า ซึ่งอัตราที่กำหนดในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6
2) การดำเนินการผ่านตลาดการเงิน (Open Market Operations หรือ OMOs) โดย ธปท. จะปรับสภาพคล่องโดยการเข้าทำธุรกรรมในตลาดเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระดับเงินฝากของสถาบันการเงินที่ ธปท. และมีผลต่อเนื่องถึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ซึ่ง OMOs ถือเป็นเครื่องมือหลักของ ธปท. ในการรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และดูแล
สภาพคล่องในระบบการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยปัจจุบัน การดำเนินการของ ธปท. ในตลาดจะทำโดยผ่านธุรกรรมหลัก 4 ประเภท ได้แก่
          (1) การทำธุรกรรมซื้อคืน/ขายคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repurchase Operations)
          (2) การออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (Issuance of BOT Bonds)
          (3) การสวอปเงินตราต่างประเทศ (FX Swap)
          (4) การทำธุรกรรมซื้อขาด/ขายขาดหลักทรัพย์ (Outright purchase/sale of securities)

3) หน้าต่างตั้งรับ (Standing Facilities) คือ ช่องทางที่ ธปท. เปิดให้สถาบันการเงินสามารถกู้ยืมจาก ธปท. โดยมีพันธบัตรเป็นหลักประกันหรือฝากเงินไว้กับ ธปท. ระยะข้ามคืนได้ เพื่อปรับสภาพคล่องของสถาบันการเงินในช่วงสิ้นวัน

ช่องทางการส่งผ่านของนโยบายการเงิน
การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อเศรษฐกิจผ่าน 5 ช่องทางหลัก ประกอบด้วยช่องทางอัตราดอกเบี้ย สินเชื่อ ราคาสินทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน และการคาดการณ์ของประชาชน โดยช่องทางต่าง ๆ จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านการบริโภคและการลงทุน การส่งออกนำเข้า และส่งผลต่อเนื่องมายังระดับราคาสินค้าและบริการในที่สุด

ช่องทางอัตราดอกเบี้ย เป็นช่องทางส่งผ่านที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน โดยหาก กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและของธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับลดลงตาม ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงทำให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจที่จะกู้ยืมเพื่อลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลงก็จะลดแรงจูงใจของประชาชนที่จะนำเงินมาฝากออมไว้กับธนาคาร และอาจนำเงินเหล่านั้นไปจับจ่ายใช้สอยแทน ดังนั้น ในภาพรวม อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจึงช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ตรงกันข้าม หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับสูงขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อก็จะมีแนวโน้มชะลอลง

ช่องทางสินเชื่อ เมื่อ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง ภาระหนี้สินของธุรกิจจะบรรเทาลงตาม ส่งผลให้ฐานะการเงินของธุรกิจเข้มแข็งขึ้น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจก็จะปรับลดลงและจูงใจให้สถาบันการเงินยินดีปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจในปริมาณที่มากขึ้นและด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ทำให้ธุรกิจสามารถขยายการลงทุนและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงยังส่งผลดีต่อฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ผ่านต้นทุนในการระดมเงินฝากที่ลดลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถระดมเงินฝากได้มากขึ้นและเพิ่มปริมาณการปล่อยกู้สู่ภาคเศรษฐกิจจริง จึงช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป

ช่องทางราคาสินทรัพย์ หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง ประชาชนจะออมเงินในรูปเงินฝากน้อยลงและหันไปออมในรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น เช่น การลงทุนในหุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจและครัวเรือนที่ถือสินทรัพย์เหล่านี้เป็นกรรมสิทธิ์อยู่มีความมั่งคั่งมากขึ้น และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการบริโภค นอกจากนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้นยังส่งผลให้โอกาสที่ธุรกิจและครัวเรือนจะได้รับการอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินมีมากขึ้น เนื่องจากสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ประกอบกับมูลค่าของบริษัทในตลาดหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้น ก็จะจูงใจให้บริษัทเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการหรือซื้อสินทรัพย์ใหม่มาทดแทนของเดิม ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น การขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในที่สุด

ช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน หาก กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินของไทยที่ต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของประเทศอื่นจะผลักดันให้นักลงทุนออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศมากขึ้น เงินทุนที่ไหลออกลดความต้องการเงินบาทและทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงตาม การอ่อนค่าของเงินบาททำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยจะราคาถูกลงในสายตาของต่างชาติ ส่งผลให้ประเทศส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเร่งขึ้น  

ช่องทางการคาดการณ์ของประชาชน