อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 2564 กรมสรรพากร

บัญชีและภาษีก็เป็นวิชาที่ควบคู่กันมาอย่างยาวนาน นักบัญชี นอกจากจะต้องบันทึกบัญชีและออกงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพแล้ว เรายังจะต้องมีหน้าที่ยื่นชำระภาษีของนิติบุคคลที่เราดูแลให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรอีกด้วยนะคะ

อัตราภาษี

ก่อนอื่นเลย เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับแต่ละกรณี เป็นร้อยละเท่าไหร่บ้าง

กรณีทั่วไป

ในปัจจุบัน ปี 2564 อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลยังอยู่ที่ 20% ของกำไรสุทธิ ในกรณีทั่วไปสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไปค่ะ

กรณี SME

ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มี

  1. ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และ
  2. รายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 30 ล้านบาท ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา

โดยในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ให้คำนวณภาษี ในอัตรา ดังนี้

กำไรสุทธิอัตราภาษี<= 300,000 บาทยกเว้น300,000 – 3,000,000 บาท15%> 3,000,000 บาท20%

กรณีเป็นกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

ให้คำนวณภาษีในอัตรา 10% ของกำไรสุทธิ สำหรับรายได้ที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือหรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานฯ ดังต่อไปนี้

  1.   รายได้จากการให้บริการของสำนักงานฯ ได้แก่ วิสาหกิจในเครือหรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานฯ
  2. ดอกเบี้ยรับ ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่สำนักงานฯ ได้กู้มาเพื่อให้กู้ยืมต่อ
  3. ค่าสิทธิ รวมทั้งค่าสิทธิที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่นำผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของสำนักงานไปใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการแก่สำนักงานฯ วิสาหกิจในเครือหรือสาขาต่างประเทศของสำนักงาน ฯ ทั้งนี้ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของสำนักงานฯ ที่กระทำขึ้นในประเทศไทย

กรณีเป็นกิจการนำเข้าส่งออกน้ำมันที่ได้รับอนุญาต

กรณีเป็นกิจการนำเข้าส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเขตปลอดอากรหรือระหว่างเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพลังงานให้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ให้คำนวณภาษีในอัตรา 10% ของกำไรสุทธิ สำหรับรายได้จากการประกอบธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิงตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย

ทั้งนี้ บริษัทซึ่งประกอบกิจการที่มีรายได้จากการประกอบธุรกรรมและการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงได้แจ้งการเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพลังงานในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นต้นไป

กรณีกิจการเป็นศูนย์กลางการหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ

ให้คำนวณภาษีในอัตรา 15% ของกำไรสุทธิ

กรณีได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้เสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย

ให้เสียภาษีในอัตรา 5% ของยอดรายรับ

การคำนวณภาษี

ได้รู้เรื่องอัตราภาษีที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละลักษณะธุรกิจและกิจการแล้ว ต่อมาเราก็จะต้องนำอัตราภาษีดังกล่าวมาคำนวณกันค่ะว่า แต่ละปี นิติบุคคลต่าง ๆ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่และเมื่อไหร่บ้าง

ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ นิติบุคคลจะต้องคำนวณภาษีเงินได้ นิติบุคคล และยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ดังนี้ค่ะ

1. การคำนวณเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวล รัษฎากรดังนี้

                 (1)   ให้นิติบุคคลจัดทำประมาณการกำไร สุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำหรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แล้ว ให้คำนวณและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากจำนวนกึ่งหนึ่ง (ครึ่งหนึ่ง หรือ 1/2) ของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

                 (2)  ยกเว้น ในกรณีบริษัทจดทะเบียนธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ให้คำนวณและ ชำระภาษีจากกำไรสุทธิ ของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชีตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี

ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนี้ให้ถือเป็นเครดิตในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้น รอบระยะเวลาบัญชีคือ สามารถเอาไปหักออกจากภาษีที่ต้องเสียจากกำไรสุทธิของทั้งรอบระยะเวลาบัญชีได้ และในกรณีที่ภาษีที่เสีย ไว้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีสูงกว่าภาษีที่จะต้องเสียทั้งรอบระยะเวลาบัญชี ก็มีสิทธิขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินได้นะคะ

กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย น้อยกว่า 12 เดือน ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีค่ะ

2. การคำนวณเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณกำไรสุทธิตาม เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ ใน ประมวลรัษฎากร โดยนำกำไรสุทธิดังกล่าวคูณด้วยอัตราภาษี เงินได้นิติบุคคล จะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ต้องจ่ายชำระค่ะ

ถ้าคำนวณกำไรสุทธิออกมาแล้วปรากฎว่า ไม่มีกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ บริษัทไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ถ้าการจัดทำบัญชีของบริษัทได้จัดทำขึ้นตามหลักบัญชีโดยไม่ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขในประมวลรัษฎากร เมื่อจะคำนวณภาษีบริษัทจะต้องปรับปรุงกำไรสุทธิดังกล่าวให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากรแล้วจึง คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ นี้ทำให้ กำไรสุทธิทางภาษี และ ทางบัญชีในประเทศไทยนั้นมีความแตกต่างกันในระดับนึงเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งในการคำนวณภาษี เราจะต้องใช้หลักเกณฑ์ตามประมวลรัษฎากรในการคิดคำนวณ

ในบทความต่อไป เราจะมาลงรายละเอียดในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่นำมาหักออกจากรายได้ได้ และ ค่าใช้จ่ายต้องห้ามที่ห้ามนำมาหักออก รวมถึงรายได้ที่เป็นรายได้ทางภาษี และ รายได้ที่ไม่ถือเป็นรายได้ทางภาษีกันค่ะ