แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนา

ทฤษฎีการพัฒนา

     การพัฒนาประเทศนั้นจะต้องมีกรอบแนวคิดทฤษฎีเป็นแนวทางในการพัฒนา ทฤษฎีการพัฒนาที่สำคัญมี 3 ทฤษฎี (ปกรณ์ ปรียากร. ม.ป.ป. : 25- – 50) คือ ทฤษฎีภาวะทันสมัย (Modernization Theory)  ทฤษฎีพึ่งพา (Dependency Theory)  ทฤษฎีความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs  Theory)

1. ทฤษฎีภาวะทันสมัย (Modernization Theory)  

   ทฤษฎีนี้อาศัยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก (Neo-Classic Theory)  และทฤษฎีสังคมศาสตร์ของอเมริกันมาประยุกต์เป็นกรอบการวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งจุดเน้นของแนวคิดทฤษฎีนี้ คือ การที่จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัยนั้นต้องมีการดำเนินไปในทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การเมือง ความรู้สึกนึกคิด และความรู้ของคนในสังคมจะขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์กันตลอดจนส่งผลซึ่งกันและกัน

  ทฤษฎีภาวะทันสมัย เน้นในเรื่องต่อไปนี้คือ

     1.  เน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  โดยอาศัยอุตสาหกรรมเป็นตัวนำในการพัฒนา

    2.  เน้นบทบาทของรัฐในการวางแผนจากส่วนกลาง (Top – down Planning)

    3.  เน้นพัฒนาสังคมเมือง (Urbanization) โดยสร้างสังคมเมืองให้ทันสมัย

    4.  เน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งนี้เพราะทฤษฎีนี้เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม

    5.  เน้นการใช้ทุนเข้มข้นจากภายนอกประเทศ

2.  ทฤษฎีพึ่งพา (Dependency Theory)

         ทฤษฎีนี้เกิดจากปัญหาความด้อยพัฒนาในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา โดย เป็นการศึกษาถึงปัญหารากเหง้าของความด้อยพัฒนาในประเทศโลกที่สาม โดยมีขอบข่ายที่ ครอบคลุมถึงการพัฒนาแบบพึ่งพา (Self–dependency) ชาตินิยม (Nationalism) โครงสร้างนิยม (Structuralism) และพัฒนานิยม (Developmentalism) แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ต่อต้าน ลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) ซึ่งนักพัฒนาของประเทศด้อยพัฒนาและประเทศที่มีความเจริญ แล้วต่างก็พยายามหาความหลุดพ้นจากสภาพความด้อยพัฒนา โดยการปรับปรุงโครงสร้างความ สัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศที่พัฒนาและประเทศที่ด้อยพัฒนา การปรับปรุง ความสัมพันธ์ทางการผลิตเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพของเศรษฐกิจและสังคม ใหม่   Frank , Cardose , Doossantos ได้เสนอแนวคิดทฤษฎีพึ่งพาเอาไว้ดังนี้ คือ

     1.  ถ้าพัฒนาตามทฤษฎีภาวะทันสมัย ประเทศตะวันตกที่เจริญจะเป็นศูนย์กลางทุกอย่าง ในขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาจะเป็นบริวาร หรือต้องพึ่งพาภายนอกอยู่ตลอดเวลา 

     2. ควรมีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคมเสียใหม่ เพื่อที่จะนำไปสู่การกระจายผลของการพัฒนาอย่างเป็นธรรม

    3.  กระบวนการที่สามารถกระทำได้คือ การลดการพึ่งพาจากภายนอกลง และการที่ประเทศพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองให้มากขึ้น

      ทฤษฎีพึ่งพานี้นักวิชาการมิได้เสนอแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน

  3.  ทฤษฎีความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs  Theory)

           เกิดจากแนวคิดของนักวิชาการกลุ่ม องค์การกรรมกรระหว่างประเทศ (ILO = International Labour Organization)  และนักเศรษฐศาสตร์ เช่น  ดัดเลย์ เซียร์,( Duley Seer ) พอล สทรีทเท็น ( Pual Streeten ), กุนนาร์ ไมด์ดัล ( Gunnar Myrdal )  ซึ่งเรียกร้องให้มีการดำเนินการวิเคราะห์เพื่อกำหนดเงื่อนไขทางสังคมและการจัดเตรียมสถาบันต่างๆก่อนการพัฒนา ตามทฤษฎีนี้แนวทางการพัฒนามาจากกรอบความคิดในการวางแผนจากส่วนกลาง ไปสู่การวางแผนจากระดับล่าง (bottom – up planning)  ตามความต้องการความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประเทศจุดเน้นสำคัญของทฤษฎีความจำเป็นพื้นฐาน  คือ 

        1.  เน้นการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการที่จำเป็นพื้นฐานของประชาชน

        2.  เน้นการกระจายอำนาจ (Decentralization) และความเจริญไปยังพื้นที่เป้าหมายอย่างทั่วถึง

        3. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตรกรรม และพื้นที่ชนบทมาก

        4. สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology)

        5. เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Quality of Life) ของประเทศ

        6. เน้นการพัฒนาทุก ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กันแบบบูรณาการ (Integration) ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การบริหาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

       7. สนับสนุนการใช้แรงงาน และทุนภายในประเทศ (Labour & Capital)

       8.  เน้นการมีส่วนร่วม (Participation) ของประชาชนในชุมชน

เอกสารอ้างอิง

มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. บทที่่ 4 ทฤษฎีเกี่่ยวกับการพัฒนา. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก    http://library.uru.ac.th/bookonline/books%5CCh4A.pdf (วันที่ค้นข้อมูล : 16 พฤศจิกายน  2554).

มหาวิทยาลัยรามคำแหง. บทที่ 3 แนวคิด ทฤษฎีและวิธีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้          จาก http://e-book.ram.edu/e-book/e/EF324/EF324-3.pdf (วันที่ค้นข้อมูล : 17 พฤศจิกายน  2554).