ความก้าวหน้าใน อาชีพ โปรแกรมเมอร์

อาชีพโปรแกรมเมอร์ งานที่ท้าทาย รายได้ดี และมีอนาคตที่ดี จริงหรือไม่

เราต้องยอมรับครับว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์บ้านเราโตได้ยาก จะไปแข่งกับประเทศอื่นๆคงลำบากเพราะเราขาดนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เก่งๆมากพอ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) หรือโปรแกรมเมอร์ (Programmer) เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ถ้าเรามีจำนวนไม่มากพอก็เหมือนขาดวัตถุดิบในการผลิตก็จะแข่งขันลำบาก ที่น่าตกใจกว่านั้นเด็กรุ่นใหม่ที่มาเรียนสายคอมพิวเตอร์บอกว่าไม่อยากเขียนโปรแกรม ส่วมมากเขียนโปรแกรมไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ไม่เก่งพอ แต่ที่แปลกใจคือจำนวนหนึ่งบอกว่าอาชีพโปรแกรมเมอร์ไม่ก้าวหน้า รายได้ไม่ดี

ความก้าวหน้าใน อาชีพ โปรแกรมเมอร์

ผมค่อนข้างงงกับที่คนเข้าใจว่าอาชีพนี้ไม่มีเส้นทางอาชีพที่ดี มีรายได้ไม่ดี เพราะผมเองก็ยังคิดอยู่เสมอว่าตัวเองคือโปรแกรมเมอร์ คนที่ผมรู้จักมากมายทั้งไทยและต่างชาติที่ทำงานด้านการพัฒนาโปรแกรม ผมก็เห็นเขามีอนาคตที่ดี หลายคนมีรายได้เป็นแสนบาทต่อเดือน หลายคนก้าวขึ้นสู่การเป็น  CTO (Chief Technology Officer) มีเงินเดือนหลายแสนบาท แม้แต่เด็กจบใหม่ 4-5 ปีที่มีทักษะการพัฒนาโปรแกรมที่ดี มองเป็น  Architect Programmer เข้าใจการพัฒนาโปรแกรมแบบ Enterprise Application ก็มีเงินเดือน 7-8  หมื่นบาท

ใช่ครับอนาคตของอาชีพโปรแกรมเมอร์ไม่ใช่เป็นแค่คนเขียน Code ไปตลอดชีวิต เส้นทางของอาชีพนี้มีสิ่งใหม่ที่จะต้องเรียนรู้ตลอด เราไม่ได้พูดถึงคนที่เขียนแค่โปรแกรมง่ายๆอย่างมาทำหน้าเว็บ ใช้ Tool เขียน script ง่ายๆ หรือเขียนโปรแกรมบนมือถือแค่บางภาษา แต่อาชีพโปรแกรมเมอร์คือเส้นทางสู่ความเป็น IT Architecture และ Chief Technology Officer มันมีความท้าทาย และความยากของการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตลอด อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สนุกและรายได้ดี แต่แน่นอนถ้าตัวเองเป็นแค่ coder  จมปลักอยู่กับแค่การเขียนโปรแกรมภาษาใดภาษาหนึ่ง เขียนโปรแกรมซ้ำซากๆ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน เราก็อาจขาดความก้าวหน้า

แม้ผมจะทำงานบริหารแต่ผมนิยามตัวเองเสมอว่าผมยังเป็นโปรแกรมเมอร์ ทุกวันนี้ผมยังเขียนโปรแกรม แต่เปลี่ยนตามเทคโนโลยี และเป็น IT Architecture สมัยผมเรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยผมเรียนโปรแกรมเพียงภาษาเดียวครับคือ Fortran IV สมัยนั้นผมไม่มีคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนหรอกครับ เราเรียนแบบแห้งแต่เวลาทำการบ้านเราต้องมาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบเจาะบัตร  วิชา Computer Programming  ตัวนี้ละครับที่เปลี่ยนชีวิตผม เพราะผมเรียนภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าก่อนลงทะเบียนวิชานี้ เกรดผมย่ำแย่มาตลอดส่วนหนึ่งอาจเพราะบ้ากิจกรรมและสอบเทียบมาเลยเรียนไม่ทันเพื่อน แต่เพราะวิชานี้ละครับทำให้ผมค้นพบตัวเอง สนุกกับการเรียนและรู้ว่าการเขียนโปรแกรมคือทักษะของผม ผมได้ A วิชานี้วิชาแรกในการเรียนมหาวิทยาลัย และเป็นกำลังใจให้ผมได้เกรด A อีกหลายๆวิชาและเรียนจบมหาวิทยาลัยด้วย GPA ที่ดีขึ้น

ที่ผมชอบวิชา Computer Programming เพราะมันเป็นความท้าทายที่อยากจะเขียน ดีบัก และดูผลรันโปรแกรม มันคือความภูมิใจที่เราแก้ปัญหาต่างๆได้ด้วยการเขียนโปรแกรม พอตอนผมขึ้นชั้นปีที่  3 พ่อผมซื้อเครื่องคิดเลข Casio ที่สามารถโปรแกรมภาษา Basic ได้มาให้ผม ผมสนุกกับมันมากและก็ได้เขียนโปรแกรมรถถังยิงปืนใหญ่ในเครื่องนั้น แม้จะไม่มีรางวัลหรือการประกวดอะไรจากโปรแกรมที่ผมเขียน แต่คิดว่ามันได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมรักที่จะเขียนโปรแกรมมากขึ้น และตอนปีสามผมยังได้เลือกเรียนวิชาภาษา  Assembly ทำให้เข้าใจหลักการพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมมากขึ้น

จบปริญญาตรีมาใหม่ๆ ผมก็เริ่มศึกษาภาษา Pascal นั่งเขียนโปรแกรมหมากรุกความยาวเป็นหมื่นบรรทัด แต่ก็ไม่เห็นมันคำนวณหรือชาญฉลาดอะไรมากมาย เพราะความรู้เรื่อง Algorithm  ของผมมีไม่มากพอ สุดท้ายผมอยากให้มันมีเรื่องของ Artifical Intelligence ก็เลยไปศึกษาภาษา Prolog ช่วงก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท-เอกเมืองนอกแล้ว ผมเริ่มเป็นอาจารย์เด็กๆเขามอบหมายให้สอนวิชา Computer Programming รู้สึกเป็นวิชาที่สนุกและสอนง่าย เพราะเรามีทักษะการเขียนโปรแกรมแล้ว

ทักษะด้านการเขียนโปรแกรมนี่ละครับ ทำให้ผมจบปริญญาเอกได้ มีรายได้เสริมจากงานวิจัยที่ให้เราไปเขียนโปรแกรม ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่อาจารย์ที่ปรึกษาให้งาน ผมกลับไปนั่งเขียนโปรแกรมภาษา  C ซักสองชั่วโมงแล้วเดินกลับมาบอกอาจารย์ว่าเสร็จแล้ว ที่เสร็จเร็วเพราะว่ามันสนุกและท้าทาย แต่อาจารย์ที่ปรึกษาตกใจเพราะคิดว่าน่าจะใช้เวลาทำซักสองอาทิตย์ ตอนเรียนปริญญาเอกต้องทำเรื่อง Parallel Genetic Algorithm ต้องเขียนโปรแกรม MPI บนเครื่องคอมพิวเตอร์ MASPAR มันยิ่งท้าทายเข้าไปอีก และทำให้เข้าใจหลักการทำงานของ Parrallel Computer

จบกลับมาก็ยังสอนหนังสือด้านการเขียนโปรแกรม มาหัดเขียนภาษา C++ และมาเริ่มเรียนภาษา Java ภาษานี้ละครับทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปอีก ผมยอมจ่ายเงินเองหลายหมื่นบาทเพื่อไปเรียนและสอบเป็น Certified Java Programmer ซึ่งตอนนั้นอาจเป็นคนแรกของประเทศไทยด้วยซ้ำไป ความเป็นอาจารย์และเป็นนักพัฒนาโปรแกรมภาษาใหม่ๆในตอนนั้นได้ ทำให้งานการสอนการเขียนโปรแกรม Java  เข้ามาอย่างมากมาย ยังจำได้เลยว่าตอน Nokia  จะออกโทรศัพท์ Java Phone รุ่นแรก (Nokia 7650) มีตัวแทนของ Nokia ต้องบินมาหาผมเพื่อช่วยให้มาสอนและตั้งทีมพัฒนา Java ME ทั่วประเทศ

ความท้าทายของการพัฒนาโปรแกรมทำให้ ผมก็ต้องไปเรียนรู้สิ่งต่างๆอีกมาก พอมันเป็นยุคของ Enterprise Application ผมก็ต้องมาหัดเรียน Java Web Programming อย่าง Java Servlet หรือ JSP แล้วก็ก้าวข้ามมาเขียน EJB และเรียน Web Framework ต่างๆทั้ง Struts, JSF หรือ Hibernate การเรียนรู้สิ่งต่างๆเหล่านั้นทำให้ผมเข้าใจ  IT Architecture ได้ดีขึ้น เข้าใจการออกแบบ Larger Scale Enterprise Application และเข้าใจเรื่อง Web Server ต่างๆ ทั้ง Tomcat, JBoss หรือ WebLogic นี่ครับเส้นทางของคนมีอาชีพโปรแกรมเมอร์ พอจับเรื่องยากๆขึ้นก็เป็นข้อดีเพราะน้อยคนที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้

พอเรื่องของ Web Services เข้ามามันก็ยิ่งเป็นความท้าทายให้เราเขียนโปรแกรมแบบ APIs มาทำเรื่องของ Application Integration แล้วพอเป็นยุคของ SOA ที่ถึงแม้จะเป็นเรื่องของ Architecture แต่คนที่มีพื้นฐานมาจากการเขียนโปรแกรมจะได้เปรียบ ที่จะเข้าใจ IT Architecture ได้ดีกว่า แม้ผมจะจับ Backend ข้างล่าง แต่การพัฒนาโปรแกรม Front ข้างหน้าอย่างการเขียน Web หรือ Smartphome App อย่างภาษาจาวาบน Android ก็อยู่ในความสนใจผม ตอนหลังมีเรื่องของ Wearable Devices ก็เริ่มไปหาข้อมูลการเขียนโปรแกรมบน  Smartwatch

พอมายุคของ Cloud  ในฐานะของคนพัฒนาโปรแกรมเราก็ต้องศึกษาด้านนี้โดยผมเริ่มพัฒนาและสอยการเขียรโปรแกรมบน Platform as a Service (PaaS)  ตั้งแต่ 4-5 ปีก่อน โดยเริ่มพัฒนาโปรแกรมบน  Google App Engine ตอนหลังก็หันมาดู Platform อื่นอย่าง Heroku,  Force.com และก็มาใช้ IaaS อย่าง Amazon Web Services (AWS) ความเป็นโปรแกรมเมอร์ทำให้เข้าใจ Architecture ได้ดี ก็เลยเรียนรู้ Cloud Architecture อย่าง AWS ได้ง่ายขึ้น

สุดท้ายวันนี้เทคโนโลยีอย่าง Big Data เข้ามา คนเริ่มพูดถึง Hadoop มากขึ้น ก็เพราะความเป็นโปรแกรมเอร์อีกนั้นละ ทำให้เราพัฒนา Application บน Hadoop อย่าง Map/Reduce และเข้าใจเทคโนโลยีอื่นๆของ Hadoop  ได้ดีขึ้น มาวันนี้เรากำลังพูดถึง Data Science ความเป็นโปรแกรมเมอร์ทำให้เราเข้าใจการพัฒนาโปรแกรมโดยใช้  Mahout และพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ทำให้เข้าใจเรื่อง Data Science และผมก็เริ่มสังเกตุว่าเพื่อนๆต่างชาตืที่เป็นโปรแกรมเมอร์วันนี้เขาก็เริ่มมาใช้ Hadoop อย่างจริงจัง ใช่คร้บอาชีพโปรแกรมเมอร์นี่ละครับทำให้เรามีเส้นทางสู่ Architecture และ  CTO

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพียงเพื่ออยากบอกทุกคนที่กำลังจะเรียนหรือสนใจเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ว่า ต้องเรียนเขียนโปรแกรมครับ อาชีพโปรแกรมเมอร์ไม่ใช่เป็นแค่  Coder  แต่เป็นงานที่ท้าทายและสนุก มีรายได้ดีและมีเส้นทางสู่  CTO แต่ถ้าคนที่ขาดพื้นฐานที่ดีเขียนแค่เว็บหรือ  Script บางอย่าง ไม่เข้าใจ Architecture  อันนั้นไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ครับ เขาเลยคิดว่าอาชีพน่าเบื่อรายได้ไม่ดี แต่อาชีพโปรแกรมเมอร์ต้องเรียนรู้อยู่ตลอด พยายามทำสิ่งใหม่ๆที่คนยังไม่ทำกันหรือเป็นคนกลุ่มแรกๆครับอนาคตจะดีมาก มาเรียนโปรแกรมกันครับหัวใจของงานด้านไอทีคือ Programming  ครับ

ธนชาติ นุ่มนนท์

IMC Institute

ความก้าวหน้าใน อาชีพ โปรแกรมเมอร์

เมนูนำทาง เรื่อง