บทความ สงครามโลก ครั้งที่ 2

สงครามโลกเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง คือหายนะของมวลมนุษยชาติ คือเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ขณะที่เกิดสงครามได้มีการใช้สื่อต่างๆรวมถึงสื่อแอนิเมชันที่มีความสำคัญในช่วงเวลานั้น เพื่อรณรงค์ปลุกใจประชาชน บทความนี้จะกล่าวถึงบทบาทของสื่อแอนิเมชันในช่วงสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในโฆษณาชวนเชื่อที่เข้าถึงผู้ชมได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะเด็กได้ง่าย เต็มไปด้วยความสนุกสนาน สร้างความประทับใจ ผลงานบางชิ้นก็เน้นให้ประชาชนเข้าร่วมรบเพื่อยุติสงคราม กระตุ้นอารมณ์ให้รักชาติ แอนิเมชันไม่เพียงแต่ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องราวต่างๆให้กับรัฐบาล หากยังช่วยปลอบประโลมจิตใจทหาร และประชาชนได้มาก แม้เนื้อหาบางส่วนจะมีนัยที่ซ่อนไว้ เช่น ความเจ็บปวด การล้อเลียนเสียดสี สื่อแอนิเมชัน ในกรณีศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นการสะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่น่าสนใจและหลากหลายแง่มุม

คำสำคัญ: ประวัติศาสตร์ สงครามโลก แอนิเมชัน

Abstract

World war was a time of terrible. It destroys everything.It is catastrophe of humanity, the incident that nobody wants to happen.During the war, media were used in campaigns to arouse the people and animation media had important role at that moment.This article mentions about the role of animation media during and after the Second World War, which is one of propaganda accessible by the audiences of all genders and ages, especially among children.They are full of entertainments and impressions.Some works encourage the people to join the military to stop war.They incite patriotism.Animation not only helps publicize stories for the government but also comfort soldiers and people's mind.However, some contents have implications, such as painfulness and sarcasm. Animation media in United States and Japan case study reflects interesting historical story during and after after the Second World War in many perspectives.

Keywords: History, Word War, Animation

Downloads

Download data is not yet available.

บทความ สงครามโลก ครั้งที่ 2

Downloads

  • PDF (English)

How to Cite

More Citation Formats

  • ACM
  • ACS
  • APA
  • ABNT
  • Chicago
  • Harvard
  • IEEE
  • MLA
  • Turabian
  • Vancouver

Download Citation

  • Endnote/Zotero/Mendeley (RIS)
  • BibTeX

ฉบับ

ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 (2013): มกราคม - มิถุนายน 2556

บท

บทความวิชาการ

License

บทความทุกบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ข้อเท็จจริงที่ไทย “ไม่แพ้” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่เพราะเสรีไทยช่วยสัมพันธมิตร, “หม่อมเสนีย์” ไม่ยื่นประกาศสงคราม, ผู้สำเร็จราชการฯ ลงชื่อไม่ครบเป็นโมฆะ หรือเรื่องไม่ผ่านสภาฯ แต่เพราะเป็นนโยบายของสหรัฐต่างหาก

เป็นข้อถกเถียงกันมายาวนาน เรื่องการ “ไม่แพ้” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทย ที่ได้ยินกันอยู่ทั่วไปคือ เพราะเสรีไทยใน-นอกประเทศช่วยเหลือ สนับสนุนการทำงานของฝ่ายสัมพันธมิตร

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่ผู้รู้ หรือผู้เกี่ยวข้องบางส่วนได้สร้างวาทกรรม “การไม่แพ้”

เหตุผลที่ไทยไม่แพ้สงครามจาก 2 กรณี คือ 1. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ไม่ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ ด้วยการไม่ยื่นคำประกาศสงครามให้สหรัฐฯ 2. นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้สำเร็จราชการฯ ขณะนั้น มิได้ลงนามในการประกาศสงครามด้วย

บทความ สงครามโลก ครั้งที่ 2
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ระหว่างปี พ.ศ. 2483-85

ซึ่งนักวิชาการ 2 ท่าน คือ พ.ท.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ และศตพล วรปัญญาตระกูล เป็นผู้ค้นคว้าและต่างเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ จึงขอสรุปย่อมาร่วมกันในที่นี้

ทูตไทยไม่ยื่นคำประกาศสงคราม?

เริ่มจากกรณีที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ไม่ยื่นคำประกาศสงครามให้แก่สหรัฐฯ ตำนานเรื่องนี้เริ่มเมื่อ วอลเทอร์ ฟิทซ์มอริซ (Walter Fitzmaurice) ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานของนิตยสารนิวสวิก (Newsweek) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เขียนบทความลงในนิตยสารดังกล่าวฉบับวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2488 เล่าว่า

ม.ร.ว. เสนีย์ไม่ได้ยื่นคำประกาศสงครามให้สหรัฐฯ เมื่อเข้าพบ คอร์เดลล์ ฮัลล์ (Cordell Hull) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ทั้งที่ ม.ร.ว. เสนีย์มีคำประกาศสงครามอยู่ในกระเป๋า อีกทั้งได้บอกฮัลล์ว่าจะไม่ประกาศสงครามต่อสหรัฐฯ “ผมเก็บคำประกาศสงครามไว้ในกระเป๋า เพราะผมเชื่อว่ามันไม่ใช่เจตนารมณ์ของคนไทย ผมจะพิสูจน์ให้เห็นด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐ”

บทความ สงครามโลก ครั้งที่ 2
คอร์เดลล์ ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระหว่างปี พ.ศ. 2476-87

ต่อมา ม.ร.ว. เสนีย์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีกหลายวาระด้วยกัน เช่น เมื่อแสดงปาฐกถาเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2” ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (17 ส.ค. 2485) ดังนี้

 “…เช่นตอนรัฐบาลทางบ้านประกาศสงคราม ได้มีคำสั่งไปด้วยว่าให้นำความไปแจ้งที่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ข้าพเจ้านำสำเนาโทรเลขไปให้เขา แต่บอกกับเขาว่า ข้าพเจ้าไม่ยอมเป็นตัวแทนประกาศสงครามกับอเมริกา เพราะไม่มีเรื่องบาดหมาง (Causa Belli) อะไรกันพอที่จะถือเป็นเหตุประกาศสงครามกันได้…ทางกระทรวงการต่างประเทศของเขาก็ใช้วิธีนอกตำรับอย่างเดียวกับเรา บอกว่าเมื่อทูตผู้แทนไม่ยอมประกาศสงครามเป็นทางการ เขาก็จะไม่รับรู้และไม่ประกาศสงครามกับไทยเป็นทางการ เรื่องจึงลงเอยง่ายๆ ดังนี้ โดยมิได้นึกฝันว่าจะง่ายถึงเพียงนี้…”

นอกจากนั้น ม.ร.ว. เสนีย์ยังเล่าเรื่องดังกล่าวแก่คนในครอบครัวทราบ และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ทั้งยังปรากฎใน “ชีวลิขิต” หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของตนเองว่า

 “…ปู่ [ม.ร.ว. เสนีย์] เรียนท่าน [ฮัลล์] ว่า รัฐบาลไทยสั่งให้ปู่ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ (โทรเลขอยู่ในกระเป๋า นำไปเผื่อเขาขอดู) แต่ปู่เห็นว่าสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกามีต่อกันมาช้านานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1833 เป็นเวลา 100 กว่าปี อเมริกามี แต่ความเมตตาอารีให้ความช่วยเหลือไทยตลอดมา…แต่ญี่ปุ่นยกทัพบุกเข้าเมืองไทย เราต้องแพ้สงครามญี่ปุ่นซึ่งเป็นศัตรูกับอเมริกา จู่ๆ รัฐบาลไทยก็สั่งให้ปู่ประกาศสงครามกับอเมริกา ปู่จึงทำไม่ได้ และไม่ยอมประกาศสงคราม ขณะนั้นปู่ห้ามน้ำตาไว้ไม่อยู่ มันออกมาคลอตา ไม่ถึงกับไหล ตั้งแต่เป็นผู้ใหญ่ ไม่เคยเสียน้ำตาอย่างนี้”

ต่อมาก็มีผู้ตั้งข้อเกตเกี่ยวกับตำนานของ ม.ร.ว. เสนีย์ ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์, จูดิท สโตว์ (Judith A. Stowe) และ อี. บรูซ เรย์โนลด์ (E. Bruce Reynolds) สองคนหลังนี้เป็นนักวิชาการชาวตะวันตก

นายปรีดี พนมยงค์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลไว้ 3 ประการ ได้แก่

1. รัฐบาลส่งคำประกาศสงครามผ่านสถานกงสุลสวิสฯ ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศไปแล้ว จึงไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องส่งไปให้ทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อีก กรณีอังกฤษก็ไม่มีการส่งผ่านทางสถานทูตเช่นกัน ทั้งนี้นายปรีดียกจดหมายของหลวงภัทรวาท อดีตเลขานุการสถานทูตไทยที่กรุงลอนดอนในเวลานั้นมายืนยันว่า สถานทูตไทยหรืออัครราชทูตไทยไม่ได้รับคำประกาศสงครามจากไทย แต่ทราบข่าวการประกาศสงครามของไทยจากวิทยุบีบีซี

2. ในระหว่างสงคราม ไม่มีการติดต่อทางไปรษณีย์ระหว่างไทย ยุโรป และสหรัฐ ไม่ว่าทางอากาศหรือทางทะเล จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการส่งคำประกาศสงครามไปยังทวีปเหล่านั้น

3. คนไทยในเวลานั้นได้ยินอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ (ม.ร.ว. เสนีย์) ประกาศผ่านทางวิทยุอยู่เสมอตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ว่า จะไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจอมพล ป. จะต้องส่งคำประกาศสงครามไปให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ทั้งที่รู้ดีว่าทูตไทยไม่ภักดีต่อรัฐบาลแล้ว

ส่วนนักวิชาการชาวตะวันตก คือ สโตว์ และ เรย์โนลด์ ตรวจสอบความถูกต้องของตำนานดังกล่าวจากเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

เรย์โนลด์ นักวิชาการชาวอเมริกัน ยืนยันว่า ม.ร.ว. เสนีย์ยื่นคำประกาศสงครามให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 แต่ไม่ได้ยื่นให้ฮัลล์ เพราะเวลานั้นฮัลล์ไม่ได้อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่ไปพักฟื้นจากอาการป่วยที่มลรัฐฟลอริดาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นเวลานาน 3 เดือน

เรย์โนลด์อ้างบันทึกที่สถานทูตไทยประจำสหรัฐมีถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2486

ในบันทึกที่เรย์โนลด์อ้างเป็นหลักฐานนั้น ม.ร.ว. เสนีย์เล่าย้อนหลังเหตุการณ์เมื่อได้รับคำประกาศสงครามใน พ.ศ. 2485 ว่า

“…ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าปฏิเสธระบอบปกครองของพิบูลไปแล้ว พิบูลยังบังอาจสั่งให้ข้าพเจ้าส่งคำประกาศสงครามให้รัฐบาลสหรัฐ ข้าพเจ้าระบุไว้ในบันทึกลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ซึ่งยื่นต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่า ข้าพเจ้าจะไม่รับรู้คำประกาศสงครามนั้น…”

ส่วนสโตว์ นักวิชาการชาวอังกฤษสรุปว่า ถ้าพูดอย่างเคร่งครัด เรื่องที่ ม.ร.ว. เสนีย์อ้างว่าเก็บคำประกาศสงครามไว้ในลิ้นชัก ไม่ได้ยื่นคำประกาศสงครามให้สหรัฐฯ ไม่เป็นความจริง สโตว์อ้างหลักฐานเป็นบันทึก (Memorandum) ของสถานทูตไทยประจำสหรัฐฯ ที่มีถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์

ผู้เขียน [พ.ท.ผศ.ดร.ศรศักร ชูสวัสดิ์] พบบันทึกลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ณ สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (The National Archives and Records Administration หรือ Archives II) ณ มลรัฐแมริแลนด์ ยืนยันว่า สถานทูตไทยประจำสหรัฐฯ โดย ม.ร.ว. เสนีย์ ได้ส่งคำประกาศสงครามของไทยให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จริง แต่ก็แสดงเจตนาว่าไม่ใช่เป็นการประกาศสงครามกับสหรัฐฯ

บทความ สงครามโลก ครั้งที่ 2
บันทึก (Memorandum) ของสถานทูตไทยประจำสหรัฐ ที่มีถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485

บันทึกดังกล่าว ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ระบุว่า สถานทูตไทยขอส่งโทรเลขที่ได้รับในวันเดียวกันนั้นให้ทางการสหรัฐฯ ซึ่งส่งมาจากสถานทูตไทยที่กรุงลิสบอน โปรตุเกส เนื้อหาของโทรเลขเป็นคำประกาศสงครามของไทย พร้อมคำสั่งของกระทรวงการต่างประเทศไทยให้สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แจ้งเรื่องดังกล่าวให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทราบอย่างเป็นทางการ โดยให้แจ้งด้วยว่า รัฐบาลไทยได้ส่งคำประกาศสงครามให้สหรัฐฯ ผ่านทางรัฐบาลสวิสฯ ซึ่งดูแลผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในประเทศไทยด้วยแล้ว

บันทึกในตอนท้ายยังกล่าวปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งในโทรเลขว่า “ไม่ต้องกล่าวก็ได้ว่า สถานทูตไทยไม่ใส่ใจกับโทรเลขดังกล่าวเลย” (It goes without saying that the above communication will be entirely disregarded by the Thai Legation.)

มูลเหตุที่ ม.ร.ว. เสนีย์แจ้งเรื่องคำประกาศสงครามให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ทราบนั้น ม.ร.ว. เสนีย์กล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ เข้าใจผิด แล้วไม่สนับสนุนขบวนการเสรีไทย

นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่า ม.ร.ว. เสนีย์ “ยื่น” คำประกาศสงครามให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จริง แม้ในทางปฏิบัติจะเป็นการ “ส่ง” ก็ตาม ขัดกับตำนานที่ ม.ร.ว. เสนีย์ที่ว่าไม่ได้ยื่น

กล่าวโดยสรุปก็คือ หลังจากสถานทูตไทยได้รับโทรเลขคำประกาศสงครามและทำบันทึกดังกล่าวเสร็จในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ในวันรุ่งขึ้น (12 กุมภาพันธ์) ม.ร.ว. เสนีย์อาจไปพบกับฮัลล์ พร้อมกับบันทึกดังกล่าว แต่ปฏิเสธที่จะประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และไม่ได้ยื่นบันทึกที่นำไปด้วย ต่อมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จึงส่งบันทึกดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

ผู้สำเร็จราชการฯ ลงชื่อไม่ครบ หรือเรื่องไม่ผ่านสภาฯ

กรณีที่ 2 คือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้สำเร็จราชการขณะนั้น มิได้ลงนามในการประกาศสงคราม (25 มกราคาม พ.ศ. 2485) จึงถือว่าประกาศไม่สมบูรณ์ มีผลให้เป็นโมฆะ

นายทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีขณะนั้น ได้บันทึกไว้ด้วยตนเองว่าประกาศสงครามนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก่อนแล้ว จึงส่งไปให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 คน คือ 1. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา 2. พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน และ 3. นายปรีดี พนมยงค์ โดยในวันประกาศสงครามนั้น ตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 และเป็นวันที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นพิเศษด้วย

บทความ สงครามโลก ครั้งที่ 2
(จากซ้าย) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา กับพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ผู้าำเร็จราชการฯ

พอเวลาประมาณ 11 นาฬิกา ได้มีเจ้าหน้าที่มารายงานนายกรัฐมนตรีว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีอยู่ในกรุงเทพฯ เพียง 2 ท่านเท่านั้น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา กับพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้อยู่ในพระนครทราบว่าไปต่างจังหวัด คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงลงพระนามและลงนามเพียง 2 คนเท่านั้น จะลงนามครบทั้ง 3 คน เกรงว่าจะประกาศให้ทันเที่ยงของวันนี้ [25 ม.ค. 2485] แต่ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มีรับสั่งว่าให้ประกาศชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ลงไปก็แล้วกัน แม้จะไม่ได้ลงนามก็ตาม ท่านจะทรงรับผิดชอบเอง

และนี่คือประเด็นที่มีการตีความว่าประกาศสงครามเป็นโมฆะ

ซึ่งนับเป็นการตีความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และขัดแย้งกับหนังสือนายกรัฐมนตรีที่ ศ. 10213/2484 ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เรื่องการตั้งซ่อมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพิ่มเติม ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยใจความตอนหนึ่งในหนังสือดังกล่าวมีความดังนี้

“…มีข้อตกลงกันว่าในการลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณและในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างน้อย 2 ท่าน เป็นผู้ลงนาม ตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480 นั้น…”

จากเอกสารข้างต้นจึงสรุปได้ว่า การลงพระนามหรือลงนามโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2 หรือ 3 คนไม่ใช่เหตุที่ทำให้ประกาศสงครามเป็นโมฆะได้

บทความ สงครามโลก ครั้งที่ 2
คณะรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ รัฐบาลภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีบทบาทสำคัญในการประกาศสันติภาพ

แต่ประกาศสันติภาพอ้างว่า ประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายบ้านเมืองนั้น แท้จริงมาจากเหตุที่ว่า

การประกาศสงครามนั้นอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 54 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึกและทำหนังสือสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ การประกาศสงครามนั้นทรงทำต่อเมื่อไม่ขัดแก่บทบัญญัติแห่งกติกาสันนิบาตแห่งชาติ หนังสือสัญญาใดๆ มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์สยามหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติ เพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาไซร้ ท่านว่าต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

หากนักกฎหมายอย่าง นายเดือน บุนนาค และนายไพโรจน์ ชัยนาม อธิบายหลักการของมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ไว้ โดยมีข้อประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ การประกาศสงครามและการสงบศึกเป็นของคู่กัน รัฐธรรมนูญให้อำนาจประกาศสงครามแก่พระมหากษัตริย์ก็ให้อำนาจในการทำสัญญาสันติภาพไปด้วยกันเป็นธรรมดา

นอกจากหนี้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ประกาศสันติภาพมีผลให้ประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะ โดยรัฐบาลได้เสนอประกาศสันติภาพต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบกับประกาศดังกล่าว ซึ่งคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ดังนั้นจึงพออนุมานได้ว่า เหตุที่ประเทศไทยไม่เป็นผู้แพ้สงคราม เพราะประกาศสงครามเป็นโมฆะ เนื่องจากประกาศสงครามไม่ผ่านสัตยาบันและให้ความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎร

โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 62 (8) ว่า การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญาตามความในมาตรา 76 ต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมาตรา 76 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ไทย หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

สาเหตุให้สหรัฐฯ ไม่ประกาศสงครามตอบไทย

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ข่าวการประกาศสงครามของไทยจากสื่อวิทยุและหนังสือพิมพ์ไม่นานหลังจากไทยประกาศสงครามได้เพียง 1 วันเป็นอย่างช้าที่สุดคือวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อีก 2 วันต่อมา แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจไม่ประกาศสงครามตอบไทย ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เสนอ หรือ ราว 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่ ม.ร.ว. เสนีย์จะได้รับคำประกาศสงครามจากกระทรวงการต่างประเทศไทยเสียอีก

บทความ สงครามโลก ครั้งที่ 2
ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ ผู้ตัดสินใจไม่ประกาศสงครามตอบไทย

การตัดสินใจของสหรัฐฯ ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายเดิมของรูสเวลท์ที่มีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 หลังจากประเทศเล็กๆ ในยุโรป ได้แก่ โรมาเนีย (12 ธันวาคม) ฮังการี (13 ธันวาคม) และบัลแกเรีย (13 ธันวาคม) ประกาศสงครามหรือมีสถานะสงครามกับสหรัฐฯ

แต่สหรัฐฯ ไม่ประกาศสงครามตอบ เพราะถือว่าประเทศเหล่านั้นถูกเยอรมนียึดครองและประกาศสงครามเพราะถูกกดดัน และไม่จำเป็นต้องทำอะไร กรณีประเทศไทย สหรัฐฯ จึงถือนโยบายเดียวกันนั้นคือไทยประกาศสงครามเพราะถูกกดดันจากการถูกญี่ปุ่นยึดครอง

สรุปได้ว่า การพบหรือไม่พบกันระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์กับฮัลล์ การแจ้งหรือไม่แจ้ง การยื่นหรือไม่ยื่นคำประกาศสงครามของสถานทูตไทยให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐญฯ ไม่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะไม่ประกาศสงครามตอบไทย ในทำนองเดียวกันการลงนามของผู้สำเร็จราชการฯ ไม่ครบทั้งคณะ หรือการประกาศสงครามที่ไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมีผลให้ประกาศดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ก็เป็นเรื่องภายในของไทย ทั้งหมดนั้นในเวทีนานาชาติไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้ไทย “ไม่แพ้” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 หากประเด็นอยู่ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่ประกาศสงครามตอบไทยต่างหาก

 


ข้อมูลจาก :

พ.ท.ผศ.ดร.ศรศักร ชูสวัสดิ. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช “ส่ง” คำประกาศสงครามให้สหรัฐอเมริกา, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2550 

ศตพล วรปัญญาตระกูล. ความจริง (Fact) กับข้อเท็จจริง (Historical Fact) ว่าด้วยประกาศสงครามของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นโมฆะ, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2550