แอนติเจน แอนติบอดี้ ในเลือด

  • หน้าแรก
  • ความรู้สู่ประชาชน

หมู่โลหิตมีอะไรบ้าง

แอนติเจน แอนติบอดี้ ในเลือด

รศ.พญ.ศศิธร  เพชรจันทร

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

โดยทั่วไปมักเป็นที่เข้าใจว่า  หมู่โลหิต มีเพียง 4 หมู่ คือ หมู่ เอ (A)   หมู่ บี (B)  หมู่ เอบี (AB)  หมู่ โอ (O)  และมีหมู่ อาร์เอช (Rh)ที่แบ่งเป็น  Rhบวก (Rh positive) และ Rhลบ (Rh negative) ซึ่ง Rhลบ จัดเป็นโลหิตหมู่พิเศษเพราะหาได้ยากมากในคนไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว บนเม็ดโลหิตแดงยังมีแอนติเจนของหมู่โลหิตอีกหลายร้อยชนิด ในปัจจุบันถูกจัดเป็นหมู่โลหิต รวม 39 ระบบ  โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์กรระดับนานาชาติ คือ International Society of Blood Transfusion (ISBT) ซึ่งหากมีการศึกษาเพิ่มขึ้นจะสามารถจัดระบบหมู่โลหิตเพิ่มขึ้นกว่านี้ได้อีกในอนาคต

ความสำคัญของหมู่โลหิตกับการให้โลหิตแก่ผู้ป่วย

               ถึงแม้ว่าจะมีหมู่โลหิตมากถึง 39ระบบ  แต่ระบบที่มีความสำคัญในด้านการจัดเตรียมโลหิตให้ผู้ป่วยมี 10 ระบบ ได้แก่ ระบบ ABO  Rh  Kell  Kidd  Duffy  Diego  Lutheran  MNS  P1PK  และ Lewis  ในจำนวนนี้ หมู่โลหิตระบบ ABO มีความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ ระบบ Rhซึ่งในการให้โลหิตแก่ผู้ป่วยจะต้องให้ชนิดเดียวกับหมู่โลหิตของผู้ป่วยเท่านั้นจึงจะปลอดภัยที่สุด ดังจะเห็นได้จากหลังการค้นพบหมู่โลหิตระบบ ABOโดย Karl Landsteiner ในปี ค.ศ. 1900เป็นต้นมา การให้โลหิตแก่ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งการค้นพบนี้ทำให้ผู้ค้นพบได้รับรางวัล Noble Prize ในปี ค.ศ.1930  ภายหลังจากการค้นพบหมู่โลหิต ระบบ ABOได้มีการค้นพบหมู่โลหิตอีกหลายระบบดังได้กล่าวมาแล้ว  แอนติเจนของหมู่โลหิตเหล่านี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จากพ่อแม่สู่ลูก จึงทำให้สามารถบอกความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกได้ นอกจากนี้แอนติเจนของหมู่โลหิตยังมีความแตกต่างกันระหว่างเชื้อชาติต่างๆ ทำให้หมู่โลหิตบางหมู่ ซึ่งมีแอนติเจนที่พบมากในคนไทยแต่ไม่พบหรือพบได้น้อยในคนเชื้อชาติอื่น  เช่น  Mia แอนติเจนของหมู่โลหิตระบบ MNSและ Dia แอนติเจนของหมู่เลือดระบบ Diego เป็นต้น ความแตกต่างเหล่านี้มีประโยชน์ทางการแพทย์ในด้านการศึกษาเกี่ยวกับความชุกของแอนติเจนของหมู่โลหิตในเชื้อชาติต่าง ๆ หรือ เกี่ยวกับการหาโลหิตชนิดหาได้ยากในคนไทยให้แก่ผู้ป่วย อีกประการหนึ่งคือ ตามปกติ แอนติเจนของหมู่โลหิตระบบต่าง ๆ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงยกเว้นบางกรณี เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแดง ซึ่งทำให้หมู่เลือดระบบ ABOของผู้ป่วยเปลี่ยนจากเดิมไปเป็นชนิดเดียวกับของผู้ให้ หรือกรณีผู้ป่วยบางโรคมีการสร้างแอนติเจนของหมู่โลหิตลดลงจนตรวจไม่พบ  เป็นต้น

               เนื่องจากหมู่โลหิต ระบบ ABOและ Rh มีความสำคัญมากในการให้โลหิตแก่ผู้ป่วย ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงหมู่โลหิต 2 ระบบนี้ เท่านั้น

แอนติเจน แอนติบอดี้ ในเลือด

ระบบ ABO

               ในระบบ ABO มีหมู่โลหิต 4 ชนิด คือ A  B  AB  และ O  โดยเรียกชื่อตามชนิดของแอนติเจนที่พบบนผิวของเม็ดโลหิตแดง  เช่น หมู่ A คือมี A แอนติเจน และมี anti-Bในพลาสมาซึ่งเป็นส่วนน้ำของโลหิต  หมู่ B คือมี Bแอนติเจน และมี anti-Aในพลาสมา หมู่ AB คือมี Aและ Bแอนติเจน แต่ไม่มี anti-A หรือ anti-B ในพลาสมา  หมู่ O ไม่มี Aและ Bแอนติเจน  แต่มี anti-A และ anti-B ในพลาสมา

               ด้วยเหตุที่ในระบบ ABOมีแอนติเจนและแอนติบอดีดังกล่าว ซึ่งแอนติบอดีหมายถึงภูมิต้านทานต่อแอนติเจนที่ตนเองไม่มี เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่นอาหาร ในการให้โลหิตแก่ผู้ป่วยจึงต้องให้โลหิตชนิดเดียวกับหมู่โลหิตของผู้ป่วยเสมอ เช่น ให้โลหิตหมู่ Aแก่ผู้ป่วยหมู่ A เป็นต้น แต่กรณีที่ไม่มีโลหิตหมู่เดียวกับผู้ป่วย และเป็นกรณีรีบด่วนซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายถ้าไม่ได้รับโลหิตทันท่วงที เช่น การเสียโลหิตจำนวนมากจากการผ่าตัด การตกเลือดหลังคลอด เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรืออุบัติเหตุ กรณีเช่นนี้ แพทย์จะให้โลหิตหมู่อื่นทดแทนได้โดยไม่เป็นอันตราย คือ การให้เม็ดโลหิตแดงเข้มข้นหมู่ O แก่ผู้ป่วยหมู่ A หรือ Bให้เม็ดโลหิตแดงหมู่ Aหรือ Bแก่ผู้ป่วยหมู่ AB  ในการให้ A หรือ Bขึ้นกับว่าในขณะนั้นธนาคารเลือดมีหมู่ A หรือ B มากกว่ากัน ส่วนผู้ป่วยหมู่ O จะต้องได้รับโลหิตหมู่ O  เท่านั้น การให้โลหิตต่างหมู่ที่เข้ากันไม่ได้จะทำให้มีการแตกทำลายของเม็ดโลหิตแดงที่ให้ เกิดอันตรายที่ร้ายแรงแก่ผู้ป่วยได้  จะเห็นได้ว่า หมู่โลหิต ระบบ ABO ทั้ง 4 ชนิด ล้วนมีความสำคัญต่อชีวิตของผู้ป่วย ในคนไทยมีความชุกของหมู่โลหิตดังนี้ คือ พบหมู่ O มากที่สุด (38 %)  รองลงมาคือ B (34 %)  A (21 %) และ AB ซึ่งพบน้อยที่สุด (7 %) ในคนไทยพบหมู่ Oและ B มาก ซึ่งแตกต่างจากคนผิวขาว ที่พบหมู่ O และ Aมาก แต่พบหมู่ B น้อย สำหรับหมู่ ABพบน้อยที่สุดไม่แตกต่างกัน

ระบบ Rh

               ในระบบนี้คนผิวขาวพบ Rh ลบ สูงถึง 15 % จึงไม่มีปัญหาในการหาโลหิต Rh ลบ ให้ผู้ป่วย Rh ลบ แต่ในคนไทยส่วนใหญ่เป็น Rh บวก พบ Rh ลบ น้อยมากเพียง 0.3 % ถึงแม้ว่ากรณีที่ผู้ป่วยเป็น Rh บวก ไม่เป็นปัญหาในการหาโลหิตให้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็น Rh ลบ ซึ่งควรได้โลหิตและผลิตภัณฑ์โลหิตที่เป็น Rh ลบเสมอ เพื่อป้องกันการสร้างภูมิต้านทานต่อ D แอนติเจน (anti-D) ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาหากต้องการโลหิตในอนาคต นอกจากนี้ ในผู้ป่วยหญิงที่เป็น Rh ลบ และสร้าง anti-Dแล้ว อาจมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ที่เป็น Rh บวก เหมือนบิดา จากการที่ anti-D จากแม่ผ่านรกเข้ามาทำลายเม็ดโลหิตแดงของทารกได้ ทำให้ทารกเกิดภาวะซีด  ดังนั้นในการให้โลหิตแก่ผู้ป่วยทุกครั้ง นอกจากพิจารณาหมู่ ABOแล้วยังต้องให้ตามชนิดของ Rh บวกหรือลบด้วยเสมอ เพื่อป้องกันอันตรายดังกล่าว แต่เนื่องจากคนไทยมี Rh ลบ น้อยมาก แต่ความต้องการโลหิตของผู้ป่วย Rh ลบ ยังมีอยู่ตลอดเวลา จึงอาจเกิดการขาดแคลนโลหิตหมู่พิเศษนี้ได้

               อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ป่วยจะรู้ชนิดของหมู่โลหิตระบบ ABOและ Rh ของตนแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องตรวจซ้ำใหม่เสมอเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีหมู่โลหิตชนิดนั้นจริง เพื่อป้องกันการให้โลหิตผิดหมู่ นอกจากนั้นยังต้องทำการทดสอบความเข้ากันได้ระหว่างโลหิตของผู้ป่วยและโลหิตที่จะให้ ร่วมกับการตรวจกรองหาแอนติบอดีต่อแอนติเจนของหมู่เลือดระบบอื่น ๆ ซึ่งถ้าตรวจพบจะต้องทำการตรวจหาชนิดของแอนติบอดีต่อไป ผู้ป่วยที่ได้รับโลหิตบ่อยครั้งหรือเป็นประจำจึงมักถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีต่อหมู่เลือดหลายระบบ ทำให้การหาโลหิตให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความลำบากมากยิ่งขึ้น และต้องใช้เวลานานกว่ากรณีอื่น ๆ

               โดยสรุป เนื่องจากหมู่โลหิตมีความสำคัญในด้านการให้โลหิตแก่ผู้ป่วย การตรวจหาชนิดหมู่โลหิตของตนเองจึงทำให้เกิดประโยชน์หลายประการ เนื่องจากโลหิตทุกหมู่มีความสำคัญเช่นเดียวกันในด้านการช่วยชีวิตผู้ป่วย รวมทั้งยังไม่สามารถสร้างเลือดเทียมได้ จะต้องได้รับจากการบริจาคเท่านั้น การบริจาคโลหิตเป็นประจำจึงช่วยลดการขาดแคลนได้ นอกจากนี้ หากพบว่าตนเองมีหมู่โลหิตชนิดหาได้ยากในประชากรไทย การรู้ล่วงหน้าทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ จึงควรแนะนำให้ญาติพี่น้องท้องเดียวกับตนเองมาตรวจด้วย ประการสุดท้าย สำหรับผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคที่ต้องได้รับโลหิตเป็นประจำ ควรตรวจหาชนิดของหมู่โลหิตระบบต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้รับโลหิตที่มีหมู่โลหิตตรงกับตนเองให้มากที่สุด เป็นการป้องกันการหาโลหิตที่เข้ากันได้ยากจากการที่ผู้ป่วยสร้างแอนติบอดีต่อแอนติเจนของหมู่โลหิตระบบต่าง ๆ