นวัตกรรมธุรกิจด้านการเกษตร

นวัตกรรมธุรกิจด้านการเกษตร

1. เทคโนโลยีทางชีวภาพทางการเกษตร

เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เป็นการประยุกต์ศาสตร์ความรู้ในหลายๆ ด้านรวมเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา เคมี และองค์ความรู้ด้านเกษตร เพื่อพัฒนาจุลินทรีย์สำหรับใช้งานทางการเกษตร รวมไปถึงการดัดแปลงยีน หรือการปรับปรุงพืชและสัตว์ เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ส่งออกเป็นธุรกิจได้อีกหนึ่งช่องทาง พร้อมทั้งยังเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ในเรื่องของความต้องการด้านอาหารปลอดภัย ประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุน โดยมี 4 แนวทางที่สำคัญดังนี้

- การใช้ประโยชน์ไมโครไบโอม (Microbiome) ของจุลินทรีย์ดิน เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและการเพิ่มผลผลิตของพืช
- ผลิตภัณฑ์สำหรับควบคุมศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ
- การสร้างพืชที่มีคุณลักษณะตามความต้องการโดยการดัดแปลงยีน
- การวิเคราะห์ข้อมูลทางชีวภาพขนาดใหญ่

ในปัจจุบันเทคโนโลยีชีวภาพเริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในดิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตและทนต่อสภาวะแล้ง ทนทานต่อวัชพืช ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ให้ทนทานต่อโรคระบาด


นวัตกรรมธุรกิจด้านการเกษตร

2. เกษตรดิจิทัล

เกษตรดิจิทัลคือเทรนด์ใหญ่ที่ทั่วโลกต้องการเพื่อช่วยสนับสนุนการทำเกษตร และการก้าวเข้าสู่โลกแห่ง 5G จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นการใช้ประโยชน์จากการเก็บข้อมูลด้านการเกษตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพดิน สภาพน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง พื้นที่เพาะปลูก และสถานการณ์เจริญเติบโต ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงปัญหา และความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ช่วยหาแนวทางการทำเกษตรที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับเกษตรกร


นวัตกรรมธุรกิจด้านการเกษตร

3. การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่

วิถีชีวิตของเกษตรกรแบบดั้งเดิมถูกแขวนไว้บนความเสี่ยงมากมาย โดยทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้ยากต่อการควบคุม จนเกิดปัญหาผลผลิตออกไม่แน่ไม่นอน จึงเกิดเป็นเทรนด์การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ควบคุมปัจจัยการเติบโตของพืชและสัตว์ พร้อมกับช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องความเสียหายของผลิตผล

ฟาร์มรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ตอนนี้คือ การทำโรงงานปลูกพืชระบบปิด (Plant Factory) ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำ ให้แสง อุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังสามารถปลูกพืชนอกฤดูกาลได้อีกด้วย เทรนด์การทำเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farm) เหมาะสำหรับการทำเกษตรในเมือง แก้ปัญหาขาดพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงเทรนด์การทำ "ฟาร์มเลี้ยงแมลง" แหล่งโปรตีนในอนาคตที่ทั่วโลกกำลังจับตา

สำหรับในบ้านเราก็เริ่มมีการพัฒนาฟาร์มแนวตั้ง (Vertical Farm) ขึ้นมาบ้างมาแล้ว ซึ่งฟาร์มแนวตั้งก็คือ พื้นที่สำหรับเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีจำกัด ต้องใช้ประโยชน์พื้นที่ให้คุ้มค่ามากที่สุด จึงจะได้พื้นที่สีเขียวในการปลูกพืช รวมไปถึงเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ก็ประกาศนโยบายสนับสนุนการปลูกผักบนดาดฟ้า ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นที่น่าจับตามองก็คือ "ฟาร์มเลี้ยงแมลงแบบปิด" โดยแมลงทั้งหมดกำลังจะกลายเป็นโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ โดยมี YNsec สตาร์ทอัพชาวฝรั่งเศส ที่เป็นต้นแบบของการทำระบบการเลี้ยงแมลงขนาดใหญ่ ด้วยระบบอัตโนมัติ 24 ชม. พร้อมกับกำลังผลิต 20,000-25,000 ตันต่อปี

นวัตกรรมธุรกิจด้านการเกษตร

4. หุ่นยนต์ช่วยดูแลการเกษตร

หากมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการเกษตร จะยิ่งช่วยให้เกษตรกรประหยัดแรงงานมากขึ้น สามารถทำเกษตรได้รวดเร็วและสะดวกสบาย เหมือนกับว่ากำลังเล่นเกม Harvest Moon อะไรแบบนั้นเลย เพราะมีอุปกรณ์สนับสนุนคอยช่วยเหลือทุกเวลา ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นกันแล้วในปัจจุบัน อย่างสตาร์ทอัพของอิสราเอล "อารักกา" ที่ใช้หุ่นยนต์มาช่วยดูแลขั้นตอนต่างๆ แทนมนุษย์

เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวหุ่นยนต์ตัวแรกของโลก ที่ใช้ในการผสมเกสรในโรงเรือน โดยมี AI คอยบอกให้ว่าดอกไม้มีความพร้อมสำหรับการผสมเกสรดอกไม้หรือไม่ เมื่อมีอุณหภูมิและระดับความชื้นที่เหมาะสม สำหรับในบ้านเราอาจจะยังไม่มีหุ่นยนต์ให้ใช้งาน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการประยุกต์ใช้โดรนซะมากกว่า ด้วยการนำโดรนมาใช้ในการปลูกข้าว ช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึงสองเท่าเลยทีเดียว


นวัตกรรมธุรกิจด้านการเกษตร

5. บริการทางธุรกิจเกษตร

ในช่วงที่คนส่วนใหญ่ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน จึงมีโอกาสที่ผู้คนเหล่านั้นสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ทำให้จำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดอีคอมเมิร์ช และระบบขนส่งอัตโนมัติ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และช่วยในการส่งสินค้าอาหารสินค้าเกษตรแบบเร่งด่วน

นอกจากนี้ก็ยังจำเป็นต้องพัฒนาระบบการตอบสนอง และความต้องการของเกษตรกร พร้อมกับผู้ค้าควบคู่กันไปด้วย เพราะแม้จะรู้ว่านวัตกรรมเกษตรเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพมากแค่ไหน แต่โครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรส่วนมาก เป็นการทำการเกษตรขนาดปานกลางถึงขนาดเล็ก ทำให้ตัวเกษตรกรไม่สามารถลงทุนซื้อนวัตกรรมเกษตรมาเป็นของตัวเองได้

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการสนับสนุนให้เกิดบริการทางธุรกิจเกษตร ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเช่ายืมนวัตกรรมเกษตรได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบโดรนพ่นปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ระบบเครื่องจักรด้านการเกษต

รวมถึงบริการแพลตฟอร์มขายผลผลิตการเกษตรออนไลน์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แก้ปัญหาการกดราคาผลผลิต และช่วยเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภค รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมหรือร้านอาหาร ให้พวกเขาเหล่านี้สามารถค้าขายได้อย่างต่อเนื่อง


นวัตกรรมธุรกิจด้านการเกษตร

6. การจัดการหลังจากการเก็บเกี่ยวและขนส่ง

การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือสิ่งสำคัญต่อการทำสินค้าเกษตร เพราะสำหรับเมืองไทยเป็นเมืองร้อน อาจทำให้ผลผลิตที่ห่อด้วยเปลือกบางๆ เกิดการเน่าเสียได้ง่าย จึงต้องเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เก็บรักษาผลผลิตไว้ได้นานๆ

รวมไปถึงการติดตามและตรวจสอบคุณภาพผลผลิตอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และไม่ทำลายผลผลิต ด้วยเทคโนโลยีตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศระบบโอโซน ที่สามารถควบคุมเปลือกผลไม้ ควบคุมการใช้สารเคลือบผิวเพื่อยืดอายุ และรักษาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรให้ได้นานขึ้น


นวัตกรรมธุรกิจด้านการเกษตร

7. ไบโอรีไฟนารี่

อีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโต และหลายภาคส่วนกำลังให้ความสนใจ โดยเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร หรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ โดยใช้จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์ หรืออื่นๆ ที่ทำหน้าที่เสมือนโรงงาน ส่งผลให้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง พลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์

หากมีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนด้านการเกษตร จะช่วยให้การทำเกษตรสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น พร้อมกับช่วยลดต้นทุนในด้านแรงงาน และช่วยให้ผลผลิตเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนวัตกรรมเกษตรทั้ง 7 อย่างนี้ จะช่วยให้วิถีชีวิตของเกษตรกรปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มีความยั่งยืนต่อไป