กฎหมายโอนเงิน 400 ครั้ง 2564

คุกกี้พื้นฐานที่จำเป็น เพื่อช่วยให้การทำงานหลักของเว็บไซต์ใช้งานได้ รวมถึงการเข้าถึงพื้นที่ที่ปลอดภัยต่าง ๆ ของเว็บไซต์ หากไม่มีคุกกี้นี้เว็บไซต์จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม และจะใช้งานได้โดยการตั้งค่าเริ่มต้น โดยไม่สามารถปิดการใช้งานได้


คุกกี้ในส่วนวิเคราะห์ จะช่วยให้เว็บไซต์เข้าใจรูปแบบการใช้งานของผู้เข้าชมและจะช่วยปรับปรุงประสบการณ์การใช้งาน โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลและรายงานผลการใช้งานของผู้ใช้งาน


คุกกี้ในส่วนการตลาด ใช้เพื่อติดตามพฤติกรรมผู้เข้าชมเว็บไซต์เพื่อแสดงโฆษณาที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้งานแต่ละรายและเพื่อเพิ่มประสิทธิผลการโฆษณาสำหรับผู้เผยแพร่และผู้โฆษณาสำหรับบุคคลที่สาม

ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร ใครก็ตามที่ได้ยินประโยคนี้ มักจะมีคำถามตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เริ่มส่งข้อมูลเมื่อไร” “โอนเงินเข้าบัญชีแบบนี้ถูกตรวจสอบไหม” “จะต้องเสียภาษีเพิ่มไหม” “สรรพากรตรวจสอบบัญชีธนาคารได้หรือเปล่า” ไปจนถึงคำถามสุดท้ายอยากรู้คือ “เราจะจัดการบัญชีอย่างไรดี”

Advertisements

คำตอบทั้งหมดของคำถามเหล่านี้ อยู่ในบทความครับ…

สำหรับคนที่ไม่มีเวลา สามารถเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้เลยครับ

1) ที่มาของกฎหมายฉบับนี้

2) ทำไมต้องส่งข้อมูลให้สรรพากร ?

3) ความหมายที่แท้จริงของคำว่าธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร

3.1) ธนาคาร หมายถึง สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิคส์

3.2) การส่งข้อมูลแยกเป็นรายผู้ให้บริการหรือรวมทั้งหมด

3.3) ใครถูกส่งข้อมูลบ้าง? วิธีการนับเป็นอย่างไร?

4) ตัวอย่างการส่งข้อมูลและไม่ส่งข้อมูล

4.1) เริ่มส่งข้อมูลเมื่อไร? นับเป็นรายปีใช่ไหม?

4.2) ข้อมูลที่ถูกส่งให้สรรพากรมีอะไรบ้าง?

5) ผลกระทบและวิธีรับมือการถูกส่งข้อมูลให้สรรพากร

6) สิ่งที่น่ากลัวกว่าการถูกส่งข้อมูล

7) วิธีรับมือธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร

8) บทสรุป

ที่มาของกฎหมายฉบับนี้

ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียดของการส่งข้อมูลให้สรรพากรตรวจสอบและขอบเขตหน้าที่ของธนาคาร ผมอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่า ที่มาของกฎหมายฉบับนี้นั้น มีที่มาจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ National e-Payment Master Plan โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างระบบรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของประเทศไทย

Advertisements

กฎหมายโอนเงิน 400 ครั้ง 2564

Advertisements

จากรูปเราจะเห็นว่ามีด้วยกันถึง 5 โครงการครับ แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรนั้น คือ โครงการ 3 ระบบภาษีและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) และ กฎกระทรวงฉบับที่ 355 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และหลักการต่าง ๆ ในการนำส่งข้อมูลให้กับสรรพากรไว้อย่างครบถ้วน แต่ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียดของการส่งข้อมูลและการตรวจสอบ ผมขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจในประเด็นที่ว่า ทำไมต้องส่งข้อมูลให้สรรพากร อีกสักหน่อยครับ

ทำไมต้องส่งข้อมูลให้สรรพากร ?

ถ้าให้ตอบคำถามนี้แบบตรงใจทุกคน คงต้องตอบว่า “ก็สรรพากรเขาจะเก็บภาษียังไงล่ะ” แต่ถ้าให้ตอบจากความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าเรื่องธนาคารส่งข้อมูลนี้ให้ความสำคัญเรื่องของการเก็บข้อมูลมากกว่าเก็บภาษี เพราะการมีข้อมูลเหล่านี้จะทำให้สรรพากรมีความเข้าใจพฤติกรรมของผู้เสียภาษีมากขึ้น และสามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่อยู่แค่เรื่องของการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวครับ

ยกตัวอย่างเช่น สรรพากรจะใช้ข้อมูลนี้ในการจัดกลุ่มผู้เสียภาษี เพราะกลุ่มคนที่ถูกส่งข้อมูลนั้น หากไม่มีการหลบเลี่ยงและเสียภาษีถูกต้อง ข้อมูลในส่วนนี้จะกลับเป็นตัวยืนยันว่า เขาคือกลุ่มที่เปลี่ยนมาใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าเงินสด ซึ่งมีผลทำให้กรมสรรพากรจัดผู้เสียภาษีอยู่ในกลุ่มดี ที่มีโอกาสถูกตรวจสอบน้อยกว่ากลุ่มเสี่ยงก็ได้ครับ

Advertisements

เอาล่ะครับ ถ้าเข้าใจเบื้องต้นของหลักการกฎหมายและแนวทางแล้ว เรามาต่อกันที่ ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรกันเลยครับ 

ความหมายที่แท้จริงของคำว่าธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร

ถ้าเราลองแยกคำทั้งหมดนี้ออกมาเป็น 3 คำ คือ ธนาคาร ส่งข้อมูล และสรรพากร ซึ่งรายละเอียดสำคัญนั้นจะอยู่ที่ 2 กลุ่มคำที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคาร และ ข้อมูลที่ต้องถูกส่ง นั่นเองครับ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ผมขอแบ่งเนื้อหาอธิบายในแต่ละส่วนแยกย่อยเป็นรายข้อดังนี้

ธนาคาร หมายถึง สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิคส์

ถ้าใครลองเปิดอ่านข้อกฎหมาย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) จะเห็นว่ามีการระบุผู้ที่มีหน้าที่รายงานข้อมูล คือ สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และ ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน

กฎหมายโอนเงิน 400 ครั้ง 2564

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าจากข้อกฎหมายข้างต้น เราควรอ้างอิงจากนิยามของคำว่า สถาบันการเงิน ตามกฎหมายของ พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ซึ่งหมายความถึง ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และหมายความถึงการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ส่วน ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน ผมอ้างอิงจากรายชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจระบบการชำระเงินภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อย่อย คือ รายชื่อการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ดังรูปด้านล่างนี้ครับ

กฎหมายโอนเงิน 400 ครั้ง 2564

Advertisements

จากความหมายทั้งหมดนี้ เราสรุปสั้น ๆ ได้ว่า คนที่มีหน้าที่ส่งข้อมูลให้สรรพากรมีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ ธนาคารหรือสถาบันการเงิน และ ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ E-wallet นั่นเองครับ โดยผมแนะนำให้ดูคำอธิบายเพิ่มเติมในคลิป ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร ตอนที่ 1 : ธนาคารหมายถึงใคร และใครมีหน้าที่ส่งข้อมูลให้สรรพากรกันแน่? ด้านล่างนี้ครับ

การส่งข้อมูลแยกเป็นรายผู้ให้บริการหรือรวมทั้งหมด

นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ถามบ่อยมากๆในแฟนเพจ TAXBugnoms ทุกครั้งที่มีการโพสต์บทความเรื่องธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร ซึ่งถ้าให้ผมตอบแบบสรุป ก็สามารถตอบได้เลยว่า แยกตามผู้ให้บริการเป็นรายธนาคาร หรือ ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ไม่รวมข้อมูลกันแน่นอนครับ

แต่ถ้าหากจะให้ตอบละเอียดกว่านั้น ผมแนะนำให้อ่านจากข้อกฎหมายที่ระบุไว้ใน มาตรา 3 สัตตรส ว่า “ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะในปีที่ล่วงมาเฉพาะที่อยู่ในความครอบครองต่อกรมสรรพากร” ซึ่งคำว่าเฉพาะที่อยู่ในความครอบครองนี่แหละครับ ที่ทำให้ผมตีความกฎหมายออกมาเป็นคำว่า แยกเป็นรายธนาคารหรือผู้ให้บริการของใครของมัน ไม่ใช่รวมกันทุกธนาคารหรือผู้ให้บริการ

ใครถูกส่งข้อมูลบ้าง? วิธีการนับเป็นอย่างไร?

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การถูกส่งข้อมูลให้สรรพากรนั้นบังคับใช้เฉพาะบุคคลธรรมดา แต่จริงๆแล้วกฎหมายบังคับรวมถึง “บุคคล” ทั้งหมด นั่นหมายถึงมีผลกระทบทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลครับ

นอกจากนั้นกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่ได้กระทบแค่คนที่ทำธุรกิจขายของออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่กระทบกับคนทุกคนและทุกอาชีพครับ เพราะกฎหมายไม่ได้เลือกปฎิบัติเฉพาะคนขายของออนไลน์ แต่กำหนดไว้ว่าถ้าใครเข้าข่ายตามที่ว่า ย่อมจะโดนส่งข้อมูลเช่นเดียวกันครับ

โดยกลุ่มที่จะถูกส่งข้อมูลนั้น จะต้องเข้าเงื่อนไขที่เรียกว่า “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” ซึ่งกำหนดจาก จำนวนครั้งฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี และ จำนวนเงินที่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ดังต่อไปนี้

  • ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปในปีนั้น ๆ
  • ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไปในปีนั้น ๆ และ ต้องมียอดรวมจำนวนเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปด้วย (เข้าทั้งสองเงื่อนไข เงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งไม่ได้)

โดยคำว่า ฝากหรือรับโอนเงิน นั้น ข้อกฎหมายในกฎกระทรวงฉบับที่ 355 ขยายความเพิ่มเติมไว้ดังนี้ครับ

(1) การฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชีของบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชี ให้นับจำนวนครั้ง และจำนวนเงินทุกครั้งที่มีการฝากหรือรับโอนเงินเข้าไปในบัญชีของบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชี โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อกำหนดวิธีการนำเงินเข้าบัญชีที่ผู้มีหน้าที่รายงานได้กำหนดไว้แต่อย่างใด

(2) การฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชีซึ่งกระทำผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรหัสคิวอาร์ หรือวิธีการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ให้นับจำนวนครั้งและจำนวนเงินที่ได้กระทำผ่านอุปกรณ์หรือวิธีการเช่นว่านั้นทุกครั้ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อกำหนดวิธีการนำเงินเข้าบัญชีที่ผู้มีหน้าที่รายงานได้กำหนดไว้แต่อย่างใด
กฎหมายโอนเงิน 400 ครั้ง 2564

ผมขอสรุปตรงนี้แบบสั้น ๆ ว่า ขอแค่เงินเข้าบัญชีไม่ว่าจะแบบไหนวิธีใด ไม่ว่าจะฝากเงินแบบไหน โอนเงินเข้าบัญชีด้วยวิธีใด ถ้ามียอดเข้าบัญชี ย่อมจะถูกนับว่าเป็นการเข้าตามกฎหมายนี้ได้เลยครับ ดังนั้นถ้าใครมีคำถามว่า แบบนี้จะส่งไหม แบบนั้นจะส่งไหม ผมแนะนำให้ลองเช็คแบบนี้ดูครับ

1. เริ่มจากเช็คก่อนว่าในแต่ละธนาคารหรือผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิคส์ เรามีบัญชีทั้งหมดกี่บัญชีในธนาคารหรือผู้ให้บริการนั้นๆ รวบรวมมาให้หมดในแต่ละแห่ง (เพราะหลักการคือนับรวมทุกบัญชีในธนาคารหรือผู้ให้บริการนั้นๆ)

2. นับจำนวนครั้ง (ฝากรับโอน หรือยอดที่เข้าบัญชีทั้งหมดของแต่ละแห่งในปีนั้น) และยอดเงินรวมทั้งหมดดู โดยดูก่อนว่า

  • จำนวนครั้งที่เข้าถึง 400 ครั้งไหม? (ถ้าไม่ถึง = ไม่ถูกส่ง)
  • ถ้าจำนวนครั้งที่เข้าถึง 400 ครั้ง ให้ดูต่อไปว่า จำนวนเงินรวมถึง 2 ล้านบาทไหม? (ถ้าถึงทั้งคู่ = ถูกส่งแน่นอน)
  • สุดท้าย ถ้าจำนวนครั้งเกิน 400 ครั้งขึ้นไป แต่จำนวนเงินไม่ถึง 2 ล้าน ให้ดูว่าจำนวนครั้งทั้งหมดถึง 3,000 ครั้งหรือไม่ เป็นการเช็คครั้งสุดท้าย (ถ้าจำนวนครั้งถึง 3,000 ครั้งยังไงก็ถูกส่ง)

เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ผมมีตัวอย่างของกรณีธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากรมาให้ดูครับว่า แบบไหนที่ถูกส่งข้อมูล และแบบไหนไม่ถูกส่งข้อมูล

ตัวอย่างการส่งข้อมูลและไม่ส่งข้อมูล

  • กฎหมายโอนเงิน 400 ครั้ง 2564
  • กฎหมายโอนเงิน 400 ครั้ง 2564
  • กฎหมายโอนเงิน 400 ครั้ง 2564
  • กฎหมายโอนเงิน 400 ครั้ง 2564

ถ้าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูคลิป ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร ตอนที่ 2 : แบบไหนส่ง แบบไหนไม่ส่ง เริ่มปีไหน ดูให้เข้าใจ ไม่ต้องจำ เพิ่มเติมได้ที่ด้านล่างนี้ครับ

เริ่มส่งข้อมูลเมื่อไร? นับเป็นรายปีใช่ไหม?

คำตอบ คือ ใช่ครับ เพราะการเก็บข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องส่งให้สรรพากร เริ่มต้นนับแบบเต็มปี (1 มกราคม – 31 ธันวาคม) ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยธนาคาร สถาบันการเงิน หรือ ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่ส่งข้อมูลของแต่ละปี ภายใน 31 มีนาคมของปีถัดไป เช่น ข้อมูลของปี 2563 จะต้องถูกส่งให้สรรพากรภายใน 31 มีนาคม 2564

ข้อมูลที่ถูกส่งให้สรรพากรมีอะไรบ้าง?

ในกฎกระทรวงฉบับที่ 355 ระบุไว้ชัดเจนว่า ข้อมูลที่ถูกส่งให้สรรพากรนั้น ประกอบด้วยรายการต่อไปนี้ คือ

  • เลขประจำตัวประชาชน เลขที่หนังสือเดินทาง เลขทะเบียนนิติบุคคล เลขประจำตัว ผู้เสียภาษีอากร หรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการระบุตัวบุคคลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
  • ชื่อและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา ชื่อของห้างหุ้นส่วนสามัญ ชื่อของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือชื่อนิติบุคคล
  • จำนวนครั้งของการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน
  • จำนวนเงินที่ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน
  • เลขที่บัญชีทุกบัญชีที่มีการฝากหรือรับโอนเงิน

จากข้อมูลทั้งหมดที่พูดมานี้ จะเห็นว่าเป็นข้อมูลแบบคร่าว ๆ ที่สรรพากรใช้ในการตรวจสอบเบื้องต้นได้เท่านั้น และจะเป็นประเด็นในหัวข้อที่เราจะคุยกันต่อ คือ การถูกส่งข้อมูลแบบนี้แล้วต้องเสียภาษีไหม? จะทำยังไงไม่ให้ถูกส่งข้อมูลดี?

ผลกระทบและวิธีรับมือการถูกส่งข้อมูลให้สรรพากร

ก่อนที่เราจะวางแผนรับมือเรื่องนี้ ผมคิดว่าเราจะต้องทำความเข้าใจในประเด็นของการ “ส่ง” กับ “ตรวจ” ให้ชัดเจนก่อนว่า การถูกส่งข้อมูลให้ตรวจสอบนั้น ไม่ใช่ส่งข้อมูลให้เสียภาษีทันที เพราะสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีจากข้อมูลนี้ทันทีไม่ได้ครับ เนื่องจากข้อมูลที่ส่งให้นั้น เป็นข้อมูลสรุปแบบคร่าวๆ เท่านั้น โดยการเสียภาษีนั้นต้องมีวิธีการคำนวณตามหลักการของกฎหมายก่อนครับ

หลายคนมักจะเข้าใจว่าการที่ธนาคารไม่ส่งข้อมูลให้สรรพากรแปลว่าเราจะไม่ถูกสรรพากรตรวจสอบภาษี แต่ความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน (โดยตรง) ครับ เพราะคนที่ไม่ถูกส่งก็มีโอกาสถูกตรวจสอบภาษีได้เหมือนกัน ถ้าหากสรรพากรมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเราหลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากต่อให้ไม่มีกฎหมายฉบับนี้ออกมาสรรพากรก็มีอำนาจ (เดิม) ตามกฎหมายให้สามารถดูข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่แล้วครับ ถ้าหากเขาสงสัยว่าเรากระทำความผิด หรือ หลีกเลี่ยงภาษี

มักจะมีคนถามผมว่า พรี่หนอมครับ แบบนี้ก็กระจายบัญชีได้ใช่ไหม เพราะถ้าเรากระจายบัญชีไปหลายๆธนาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าเงื่อนไขธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ว่านี้ เราก็จะไม่ถูกส่งข้อมูลแล้ว ผมมักจะตอบตรงๆว่า สามารถทำได้ครับ

แต่ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าหากวันนึงถูกตรวจสอบโดยที่ไม่ได้ถูกส่งข้อมูล แบบนี้จะตอบสรรพากรอย่างไร ถึงเหตุผลที่มีการเปิดหลายบัญชีแบบนี้ ซึ่งมันเห็นชัดเจนว่ามีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงภาษี และผมเชื่อว่านี่คือความเสี่ยงที่หลายคนต้องเจอในอนาคตอย่างแน่นอนครับ นอกจากนั้นในมุมมองของผม ผมมองว่ายังมีสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าการถูกส่งข้อมูลให้สรรพากรอีกครับ

สิ่งที่น่ากลัวกว่าการถูกส่งข้อมูล

ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีกฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการส่งข้อมูลให้กับสรรพากร นั่นคือ ธนาคารต้องส่งข้อมูลการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้กับกรมสรรพากรปีละ 4 ครั้ง ตามข้อกฎหมาย คือ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 346)

โดยสรุปของกฎหมายฉบับนี้ คือ ใครที่มีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวมทั้งหมดทุกธนาคารเกิน 20,000 บาท จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ทันที ซึ่งฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไร เพราะกฎหมายเรื่องนี้มีมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วใช่ไหมครับ ?

แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้น่าสนใจตรงที่ว่า ถ้าใครไม่ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้กับกรมสรรพากรแล้วล่ะก็ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 15% ทันที แม้ว่าจะได้รับดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาทก็ตาม

ถ้าเราลองเอากฎหมายสองเรื่องนี้มาเชื่อมโยงกัน จะเห็นว่า ถ้าใครสักคนหนึ่งเลือกเปิดบัญชีธนาคารหลาย ๆ บัญชีเพื่อกระจายรายการเงินเข้าไม่ให้ถึงที่กฎหมายกำหนด เพราะจะได้ไม่ถูกส่งข้อมูลให้กับสรรพากร ตามกฎหมายการส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะอย่างที่ว่ามาข้างต้น

ถ้าหากแผนการของเขาสำเร็จ เมื่อไม่เข้าเงื่อนไขจำนวนครั้ง และจำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดให้เป็นธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ย่อมแปลว่าเขาจะไม่ถูกส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรอย่างแน่นอน

แต่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่เขากระจายเปิดไว้ ยังไงย่อมถูกส่งข้อมูลการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไปให้กับกรมสรรพากรอยู่ดี ตามกฎหมายที่กำหนดเงื่อนไขไว้ หรือต่อให้เข้าไม่ยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เขาก็ยังคงต้องโดนส่งข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% ไว้อยู่ดี

กฎหมายโอนเงิน 400 ครั้ง 2564

ทีนี้ลองกลับมามองในมุมของสรรพากรกันบ้าง ถ้าหากสรรพากรลองเชื่อมโยงสองข้อมูลที่ได้รับเข้าด้วยกันจะเห็นว่า มีคนๆหนึ่งที่ไม่ถูกส่งข้อมูลจากธุรกรรมลักษณะเฉพาะ แต่มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มากมายหลายธนาคารที่ถูกส่งข้อมูลการคำนวณดอกเบี้ยให้ ไม่ว่าจะมีดอกเบี้ยมากหรือน้อยก็ตาม แต่จะเห็นร่องรอยบางอย่างที่ผิดสังเกตอย่างแน่นอน

ตัวอย่างเช่น นายบักหนอมกระจายเปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้ 20 ธนาคาร ทางสรรพากรจะได้รับจากข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แต่กลับพบว่า นายบักหนอมไม่ถูกส่งข้อมูลตามกฎหมายธุรกรรมเฉพาะ เนื่องจากกระจายบัญชีไม่ให้ถูกส่งข้อมูล และถ้านายบักหนอมจงใจไม่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยพฤติกรรมหลบเลี่ยงการเสียภาษี

พอเราเอา 3 เรื่องนี้มาเชื่อมโยงกัน ก็จะเห็นความไม่สอดคล้องของข้อมูลบางอย่าง และถ้าหากสรรพากรมีวิธีการตรวจสอบอื่นๆอีก ที่ทำให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก็แปลว่านายบักหนอมมีโอกาสถูกตรวจสอบภาษีมากขึ้นกว่าเก่าอีกด้วยครับ

ดังนั้นในยุคของข้อมูลแบบนี้ ถ้าหากเรามองหาวิธีการหลบเลี่ยงภาษี มักจะเป็นการเปิดความเสี่ยงทางด้านอื่นที่จะเชื่อมโยงไปกับการตรวจสอบข้อมูลภาษีของเราได้อยู่ดี

อย่าลืมนะครับว่า ถ้าเรามีหน้าที่เสียภาษี แล้วไม่ได้เสียภาษี แปลว่าเรากำลังทำผิดกฎหมายอยู่ และถ้าหากถูกตรวจสอบพบเมื่อไร เรายังมีหน้าที่ที่ต้องจ่ายอยู่ดี และอาจจะมีค่าปรับ เบียปรับ และเงินเพิ่มต่างๆตามมาที่ทำให้เราต้องเสียภาษีมากขึ้นด้วยครับ

มาถึงตรงนี้ ใครหลายคนคงมีคำถามแล้วใช่ไหมครับว่า แล้ววิธีการรับมือเรื่องนี้อย่างถูกต้องนั้นควรเป็นแบบไหน? มาดูกันต่อเลยครับ

วิธีรับมือธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร

ก่อนที่จะเข้าสู่วิธีการรับมือในเรื่องนี้ ผมอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่า คนทุกคนที่มีรายได้ต้องเสียภาษี เพราะการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของคนทุกคนเมื่อเขามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ ก็แปลว่าเรามีหน้าที่เสียภาษีและยื่นให้ถูกต้อง

หรือถ้าเราเป็นคนที่เสียภาษีถูกต้องอยู่แล้ว ผมก็อยากบอกตรง ๆ ว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลกระทบใดๆต่อเราเลยครับ เพราะการส่งข้อมูลหรือไม่ส่งให้สรรพากร ย่อมไม่ได้มีผลให้เราเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงครับ

หลังจากนั้นผมอยากให้มองพื้นฐานความเข้าใจต่อไปว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่การทำยังไงไม่ให้ถูกส่งข้อมูลให้สรรพากร แต่มันคือการรู้ข้อมูลที่ถูกต้องของตัวเองต่างหาก โดยการที่จะมีข้อมูลที่ถูกต้องได้นั้น ประกอบด้วยวิธีการ 3 ข้อดังนี้ครับ

1) แยกบัญชีธนาคาร สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ แยกบัญชีธนาคารให้ชัดเจนก่อน อย่านำเรื่องรายจ่ายส่วนตัวมาปนกับธุรกิจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องนับว่าจะถึงเกณฑ์ต้องส่งข้อมูลให้สรรพากรไหม แต่เราควรรู้มากกว่าว่ารายการแต่ละรายการคืออะไร เพื่อที่จะได้ตอบคำถามได้ว่ารายการต่อไปนี้เป็น รายรับ รายจ่าย หรือ รายการอื่น

2) ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ถ้าเตรียมบัญชีในข้อแรกเรียบร้อยแล้ว ให้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อหาข้อมูลกำไรของธุรกิจ ยอดขาย ค่าใช้จ่าย เพื่อให้เราเห็นข้อมูลของธุรกิจมากที่สุดก่อนที่จะนำมาพิจารณาเรื่องภาษี โดยอาจจะเลือกใช้ซอฟท์แวร์ แอพพลิเคชั่น หรือโปรแกรมใดๆที่เราใช้แล้วสะดวกบันทึกอย่างมีวินัย แค่นี้ก็เพียงพอแล้วครับ

3) ศึกษาหาความรู้เรื่องภาษีอย่างจริงจัง เมื่อแยกเรื่องส่วนตัวออกจากธุรกิจ และเข้าใจข้อมูลรายรับรายจ่ายทั้งหมดแล้ว ค่อยมาเริ่มศึกษาต่อครับว่า ธุรกิจเราต้องเสียภาษีอะไรบ้าง คำนวณแบบไหน เช่น ถ้าเราเป็นบุคคลธรรมดา เราสามารถวางแผนค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี หรือ วางแผนลดหย่อนภาษี ได้อย่างไร

ปัจจุบันนี้มีทั้งคลิป บทความ หรือ หนังสือเกี่ยวกับภาษีมากมายให้ศึกษาครับ ซึ่งถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง ผมมีคลิปสอนเรื่อง ภาษีและการจัดการการเงินส่วนบุคคล ให้ทุกคนสามารถเริ่มต้นศึกษาด้วยตัวเองได้เลยครับ

โดยเหตุผลที่ผมแนะนำแบบนี้ เพราะมองว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือพื้นฐานสำคัญอย่าง การทำบัญชีรายรับรายจ่าย เก็บบันทึกรายการ เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไปจนถึงการจัดการบัญชีธนาคารต่างๆให้เป็นระบบระเบียบเพื่อสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ด้วยตัวเองครับ

ผมมองว่า ถ้าใครสามารถทำแบบนี้ได้ ต่อให้ถูกส่งข้อมูลแล้วสรรพากรเข้ามาตรวจสอบสักวันหนึ่ง เราก็สามารถชี้แจงทุกอย่างได้เป็นอย่างดี และยิ่งถ้าเรายื่นเสียภาษีถูกต้องไว้อยู่แล้ว ยิ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนเลยครับว่า ต่อให้จะส่งข้อมูลมากแค่ไหน เราก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรกับกฎหมายฉบับนี้ครับ

บทสรุป

จากประเด็นเรื่อง ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร ทั้งหมดที่เล่ามาจนถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนเริ่มมองเห็นภาพออกว่า ในปัจจุบันนี้การทำทุกอย่างให้ถูกต้องนั้นย่อมจะมีผลดีกับเรามากกว่า และสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราทำทุกอย่างได้ถูกต้องนั้น คือ การเริ่มต้นมีข้อมูลที่ถูกต้องของตัวเองก่อนครับ

โดยปกติแล้ว ปัญหาเรื่องภาษีส่วนใหญ่นั้นมักจะเกิดจากการที่เราไม่รู้ข้อมูลของตัวเอง นั่นแปลว่าถ้าเราไม่รู้ข้อมูลของตัวเอง เราย่อมไม่รู้ว่าเราทำถูกต้องหรือเปล่า และถ้าหากถูกสรรพากรตรวจสอบขึ้นมา ก็มักจะจบตรงที่ว่าเราไม่สามารถโต้แย้งอะไรได้สักเท่าไร เพราะเราไม่มีอะไรไปต่อสู้กับเขานั่นเองครับ

เหตุการณ์แบบนี้ส่งผลเสียมากมายตามมา ไม่ว่าจะโดนภาษีย้อนหลัง เสียภาษีมากขึ้นจากการถูกประเมินภาษีเพิ่มเติม และสุดท้ายแล้วมันจะมีผลกระทบต่อกำไรของธุรกิจหรือการเงินในชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นผมจึงอยากชวนทุกคนมาป้องกัน โดยเริ่มต้นจากการจัดการข้อมูลของตัวเองให้ถูกต้องครับ

ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายๆคนเข้าใจเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสบายใจด้วยว่า จริง ๆ แล้วเราสามารถรับมือกฎหมายนี้ได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่เรารู้จักทำความเข้าใจกฎหมาย และเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะสุดท้ายแล้ว วันนั้นก็ต้องมาถึงอยู่ดี

ไม่ว่าธนาคารจะส่งข้อมูล
ให้สรรพากรหรือไม่ก็ตาม

TAXBugnoms

ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร

TaxBugnoms

คือ นามปากกาของพรี่หนอม (ถนอม เกตุเอม) ผู้มีความเชื่อว่าภาษีเป็นเรื่องยาก แต่กลับชื่นชอบในการทำให้ภาษีกลายเป็นเรื่องเรียบง่าย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจในการใช้ชีวิต