ห้องสมุด ดิจิทัล มี ที่ไหน บาง

ห้องสมุดดิจิทัล : ประสบการณ์และข้อพึงระวัง (Digital Library : Best Practice and Pit Fall)

จากการเข้าร่วมการประชุมวิชาการประจำปี 2558  เรื่อง  ห้องสมุดดิจิทัล : ประสบการณ์และข้อพึงระวัง  (Digital Library : Best Practice and Pit Fall) จัดโดย ชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา (ช.บ.อ.)  สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย  เมื่อวันที่ 27  พฤศจิกายน 2558  ณ  ห้องประชุมชั้น 7  สำนักงานวิทยทรัพยากร  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยประกอบด้วยหัวข้อ ต่อไปนี้

  1.  แนวโน้มของห้องสมุดในยุค Digital Library
  2.  เล่าเรื่อง Digitized Rare Book หอสมุดสาขาวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  3.  D-Library : National Digital Content
  4.  ห้องสมุดดิจิทัล  ความคุ้มค่าในการลงทุนของมหาวิทยาลัย ?

หัวข้อที่ 1   แนวโน้มของห้องสมุดในยุค Digital Library

ด้วยเหตุที่ว่า ห้องสมุดหลายแห่งกำลังประสบปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างไม่ทันตั้งตัว ยุคสมัยใหม่แห่งโลก digital content , social life style , new generation  จึงทำให้ทั้งบุคลากร ทรัพยากร ระบบ สถานที่ กระบวนการทำงานบางอย่าง ที่มีอยู่เดิมในห้องสมุดนั้น  ไม่สามารถรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่นี้ได้เลย

ในการปรับปรุงห้องสมุดนั้น แน่นอนว่าต้องใช้เงิน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนงบประมาณให้ดี ดังนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เสนอให้พิจารณาโดยเน้นประเด็นสำคัญ ที่มีความเชื่อมโยงกับงบประมาณที่ต้องลงทุนไป และทิศทางในการพัฒนาในอนาคต ดังนี้

นโยบาย  :
ต้องรู้ว่า สถาบันมุ่งเน้นดำเนินการไปในด้านใด มุ่งหวังผลักดันคนในองค์กรให้เติบโตไปในทิศทางใด  ควรกำหนดแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับประเด็นเหล่านั้น  ต้องตอบโจทย์ให้ได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืน

บุคลากร  :
ต้องสามารถประเมินศักยภาพของบุคลากรที่มีอยู่ออกมาได้ จะได้รู้ว่าจะพัฒนาพวกเขาในเรื่องใด หากประเมินไม่ได้หรือไม่มีการประเมินศักยภาพ จะไม่สามารถพัฒนาความรู้ให้พวกเขาได้อย่างเต็มที่

ระบบ/ทรัพยากร  :
ด้วยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมาย จึงจำเป็นต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม ให้เข้ากับสภาพการทำงานที่เป็นอยู่ได้   ควรมีการสำรวจทรัพยากรและความต้องการภายในองค์กรให้ชัดเจน แล้วนำมาเรียบเรียงและจัดลำดับความสำคัญ แล้วเลือกให้เหมาะสม

ความยั่งยืน  :
ในการลงทุน เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า ส่งที่จะลงทุนไปนั้นจะคุ้มค่า หรือไม่ สามารถตอบสองต่อความต้องการของคนหมู่มากได้จริงหรือไม่ และจะยังคงอยู่รองรับกับความต้องไปได้อีกนานเท่าไหร่  ด้วยในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จึงมีระบบหลายอย่างที่เคยเป็นที่นิยมเมื่อไม่นานมานี้ แต่ในปัจจุบันกลับไม่มีคนใช้งานอีกต่อไป
งบประมาณ  :
เรื่องเงินที่มีอยู่ กลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ต้องวิเคราะห์การเงินให้ดี ให้ลงตัว ต้องใช้เงินที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และเพียงพอต่อความจำเป็นที่เกิดขึ้น เพราะนับวัน งบประมาณสำหรับลงทุนในสถาบันการศึกษา ยิ่งหากยากขึ้นทุกที

ดังนั้น  ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนการให้บริการแบบเดิมนั้น ไม่สามารถตอบสนองต่อคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป  คนทำงานห้องสมุดในปัจจุบันจึงต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นคนเก่าหรือเด็กใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานก็ตาม  โดย

  • ปรับปรุงวิธีการทำงานของตนเอง ให้ทันต่อยุคสมัยและเทคโนโลยีแบบใหม่ที่มีเพิ่มขึ้นมาอยู่เสมอ
  • เพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเอง เพราะห้องสมุด เป็นงานให้บริการความรู้ และความรู้ มีเกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ
  • ทำความเข้าใจกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้า และมีวิวัฒนการจนโลกโซเซียลกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขาไปแล้ว

หัวข้อที่ 2   เล่าเรื่อง Digitized Rare Book หอสมุดสาขาวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในการดำเนินงานโครงการสารสนเทศดิจิทัล เพื่อทำการดิจิไทซ์หนังสือหายาก ของหอสมุดสาขาวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น มีกระบวนการหลักที่ผู้ดำเนินโครงการให้ความสำคัญ  สรุปได้ดังนี้

1  การวางแผน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเริ่มโครงการ

  • จัดทำ แผนงาน/โครงการประจำปี และกำหนดให้มี การสรุปผลการดำเนินงานทุกสิ้นปี โดย แต่งตั้งคณะทำงานมารับผิดชอบโครงการ กำหนดหัวหน้าโครงการ กำหนดเป้าหมายในการทำดิจิทัล
  • ระบุลักษณะงานหลัก/งานรองให้ชัดเจน และสามารถมอบหมายงานนั้นให้กับบุคลากรตามทักษะที่มีได้
  • ควรมีผู้ให้คำปรึกษาที่ดีในการดำเนินงาน
  • เครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ใช้ ควรซื้อเพิ่มเท่าที่จำเป็นและใช้อย่างคุ้มค่า

2  การคัดเลือกหนังสือหายาก ที่จะนำมาทำ e-Book
หนังสือหายาก คือ หนังสือเพื่อการค้นคว้าวิจัยขั้นสูง ที่มีผู้ต้องการใช้ค้นคว้าแต่ไม่สามารถจะหาอ่านได้โดยง่าย และไม่สามารถหาซื้อได้จากสานักพิมพ์หรือจากร้านขายหนังสือทั่วไป

กรอบการคัดเลือกหนังสือหายาก :

  • หนังสือที่จัดพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ลงมา (** หอสมุดวังท่าพระ กำหนดขึ้นมาใช้เอง)
  • หนังสือที่พิมพ์จำนวนจำกัด
  • หนังสือที่เป็นหลักฐานด้านประวัติการพิมพ์ แสดงให้เห็นถึงคุณค่าทางวิวัฒนาการด้านการพิมพ์ของไทย
  • หนังสือที่พิมพ์แจกเป็นของชำร่วยในงานมงคลและหนังสืออนุสรณ์งานศพ
  • หนังสือที่มีเนื้อหาโดดเด่นหรือเป็นข้อมูลปฐมภูมิ
  • หนังสือที่มีประวัติการครอบครอง

3  การแบ่งงาน   ในกรณีนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 งานหลักๆ ดังนี้
ด้วยกระบวนการในการทำสารสนเทศดิจิทัล (กรณีนี้คือหนังสือหายาก) สามารถทำเรียงลำดับกันไปได้ ดังนี้

  • การทำดิจิไทซ์ (digitize) ข้อมูล
    สแกนหนังสือ/ภาพ -> รวบรวมข้อมูล ->  เรียบเรียงเนื้อหา -> ออกแบบข้อมูล ->  บันทึกข้อมูล ->  ตรวจสอบความถูกต้อง  =  e-book
    ( พอทำเสร็จถึงขั้นตอนนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ จะเป็นไฟล์ e-book 1 เล่ม )
  • การพัฒนาโปรแกรมเพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์
    เขียนโปรแกรม ->  กำหนดขนาดไฟล์ที่จะนำขึ้นแสดง ->  ออกแบบเว็บเพจ -> นำไฟล์ e-book ขึ้นเว็บเพจ ->  ทดสอบการใช้งาน = เผยแพร่บนเว็บไซต์
    ( ขั้นตอนนี้ คือ การรวบรวมไฟล์ e-book ทั้งหมด มาจัดแสดงและเผยแพร่บนเว็บไซต์ )

4  โปรแกรมที่ใช้ในการจัดทำ e-Book

  • รูปแบบ e-Book ช่วงแรกในปี พ.ศ. 2545 สร้างด้วยโปรแกรม Adobe Acrobat ในฟอร์แมตไฟล์ PDF
  • พ.ศ. 2556 ซื้อซอฟท์แวร์ KVIsoft Flipbook Maker มาใช้ สามารถทำในรูปแบบ Flip e-Book คู่กับแบบเดิมได้

5  อุปสรรคและข้อพึงระวัง

  • ซอฟท์แวร์ที่ใช้ดำเนินการ มีอายุการใช้งาน เช่น PHP และ My SQL ต้องคอย update อยู่เสมอ
  • การแสดงผลบนหน้าเว็บต้องคอยเปลี่ยน ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
  • ในการพัฒนาระบบขึ้นมาเอง จะไม่มีระบบสำรองข้อมูลอัตโนมัติ ต้องทำการสำรองข้อมูลใน server เอง
  • การถูก Hack ข้อมูลอาจทำให้บางส่วนเสียหายหรือถูกขโมยไป ต้องวางแผนและกำหนดความปลอดภัยให้ดี
  • ลิขสิทธิ์ : ต้องคำนึงถึงการ คัดเลือกหนังสือ การขออนุญาตเจ้าของผลงาน ขอบเขตการเผยแพร่

สามารถเข้าชมได้ที่ไซต์ //www.thapra.lib.su.ac.th/thapra/

หัวข้อที่ 3   D-Library : National Digital Content   

โครงการ D-Library  ห้องสมุดดิจิทัลของหอสมุดแห่งชาติ จัดทำขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่หนังสือที่มีเนื้อหามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเก็บไว้ในรูปแบบดิจิทัล สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันทีผ่านทางออนไลน์ ทำให้เข้าถึงเนื้อหาได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว

ในการทำ Collections หนังสือหายากให้เป็น e-book ออนไลน์นั้น มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้

  • Web Design   (การออกแบบเว็บไซต์)
  • Standards-based metadata (Dublin Core)   (มาตรฐานที่ใช้ในการลงรายการข้อมูลหนังสือหายาก)
  • Interoperability (OAI-PMH)   (มาตรฐานสากลที่ใช้เชื่อมโยงข้อมูล)
  • Advanced search    (การสืบค้นขั้นสูง)
  • Multiple access points   (การเข้าใช้งานได้พร้อมกันจากหลายที่)
  • Universal Viewer   (มีลักษณะการแสดงผลที่เหมือนกัน เป็นหนึ่งเดียว)
  • Exhibit Builder (design exhibitions online)  (มีหน้าสำหรับจัดแสดงผลงานที่เลือกโชว์ออนไลน์)

การพัฒนาระบบ D-Library ให้รองรับกับการเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรฐานสากลได้นั้น ทางผู้พัฒนาได้จึงเลือกใช้มาตรฐาน OAI-PMH  ซึ่งโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจาก National Library Asia Pacific (NL-AP)  ที่เป็นโครงการความร่วมมือในการจัดทำห้องสมุดดิจิทัล สำหรับหอสมุดแห่งชาติในกลุ่มประเทศเซียน

สามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์  //www.digital.nlt.go.th

หัวข้อที่ 4   ห้องสมุดดิจิทัล  ความคุ้มค่าในการลงทุนของมหาวิทยาลัย ?

ในการพัฒนาห้องสมุดแบบเดิมไปสู่ห้องสมุดดิจิทัลนั้น ผู้บริหารจะได้พบกับโจทย์ใหม่ที่จะต้องรับมือให้ได้ นั่นคือ  ความคาดหวังของผู้ใช้บริการ   การบริหารความคุ้มค่าและคุณค่า  ภาระต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เมื่อต้องบริหารงานห้องสมุดที่เป็นแบบดิจิทัล ดังนั้น เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ห้องสมุดดิจิทัลได้สำเร็จ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต จึงเสนอประเด็นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ดังต่อไปนี้

  • การบริหารความคุ้มค่า (worthiness)
  • ความคุ้มทุน (break even, be cost effective)
  • ความพึงพอใจ (User’s satisfaction)
  • ประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness)
  • การบริหารคุณค่า (value)
  • ความต้องการของผู้ใช้และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (User’s expectation)
  • การเพิ่มมูลค่าให้กับบริการ (Value added services)
  • การสร้างภาพลักษณ์ (Good image)

การประเมินความคุ้มค่า

การวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล มักเป็นโจทย์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย/สถาบัน ต้องเผชิญ  ดังนั้น จึงเสนอแนวทางที่ได้นำมาใช้ ซึ่งสามารถประเมินให้เห็นเป็นรูปธรรมได้จากสิ่งต่างๆ ดังนี้

  • จำนวน/ปริมาณ ได้แก่ หนังสือเล่มกับหนังอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนและโอกาสในการเข้าถึง
  • สถิติการใช้ เช่น การเข้าเว็บไซต์ การเข้าถึงและดาวน์โหลดเอกสารอิเล็กทรอนิกส์จากฐานข้อมูล
  • ระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ (ประเมินประสิทธิภาพ)
  • ประเมินผลลัพธ์เชิงคุณภาพ (ประเมินประสิทธิผล) เช่น จำนวนผลงานวิจัย, จำนวนบทความวิจัย/วิชาการที่เผยแพร่ในระดับสากล, รวมถึงการที่คณาจารย์/นักวิจัยของสถาบันได้รับรางวัล
  • วิเคราะห์ต้นทุนบริการและการดำเนินงาน เช่น การคำนวณต้นทุนต่อหน่วยในการให้บริการ, ต้นทุนต่อหน่วยในการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ

การบริหารคุณค่า

ในการลงทุนทำอะไรสักอย่าง ผู้ลงทุนย่อมคาดหวังในผลลัพธ์ที่จะได้กลับคืนมา ซึ่งในบางครั้ง บางงาน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ควรมีการดำเนินงานต่อไปให้สัมฤทธิ์ผลเพิ่มเติม หรือต่อยอดผลงานเดิม พัฒนางานบริการให้ดียิ่งขึ้น มีเพิ่มบทบาทให้หน่วยงานตนเอง ซึ่งสามารถทำได้หลายทาง ด้วยการบริหารคุณค่าของงาน ดังต่อไปนี้

  • การลงทุนด้านสินทรัพย์ เช่น การปรับปรุงอาคาร ปรับสภาพแวดล้อมให้ดูดีขึ้นและทันสมัย เป็นการตอบสนองความต้องการและรสนิยมของผู้ใช้ ส่งผลให้มีการใช้ห้องสมุดมากขึ้น และสถาบันอาจได้รับประโยชน์ในด้านภาพลักษณ์
  • คุณค่าจากการเลือกใช้เทคโนโลยีชั้นเลิศ (The state of art software/technology) ถือเป็นการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูง และไม่สร้างกำไร แต่ทำให้งานนั้นมีความทันสมัยมากขึ้น
  • การบอกรับฐานข้อมูลวิจัยเฉพาะด้าน เพื่อสร้างความพร้อมในการเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัย
  • เพิ่มระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์พกพา (Mobile application)
  • มีระบบสืบค้นแบบ Single search ที่อำนวยความสะดวกกับผู้ใช้
  • ห้องสมุดควรสอบถามความต้องการและประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริการใหม่ๆ
  • การพัฒนาฐานข้อมูลเอกสารเฉพาะด้านของมหาวิทยาลัย อาจต้องลงทุนสูง แต่ทำให้ห้องสมุดมีสารสนเทศที่มีความเป็นอัตลักษณ์เป็นของตนเอง
  • ห้องสมุดให้ความใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน Green Library, CSR Library
  • การทำการตลาดบริการ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องจำเป็น
  • ห้องสมุดต้องมีวิธีเผยแพร่ผลของการประเมินความคุ้มค่าและการบริหารคุณค่า

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของการเพิ่มคุณค่าของห้องสมุด อยู่ที่ “ผู้ใช้” คำตอบของความคุ้มค่า จึงอยู่ที่ “ผู้ใช้”

รายการอ้างอิง

อมร เพชรสม. (2558, พฤศจิกายน).  แนวโน้มของห้องสมุดในยุค Digital Library.  เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2558 ของชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา (ช.บ.อ.) สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

ดารารัตน์ จุฬาพันธุ์. (2558, พฤศจิกายน).  เล่าเรื่อง Digitized Rare Book.  เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2558 ของชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา (ช.บ.อ.) สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

ประสิทธิชัย เลิศรัตนเคหกาล. (2558, พฤศจิกายน).  D-Library : National Digital Content.  เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2558 ของชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา (ช.บ.อ.) สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ, จุฬาลงกรณณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

มลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ. (2558, พฤศจิกายน).  ห้องสมุดดิจิทัล  ความคุ้มค่าในการลงทุนของมหาวิทยาลัย ?.  เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2558 ของชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา (ช.บ.อ.) สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

View (776)


Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก