ธุรกิจสร้างสรรค์ มีอะไรบ้าง

       ย้อนหลังไปกว่าสิบปีที่แล้ว คำว่า ผู้ประกอบการ SMEs (Small and Medium Entrepreneurs) ได้กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไทย หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างขานรับการสนับสนุน SMEs ด้วยกลยุทธ์มากมายเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยเหล่านี้ โดยหวังว่าความแข็งแกร่งของพวกเขาจะกลายเป็นอาวุธในเวทีการค้า  จนเมื่อสิบปีให้หลัง  ในวันนี้ คำว่า ผู้ประกอบการ SMEsไม่เพียงแต่ต้องเป็นผู้สร้างสินค้าให้มีความต่างจากการผลิตแบบเดิมที่ห่ำหั่นด้วยราคาเท่านั้น  แต่พวกเขายังต้องยืนอยู่บนกระแสของยุคความคิดสร้างสรรค์ (Creative Economy) หรือระบบเศรษฐกิจที่เร่งเร้าให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างธุรกิจ และ ความคิดสร้างสรรค์  สามารถแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการที่โดดเด่น หลากหลาย และยากต่อการแข่งขันอันนำมาซึ่งกำไรที่งดงาม

       อะไรคือความสัมพันธ์ของระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผู้ประกอบการ SMEs  ความลับอยู่ตรงที่  ความคล่องตัวจากขนาดที่เล็ก” “ความคิดที่แตกต่างและ ความพิเศษเฉพาะตัว” เพราะนับจากนี้ไป โลกที่เราจะต้องรับมือ คือ โลกที่เอาชนะกันด้วยการแข่งขันที่มากไปด้วยฝีมือ ความรู้ เทคโนโลยี  และความคิดสร้างสรรค์   โลกแบบเดิมที่เคยมีมาตรการทุ่มตลาด กีดกันทางการค้า คอยอุ้มชูธุรกิจภายในประเทศ กำลังต้องล่าถอยให้กับสิ่งที่เรียกว่าโลกไร้พรมแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อะไรคือข้อได้เปรียบของยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

       เนื่องจากระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์อยู่บนรากฐานของความคิดที่เป็นทุนการผลิตอันสำคัญ จึงเป็นการสร้างธุรกิจบนปัจจัยการผลิตที่แตกต่างกว่าทุนการผลิตแบบเดิม และเป็นการลดทอนเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในกระบวนการผลิตแบบเก่า เพิ่มการสร้างโอกาสทางธุรกิจแบบใหม่ นั่นคือ

ประการที่ การใช้วิธีคิดเป็นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าและบริการ เพราะวิธีคิดจะนำมาซึ่งความแตกต่าง การแข่งขันทางความคิดจึงไม่มีข้อจำกัด ต้นทุนอยู่ที่ความสามารถที่จะคิดอย่างมีเหตุผลและมีความรู้รองรับ ดังนั้นผู้ประกอบการสร้างสรรค์ จึงไม่ต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายใหญ่

ประการที่ เป็นกระบวนการผลิตที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลในอุตสาหกรรมแบบเดิมนั้น แรงงานผลิตจะเกิดขึ้นวันละ  8-10 ชม. แต่ในระบบการผลิตที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาเป็นปัจจัยหลัก การผลิตจะไม่ขึ้นกับเวลาอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถเพิ่มเวลาในการทำงานให้มากขึ้นได้ เช่น การขายสินค้าออนไลน์  การทำงานผ่าน Community online ต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตสามารถทำงานและติดตามงานได้ตลอดเวลา

ประการที่ เป็นกระบวนการผลิตที่ลดข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรและเงินทุน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่โรงงานขนาดใหญ่ แรงงานการผลิตจำนวนมาก แม้กระทั่งเครื่องจักรประสิทธิภาพสูง เพียงแต่ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสินค้าและบริการ เพื่อการสร้างมาตรฐานและคุณภาพที่ดี

ประการที่ เป็นกระบวนการผลิตที่ลดข้อจำกัดเรื่องความรู้ กระบวนการผลิตของธุรกิจสร้างสรรค์ เป็นการสร้างเครือข่ายต่อยอดทางความรู้ แต่ไม่ใช้การลอกเลียน นั่นคือ การนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ มาผสมผสานเกิดเป็นสินค้าและบริการใหม่ เช่น การผลิตไอพอดซึ่งเป็นการรวมรวบเอาสิทธิบัตรกว่า 20 สิทธิบัตรมาประกอบเป็นสินค้าและบริการใหม่ จากเดิมที่มีแนวคิดการพกพาวอล์กแมน แต่เปลี่ยนจากค้นหาข้อมูลลักษณะการจัดเก็บข้อมูล และเพิ่มลักษณะฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่ สตีฟ จ๊อบส์ และแอปเปิ้ล ได้สร้างแนวคิดกลางและหาองค์ประกอบที่มาผสมผสานจนเกิดสินค้าใหม่

ความคิดสร้างสรรค์” ทุนสำรองที่ไม่มีวันหมดของ SMEs 

       คำว่าผู้ประกอบการ SMEs นั้น มีความหมายที่เป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจอย่างเด่นชัด นั่นคือ ธุรกิจขนาดเล็กที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด การผลิตได้รวดเร็วและสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งข้อได้เปรียบนี้ ทำให้เราสามารถลุกขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ได้อย่างทันท่วงที และหากมี ความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนสำรอง เราจะเริ่มต้นใหม่ได้อย่างโดดเด่นและแตกต่าง  แต่ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงเศรษฐกิจนั้นต้องมีคุณสมบัติ คือ Originality ความเป็นตัวของตัวเอง, Social Value มีคุณค่าต่อสังคม นั่นคือมีความต้องการ หรือมีตลาดรองรับ และ Process andSolution นั่นคือ มีเหตุผล มีกระบวนการคิดและการผลิต  ในโลกของผู้ประกอบการนั้น ทุกคนล้วนตระหนักว่า ปัจจัยพื้นฐานในการทำธุรกิจคือ การรู้จัก

       ลูกค้า รู้จักตลาด และรู้จักตัวเอง แต่ความคิดสร้างสรรค์ คือ ความต่างของสิ่งจะเกิดขึ้น ผู้บริโภคยุคใหม่ไม่เพียงแต่ซื้อสินค้า แต่มีความละเมียดทางจิตใจและความต้องการมากขึ้น เพราะสังคมสลับซับซ้อนขึ้น เช่น ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม ต้องการความเป็นเอกลักษณ์ ต้องการส่งเสริมวัฒนธรรม ต้องการยุติการค้าแรงงานเด็ก เป็นต้น เราจะเห็นว่าสินค้ายุคใหม่ นอกจากจะขายตัวสินค้าแล้ว ยังผสมผสานความรู้สึกการรับผิดชอบต่อสังคมในแง่มุมต่างๆ ลงไปด้วย เช่น เครื่องสำอางที่ไม่ทดลองในสัตว์ สินค้าเกษตรกรรมที่ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านในดินแดนธุรกันดาร  เสื้อยืดประเภท Limited Edition หรือพรมทอมือที่ไม่ใช่แรงงานเด็ก เป็นต้น

สำรวจวิถีชีวิตใหม่ เข้าใจวัฒนธรรมเดิม

       สิ่งที่เราต้องรู้เท่าทันก็คือ คำว่าตลาดใหม่ หรือ ผู้บริโภคยุคใหม่ นั้น ไม่ใช่ประเทศเกิดใหม่ที่ร่ำรวย หรือ คนรุ่นใหม่แต่เพียงเท่านั้น แต่หมายถึงตลาดหรือกลุ่มคนซึ่งมีแนวคิดหรือรสนิยมที่หลีกหนีจากวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่ถือปฏิบัติกันมา ตรงนี้ต่างหาก คือ สิ่งที่เราต้องวิเคราะห์  สังเกตุและจับตาปรากฎการณ์ใหม่ๆ อย่างใคร่ครวญ 

       ลองย้อนกลับไปดูตัวอย่างของ ตลาดใหม่ หรือ ผู้บริโภคยุคใหม่ กันสักเล็กน้อย  เรื่องนี้เกิดขึ้นราวต้นศตวรรษที่ 18 ในยุคที่ชาไหลรินจากตะวันออกสู่ตะวันตก หรือจากจีนเข้ามาสู่โปรตุเกส สเปน  อังกฤษ  และการดื่มชายังเป็นเรื่องของราชสำนัก ชนชั้นสูง ราคาแพง  ไม่ได้มีอยู่ทั่วไป   ในขณะนั้นกรุงลอนดอน  ซึ่งผู้คนนิยมดื่มกาแฟเพื่อแสดงถึงการสังสรรค์และโต้ตอบทางปัญญา มีร้านกาแฟในลอนดอนและเมืองรอบๆ มากถึง 2,000 ร้าน แต่ร้านกาแฟส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น เพราะนอกจากจะพูดคุยเรื่องการเมือง  ศาสนา หรือวรรณกรรมแล้ว ยังเป็นสถานที่สูบซิการ์ ซึ่งทำให้ผู้หญิงซึ่งปรารถนาจะดื่มชาในยามบ่าย ไม่สามารถเข้าถึงได้  เจ้าของร้านกาแฟร้านหนึ่ง

       เห็นช่องว่างทางธุรกิจดังกล่าว  เขารู้ว่าทุกวันจะมีผู้หญิงเดินเข้ามาเพื่อขอซื้อชา หรือสอดส่ายสายตาหาที่นั่งเพื่อจิบน้ำชาหรือพูดคุยกันอย่างเงียบๆ แต่ไม่มีร้านกาแฟที่ไหนจะมอบสิ่งพิเศษดังกล่าวนี้ให้พวกเธอ   ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจจัดสรรพื้นที่บางส่วนในร้านกาแฟของเขาเพื่อขายชาให้กับผู้หญิง โดยเริ่มแรกเพื่อซื้อกลับบ้าน และต่อมาก็เปิดมุมจิบน้ำชาให้ผู้หญิงอย่างเป็นสัดส่วน ซึ่งทำให้เรื่องของการดื่มชาเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา  พร้อมๆ กับที่กิจการใบชาของเจ้าของร้านกาแฟผู้เห็นโอกาสใหม่นี้ก็เติบโตต่อมาอีกหลายร้อยปี ภายใต้ตระกูลของ โทมัส ทไวนนิ่ง

       ดังนั้น ในโลกของผู้ประกอบการ SMEs ปัจจัยเรื่องตลาดใหม่จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว และผู้บริโภคยุคใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด  เมื่อเราเอาโลกของผู้ประกอบการ SMEs มาทาบกับโลกของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นแหล่งต้นทุนสำคัญในการต่อยอดและพัฒนาสินค้าและบริการนั้น   เราพบว่า โลกทั้งสองมีส่วนทับซ้อนและนำมาซึ่งความเกื้อกูลกันอย่างเหมาะเจาะ แข็งแกร่ง  เพียงพอที่จะเป็นฐานให้เราเติบโตและยืนอยู่ในอนาคตได้อย่างไม่เสียเปรียบ และพร้อมๆ กับฐานที่แข็งแรง  ในส่วนของพื้นที่ที่ขาดหายอยู่นั้น เราจำเป็นต้องเร่งขวนขวายเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ด้วยการเชื่อมโยงความรู้  รากฐานทางวัฒนธรรม  หรือปัจจัยด้านทักษะ เทคโนโลยี ต่างๆ เหล่านี้ ให้หลอมรวมอย่างเหมาะสมกับโลกข้างหน้า และไม่เหนื่อยหน่ายที่จะค้นคว้า ทดลอง หรือ ทดสอบองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งจากแหล่งใกล้ต้วและไกลตัว เพื่อสร้างสินค้าและบริการของเรา ให้มีความโดดเด่น พร้อมคุณภาพที่หนีไปจากคนอื่น

       ส่วนโลกที่เหลือต่อจากนี้ไป คือ การลงมือทำเพื่อความสำเร็จของสิ่งที่เราเชื่อมั่น สิ่งที่เรามีความรู้ และสิ่งที่เรามีความพิเศษ นั่นเอง

Credit : อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก