ทฤษฎีการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก

เหตุผลที่กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัย สำคัญต่อการพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์และการอ่าน

กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อของเด็กปฐมวัยผ่านการเล่น อาทิ การเล่นตุ๊กตา หยิบจับสิ่งของ การจัดวางของเล่น ล้วนส่งผลต่อการพัฒนาทักษะในด้านอื่นๆ ด้วย จนอาจจะทำคุณครูและผู้ปกครองคาดไม่ถึงและมองข้ามไป

การพัฒนากล้ามเนื้อเช่นนี้จะเกิดขึ้นตรงบริเวณนิ้วมือและกล้ามเนื้อตา โดยกล้ามเนื้อทั้ง 2 ส่วน ช่วยส่งเสริมในเรื่องของการเขียนและการเรียนของเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัยไปจนกระทั่งในวัยที่พวกเขาเติบโตขึ้น

มากกว่านั้น พัฒนาการข้างต้นยังเกิดจากการที่เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่นด้วยตนเองนอกเหนือจาการเล่น เช่น การติดกระดุม การผูกเชือกรองเท้า การแปรงฟัน การจับช้อนและส้อม การอาบน้ำ ซึ่งส่งเสริมให้สายตาและมือทำงานอย่างสอดประสานกัน

สำหรับทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่สำคัญ คือ หนึ่ง ‘Gross Motor Skills’ หรือ ทักษะพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เป็นการเคลื่อนไหว ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา ลำตัว เป็นต้น สองคือ ‘Fine Motor Skills’ หรือ ทักษะพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เป็นการบริหารส่วนของร่างกายที่เล็กกว่า เช่น มือ และ ข้อมือ

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ งานวิจัยบางชิ้นเสนอว่าความพร้อมของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ด้านคณิตศาสตร์ (maths) ด้านภาษาและการรู้หนังสือ (language and literacy) และด้านวิทยาศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย คำถามคือในกลุ่มเด็กปฐมวัยของไทย สถานการณ์การพัฒนากล้ามเนื้อทั้งสองส่วนนั้นเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

จากการสำรวจของนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทำการศึกษาวิจัยใน ‘โครงการสำรวจความพร้อมเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย ระยะที่ 2’ ซึ่งอาศัยการวิเคราะห์สถานะความพร้อมฯ โดยใช้ชุดเครื่องมือที่พัฒนามาจากชุดเครื่องมือ Measuring Early Learning and Quality and Outcomes หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า MELQO (UNICEF et al., 2017) ที่ครอบคลุมปัจจัยทั้ง 3 มิติคือ 1) ความพร้อมของเด็กปฐมวัย (readiness in the children) 2) ความพร้อมของสถานศึกษา (school’s readiness for children) และ 3) ความพร้อมของครอบครัว (family’s readiness for children)

มีข้อค้นพบเบื้องต้นที่น่าสนใจว่า ความพร้อมของเด็กปฐมวัยไทยในบางประเด็นยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เช่น ด้านการรู้จักตัวเลข (number identification) ด้านการแปลงรูปในใจ (mental transformation) ด้านความเข้าใจในการฟัง (listening comprehension) ด้านความจำขณะทำงาน (working memory) และหนึ่งในนั้นคือ ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor) ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่น่าเป็นกังวล เนื่องจากมีงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่า ความพร้อมฯ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกต่อผลสัมฤทธิ์ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านในระดับประถมศึกษาหรือระดับที่สูงขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญ

เหตุผลที่การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กส่งผลอย่างสำคัญต่อการพัฒนาทักษะด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน เนื่องมาจากในทางทฤษฎีแล้วการกล้ามเนื้อมัดเล็กสัมพันธ์กับความพร้อมด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งประมวลรวบยอดออกมาเป็นการบริหารจัดการชีวิต (executive function) ของเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความจำขณะทำงาน (working memory) ความยับยั้งชั่งใจ (inhibition) และความพร้อมด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor)

แน่นอนว่าความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีนั้น ถือเป็นต้นทุนที่ดีในการเรียนรู้และการสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า การให้เด็กเล็กทำกิจกรรมเชิงวิชาการ เช่น การจดจำตัวอักษร ตัวเลข ยังเป็นกิจกรรมที่ยังมิได้สำคัญมากที่สุดหากเปรียบเทียบกับกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะทักษะดังกล่าวจะช่วยเตรียมตัวให้พวกเขาพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้ดีในเวลาต่อไปภายหลัง เช่น แทนที่จะฝึกให้เด็กๆ รู้จักการเขียนหรือวาดภาพตั้งแต่วัยเยาว์ พวกเขาควรได้รับการสนับสนุนให้พัฒนากล้ามเนื้อข้อมือที่แข็งแรงก่อน เพื่อเป็นประตูไปสู่การเล่นที่จะทำให้พวกเขารู้สึกสนุกสนานมากขึ้น

ข้อค้นพบจากการสำรวจความพร้อมฯ ของงานวิจัยข้างต้นที่ดำเนินการเก็บข้อมูลใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ระยอง และภูเก็ต สามารถเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยกลุ่มตัวอย่างได้รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,907 คน จาก 151 โรงเรียน ข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ได้จากการสอบถามครูผู้สอนจำนวน 2,820 คน (คิดเป็นร้อยละ 97.0) ข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ได้จากการสอบถามผู้ปกครองและข้อมูลพื้นฐานของครอบครัวจำนวน 2,456 คน (คิดเป็นร้อยละ 84.5) ข้อมูลพื้นฐานของครูผู้สอนจำนวน 273 คน ข้อมูลสถานศึกษาจากการสอบถามผู้บริหารสถานศึกษาทั้งหมด 145 โรงเรียน และข้อมูลการสังเกตห้องเรียนจำนวน 384 ห้อง

การกระจายตัวของข้อมูลที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคและมุ่งเน้นกระจายการสำรวจไปยังพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม อาจจะนับเป็นต้นแบบสำคัญในการรวบรวมข้อมูลเพื่อยกระดับพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อในอนาคตต่อไป

การออกแบบห้องเรียน

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก