Phenomenon based learning แผนการสอน

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศในโลกที่ให้ความสนใจกับระบบการจัดการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ และหากกล่าวถึงประเทศที่มีระบบการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก “ฟินแลนด์” ก็น่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่คำตอบที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึง

เมื่อพูดถึงการจัดการศึกษาของฟินแลนด์ทำให้เราได้รู้จักกับแนวคิดเรื่องการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน หรือ Phenomenon – Based Learning ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผ่านการทดลองและพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1980 (Zhukov, 2015) และได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น จากการที่ถูกใช้ในหลักสูตรแกนกลางสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานของฟินแลนด์ และถูกนำไปใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศฟินแลนด์ ในปี ค.ศ. 2014 โดยเชื่อว่า แนวคิดนี้เป็นแนวทางขับเคลื่อนหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 (Finnish National Board of Education, 2016) 

Phenomenon – Based Learning คืออะไร?

แม้ Silander (2015) จะใช้อักษรย่อ PhenoBL แทนคำว่า “Phenomenon Based Learning” อย่างไรก็ตาม พบว่า มีการกล่าวถึงการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานโดยใช้อักษรย่อ PhBL และ PBL แทนเช่นกัน และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) หรือ การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) ซึ่งปัจจุบันก็ใช้อักษรย่อ “PBL” อยู่แล้วนั้น บทความนี้ ผู้เขียนจึงได้ใช้ PhenoBL แทน “Phenomenon Based Learning” หรือ การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน

ในเอกสารเรื่อง How to create the school of the future: revolutionary thinking and design from Finland พบว่า Mattila และ Silander ได้พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้และการสอนโดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานในบริบทของการสอนดิจิทัล (Mattila and Silander, 2015) ซึ่ง Silander (2015) อธิบายว่า การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน หรือ Phenomenon – Based Learning นั้น เป็นแนวคิดที่หักล้างแนวคิดการแบ่งเนื้อหาสาระออกเป็นส่วนๆ เพราะแทนที่จะให้ความสำคัญกับวิชาใดวิชาหนึ่ง เช่น คณิตศาสตร์ ภาษา หรือประวัติศาสตร์ การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานจะมุ่งสำรวจปรากฏการณ์ที่ข้ามขอบเขตข้อจำกัดของรายวิชาไปโดยสิ้นเชิง เพราะในการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานนั้น กระบวนการเรียนรู้และการสอนจะเริ่มจากปรากฏการณ์ (Phenomena) ที่พบได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งปรากฏการณ์ที่นำมาใช้ในการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในบริบทจริง ทั้งข้อมูล ทักษะ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะถูกเรียนรู้แบบข้ามขอบเขตของรายวิชา ปรากฏการณ์ที่ถูกนำมาใช้จะมีลักษณะเป็นหัวข้อแบบองค์รวม เช่น ความเป็นมนุษย์ สหภาพยุโรป สื่อและเทคโนโลยี สถานการณ์น้ำและพลังงาน เป็นต้น 

การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานนั้น “ปรากฏการณ์ หรือ Phenomenon” อาจเป็นได้ทั้ง สิ่งที่ใช้ในการสังเกต หรือรูปแบบของระบบสำหรับสิ่งที่ต้องเรียนรู้ (systemic model) รวมทั้งรูปแบบเชิงเปรียบเทียบสำหรับสิ่งที่ต้องเรียนรู้ (analogous model) หรือแม้กระทั่งเป็นพื้นฐานที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนและนำไปสู่สิ่งที่จะเรียนรู้ต่อไปในอนาคต (Mattila and Silander, 2015)

และเนื่องจาก PhenoBL ช่วยทำให้เกิดการบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบและใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมาย ดังนั้น PhenoBL จึงเป็นเสมือนกุญแจสำคัญที่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพราะการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานนั้นมีจุดเริ่มต้นแตกต่างกับการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นชิน ซึ่งเนื้อหาต่างๆ หรือสาระการเรียนรู้แยกออกเป็นรายวิชา และเนื้อหาย่อยๆ ก็แยกส่วนออกจากกัน 

ลักษณะของ Phenomenon – Based Learning

จุดเริ่มต้นของ PhenoBL คือ Constructivism ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และข้อมูลความรู้คือผลที่เกิดจากการแก้ปัญหา (Problem-solving) ซึ่งข้อค้นพบเล็กๆ เหล่านี้เป็นเสมือนชิ้นส่วนที่ประกอบกันแล้วเหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ในเวลาน้ัน โดยการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานมักจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมของการทำงานแบบร่วมมือรวมพลัง (Collaborative) และยังสนับสนุนทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมและทฤษฎีสังคมวัฒนธรรม ที่อธิบายว่าข้อมูลความรู้ต่างๆ นั้นไม่ได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบุคคล แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากบริบททางสังคม เช่น ระบบภาษา สูตรคณิตศาสตร์ และเครื่องมือการคิดต่างๆ  ที่สำคัญคือ ไม่ใช่ว่าผู้เรียนทุกคนจะต้องสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่ด้วยตนเองเท่านั้น แต่ผู้เรียนสามารถใช้ข้อมูลความรู้และเครื่องมือในการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมได้อีกด้วย (Silander, 2015)

แนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน หรือแม้กระทั่งการใช้แฟ้มสะสมผลงาน หรือ Portfolios จึงเหมาะสมกับลักษณะของ PhenoBL  ซึ่งทำให้เกิดการบูรณาการข้ามศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้รายวิชาต่างๆ หายไปจากหลักสูตร ทว่าเป็นการช่วยเสริมให้เนื้อหาสาระในรายวิชาต่างๆ มีความหมายสำหรับผู้เรียนมากขึ้น  (Zhukov, 2015) และแม้ว่า PhenoBL จะมีความคล้ายคลึงกับการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน แต่จุดเริ่มต้นกลับต่างกัน เพราะ PhenoBL จะเริ่มด้วยการสังเกตปรากฏการณ์จากมุมมองที่แตกต่างกัน  ซึ่ง Silander (2015) ระบุว่า PhenoBL จะมีลักษณะ 5 ประการ คือ 

  1. เป็นองค์รวม (holisticity) หมายถึง ความหลากหลายของการเรียนรู้ในลักษณะของสหวิทยาการ และไม่เพียงบูรณาการลงไปในรายวิชาแบบเดิม แต่มุ่งเน้นที่การสำรวจเหตุการณ์ปัจจุบันและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นระบบและครอบคลุม
  2. มีสภาพความเป็นจริง (authenticity) หมายถึง ใช้สภาพแวดล้อมจริงแทนที่จะเป็นห้องเรียนแบบเดิม เนื่องจากสภาพจริงนั้นช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ทำให้ผู้เรียนได้ใช้วิธีการ เครื่องมือ และวัสดุจำเป็นต่างๆ ในสถานการณ์จริงเพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต และมีความสำคัญในชุมชน ทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ว่าทฤษฎีและข้อมูลต่างๆ มีประโยชน์ในชีวิตจริง ในขณะเดียวกัน การมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขารวมอยู่ในชุมชนการเรียนรู้ยังทำให้ผู้เรียนจะได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และได้เรียนรู้แนวทางการปฏิบัติหรือการแก้ปัญหาต่างๆ ได้
  3. สอดคล้องกับบริบท (contextuality) ซึ่งมีความหมายรวมทั้งบริบทที่ถูกสร้างขึ้นและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ในแง่นี้ “ปรากฏการณ์” ไม่สามารถกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ คือในช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้ ปรากฏการณ์ที่ผู้เรียนสนใจอาจจะค่อนข้างคลุมเครือและไม่ชัดเจน แต่จะค่อยๆ มีความชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากผู้เรียนได้สังเกตและทำความเข้าใจบริบทที่กว้างขึ้น
  4. เรียนรู้ผ่านการสืบสอบโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based inquiry learning) กระบวนการเรียนรู้นี้ทำให้ผู้เรียนได้ตั้งคำถามของตนเองและสร้างความรู้ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ปรากฏการณ์ที่อาจจะคลุมเครือ ไม่ชัดเจน มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 
  5. ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ (learning process) ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการตั้งสมมติฐานและการนำทฤษฎีมาใช้ โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้และได้รับการชี้แนะว่าควรจะเรียนรู้อย่างไร ทำให้มี “Know how” และในระดับที่สูงขึ้นผู้เรียนจะสามารถวางแผนกระบวนการเรียนรู้โดยการสร้างชิ้นงานและเครื่องมือที่ต้องใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนก้าวข้ามสิ่งที่เรียนรู้ในปัจจุบันไปสู่สิ่งที่จะเรียนรู้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดเด่นและข้อจำกัด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคตโลกจะเผชิญความท้าทายประการหนึ่ง คือ ปัญหาต่างๆ จะมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืน ปัญหาการกลายเป็นเมือง หรือปัญหาการเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งปัญหาเหล่านั้นจะต้องถูกแก้ไขโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสหสาขา และการที่ PhenoBL เน้นที่การบูรณาการข้ามศาสตร์อยู่แล้วจึงเหมาะสมมากกับสภาพในอนาคต อย่างไรก็ตาม นอกจากมีการกล่าวถึงประโยชน์และความท้าทายของการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานแล้ว ก็พบว่ามีการกล่าวถึงข้อจำกัดหรือจุดอ่อนบางประการเช่นกัน โดย Tissignton (2019) ได้สรุปประโยชน์หรือจุดเด่น และข้อจำกัดของ PhenoBL ไว้ดังนี้

จุดเด่น คือ PhenoBL เป็นแนวทางที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง ช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้ในแต่ละด้านที่แตกต่างกันไป นอกจากจะมุ่งเน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 แล้ว ยังเน้นความสำคัญของการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางทฤษฎีและการนำไปปฏิบัติในสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ผู้เรียนได้รับมุมมองแบบองค์รวมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ภายใต้กระบวนการวิเคราะห์ 

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วม เนื่องจากมุ่งเน้นที่กระบวนการแก้ปัญหามากกว่าเน้นที่การสร้างชิ้นงานภายใต้รายวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยผู้เรียนต้องอาศัยทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสาร และทักษะการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ เพื่อนำไปสู่การสร้างข้อสรุป และผู้เรียนจะได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้ผ่านการทำงานกลุ่มอย่างอิสระเพื่อแก้ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น 

ในส่วนของผู้สอนคือ ช่วยให้ผู้สอนจากต่างสาขาวิชา สามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโครงการ หรือโปรเจ็กต์สำหรับผู้เรียนได้ รวมทั้งสามารถใช้รูปแบบตารางเรียนที่ค่อนข้างยืดหยุ่นมากกว่าการยึดกรอบตารางเรียนแบบเดิมที่กำหนดเป็นคาบเรียนอิงรายวิชา เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการแก้ปัญหาเป็นกลุ่ม 

อย่างไรก็ตาม แม้ PhenoBL จะมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ คือ ไม่ใช่ทุกชั้นเรียนจะเหมาะแก่การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน บางครั้งการสอนโดยตรงแบบเดิมก็ยังจำเป็นอยู่ แม้ในประเทศฟินแลนด์ที่ PhenoBL ถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรระดับประเทศ และมีการนำไปใช้ในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง แต่การใช้ PhenoBL ก็ยังกำหนดแค่ 1 โมดูลต่อปีการศึกษาเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นการจัดการศึกษาตามรายวิชาในคาบเรียนปกติเช่นเดิม นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้เรียนจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนเกี่ยวกับกระบวนการทำงานกลุ่ม การระบุปัญหา และการดำเนินการวิจัยเพื่อให้ PhenoBL ประสบความสำเร็จ และการไม่คุ้นชินหรือไม่รู้กระบวนการในแนวทางการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐานอาจทำให้ผู้เรียนบางคนไม่มั่นใจ รวมทั้งปรากฏการณ์บางอย่างอาจไม่ต้องอาศัยความรู้ในศาสตร์ต่างๆ สำหรับแก้ปัญหา ทำให้เกิดช่องว่างในการเรียนรู้และการฝึกฝน 

และด้วยธรรมชาติของ PhenoBL ที่มีลักษณะปลายเปิดและผู้เรียนเป็นผู้นำการเรียนรู้ ทำให้เป็นเรื่องยากที่ผู้สอนจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของผู้เรียนและช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ ในฐานะครูมักจะทราบว่าชุดความรู้บางอย่างที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาบางประการนั้นอาจไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการในการเรียนรู้ของผู้เรียนทำให้เกิดอุปสรรคในการเรียนรู้ เช่น ผู้เรียนอาจระบุว่าต้องการทักษะทางคณิตศาสตร์ขั้นสูงเพื่อการแก้ปัญหา ทว่าผู้เรียนกลับยังไม่มีความรู้หรือทักษะดังกล่าวเลย ยิ่งไปกว่านั้นยังจำเป็นต้องมีแหล่งเรียนรู้ที่เพียงพอและสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อีกด้วย

Phenomenon – Based Learning  ในชั้นเรียน

ในมิติของการเรียนรู้ PhenoBL จะเริ่มต้นจากการที่ผู้เรียนได้ร่วมกันสังเกตปรากฏการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม และการสังเกตปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่มุมมองใดมุมมองหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการศึกษา สังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเป็นองค์รวมด้วยมุมมองที่หลากหลาย ก้าวข้ามความเป็นธรรมชาติของรายวิชา และผสมผสานความรู้ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ส่วนในมิติของการสอน ผู้สอนจำเป็นต้องเข้าใจและศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านั้นร่วมกับผู้เรียน โดยเริ่มจากการถามคำถามหรือตั้งปัญหาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว เช่น นักเรียนคิดว่าทำไมเครื่องบินถึงบินและลอยอยู่กลางอากาศได้? จะเห็นได้ว่า PhenoBL ก็คือ การเรียนรู้โดยการใช้ปัญหาเป็นฐาน ซึ่งผู้เรียนจะสร้างคำตอบของปัญหาหรือคำถามที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่สนใจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าปัญหาหรือคำถามนั้นผู้เรียนร่วมกันสร้างขึ้นจากปรากฏการณ์ที่สนใจจริงๆ (Silander, 2015)

การออกแบบการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้เป็นฐาน ที่มา: Mattila and Silander (2015)

Tissington (2019) ได้เสนอวิธีการนำ PhenoBL ไปใช้ในชั้นเรียน ดังนี

  1. เริ่มต้นด้วยปรากฏการณ์ ไม่ใช่เนื้อหาสาระ คือ ควรเริ่มบทเรียนด้วยปรากฏการณ์ที่ต้องการให้ผู้เรียนสำรวจ แทนที่จะเน้นไปที่เนื้อหาสาระ เช่น แทนที่จะนำเสนอหัวข้อโดยระบุว่า “วันนี้เรากำลังจะเรียนรู้เกี่ยวกับ…” ให้เริ่มต้นด้วยการมีส่วนร่วมที่เป็น ‘ปรากฏการณ์’ เช่น ให้ดูภาพของคลื่นและให้นักเรียนลองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดคลื่น หรืออาจทำให้เกิดกลิ่นขึ้นในชั้นเรียนเพื่อให้ผู้เรียนลองสำรวจว่ากลิ่นนั้นมาจากไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร
  2. สร้างความอยากรู้อยากเห็นของผู้เรียน เช่น ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ครูขอให้นักเรียนร่วมกันเสนอแนวคิดสำหรับหัวข้อที่ต้องการสำรวจ มีนักเรียนบางคนเสนอหัวข้อ ‘ปราสาท’ ซึ่งเป็นความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจใคร่รู้ของผู้เรียน ในช่วง 2-3 สัปดาห์นั้น ทั้งชั้นเรียนก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับปราสาท ทั้งประวัติของปราสาทในยุโรป และการสร้างตารางเหล็กปิดประตูป้อมโบราณ การเขียนเรื่องราว และไปจนถึงการสร้างแท่นยิงระเบิด จะเห็นได้ว่า ทั้งวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวรรณคดี ล้วนถูกนำมาใช้ในการศึกษาปรากฏการณ์ครั้งนี้
  3. ใช้ประเด็นปัญหาในท้องถิ่น โดยปรากฏการณ์สามารถระบุได้จากชุมชนท้องถิ่น และการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการสิ่งที่เรียนรู้เข้ากับชุมชน ช่วยพัฒนาความรู้สึกเป็นเจ้าของและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นของตนได้ ซึ่งประเด็นปัญหาในท้องถิ่นต่างๆ นั้น สามารถหาได้จากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ผู้ปกครองนักเรียน หรือธุรกิจห้างร้านในท้องถิ่น นอกจากนั้น ในการรวบรวมปรากฏการณ์ในท้องถิ่น ยังช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสไปทัศนศึกษาเพื่อสำรวจหัวข้อต่างๆ ด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ PhenoBL ที่สมจริงและสมบูรณ์แบบ
  4. ใช้เหตุการณ์ปัจจุบัน โดยอนุญาตให้นักเรียนนำเสนอประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความสำคัญหรือผู้เรียนอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาเหล่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันอาจเป็นแหล่งเรียนรู้ปรากฏการณ์อันทรงคุณค่า ตัวอย่างเช่น การให้นักเรียนนำคลิปหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ข่าวที่มีประเด็นที่นักเรียนสนใจมาแลกเปลี่ยนกัน หากหัวข้อมีความสำคัญต่อโรงเรียน ต่อชุมชน หรือเป็นประเด็นสำคัญระดับประเทศ ก็สามารถใช้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ตามแนวทาง PhenoBL เช่น ข่าวแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ภัยพิบัติตามธรรมชาติต่างๆ ในท้องถิ่น ซึ่งหัวข้อเหล่านี้สามารถใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และหัวข้ออื่นๆ ในการวิเคราะห์ได้

Phenomenon – Based Learning  ในประเทศต่างๆ 

จะเห็นว่าลักษณะของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน หรือ PhenoBL นั้นค่อนข้างยืดหยุ่นจึงเอื้อให้ครูสามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทและลักษณะของผู้เรียน ทำให้ PhenoBL ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ทั้งในประเทศฟินแลนด์และประเทศต่างๆ อย่างแพร่หลาย ในประเทศฟินแลนด์ นักเรียนที่อยู่ในช่วงอายุ 7 – 16 ปี จะถูกกำหนดให้เข้าร่วมโมดูลการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานอย่างน้อย 1 โมดูลในหนึ่งปีการศึกษา ซึ่งโมดูลดังกล่าวจัดในลักษณะสหวิทยาการหรือ Multidisciplinary และออกแบบให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ในโลกจริงหรือชีวิตจริงของเด็กๆ (Halinen, 2018) 

นอกจากในประเทศฟินแลนด์แล้ว แนวคิด PhenoBL ยังได้รับการยอมรับและนำไปปรับใช้อย่างแพร่หลาย เช่น ประเทศอินเดียจะยึดหลักการการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานโดยเชื่อมโยงบทเรียนในรายวิชาต่างๆ กับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าผู้เรียนไม่มีทักษะชีวิต และไม่สามารถนำความรู้จากในชั้นเรียนไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อผู้เรียนได้ทำการสืบค้นข้อมูลที่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ทำให้ผู้เรียนมีความสนใจและตระหนักให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม สภาพการเมือง และสภาพสังคมซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกรับผิดชอบในความเป็นพลเมืองของสังคม ซึ่งน่าจะดีกว่าการจัดการเรียนการสอนในอดีตที่มุ่งเน้นเนื้อหามากกว่าทักษะ (Rahaan, 2016)

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็มีผู้สนใจนำแนวคิด PhenoBL ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ ในรูปแบบที่เรียกว่าอาบูดาบีโมเดล (Abu Dhabi Model) โดยได้นำการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานไปใช้และพบว่า นักเรียนมีทักษะการอ่านสูงขึ้นและมีแรงบันดาลใจในการอ่านผ่านเรื่องราวมากขึ้น การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานจึงเป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อผู้เรียน ส่งผลให้ผู้เรียนจำและเข้าใจองค์ความรู้ ทักษะการคิดที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการที่ผู้เรียนมีความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต (Valanne, Al  Dhaheri, Kylmalahti and Sandholm-Rangell, 2016) 

สำหรับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็มีการนำแนวคิด PhenoBL ไปปรับใช้ในชั้นเรียนเช่นกัน โดยจากประสบการณ์ในการทดลองจัดการเรียนการสอนตามแนว PhenoBL ที่ผ่านมาซึ่งหากนับถึงปัจจุบันจะเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วนั้น Nielsen และDavies (2018) ได้เสนอ “กุญแจสู่ความสำเร็จในการพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน” ว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในระหว่างการวางแผนหน่วยการเรียนรู้ตามแนว PhenoBL คือ การเลือกปรากฏการณ์จากโลกแห่งความเป็นจริงที่นักเรียนสามารถเชื่อมโยงได้ และนำเสนอปรากฏการณ์ในลักษณะที่กว้างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดในการศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งครูควรสอนแนวคิดพื้นฐาน (subject-wise) ก่อนทำโครงงาน ตัวอย่างเช่น ในหน่วย Energy Bar ในวิชาวิทยาศาสตร์ครูจำเป็นต้องสอนเกี่ยวกับเรื่องอาหารและระบบการย่อยอาหาร และในวิชาคณิตศาสตร์ก็สอนเรื่องร้อยละและอัตราส่วน ก่อนที่จะให้นักเรียนเริ่มศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งในลักษณะนี้จะเห็นว่า เป็นการเรียนรู้แบบไม่จำกัดด้วยกรอบเวลาหรือตารางเรียน ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะข้ามขอบเขตระหว่างวิชาต่างๆ นอกจากนั้น ครูยังต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกในระหว่างกระบวนการ โดยเน้นการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็นผู้นำการเรียนรู้ด้วยตนเอง และครูยังต้องเรียนรู้อยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อผู้เรียนมีปัญหา จะสามารถช่วยให้นักเรียนมีแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างหลากหลาย

ส่วนในเวียดนามมีการศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานในการสอนภาษาฟินแลนด์และภาษาเวียดนาม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หลักสูตรภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ โดยพบว่า เวียดนามมีการนำแนวคิด PhenoBL ไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ แม้ผลการวิจัยพบว่ามีบางองค์ประกอบที่ทำให้การจัดการเรียนการสอนของเวียดนามแตกต่างกับฟินแลนด์ แต่ในแง่ของการใช้แนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าใด เนื่องจากเวียดนามก็เน้นทฤษฎีคอนสตรัคติวิสม์และทฤษฎีสังคมวัฒนธรรม ทำให้พยายามจัดการเรียนการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนมีโอกาสทำงานร่วมกับบริบทและชุมชนโดยรอบเพื่อสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ ด้วยตนเอง มีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้วิจารณ์ข้อมูลเชิงลึกของแต่ละบุคคลรวมทั้งทักษะขั้นสูงเฉพาะตน ซึ่งเป็นมุมมองของจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน ทำให้นักเรียนเวียดนามไม่เพียงแต่จะเติบโตเป็นผู้ที่มีความพร้อมในเชิงวิสัยทัศน์ มีเหตุผล มีความสามารถในการตัดสินใจ การสร้างสรรค์ และลงมือทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งการใช้ multi-sensory และสมรรถนะอย่างหลากหลาย แต่ยังได้รับการเตรียมพร้อมให้ค้นพบศักยภาพและตัวตน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจสำหรับชีวิตในอนาคต (Nguyen, 2018)

ในส่วนของประเทศไทยนั้น แนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน ได้ถูกพูดถึงและพยายามนำมาปรับใช้หลายปีมาแล้ว แต่เริ่มชัดเจนในช่วงมีนาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้ดำเนินงานโครงการอบรมและสัมมนาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ณ University of Helsinki ประเทศฟินแลนด์ ในครั้งนั้น มีหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานมีทั้งสิ้น 4 หัวข้อ ดังนี้  An overview of phenomenon based learning, Teaching and learning methods of phenomenon based learning, Implementation of phenomenon based learning และ The evaluation of phenomenon based learning (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2562)  และพบว่า แม้ประเทศไทยจะมีการจัดการเรียนการสอนแบบ active learning อยู่แล้ว กลับยังไม่มีการนำแนวคิดสหวิทยาการซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของ PhenoBL มาใช้อย่างชัดเจน หลังจากนั้นจึงได้มีความพยายามในการขยายแนวคิด PhenoBL ให้กระจายสู่ระดับจังหวัดมากยิ่งขึ้น โดยมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน สำหรับครูระดับประถมศึกษา ซึ่งเน้นที่โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดและโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล รวมทั้งมีการเผยแพร่การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานผ่าน DLTV และ OBEC Channel และส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 77 จังหวัด 

อย่างไรก็ตาม Valanne et  al. (2016) ได้เสนอแนะว่า การใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและได้ลงมือปฏิบัติ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับกับบริบทของแต่ละประเทศได้ การนำเอาแนวการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานไปปรับใช้ในประเทศต่างๆ ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศด้วย เนื่องจากบริบทการศึกษาของประเทศฟินแลนด์มีความเฉพาะที่แตกต่างไปจากการศึกษาในประเทศอื่นๆ ซึ่งหากนำแนวการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานไปใช้ในประเทศอื่นๆ ที่มีบริบทที่แตกต่างกันแต่ไม่ได้ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้นๆ ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนการจัดในประเทศฟินแลนด์ ดังเช่นที่ Pfeifer (2017) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ที่ไม่มีประเทศใดสามารถลอกเลียนระบบการศึกษาของประเทศอื่นได้และคาดหวังว่าระบบจะทำงานในบริบทที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่เราไม่สามารถคัดลอกและนำระบบของฟินแลนด์มาใช้ในบริบทของสหรัฐอเมริกาได้ แต่เราก็ยังสามารถได้รับประโยชน์จากการทำความเข้าใจกับกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปได้”

บทบาทของครูในชั้นเรียน Phenomenon – Based Learning

อย่างที่ทราบกันว่า การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ PhenoBL นั้น จริงๆ แล้วมีลักษณะธรรมชาติใกล้เคียงกับการแก้ปัญหา คือ จะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามหรือนำเสนอปัญหาโดยผู้สอน ส่วนผู้เรียน “ร่วมกันสร้างคำตอบสำหรับคำถามหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่สนใจ” โดยเป้าหมายก็จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ คือ เป้าหมายจะไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรก ส่วนการประเมินผลก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือนกับเครื่องมือในการวิเคราะห์ตนเองของผู้เรียน ดังนั้น การสอนจึงเป็นลักษณะที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner – centred) ทำให้ผู้เรียนเชื่อมโยงทฤษฎีหรือองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้กับปรากฏการณ์และสถานการณ์ที่ปฏิบัติได้จริง และด้วยความเป็นองค์รวมนี้เอง ทำให้จำเป็นต้องใช้การสอนเป็นทีมที่มีครูผู้สอนหลากหลายวิชา หรือมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างหลากหลาย ที่สำคัญคือ ในกระบวนการเรียนรู้แนวนี้ ครูจะถูกมองว่าเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ คือจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญเพื่อกระตุ้นและชี้แนะให้นักเรียนจัดการกับปัญหาที่นักเรียนเลือกไว้ (Silander , 2015) บทบาทของครูในห้องเรียน PhenoBL จึงไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้จากครูไปสู่ผู้เรียน แต่เป็นการช่วยพานักเรียนไปสู่เป้าหมาย

ในงานประชุมวิชาการทางการศึกษาโลกที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตต์ ซึ่งจัดโดย EF Educational Tours “อีโล (Petteri Elo)” ซึ่งเป็นครูอยู่ที่ Hiidenkivi Comprehensive School ประเทศฟินแลนด์ มานานกว่า 12 ปี และยังเป็น “champion of PhenoBL” ได้เล่าถึงการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน ซึ่งสำหรับตัวอีโลเองนั้นอาจไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร แต่เพื่อนครูหลายคนอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวสำหรับ “PhenoBL” กันสักระยะ อีโลพบว่าเพื่อนร่วมงานหลายคนพยายามที่จะเข้าใจบทบาทของตนในกระบวนการเรียนรู้ที่ควรให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง และเข้าใจไปว่า “ครูคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการถอยออกมาและปล่อยให้ผู้เรียนได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง” ซึ่งอีโลบอกว่าความคิดแบบนั้นมันไม่ถูกต้อง 

การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานนั้น ครูจะต้องแน่ใจว่านักเรียนมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่จำเป็นในหัวข้อหนึ่งๆ เพื่อการพัฒนาคำถามวิจัยจากสิ่งที่สงสัย โดยครูจำเป็นต้องสอนนักเรียนถึงวิธีตั้งคำถามการวิจัยที่เหมาะสมซึ่งจะนำไปสู่ความน่าสนใจและเป็นโอกาสในการค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญคือครูจำเป็นต้องหยุดการสอนแบบบอกตรงๆ แต่ควรสร้างแบบจำลองทักษะที่นักเรียนสามารถใช้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งอีโลสามารถเปลี่ยนวิธีสอนจากแบบเดิมที่สอนตรงๆ มาเป็นการให้นักเรียนได้ปฏิบัติในสิ่งที่ต้องการ และสร้างการเปรียบเทียบเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ กับการนำไปใช้จริง ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าผู้เรียนจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับทักษะหรือเนื้อหาที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ (Mathewson, 2019)  

เราจะพบว่า ในหลายๆ ประเทศ การนำแนวการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานไปใช้นั้นไม่ง่าย แม้กระทั่งในประเทศฟินแลนด์เองก็ตาม แต่เพราะผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนนั้นคุ้มค่า…จึงอาจเป็นความท้าทายสำหรับครูไทย ในการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กไทยผ่านการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน หรือ PhenoBL 

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก