ข้อใดจัดว่าเป็นกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) *


หน่วยที่ 1
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจขนาดย่อม
 
ความหมายและลักษณะของธุรกิจขนาดย่อม
            วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  หรือ  SMEs  ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Small and Medium Enterprises  สำหรับความของวิสาหกิจ(Enterprises) ครอบคลุมกิจการ 3 กลุ่ม ดังนี้
1)  กิจการการผลิต (Production Sector)  ครอบคลุมการผลิตในภาคเกษตรกรรม (Agricultural Processing) ภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing) และเหมืองแร่ (Mining)
                         ธุรกิจการผลิต  เป็นธุรกิจที่เปลี่ยนรูปวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปกระบวนการผลิตจึงเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบในการแปรรูปให้เป็นสินค้าเพื่ออุตสาหกรรมและการบริโภค  ซึ่งมีสินค้าจำนวนมากที่ผลิตขึ้นและจำหน่ายเองโดยใช้เครื่องจักรในการแปรรูป ใช้แรงงานและฝีมือในการแปรรูป  ส่วนธุรกิจการผลิตภาคเกษตรกรรมก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
1.2  ธุรกิจเหมืองแร่  เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขุดหาทรัพยากรธรรมชาติแหล่งแร่วัตถุดิบจากพื้นดิน ทั้งที่เป็นโลหะหรืออโลหะทุกชนิด  ทุกประเภท เช่น เพชร  พลอย  อัญมณีต่างๆ พลวง  เงิน  ทอง  และแร่ธาตุอื่นๆ ซึ่งแหล่งในการทำธุรกิจมักจะอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบชนิดนั้น ๆ โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่าแหล่งใดมีแร่ชนิดใดมาก คุ้มค่ากับการลงทุนที่จะไปตั้งเหมือง เช่น หินดินดาน หินปูน หินชอล์ก เป็นต้น
 
2)  กิจการการค้า (Trading Sectorครอบคลุมการค้าส่ง (Wholesale) และการค้าปลีก (Retail)
2.1  ธุรกิจค้าส่ง (Wholesaling)  หมายถึง ธุรกิจที่คนกลางดำเนินการโดยขายสินค้าต่อให้แก่คนกลางอื่น ๆ และผู้ใช้ในอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมเป็นจำนวนครั้งละมาก ๆ แต่ไม่ขายให้กับผู้บริโภคคนสุดท้าย ธุรกิจค้าส่งจะมีประสบการณ์ทางด้านการตลาดและมีช่องทางการจัดจำหน่ายให้แก่ร้านค้าปลีก  โดยให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เช่น การค้าส่งอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้า ค่าส่งยาหรือเวชภัณฑ์ บุหรี่ สุรา น้ำมัน เป็นต้น
  2.2  ธุรกิจค้าปลีก (Retailing) เป็นธุรกิจที่ขายสินค้าเป็นจำนวนเล็กน้อยแก่ผู้บริโภคคนสุดท้ายโดยตรงและจะเป็นคนกลางระหว่างผู้ค้าส่งและผู้ผลิต กับผู้บริโภคคนสุดท้าย และกิจกรรมทั้งสิ้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการขายสินค้าและหรือบริการให้ผู้บริโภคคนสุดท้าย
3)  กิจการบริการ (Service Sector) เป็นธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าในรูปบริการให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ผลิต ธุรกิจบริการส่วนใหญ่จะมีตัวตน และมักจะถูกบริโภคในขณะเดียวกับที่ผลิตขึ้นมา เช่น โรงพยาบาล โรงแรม ธนาคาร สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น
 
 
 
ลักษณะของธุรกิจขนาดย่อมทั่วไป
1.  ปริมาณยอดขายมีน้อย โดยรายได้ในท้องถิ่นอาจจะตอบสนองธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ได้ แต่ก็มากพอที่จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดย่อมสามารถอยู่รอดได้ตามสมควร  ดังนั้นธุรกิจขนาดใหญ่จึงไม่ต้องการแข่งขันกับธุรกิจขนาดเล็ก
2.  มีฝีมือและประสบการณ์ของตนเองในการบริการลูกค้า เนื่องจากเจ้าของเป็นผู้บริหารงานเอง จึงใช้ความสามารถส่วนตัวในการบริหารงาน เช่น ช่างตัดเสื้อ นักออกแบบภายใน
3.  มีการบริการในลักษณะเป็นการส่วนตัว โดยจะต้องขึ้นอยู่กับความสามารถ และบุคลิกภาพของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่แล้วจะมีอยู่ในธุรกิจขนาดย่อม
4.  มีความสะดวก ธุรกิจขนาดย่อมสามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้โดยการเสนอความสะดวกสบายที่ธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งเป็นคู่แข่งขันไม่สามารถหาได้
5.  สามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของท้องถิ่น ธุรกิจขนาดย่อมในท้องถิ่นที่ตัดสินใจด้วยตัวเองโดยใช้ความรู้ความต้องการและความพอใจของท้องถิ่นจะได้เปรียบธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจมีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวกับเจ้าของและพนักงาน
6.  มีแรงจูงใจสูง เมื่อประกอบธุรกิจของตนเอง เจ้าของจะต้องทำงานหนักและเสียสละมากกว่าการทำงานให้กับผู้อื่น เนื่องจากเป็นเจ้าของธุรกิจเอง จึงทำให้มีการดำเนินธุรกิจของตนเอง
7.  มีความคล่องตัวทางการบริหาร ธุรกิจขนาดเล็กสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วยิ่งขึ้น
8.  ต้นทุนในการดำเนินงานต่ำ เนื่องจากใช้แรงงานของสมาชิกในครอบครัวที่สามารถให้ผลผลิตมากกว่า แต่จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างที่จ่ายให้กับแรงงานที่จ้างจากที่อื่น
 
ความสำคัญของธุรกิจขนาดย่อมต่อระบบเศรษฐกิจ
                วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  เป็นวิสาหกิจที่มีความเหมาะสม  มีความคล่องตัวในการปรับสภาพให้เข้ากับสถานการณ์ทั่วไปของประเทศ และยังเป็นวิสาหกิจที่ใช้เงินทุนในจำนวนที่ต่ำกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ และช่วยรองรับแรงงานจากภาคเกษตรกรรมเมื่อหมดฤดูกาลเพาะปลูก รวมถึงเป็น
แหล่งที่สามารถรองรับแรงงานที่เข้ามาใหม่เป็นการป้องกันการอพยพของแรงงานเข้ามาหางานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล  ซึ่งช่วยกระจายการกระจุกตัวของโรงงานกิจการวิสาหกิจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปสู่ภูมิภาค ก่อให้เกิดการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนภูมิภาคและของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
                วิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายให้กับนักธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานที่ระดมความคิดเห็นและแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ส่งเสริมการส่งออก เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวต่าง ๆ มาตรการที่ได้กล่าวมานั้นยังได้รวมถึงข้อสรุปการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีมากกว่า 90%  ของจำนวนทั้งหมดในประเทศประกอบด้วย กิจการการผลิต การค้า และธุรกิจบริการมากกว่านั้น ธุรกิจขนาดย่อมยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ดังเช่น
1.             ช่วยสร้างงาน
2.             สร้างมูลค่าเพิ่ม
3.             สร้างเงินตราต่างประเทศ
4.             ลดการนำเข้าสินค้าต่างประเทศ ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ
5.             เป็นจุดเริ่มต้นในการประกอบการธุรกิจ และสร้างเสริมประสบการณ์
6.             เชื่อมโยงกับกิจกรรมขนาดใหญ่ และภาคการผลิตอื่น ๆ
7.             เป็นแหล่งพัฒนาทักษะฝีมือ
8.             สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ
 
ประโยชน์ของธุรกิจขนาดย่อม
ธุรกิจขนาดย่อมเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของธุรกิจชุมชนซึ่งเป็นการช่วยด้านสวัสดิการทางเศรษฐกิจของประชาชน เพราะมีการผลิตจำนวนมากถึงครึ่งหนึ่งของสินค้าและบริการทั้งหมด ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของธุรกิจขนาดย่อมจะเหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ คือ สร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศ ช่วยจัดหางานใหม่ นำเสนอนวัตกรรม กระตุ้นการแข่งขัน ช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่ตลอดจนผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพ ประโยชน์ของธุรกิจขนาดย่อมมีดังนี้
1.  การสร้างงานใหม่  เป็นการสนับสนุนผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง โดยการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ หรือการขยายธุรกิจเดิม ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับตลาดแรงงาน ธุรกิจขนาดย่อมนั้นสามารถเติบโตเป็นธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ได้ต่อไป
2.  การสร้างนวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ จะมีจุดเริ่มต้นจากงานวิจัยในห้องทดลองเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลืออย่างมีคุณค่าให้เกิดขึ้นกับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน
3.  การกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ  การเพิ่มการแข่งขันเป็นสถานการณ์ซึ่งธุรกิจมีการแข่งขันด้านการขาย การมีธุรกิจขนาดย่อมเข้ามาแข่งขันด้วยจะทำให้การแข่งขันด้านราคาลดลงตลอดจนมีการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมาตรฐานของสินค้าและการบริการ ซึ่งเป็นการเพิ่มมาตรฐานการครองชีพให้แก่ประชาชนได้
4.  ช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่ให้ผลิตสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  หน้าที่บางอย่างธุรกิจขนาดย่อมมักจะทำได้ดีกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะธุรกิจขนาดใหญ่นั้นไม่อาจทำหน้าที่ครบทุกประการ ในขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าซึ่งแบ่งได้ เช่น การจัดจำหน่าย  การขายปัจจัยการผลิต  การบริการ  เป็นต้น
5.  การผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพ  ธุรกิจขนาดย่อมจะต้องเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของงาน  โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องอาศัยความประณีตและใช้ฝีมือ ธุรกิจขนาดย่อมจะทำได้ดีกว่า ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาความสามารถในการประกอบการด้วย
6.  การกระจายการพัฒนาประเทศ ธุรกิจขนาดย่อมมีการตั้งกระจัดกระจายกันไปตามชุมชนต่าง ๆ จึงมีบทบาทในการส่งเสริมการกระจายความเจริญเติบโตของท้องถิ่น
7.  การเพิ่มการระดมทุน  ธุรกิจขนาดย่อมเป็นการรวบรวมเงินทุนที่เป็นของผู้ประกอบการและ ญาติพี่น้องมาก่อให้เกิดประโยชน์ในทางธุรกิจ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการระดมทุน ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการผลิตของประเทศด้วย เช่น ธุรกิจการผลิต ธุรกิจเหมืองแร่ ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจบริการ
 
ปัญหาและข้อจำกัดของธุรกิจขนาดย่อม
1.              ปัญหาด้านการตลาด ธุรกิจขนาดย่อมจะตอบสนองความต้องการของตลาดในท้องถิ่น หรือตลาดภายในประเทศ ซึ่งยังขาดความรู้ความสามารถในด้านการตลาดในวงกว้างโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมขนส่งตลอดจนการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้วิสาหกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในท้องถิ่นหรือในประเทศที่ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้น
2.                                      ขาดแคลนเงินทุน ธุรกิจขนาดย่อมมักประสบปัญหาการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อมาลงทุนหรือขยายการลงทุนหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากไม่มีการบัญชีอย่างเป็นระบบ และขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ  และจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง
3.                                      ปัญหาด้านแรงงาน แรงงานที่ทำงานในธุรกิจขนาดย่อม จะมีปัญหาการเข้าออกสูงเมื่อคนงานทำงานจนมีฝีมือและมีความชำนาญมากขึ้นก็จะย้ายออกไปทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีระบบและ ผลตอบแทนที่ดีกว่า  จึงทำให้คุณภาพของแรงงานไม่สม่ำเสมอการพัฒนาไม่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า
4.                                      ปัญหาข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิต  ธุรกิจขนาดย่อมทั่วไปมักใช้เทคนิคการผลิตไม่ซับซ้อนเนื่องจากการลงทุนต่ำ และผู้ประกอบการหรือพนักงานขาดความรู้พื้นฐานที่รองรับเทคนิควิชาที่ทันสมัย จึงทำให้ขาดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานที่ดี
5.                                      ข้อจำกัดด้านการจัดการ  ธุรกิจขนาดย่อมมักขาดความรู้ในการจัดการหรือการบริหารที่มีระบบใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้ โดยเรียนถูกเรียนผิดเป็นหลักอาศัยบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมาช่วยงานการบริหารภายในลักษณะนี้แม้จะมีข้อดีในเรื่องการดูแลที่ทั่วถึง แต่เมื่อกิจการเริ่มขยายตัวหากไม่ปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีระบบก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้
6.                                      ปัญหาการเข้าถึงบริการการส่งเสริมของรัฐ ธุรกิจขนาดย่อมจำนวนมากเป็นการจัดตั้งกิจการที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ เช่น ผลิตตามบ้าน ผลิตตามบ้าน ผลิตในลักษณะโรงงานเหล่านี้จึงค่อนข้างปิดตัวเองในการเข้ามาใช้บริการของรัฐ เนื่องจากปฏิบัติไม่ค่อยถูกต้องเกี่ยวกับการเสียภาษี การรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม หรือรักษาความปลอดภัยที่กำหนดตามกฎหมาย นอกจากนี้ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนก็เช่นเดียวกัน แม้ว่ารัฐจะได้ลดเงื่อนไขขนาดเงินทุนและการจ้างงาน เพื่อจูงใจให้ธุรกิจขนาดย่อมเพียง 8.1% เท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐ
7.                                      ปัญหาข้อจำกัดด้านบริการส่งเสริมพัฒนาขององค์การภาครัฐและเอกชน  การส่งเสริมพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมที่ผ่านมาได้ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมส่งเสริมการส่งออก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมมีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับข้อจำกัดของหน่วยงาน เช่น  บุคลากร งบประมาณ จำนวนสำนักงานสาขาภูมิภาค การให้บริการส่งเสริมสนับสนุนด้านต่าง ๆ จึงไม่อาจสนองตอบได้ทั่วถึงและเพียงพอ
8.                                      ปัญหาข้อจำกัดในการรับรู้ข่าวสารข้อมูล  เนื่องจากปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ข้างต้น ธุรกิจขนาดย่อมโดยทั่วไปจึงค่อนข้างมีจุดอ่อนในการรับรู้ข่าวสารด้านต่าง ๆ เช่น นโยบายและมาตรฐานการของรัฐ ข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด เป็นต้น
 
การบูรณาการแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงกับธุรกิจขนาดย่อม
                เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)  เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
                แนวคิดนี้เชื่อว่าจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมให้ดีขึ้นโดยมีปัจจัย 2 อย่างคือ การผลิตจะต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่างปริมาณผลผลิตและการบริโภค และชุมชนต้องมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาด
 
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง
            เศรษฐกิจพอเพียง  เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวหน้าต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
                ความพอเพียง  หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมัระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน โดยอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ  โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
 
หลักในการพิจารณาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
                ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่มาของนิยาม 3 ห่วง2 เงื่อนไข ที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นำมาใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านช่องทางต่าง ๆ อยู่ในปัจจุบันประกอบด้วยความ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไข ความรู้และคุณธรรม ดังนี้
1.  กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย  สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลาและเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤตเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
2.  คุณลักษณะ  เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับโดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
            3.  คำนิยาม  ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้
3.1  ความพอประมาณ  หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
3.2  ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
3.3  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
4.  เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
4.1  เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย  ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
4.2  เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ และไม่ตระหนี่
5.  แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม สิ่งแวดล้อม  ความรู้และเทคโนโลยี
 
การประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในธุรกิจขนาดย่อม
การตลาดแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวความคิดที่มากกว่าการมุ่งเน้นตลาดและสังคมเพราะเป็นแนวความคิดที่คำนึงถึงความมีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความรอบคอบให้เกิดความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอก
เศรษฐกิจพอเพียงอาจมีความยืดหยุ่น และประยุกต์ใช้ได้กับแนวความคิดทางการตลาดของการดำเนินธุรกิจในสภาพการณ์ต่าง ๆ ถึงแม้วัตถุประสงค์ทางการตลาดจะมุ่งไปที่การแสวงหาผลกำไรสูงสุดก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมของสังคม เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการดำรงชีวิตของผู้บริโภค และความยั่งยืนของธุรกิจ ทำให้เกิดความสมดุลของสังคม
การดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียง อาจใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1.  การบริหารความเสี่ยงทางการตลาดที่ชัดเจน โดยมีความรู้จริงในการทำตลาด และมีตลาดที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง
2.  ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างกำไรสูงสุด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของธุรกิจ
3.  การดำเนินธุรกิจที่ตนเองมีความรู้จริง ไม่แข่งขันในตลาดที่ตนเองไม่มีความชำนาญ
4.  มีเหตุผลในการขยายตลาด แบบค่อยเป็นค่อยไป รู้จักวางแผนอย่างรอบคอบ
5.  มีความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบการ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และผู้ใช้แรงงานที่เป็นลูกจ้าง
6.  การให้บริการลูกค้าอย่างจริงใจและโปร่งใสอย่างสม่ำเสมอ
7.  ไม่มีความโลภมากเกินไป และไม่เน้นกำไรในระยะสั้นเป็นหลัก
สรุป
                ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงได้จัดทำแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดแนวทางในการรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยใช้ศักยภาพและข้อได้เปรียบที่มีอยู่เป็นเครื่องมือ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (2550-2554) ซึ่งได้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดในการพัฒนา ใช้นโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพและการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญหาของธุรกิจไทย และการพัฒนาสู่สังคมและเศรษฐกิจ ฐานความรู้รวมทั้งกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้แผนในลักษณะของการชี้นำแนวทางและมาตรการที่ครอบคลุมวิสาหกิจ

แบบฝึกหัด 

1. ข้อใดคืองานเกษตรกรรม

   ก การทำสวนองุ่น

   ข การขายของที่ตลาดนัด

   ค การเย็บเสื้อผ้าโหล

   ง การสานตะกร้าใส่ของ

2. คุณลักษณะของผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จ ยกเว้น ข้อใด

   ก กล้าเสี่ยง

   ข มีความอดทน

   ค ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่

   ง มีความสามารถในการบริหาร

3. กิจการประเภทใดที่ทำได้โดยไม่ต้องปรึกษาคนอื่น และใช้เงินทุนจากการเก็บสะสมไว้

   ก สหกรณ์

   ข รัฐวิสาหกิจ

   ค ธุรกิจขนาดย่อม

   ง กิจการเจ้าของคนเดียว

4. ข้อดีของบริษัทจำกัดเป็นอย่างไร

   ก ขาดความจงรักภักดี

   ข จัดหาเงินทุนได้ง่าย

   ค ความลับถูกเปิดเผย

   ง เสียค่าใช้จ่ายในการบริหารงานสูง

5. ประโยชน์ของธุรกิจคืออะไร

   ก เกิดการจ้างงาน

   ข มีระบบคนกลางเกิดขึ้น

   ค ช่วยบีบสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค

   ง ไม่เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

6. องค์ประกอบของการสื่อสารคือข้อใด

   ก ผู้ส่งข่าวสาร

   ข ข้อมูลข่าวสาร

   ค ผู้รับข่าวสาร

   ง ถูกทุกข้อ

7. ข้อใดจัดเป็นการสื่อสารทางอ้อม

   ก การเจรจาซื้อขายกัน

   ข การพูดปรึกษาหารือกัน

   ค การพูดคุยในชุมชน

   ง การอ่านนิตยสาร

8. การสื่อสารที่ดีต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร

   ก มีความถูกต้อง

   ข มีประสิทธิภาพ

   ค มีความกระชับ

   ง ถูกทั้งข้อ ก และ ข

9. ข้อใด ไม่ใช่ เอกสาร

   ก หนังสือเข้า

   ข หนังสือการ์ตูน

   ค แบบฟอร์ม

   ง ใบเสร็จรับเงิน

10.หนังสือออก มีความหมายว่าอย่างไร

   ก กระดาษที่เป็นข้อมูลข่าวสารซึ่งส่วนราชการหรือองค์กรธุรกิจจัดทำขึ้นเป็นภาพหรือลายลักษณ์อักษร

   ข เอกสารภายนอกที่องค์กรได้รับมาจากหน่วยงานอื่น ๆ ภายนอกกิจการ

   ค เอกสารที่องค์กรได้จัดทำขึ้นส่งออกไปยังบุคคลภายนอกเพื่อติดต่อธุรกิจ

   ง เอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อติดต่อระหว่างแผนกงานภายในองค์กร

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก