ประเพณีสงกรานต์ของประเทศเพื่อนบ้านประเทศใดที่มีความคล้ายคลึงกับไทย

“เทศกาลสงกรานต์” เป็นที่รับรู้กันว่าไม่ใช่จะมีแต่ภายในประเทศไทยเท่านั้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านก็ต่างมีความสุข และสนุกสนานกับเทศกาลนี้ด้วยเช่นกัน รวมถึงประเทศอื่นที่ก็มีเทศกาลคล้ายกับสงกรานต์บ้านเรา ซึ่งจะมีประเทศไหนบ้างนั้นไปดูกันเลย

ประเทศลาว

ถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทยมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะประเทศลาวก็มีการจัดเทศกาลสงกรานต์เช่นเดียวกัน ระหว่างวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี โดยทั้ง 3 วันจะมีชื่อเรียกที่ต่างกัน ซึ่งวันแรกเป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน เรียกว่า “วันสังขารล่วง” ส่วนวันที่สองเป็นวันรวมญาติ เรียกว่า “วันเนา” และวันสุดท้ายเรียกว่า “วันสังขารขึ้น” คือจะมีการสรงน้ำพระ บายศรีสู่ขวัญอวยพรซึ่งกันและกัน และแห่เทพีสงกรานต์

ประเทศกัมพูชา

สงกรานต์ของประเทศกัมพูชา จะเรียกกันว่า “โจลชนัมทเมย” โดยในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดเทศกาลสงกรานต์ขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน ซึ่งประเพณีก็ใกล้เคียงกับของไทย คือมีทั้งการทำบุญตักบาตร ครอบครัวมารวมตัวกัน สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ก่อเจดีย์ทราย รวมถึงมีการละเล่นพื้นบ้านร่วมด้วย

ประเทศพม่า

สำหรับประเทศพม่านั้นมีคำเรียกประเพณีสงกรานต์อยู่หลายคำ แต่สามารถเรียกได้สั้นๆ ว่า “เหย่บะแวด่อ” โดยในความหมายก็คือเทศกาลน้ำนั่นเอง ปัจจุบันรัฐบาลพม่ากำหนดให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี ซึ่งจะมีการเข้าวัดรักษาศีล สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และเมื่อสิ้นวันสงกรานต์ชาวพม่าจะนิยมจัดงานบวชเณรให้ลูกชาย และจัดงานเจาะหูให้ลูกสาว

ประเทศจีน

“พัวสุ่ยเจี๋ย” เป็นประเพณีสงกรานต์ของชาวไทลื้อสิบสองปันนา ในมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งเทศกาลนี้จะจัดขึ้นประมาณวันที่ 13-15 เมษายน โดยมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันเรือมังกรที่เป็นเอกลักษณ์ ขบวนรำนกยูง การละเล่นน้ำและการรดน้ำดำหัว ที่เชื่อว่าเป็นการชำระล้างสิ่งไม่ดีออกไปจากตัว

ประเทศเกาหลีใต้

“Water Bomb Festival” เป็นเทศกาลระเบิดน้ำของเกาหลีใต้ ที่จัดต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 4 แล้วนับตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงหน้าร้อน (กรกฎาคม-สิงหาคม) โดยจุดเด่นอยู่ที่การปล่อยระเบิดน้ำออกมาทั่วบริเวณงาน นอกจากนี้ยังมีโชว์เด็ดๆ จากศิลปินไอดอลของเกาหลีใต้อีกด้วย และสำหรับปี 2019 เทศกาล Water Bomb ก็จัดขึ้นด้วยกันหลายเมือง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ waterbombfestival.com แต่บอกก่อนว่าเทศกาลนี้ต้องซื้อบัตรเข้าเท่านั้นถึงจะร่วมสนุกได้

ประเทศโปแลนด์ เช็ค สโลวาเกีย และยูเครน

ประเทศในแถบยุโรปก็มีประเพณีสาดน้ำคล้ายกับบ้านเรา นั่นก็คือประเพณีที่เรียกกันว่า “Wet Monday” เป็นประเพณีเก่าแก่ทางศาสนาที่นิยมจัดขึ้นในแถบยุโรปกลาง ประเพณีนี้จะจัดขึ้นในวันจันทร์อีสเตอร์ทุกปี โดยจัดขึ้นตามความเชื่อของผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่สืบต่อกันมาว่า การสาดน้ำเป็นการชำระล้างบาปเพื่อต้อนรับสู่ฤดูใบไม้ร่วง

    ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันเป็นผลมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์  รากฐานทางวัฒนธรรมและการนับถือศาสนา  ซึ่งจะสรุปให้เห็นเป็นภาพรวมได้  ดังนี้

     1.  ศาสนา  ศาสนาสำคัญที่เผยแผ่เข้ามาและได้รับการยอมรับนับถือจากชนชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้แก่  พระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นศาสนาที่ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทย  พม่า  ลาว  กัมพูชา  ล้วนนับถือ  ดังนั้นประเพณี  พิธีกรรมทางศาสนา  ลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ของพม่า  ลาว  กัมพูชา  ก็จะคล้ายคลึงกับคนไทย  เช่น  การทำบุญตักบาตร  การสวดมนตร์ไหว้พระ  การให้ความเคารพพระสงฆ์  การนิยมให้บุตรหลานเข้ารับการอุปสมบท  เป็นต้น

 

คนไทย                                                                                   คนลาว

    สำหรับประเทศมาเลเซีย  บรูไน  อินโดนีเซีย  ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงมีวัฒนธรรมแบบอิสลาม  ประเทศฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนา  ประเทศสิงคโปร์และเวียดนาม นับถือหลายศาสนาโดยนับถือลัทธิธรรมเนียมตามแบบจีนเป็นหลัก

     2.  ภาษา ประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพูด  เขียน  คล้ายคลึงกับไทยก็คือ  ลาวเพียงชาติเดียวเท่านั้น  ส่วนชาติอื่น ๆ ก็จะใช้ภาษาของตน  ไม่ว่าจะเป็นพม่า  เวียดนาม  อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์  โดยที่ภาษาอังกฤษและภาษาจีนจะเป็นภาษากลางที่ใช้ติดต่อกันได้ทั่วทั้งภุมิภาค

     3.  ประเพณี  พิธีกรรม  หากชาติใดที่มีรากฐานการนับถือศาสนาเป็นพระพุทธศาสนา  ประเพณี  พิธีกรรมต่าง ๆ ก็จะคล้ายคลึงกับของไทย  เช่น  การทำบุญเลี้ยงพระ  การเวียนเทียนเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา  ประเพณีเข้าพรรษา  เป็นต้น  ส่วนประเพณีอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา  พบว่าหากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับไทย  เช่น  พม่า  ลาว  กัมพูชา  ก็จะมีประเพณีหลายอย่างคล้ายคลึงกับไทย  เช่น  ประเพณีสงกรานต์  ประเพณีลอยกระทง  เพียงแต่รายละเอียดของการจัดพิธีจะแตกต่างกันออกไป

    ขณะเดียวกันวัฒนธรรมไทยในการแสดงความเคารพ  โดยการไหว้ของคนไทย  ชาติเหล่านี้ก็จะมีธรรมเนียมการไหว้เช่นเดียวกัน

    สำหรับชาติอื่น ๆ ได้แก่  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย  บรุไน  จะมีประเพณีพิธีกรรมตามแบบอิสลาม  เวียดนามกับสิงคโปร์จะมีประเพณีพิธีกรรมตามแบบจีน  และมีวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสาน  ส่วนชาติที่มีแบบแผนประเพณี  พิธีกรรมเหมือนอย่างตะวันตก  คือ  ฟิลิปปินส์

     4.  อาหาร อาหารของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยข้าว  พืชผัก  และเนื้อสัตว์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น  การปรุงอาหารโดยมากจะใช้เครื่องเทศประเภท  กะทิ  น้ำมันรสชาติจัดจ้าน  โดยอาหารของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีอยู่อย่างหลากหลาย  สีสันดูน่ารับประทาน  รสชาติเผ็ดร้อน  ประเทศที่รับประทานอาหารไม่แตกต่างจากคนไทยก็ยังคงเป็นพม่า  ลาว  กัมพูชา  ขณะเดียวกันก็มีอาหารจากชาติอื่น ๆ เช่น  ยุโรป  ญี่ปุ่น  เกาหลี  เข้ามาเผยแพร่ด้วย

 

                  อาหารของประเทศกัมพูชา                                        อาหารของประเทศญี่ปุ่น 

     5.  การแต่งกาย  ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  หากไม่นับชุดพื้นเมืองและชุดประจำชาติแล้ว  จะแต่งกายไม่แตกต่างกัน  กล่าวคือสังคมเมืองในปัจจุบัน  ผู้ชายสวมเสื้อ  กางเกง  ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อ  กางเกง  หรือกระโปรง  แต่ในชนบทผู้หญิงจำนวนมากก็ยังคงสวมใส่ผ้าซิ่นกันอยู่  ทั้งนี้ชุดประจำชาติของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน  ทำให้เมื่อดูแล้วสามารถบอกได้ทันทีว่าชุดแต่งกายนั้น ๆ เป็นของชนชาติใด

    กล่าวโดยสรุปวัฒนธรรมไทย  เป็นสิ่งดีงามที่บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมและสืบทอดต่อกันมาจนเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาติไทย  อย่างไรก็ตามประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและมีดินแดนติดต่อกัน  เช่น  ลาว  พม่า  กัมพูชา  และมาเลเซีย  จะมีวัฒนธรรมบางส่วนที่คล้ายคลึงกันหรือมีมติความเชื่อและประเพณีที่เหมือนหรือคล้ายกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศาสนา  เช่น  พระพุทธศาสนา  เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดประเพณีที่คล้ายคลึงกัน  ส่วนศาสนาอิสลามในมาเลเซีย  ก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกับจังหวัดชายแดนทางภาคใต้แต่กลับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ห่างออกไป  เช่น  สิงคโปร์  บรูไน  ก็จะทำให้มีวัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างกับของไทย  ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรม  นอกจากจะเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ  ความเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาติแล้ว  วัฒนธรรมยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี  ความรู้สึกเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

อ้างอิงที่มา : //www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/2178-00/

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก