Bitcoin คือ อะไร ทํา งาน อย่างไร

“บิตคอยน์” คือ อะไร?

บทความโดย ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

บิตคอยน์ จัดเป็นประเภทหนึ่งของ สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งมีความหมายถึง สกุลเงินที่ผ่านการเข้ารหัส (Cryptography) และอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งคุณสมบัติทั้ง 2 ข้างต้นนี้เอง ที่ทำให้เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีไม่สามารถปลอมแปลงได้ และ สามารถโอนย้ายได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยผ่านระบบของบล็อกเชน (Blockchain) ที่คอยทำหน้าที่บันทึกรายการโอนเงินดิจิทัลและยืนยันว่า รายการนั้น ๆ เกิดขึ้นจริงและถูกต้อง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้การโอนย้ายมูลค่า ในรูปแบบดิจิทัล บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถเกิดขึ้นได้

บิตคอยน์ เป็นเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีเหรียญแรก ที่ได้เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ ในปี 2008 ได้มี White Paper ของบิตคอยน์ออกสู่สาธารณะ และมีการโอนเหรียญขึ้นจริงครั้งแรก บนบล็อกเชนบล็อกแรก ในปี 2009 และ บิตคอยน์ ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนนี้ ยังไม่เคยถูกแฮ็คหรือฉ้อโกงไปจากระบบได้เลย นับตั้งแต่วันแรกที่มันปรากฏขึ้นมาบนโลกใบนี้ 

บิตคอยน์ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของโลกสกุลเงินดิจิทัลนั้น ทำให้มีเหรียญอื่นๆ เกิดตามมาจำนวนนับหมื่นเหรียญ และมีมูลค่าตามราคาตลาดรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้เวลาจากวันแรก มาเพียง 12 ปีกว่าเท่านั้น และมูลค่าตามราคาตลาดของเหรียญบิตคอยน์เอง ที่สูงถึง 6 แสนล้านเหรียญ และมีราคาต่อ 1 เหรียญกว่า 1 ล้านบาทในวันนี้ คงไม่เป็นที่สงสัยในความมีตัวตนของสินทรัพย์นี้อีกต่อไป

ประโยชน์และโอกาส

การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีนี้ทำให้ ต้นทุนในโลกของการใช้เงินแบบปัจจุบัน ที่อยู่ในรูปแบบของธนบัตร หรือ เหรียญ เป็นต้น ลดลงอย่างมหาศาล โดยที่จากเดิม ต้นทุนของระบบการชำระเงินในปัจจุบันที่มีใช้เงินในรูปแบบกระดาษ และเหรียญนั้น อยู่ที่เฉลี่ย 0.5-0.9% ของ GDP อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศได้ลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน เนื่องจากการโอนเงินบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นก็เหมือนโลกที่ไร้พรมแดน ระยะทางไม่ใช่อุปสรรคและต้นทุนในการโอนย้ายมูลค่าระหว่างกันอีกต่อไป เราสามารถเห็นการโอนเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีบางเหรียญจากประเทศไทย ไปยังสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นและทำรายการสำเร็จในเวลาเพียงไม่ถึง 1 นาที โดยมีค่าธรรมเนียมในการโอนผ่านบล็อกเชนไม่ถึง 1 บาทเท่านั้น ผลที่เกิดขึ้นนี้เองได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้งาน และการเพิ่มขึ้นของปริมาณการทำธุรกรรมในโลกคริปโทเคอร์เรนซี 

นอกจากนี้ ความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลยังเกิดขึ้นในรูปแบบของการลงทุน การเก็บมูลค่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของการทำ smart contract การเขียนแอปพลิเคชัน และ การเก็งกำไรในความผันผวนของราคา ซึ่ง ความต้องการต่างๆ เหล่านี้เอง ได้ผลักดันให้มูลค่าตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลยิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา


4 เฟสของพัฒนาการใน Cryptocurrency

เมื่อเราศึกษาพัฒนาการของราคา Cryptocurrency เช่น บิตคอยน์ เราจะแบ่งการพัฒนาได้เป็นทั้งหมด 4 เฟส

- เฟสแรก คือการที่นักลงทุนรายบุคคล (Individual Investor) เข้าไปเก็งกำไรในช่วงปี 2016-2017 ในช่วงเวลาที่บิตคอยน์พุ่งไปที่ $20,000/เหรียญ ก่อนที่จะตกลงมาสู่ระดับ $5,000/เหรียญ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

- เฟสที่สอง คือการที่นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investor) เข้ามาซื้อบิตคอยน์ในช่วง ไตรมาส 4 ปี2020 หลังจากที่นาย โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนค่าลงทันที และนักลงทุน สถาบันการเงิน บริษัท เช่น Payment Tech, New Tech เริ่มเข้าซื้อบิตคอยน์ ส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ $40,000/เหรียญ อย่างรวดเร็ว

- เฟสที่สาม จะเป็นการใช้ Cryptocurrency ในระดับบริษัทเอกชน (Corporate Accounts) มีรายงานจากสำนักข่าว Reuters ว่าบริษัทในญี่ปุ่นกว่า 30 แห่ง ได้มีความร่วมมือในการพัฒนา Private Digital Yen เพื่อใช้เป็น pool เชิงการค้าระหว่างกันและทดลองใช้งานในปี 2021

- เฟสที่สี่ ธนาคารกลางในแต่ละประเทศออกสกุลเงินดิจิทัลของตนเอง (Central Bank Currencies (CBDCs))

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล มีหลากหลายวิธี ได้แก่

1. การซื้อสะสมเท่า ๆ กันทุกเดือน (DCA)

2. การรอจังหวะเข้าซื้อในระดับราคาที่พึงพอใจ

3. การซื้อ-ขาย เก็งกำไรส่วนต่างราคาในระยะสั้น

ซึ่งแต่ละรูปแบบนั้นก็คล้ายกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิมนั่นเอง

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาบิตคอยน์

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิตคอยน์นั้น เกิดขึ้นจากคุณสมบัติข้อหนึ่งของบิตคอยน์คือ การมีอยู่อย่างจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งการมีจำนวนอยู่อย่างจำกัดนี้เอง ทำให้เกิดความเชื่อขึ้นว่าบิตคอยน์นั้น สามารถมีคุณสมบัติการเก็บมูลค่า (store of value) เหมือนสินทรัพย์อย่างทองคำ และจะไม่เกิดการเฟ้อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเหรียญ ดังนั้นเมื่อเกิดความต้องการซื้อ ต้องการถือครองบิตคอยน์มากขึ้น ก็ส่งผลให้ราคาของเหรียญบิตคอยน์มีมูลค่าสูงขึ้น หรือหากเกิดผลในทางตรงข้ามก็จะส่งผลให้ราคาลดลงเช่นกัน

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความต้องการใช้สกุลเงินดิจิทัล

Digital Currency Group (DCG) ได้ทำการสำรวจ ปัจจัยเชิงมหภาค ที่ส่งผลกระทบต่อการนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ ดังนี้

1. เศรษฐกิจโลกถดถอย (24%)

2. ความกังวลด้านเงินเฟ้อจากผลของนโยบายของธนาคารกลางโลก (19%)

3. การไล่ล่าหาผลตอบแทน (17%)

4. ความต้องการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ใหม่ (13%)

5. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (13%)

ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในตลาดสกุลเงินดิจิทัล

จากผลสำรวจของ DCG พบว่าปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญต่อตลาดสกุลเงินดิจิทัล มีดังนี้

1. กฏระเบียบ และ ข้อบังคับ (51%)

2. การขโมย แฮ็ก และการหลอกลวง (22%)

3. วิกฤตการลงทุน (12%)

4. ปัญหาความขัดข้องทางเทคนิค (8%)

การจะได้มาซึ่งบิตคอยน์นั้นมี 2 วิธีการด้วยกัน คือ

1. การขุดบิตคอยน์เหรียญใหม่ ซึ่งคือการได้รับค่าตอบแทนจากการยืนยันธุรกรรมในระบบเป็นเหรียญบิตคอยน์เหรียญใหม่ ซึ่งผู้ลงทุนขุดบิตคอยน์ก็จะมีต้นทุนค่าอุปกรณ์ และค่าไฟฟ้าที่ใช้ในการรันระบบเพื่อขุดเหรียญ

2. การซื้อเหรียญจากผู้ที่มีเหรียญบิตคอยน์ที่ถูกขุดขึ้นมาหมุนเวียนอยู่ในระบบแล้ว โดยที่ผู้ซื้อจะซื้อกับผู้ขายโดยตรง และรับโอนเหรียญมาอยู่ใน วอลเล็ตของตัวเองก็ได้ หรือ ง่ายกว่านั้นก็ซื้อผ่านตลาดรับแลกเปลี่ยนเหรียญที่มีผู้มาวางขายอยู่แล้ว

แนะนำลงทุนบิตคอยน์ในสัดส่วน 1-5% ของพอร์ตโฟลิโอ

คุณวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ มองว่า บิตคอยน์ไม่ได้เป็นสินทรัพย์ประเภท Safe Haven แต่มองเป็นสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investment) ที่เพิ่ม Alpha หรือผลตอบแทนส่วนเกินให้กับพอร์ตการลงทุนผ่านการทำ Asset Allocation ได้ เนื่องจากบิตคอยน์นั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) กับสินทรัพย์อื่นอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น จึงเหมาะกับการเพิ่มเข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายการลงทุน โดยแนะนำลงทุนในบิตคอยน์เป็นสัดส่วน 1-5 % ของพอร์ตโฟลิโอ

แนะนำ 3 จุดเข้าซื้อบิตคอยน์สุดแกร่ง (ใช้วิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิค โดยคุณกมลชัย พลอินทวงษ์)

ระดับราคาแนะนำเพื่อซื้อสะสม แบ่งจุดเข้าซื้อเป็น 3 ระดับราคา

จุดที่ 1. 900,000 บาท ซึ่งเป็นแนวรับจากสัดส่วน Fibonacci ที่ 38.2%

จุดที่ 2. 800,000 บาท ซึ่งเป็นแนวรับจากสัดส่วน Fibonacci ที่ 50%

จุดที่ 3. 700,000 บาท ซึ่งเป็นแนวรับจากสัดส่วน Fibonacci ที่ 61.8%

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh


เราใช้คุกกี้เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดี และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงกับความต้องการของคุณมากยิ่งขึ้น คุณสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก