ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่อะไร

จากสำนักงานธนาคารชาติ...ธนาคารแห่งประเทศไทย 


ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการเจริญสัมพันธไมตรีและติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น ในปี ๒๓๙๘ โปรดให้ทำสนธิสัญญาทางการทูตและการค้ากับประเทศอังกฤษ เรียกว่า สนธิสัญญาเบาริง ซึ่งต่อมาประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาแบบเดียวกันนี้กับอีกหลายประเทศ อันเป็นการเปิดประเทศอย่างกว้างขวางมากขึ้น


เมื่อชาวตะวันตกติดต่อค้าขายกับไทยมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ได้มีความพยายามที่จะขอจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง เพื่อสิทธิในการออกธนบัตรซึ่งให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่งดงาม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะฝ่ายไทยเห็นว่าชาวต่างประเทศเหล่านั้นคิดแต่จะเอาผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ทำให้ประเทศไทยเห็นความสำคัญของการมีธนาคารกลางของไทย เพื่อเป็นสื่อกลางในทางการค้าและทางเศรษฐกิจ แต่โครงการก่อตั้งธนาคารกลางก็ได้หยุดชะงักไปเพราะเวลานั้นยังขาดประสบการณ์และบุคคลากรที่มีความรู้  

ความสนใจที่จะจัดตั้งธนาคารกลางได้มีขึ้นอีกครั้งภายหลังที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ สืบเนื่องจากการเสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของคณะราษฎรที่นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เป็นผู้ร่าง ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการจัดตั้งธนาคารชาติ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการดำเนินการเศรษฐกิจของประเทศ ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงประกาศปิดสภาแทนราษฎร 


ภายหลังเมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงมีการสนับสนุนให้มีธนาคารชาติขึ้นอีก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้นำเรื่องเข้าหารือกับ นายเจมส์ แบกซ์เตอร์ ที่ปรึกษาการคลังในขณะนั้น ซึ่งให้ความเห็นว่า ยังไม่สมควรแก่เวลาที่จะจัดตั้งธนาคารกลางขึ้น เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีผู้รู้ผู้ชำนาญทางด้านการธนาคาร ไม่มีทุน และยังไม่มีระบบธนาคารพาณิชย์ของคนไทยด้วย


รัฐบาลได้ผลักดันเรื่องการตั้งธนาคารกลางอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๔๗๘ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารชาติ พ.ศ. ๒๔๗๘ ซึ่งหลวงวรนิติปรีชาเป็นผู้ร่างขึ้น  เสนอให้ควบรวมบริษัทแบ๊งค์สยามกัมาจล ทุนจำกัด ให้เป็นธนาคารชาติ พระราชบัญญัติดังกล่าวมีเพียง ๘ มาตรา ซึ่งอธิบดีกรมบัญชีกลางในเวลานั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัตินี้ยังขาดความรอบคอบและรายละเอียดยังไม่ชัดเจน

ต่อมาเมื่อ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และได้แต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย อธิบดีกรมศุลกากรย้ายมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง ซึ่งแต่เดิมจะใช้ที่ปรึกษาชาวต่างชาติทั้งสิ้น ในครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามทำความเข้าใจกับที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศของกระทรวงการคลัง ให้เข้าใจถึงความจำเป็นและเจตนารมณ์ของทางการ ซึ่งในที่สุดก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีในการช่วยร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติไทยขึ้น นับเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การตั้งธนาคารกลางของประเทศไทยในที่สุด

ในการดำเนินการจัดตั้งธนาคารชาติไทยนั้น นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ที่ปรึกษากระทรวงการคลังฝ่ายไทยรับผิดชอบในการร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติต่อจากที่ปรึกษาต่างประเทศที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว ในที่สุดก็ได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเตรียมการจัดตั้งธนาคารชาติไทยต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแล้ว ให้เปลี่ยนชื่อพระราชบัญญัติเป็น ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยก็เพื่อเตรียมพนักงานสำหรับการทำงานในธุรกิจธนาคารกลาง และทำหน้าที่บริหารเงินกู้ของรัฐบาล

สำนักงานธนาคารชาติไทยได้เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ต่อมาในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งเป็นวันชาติในสมัยนั้น จึงได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ  สำนักงานธนาคารชาติไทยดำเนินงานได้เพียงปีเศษก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นนำกำลังทหารเข้ามายังประเทศไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้เสนอให้รัฐบาลไทยจัดตั้งธนาคารกลางขึ้น โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้างานต่าง ๆ เป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลไทยไม่อาจยอมให้เป็นเช่นนั้นได้ จึงมอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อเปลี่ยนฐานะของสำนักงานธนาคารชาติไทยให้เป็นธนาคารกลาง และให้ประกาศใช้โดยเร็วที่สุด  พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ต่อมาได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญและในวันต่อมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการ ณ อาคารที่ทำการเดิมของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ถนนสี่พระยา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการพระองค์แรก ต่อมาได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ วังบางขุนพรหมตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ แล้วย้ายมาอาคารสำนักงานใหญ่ที่สร้างขึ้นในบริเวณวังบางขุนพรหมเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕  และในปี ๒๕๕๐ สำนักงานใหญ่ได้ย้ายมาอยู่ ณ อาคารสำนักงานใหญ่หลังใหม่  ที่ก่อสร้างขึ้นในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างวังบางขุนพรหมกับวังเทวะเวสม์ 

​สถาบันการเงิน​​

สถาบันการเงินมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินของประเทศ โดยทำหน้าที่ระดมและจัดสรรเงินทุนแก่ภาคเศรษฐกิจจริง การชำระราคาและบริการ การบริหารความเสี่ยง รวมถึงการให้ข้อมูลทางการเงินเพื่อการตัดสินใจ  ดังนั้น การดูแลให้การดำเนินงานของสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีธรรมาภิบาลและบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเงินฝากของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.

ธปท. มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินภายใต้อำนาจตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 และ พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่น ๆ อาทิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58  โดยสถาบันการเงินที่ ธปท. กำกับดูแล ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ​ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ สาขาของธนาคารต่างประเทศ สำนักงานผู้แทนธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทบริหารสินทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (non-bank) บางประเภท ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ  

นอกจากนี้ ธปท. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในการกำกับการทำงานของบริษัทข้อมูลเครดิต

หลักการกำกับดูแลสถาบันการเงิน​

ธปท. ดำเนินนโยบายและกำกับดูแลสถาบันการเงินภายใต้กรอบหลักการ 5 ด้านดังนี้​

1. ดูแลให้สถาบันการเงินมีความมั่นคง มีความระมัดระวังและมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยมีเงินกองทุนที่มีคุณภาพและเพียงพอตามมาตรฐานสากลสำหรับรองรับความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ และมีหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านสภาพคล่อง ด้านปฏิบัติการ ด้านตลาด และปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี รวมถึงการใช้เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ที่สอดคล้องกับ risk profile ของสถาบันการเงิน 

 2. ส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ มีการแข่งขันในระดับที่เหมาะสม และระวังไม่ให้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการทางธุรกิจ เช่น การจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน การให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และการกำกับขอบเขตการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน เป็นต้น​

3. ดูแลให้สถาบันการเงินมีธรรมาภิบาลที่ดี ดูแลให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของสถาบันการเงินทำหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  โดยมุ่งเน้นเรื่อง บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ โครงสร้างของคณะกรรมการ การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส

4. ดูแลให้สถาบันการเงินมีความเป็นธรรมต่อลูกค้าและประชาชน และมีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอ โดยมีเกณฑ์ด้าน market conduct ในการกำกับดูแลการทำธุรกิจของสถาบันการเงิน ทั้งที่เป็นธุรกิจการเงินและการทำธุรกิจ cross selling เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ​และส่งเสริมให้สถาบันการเงินให้บริการทางการเงินอ​ย่างทั่วถึงและมีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นให้มีการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้บริการทางการเงินใน 4 เรื่อง ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง สิทธิที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างอิสระ สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาค่าชดเชยหากเกิดความเสียหาย 

5. กำกับสถาบันการเงินเพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจ (Macro Prudential) โดยใช้เกณฑ์การกำกับสถาบันการเงินเป็นเครื่องมือในการดูแลความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การออกเกณฑ์กำกับบัตรเครดิต โดยกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้ถือบัตรวงเงินสินเชื่อ และจำนวนเงินขั้นต่ำในการผ่อนชำระ เป็นต้น เพื่อดูแลการก่อหนี้ภาคครัวเรือน

​นอกจากนี้ ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินจัดส่งข้อมูล และแบบรายงานต่าง ๆ เป็นประจำ ในกรณีที่สถาบันการเงินมีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติตามเกณฑ์ในเรื่องต่าง ๆ หรือการรายงาน สถาบันการเงิน สามารถติดต่อสอบถามจากเจ้าหน้าที่สัมพันธ์สถาบันการเงิน ​

คณะกรรมการและสายงานด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน​

คณะกรรมการที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ได้แก่

- คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.)​​​​ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการกำกับและติดตามการตรวจสอบสถาบันการเงินเพื่อให้สถาบันการเงินมีเสถียรภาพมั่นคง โดยจะกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน กำหนดนโยบายการเปิด/ปิดสาขาสถาบันการเงิน กำหนดอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันการเงินรายใหม่ และติดตามการดำเนินงานของ ธปท. ในด้านของการเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน และการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน

- คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ ธปท. กำกับดูแลและระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยตลอดจนดำเนินไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามการดำเนินงานของ ธปท. ในด้านของการการจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน

สำหรับ สายงานที่ทำหน้าที่ด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ของ ธปท. ประกอบด้วย 

- สายนโยบายสถาบันการเงิน (สนส.)มีหน้าที่กำหนดนโยบาย​และกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบสถาบัน​การเงินและระบบการชำระเงิน ออกเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน รวมทั้งการกำกับดูแลธุรกิจการเงินที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง  วิเคราะห์และติดตามฐานะการดำเนินงานของระบบสถาบันการเงิน  

- สายกำกับสถาบันการเงิน (สกส.)มีหน้าที่ในการกำกับ ตรวจสอบ วิเคราะห์และติดตามฐานะการดำเนินงานตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเป็นรายสถาบัน รวมทั้งพิจารณาคำขออนุญาตต่าง ๆ และพิจารณากำหนดมาตรการให้สถาบันการเงินที่มีปัญหาด้านฐานะการเงินและการดำเนินงานหรือปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายทำการปรับ​ปรุงแก้ไขปัญหาที่กล่าวภายในเวลาที่กำหนด 

ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น

เนื่องจากระบบการเงินของไทยมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากขอบเขตธุรกรรมที่ขยายกว้างขึ้นและซับซ้อนขึ้นตามกระแสนวัตกรรมทางการเงินและกระแสโลกาภิวัฒน์  ธปท. จึงมีกลไกการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถดูแลความเสี่ยงในภาพรวมของสถาบันการเงินได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์​ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย​ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย​ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศต่างๆ  โดยความร่วมมือมีหลายรูปแบบ เช่น การประชุมหารือทั้งในระดับผู้บริหารระดับสูงและระดับกลาง การแลกเปลี่ยนพนักงาน การทำข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นต้น 


ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับสถาบันการเงิน

- ประกาศ/หนังสือเวียน​​

- แนวทางการกำกับดูแลด้านเงินกองทุนและสภาพคล่องตามหลักเกณฑ์ Basel III

​- ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ IAS32 IAS39 และ IFRS7​

- แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ระยะที่ 2) ​​

- คู่มือการตรวจสอบสถาบันการเงิน

- คู่มือการขออนุญาต​

- การขออนุญาต/ขอผ่อนผันของสถาบันการเงิน​

- กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ธปท.

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่หลักคืออะไร

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรของรัฐที่มี บทบาทหน้าที่ หลักในการบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยผ่านการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพในอัตราที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ ซึ่งถือเป็นการร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ...

หน้าที่ที่สําคัญของธนาคารพาณิชย์ คืออะไร

การดําเนินธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ประกอบด้วย 1. การรับฝากและกู้ยืมเงินจากประชาชน 2. การให้กู้เงิน 3. การลงทุน 4. การให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น การคํ้าประกันและรับรอง การรับแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศ เป็นต้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ในสถาบันใด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Bank of Thailand) เป็นธนาคารกลางของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและ ...

หน่วยงานใดที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท. มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินภายใต้อำนาจตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 และ พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่น ๆ อาทิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 โดยสถาบันการเงินที่ ธปท. กำกับดูแล ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทย ...

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก