ระบบย่อยของเทคโนโลยี หม้อหุงข้าว

ระบบทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อน

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างหรือพัฒนาขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งชิ้นงานหรือวิธีการ เพื่อใช้แก้ปัญหา สนองความต้องการ หรือเพิ่มความสามารถในการทำงานของมนุษย์ การทำงานของเทคโนโลยีแต่ละอย่างมีลักษณะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งเทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยมีสาเหตุหรือปัจจัยมาจากหลายอย่าง ทั้งด้านความก้าวหน้าของศาสตร์ต่าง ๆ สภาพเศรษฐกิจ สังคม ช่วยให้สามารถอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ได้มากขึ้น

บ่อยครั้งที่เราได้ยินว่า "ระบบ" เช่น การทำงานอย่างเป็นระบบ การคิดอย่างเป็นระบบ บางครั้งเราพูดถึงระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบหายใจ หรือระบบของสิ่งต่าง ๆ ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น ระบบการทำงานของรถยนต์ เครื่องเสียง เครื่องปรับอากาศ ซึ่งจะเห็นได้ว่า "ระบบ" มีหลายอย่างและเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา ในที่นี้นักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ประกอบไปด้วยระบบย่อยตั้งแต่สองระบบขึ้นไปทำงานสัมพันธ์กัน

ระบบ (system) โดยทั่วไปแล้วเป็นคำที่ใช้เรียกแทนสิ่งต่างๆ ที่มีส่วนประกอบตั้งแต่สองส่วนขึ้นไปรวมเข้าด้วยกัน และทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามหน้าที่ (function) ที่กำหนด ซึ่งมีได้หลากหลาย เช่น ปากกา ประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลักๆ ได้แก่ ด้ามจับ น้ำหมึก ไส้ปากกา และหัวปากกา ซึ่งส่วนประกอบต่างๆ ของปากกาล้วนมีหน้าที่เฉพาะอย่างเพื่อให้ปากกาสามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์

รูปที่ 1 ส่วนประกอบของปากกา

โทรศัพท์มือถือมีส่วนประกอบหลายส่วน เช่น หน้าจอ แบตเตอรี่ แผงวงจร อุปกรณ์บันทึกข้อมูล กล้อง ลำโพง ไมโครโฟน แต่ละส่วนประกอบมีหน้าที่เฉพาะของตัวเอง และส่วนประกอบเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ทำงานสัมพันธ์กัน หากส่วนประกอบใดทำงานผิดพลาดหรือเกิดความเสียหายขึ้นอาจทำให้โทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ หรืออาจทำงานไม่สมบูรณ์

รูปที่ 2 ส่วนประกอบของโทรศัพท์มือถือ

โดยทั่วไปแล้ว "ระบบ" พบได้ทั้งในธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งระบบทางธรรมชาติ (natural system) เป็นระบบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีอยู่หลายอ่างทั้งในพืชและในสัตว์ เช่น ระบบลำเลียงน้ำหรืออาหารของพืช ระบบหายใจหรือระบบย่อยอาหารของมนุษย์

ประกอบด้วยอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อย่อยอาหารที่รับประทานให้ละเอียด และดูดซึมสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

รูปที่ 3 ระบบย่อยอาหารของมนุษย์

ประกอบด้วย ราก ท่อลำเลียง ใบ ทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อลำเลียงน้ำในดินจากราก ลำต้นถึงใบไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงต่อไป

รูปที่ 4 ระบบลำเลียงน้ำของพืช

ระบบทางเทคโนโลยี (technological system) เป็นระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหรืออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ระบบการคมนาคมขนส่ง ระบบงานบริการ ระบบการผลิตในอุตสาหกรรม

ตัวอย่างระบบงานบริการ เช่น ระบบจ่ายยาในโรงพยาบาล

รูปที่ 5 ระบบการจ่ายยาในโรงพยาบาล

ระบบการจ่ายยาในโรงพยาบาลเป็นตัวอย่างของระบบงานบริการชนิดหนึ่งที่ต้องมีการจัดระบบการบริการ โดยมีแผนภาพแสดงลำดับขั้นตอนการรับบริการเพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าใจลำดับขั้นตอนก่อนรับบริการ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและมีความรวดเร็วในการบริการอีกด้วย

ตัวอย่างระบบการคมนาคมขนส่ง เช่น ระบบรถไฟฟ้า

ระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบการคมนาคมขนส่งรูปแบบหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้คน ซึ่งการบริการจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายส่วนในการทำงาน ทั้งในด้านการจัดขบวนรถ รางรถ การจำหน่ายตั๋ว องค์ประกอบต่างๆ ดังที่กล่าวมาต้องอาศัยการทำงานที่สัมพันธ์กัน เพื่อให้การบริการของระบบรถไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบการทำงานของปากกาหรือดินสอกดที่นักเรียนได้ศึกษาถือว่าเป็น "ระบบทางเทคโนโลยี" ซึ่งหมายถึง กลุ่มของส่วนต่างๆ ตั้งแต่สองส่วนขึ้นไปประกอบเข้าด้วยกันและทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยในการทำงานของระบบทางเทคโนโลยีจะประกอบไปด้วย ตัวป้อน (input) กระบวนการ (process) และผลิตผล (output) ที่สัมพันธ์กัน นอกจาากนี้ระบบทางเทคโนโลยีอาจมีข้อมูลย้อนกลับ (feedback) เพื่อใช้ปรับปรุงการทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งสามารถเขียนเป็นแผนภาพแสดงการทำงานของระบบทางเทคโนโลยี ได้ดังรูป

นักเรียนลองถอดชิ้นส่วนของปากกาหหรือดินสอกดแล้วศึกษาหน้าที่ของแต่ละชิ้นส่วนที่ทำให้ปากกาหรือดินสอกดนั้นมีกลไกการทำงานได้ตามต้องการ

รูปที่ 7 ระบบทางเทคโนโลยี

เทคโนโลยีที่เราพบเห็นกันทั่วไป เช่น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า มีส่วนประกอบหลักๆ ได้แก่ ตัวเครื่อง แผ่นความร้อน ขดลวดสปริง แม่เหล็ก สวิตช์ รวมเข้าด้วยกันเป็นระบบ ซึ่งส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้มีหน้าที่ต่างกันไป และทำงานสัมพันธ์กันเพื่อให้หม้อหุงข้าวสามารถใช้งานได้ตามต้องการ

รูปที่ 8 โครงสร้างหม้อหุงข้าว

ระบบทางเทคโนโลยีของหม้อหุงข้าวไฟฟ้าข้างต้นสามารถเขียนสรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้

รูปที่ 9 ระบบทางเทคโนโลยีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า

หม้อหุงข้าวไฟฟ้าให้ความร้อนในการหุงข้าวโดยอาศัยแผ่นความร้อนที่ก้นหม้อซึ่งทำจากอะลูมิเนียม แผ่นความร้อนนี้มีขดลวดไฟฟ้าอยู่ภายในซึ่งควบคุมโดยระบบเปิดปิดอัตโนมัติ ซึ่งอยู่บริเวณตรงกลางของแผ่นความร้อนมีรูกลมที่มีส่วนประกอบหลักคือ ขดลวดสปริง แม่เหล็กถาวร และแม่เหล็กเฟอร์โรที่มีสภาพความเป็นแม่เหล็กลดลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น

รูปที่ 10 โครงสร้างระบบควบคุมไฟฟ้าของหม้อหุงข้าว

ที่มา : //www.rmutphysics.com/charud/scibook/physcis-for-everyday/physics-for-everydayuse-content/101-128/indexcontent102.htm

การทำงานของหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเริ่มจากเมื่อกดสวิตช์ แกนของสวิตช์จะดึงให้จุดสัมผัสเชื่อมต่อกันพร้อมทั้งอัดให้สปริงหดตัวและดีดให้แม่เหล็กถาวรดูดติดกับแม่เหล็กเฟอร์โร โดยแรงดูดระหว่างแม่เหล็ก มีค่ามากกว่าแรงดันกลับของสปริง สวิตช์หม้อหุงข้าวจึงติดค้างอยู่ได้ ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านจุดสัมผัสเข้าสู่ขดลวดความร้อน เมื่อน้ำในหม้อหุงข้าวเดือด น้ำจะค่อยๆ ลดลงและระเหยจนแห้ง อุณหภูมิภายในหม้อหุงข้าวจะสูงขึ้น จนทำให้แม่เหล็กเฟอร์โรสูญเสียความเป็นแม่เหล็ก ส่งผลให้แรงดูดระหว่างแม่เหล็กมีค่าลดลง แกนของสวิตช์จึงถูกดันลงมาเนื่องจากแรงดันกลับของขดลวดสปริงมีค่ามากกว่าแรงระหว่างแม่เหล็ก และทำให้จุดสัมผัสแยกออกจากกัน ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าไม่สามารถผ่านเข้าสู่ขดลวดความร้อนได้

แม่เหล็กแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ แม่เหล็กถาวร (permanent magnet) กับแม่เหล็กชั่วคราว (temporary magnet) ซึ่งนอกจากเหล็กแล้ว ยังมีวัสดุอื่นๆ เช่น นิกเกิล โคบอลต์ โลหะผสมของธาตุแรร์เอิทท์ (rare earth) บางชนิดก็สามารถกระตุ้นหรือเหนี่ยวนำให้เกิดสมบัติแม่เหล็กได้เช่นกัน เรียกกลุ่มวัสดุที่สามารถกระตุ้นให้กลายเป็นแม่เหล็กได้ว่า แม่เหล็กเฟอร์โร (ferromagnetic)

การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ นักเรียนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานเป็นอันดับแรก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้ารั่ว การติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นจำเป็นต้องมีการติดตั้งสายดินกับเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว

3. ระบบทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อน

เทคโนโลยีบางอย่างอาจประกอบไปด้วยระบบย่อยหลายระบบ (subsystems) ทำงานสัมพันธ์กันอยู่ หากระบบย่อยใดทำงานผิดพลาด จะส่งผลต่อการทำงานของเทคโนโลยีนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ หรืออาจทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งเทคโนโลยีที่ประกอบไปด้วยระบบย่อยตั้งแต่สองระบบขึ้นไปทำงานร่วมกัน เรียกระบบนั้นว่า ระบบที่ซับซ้อน (complex system)

ตัวอย่างเทคโนโลยีที่ประกอบไปด้วยระบบย่อยหลาย่วนทำงานร่วมกันเป็นระบบที่ซับซ้อน เช่น ระบบของเครื่องปรับอากาศ ระบบของรถยนต์ ระบบของเครื่องปรับอากาศโดยทั่วไปเราอาจมองเห็นส่วนประกอบหลักๆ ของเครื่องปรับอากาศ เช่น ตัวเครื่อง ฝาครอบ แผ่นกรองอากาศ สายไฟ สวิตช์ หากพิจารณาระบบทางเทคโนโลยีของเครื่องปรับอากาศ จะพบว่า ตัวป้อนของระบบเครื่องปรับอากาศมีไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานและการป้อนข้อมูลด้วยการกดเปิด เพื่อให้เครื่องสามารถทำงานผ่านกระบวนการภายในของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีระบบย่อยอยู่ภายในหลายส่วนทำงานร่วมกันให้ได้อากาศที่มีอุณหภูมิลดลงแล้วส่งออกมาเป็นอากาศเย็น ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น ผลผลิตของการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ในขณะเดียวกัน ระบบการทำงานของเครื่องปรับอากาศจะมีข้อมูลย้อนกลับ เพื่อช่วยในการตัดไฟเมื่ออุณหภูมิในห้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมตามที่ได้ตั้งค่าไว้ ซึ่งมีข้อดีในการช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย และนอกจากนี้ หากผู้ใช้งานต้องการปรับเปลี่ยนอุณหภูมิหรือระดับความแรงของลมก็สามารภปรับระดับได้ด้วยการป้อนข้อมูลผ่านปุ่มควบคุม ซึ่งการให้ข้อมูลของผู้ใช้ในลักษณะนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นข้อมูลย้อนกลับสู่ระบบการทำงานเพื่อให้ได้อุณหภูมิห้องตามที่ต้องการ

รูปที่ 11 เครื่องปรับอากาศ

รูปที่ 12 ระบบทางเทคโนโลยีของเครื่องปรับอากาศ

หากวิเคราะห์ระบบการทำงานของเครื่องปรับอากาศโดยละเอียดแล้วจะพบว่า เครื่องปรับอากาศมีส่วนประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่างอยู่ภายใน ทำหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น ระบบปรับอากาศเป็นระบบที่มีสารพาความร้อนจากภายในห้องไปนอกห้อง ซึ่งมีระบบย่อยสำคัญทำงานร่วมกัน ได้แก่ ระบบอัดความดัน (compressor system) ระบบคอยล์ร้อน (condenser system) ระบบลดความดัน (expansion system) และระบบคอยล์เย็น (evaporator system)

ระบบย่อยของเครื่องปรับอากาศแต่ละส่วนจะมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ ระบบคอยล์เย็น (evaporator system) ซึ่งมีสารทำความเย็นอยู่ภายในจะดูดความร้อนจากอากาศภายในห้องส่งผ่านไปยังระบบอัดความดัน หรือที่เรียกว่า คอมเพรสเซอร์ (compressor system) เพื่อเพิ่มความดันสารทำความเย็นก่อนส่งต่อไปยังระบบคอยล์ร้อน (condenser system) เพื่อถ่ายเทความร้อนออกสู่ภายนอกห้องโดยมีพัดลมช่วยระบบความร้อนอยู่ด้วย จากนั้นสารทำความเย็นจะถูกลดความดันโดยระบบลดความดัน (expansion system) ทำให้อุณหภูมิลดลงและส่งต่อไปยังระบบคอยล์เย็นภายในตัวเครื่องอีกครั้ง ซึ่งการทำงานลักษณะนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละระบบย่อยของเครื่องปรับอากาศจะมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกัน และหากระบบใดผิดพลาดจะส่งผลต่อการทำงานของเครื่อง

ปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องปรับอากาศให้มีคุณภาพ ประหยัดพลังงานไฟฟ้า และอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์หลายรูปแบบ เช่น เทคโนโลยี inverter ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในการควบคุมการทำงานของคอมเพรสเซอร์ รักษาความเย็นในห้องให้คงที่ หรือระบบทำความสะอาดแผ่นกรองอัตโนมัติ (auto filter cleaning) ที่มีระบบการเก็บฝุ่นไว้ในกล่องโดยไม่ต้องถอดมาล้างบ่อยครั้ง

4. การทำงานผิดพลาดของระบบ (system failure)

ระบบทางเทคโนโลยีทั้งที่เป็นระบบอย่างง่ายและระบบที่ซับซ้อน หากมีส่วนประกอบใดหรือระบบย่อยใดทำงานผิดพลาด อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของเทคโนโลยีนั้นได้ เช่น พัดลม หากปุ่มปรับระดับความแรงของพัดลมเสียหาย จะทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถปรับระดับความแรงของพัดลมได้ตามต้องการ จึงจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง (maintenance) เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ

ในบางครั้ง เทคโนโลยีบางอย่างมีความซับซ้อน มีระบบย่อยหลายส่วนทำงานร่วมกัน และหากระบบย่อยอันหนึ่งเกิดทำงานผิดพลาดหรือเสียหาย จะส่งผลต่อการทำงานของระบบใหญ่ได้ด้วย เช่น ระบบเครื่องปรับอากาศที่มีองค์ประกอบของระบบย่อยหลายส่วน ทั้งรีโมท ตัวเครื่อง ระบบตัดไฟอัตโนมัติ และอื่น ๆ หากมีระบบย่อยใดเสียหายหรือมีสิ่งรบกวนการทำงาน ย่อมส่งผลต่อการทำงานของเครื่องปรับอากาศที่จะทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาและซ่อมบำรุง ซึ่งบางอย่างผู้ใช้สามารถทำเองได้ เช่น การซ่อมอุปกรณ์พื้นฐาน หรือการล้างแผ่นรองฝุ่นให้สะอาดอย่างน้อย 6 เดือนครั้ง แต่หากเป็นการเสียหายของอุปกรณ์ภายในที่ซับซ้อน จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาซ่อมแซมแทน เพื่อป้องกันอัตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับผู้ใช้หรือความเสียหายที่อาจมีต่อระบบเครื่องปรับอากาศเองด้วย

ตัวอย่างการทำงานผิดพลาดของระบบทางเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหา เช่น อุณหภูมิของอากาศภายในห้องไม่เป็นไปตามต้องการ สามารถวิเคราะห์ระบบการทำงานเพื่อหาสาเหตุและสิ่งที่เกิดข้อผิดพลาดอันจะนำไปสู่การแก้ไขได้ถูกต้อง

รูปที่ 14 เครื่องปรับอากาศไม่ทำให้อุณหภูมิห้องลดลงได้ตามที่ต้องการ

ปัญหาที่พบ คือ อุณหภูมิของอากาศภายในห้อง ไม่ตรงกับอุณหภูมิที่ตั้งไว้กับเครื่องปรับอากาศ

ระบบที่ผิดพลาดหรือสาเหตุของปัญหา

การทำงานผิดพลาดของระบบเครื่องปรับอากาศอาจเกิดขึ้นได้หลายส่วน โดยอาจพิจารณาได้ดังนี้

- แผ่นกรองอากาศอุดตัน ทำให้การไหลเวียนของอากาศจากภายในห้องเพื่อผ่านเข้าไปในตัวเครื่องสู่ระบบทำความเย็นไม่สะดวก มีผลทำให้การทำงานของเครื่องไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้อุณหภูมิในห้องไม่เป็นไปตามต้องการ

- คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน มีผลทำให้สารทำความเย็นจากคอยล์เย็นไม่สามารถไหลไปสู่คอยล์ร้อน เพื่อการระบายความร้อนออกไปยังภายนอกห้องได้

- ระบบลดความดัน (expansion valve) เกิดการอุดตันหรือเกิดความเสียหาย มีผลทำให้สารทำความเย็นไม่สามารถไหลผ่านเข้าไปยังคอยล์เย็นได้ หรือไหลผ่านได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นของเครื่องลดลง หรือไม่สามารถทำงานได้

- คอยล์ร้อนจะมีพัดลมระบายความร้อนทำงานร่วมกันอยู่ กรณีพัดลมไม่ทำงานหรือเกิดความเสียหายทำให้ไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ถ้าแผ่นกรองอากาศมีฝุ่นอุดตันจะทำให้อากาศไหลผ่านเข้าไปสัมผัสกับคอยล์เย็นได้ไม่ดี ทำให้การแลกเปลี่ยนความร้อยระหว่างอากาศกับสารทำความเย็นไม่มีประสิทธิภาพ

แนวทางแก้ไขปัญหาความผิดพลาดของระบบ

เมื่อพบความผิดพลาดของระบบ เราสามารถตรวจสอบเบื้องต้นด้วยต้นเอง โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของเทคโนโลยี และเมื่อพบจุดบกพร่องของระบบที่ไม่ยากหรือซับซ้อนเกินไป นักเรียนสามารถแก้ปัญหาได้เอง เช่น แผ่นกรองอากาศในเครื่องปรับอากาศมีฝุ่นอุดตัน ทำให้เครื่องทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ นักเรียนสามารถแก้ไขได้โดยการถอดแผ่นกรองอากาศเพื่อล้างทำความสะอาด

แต่หากกรณีมีข้อผิดพลาดของระบบที่มีความซับซ้อน หรืออาจมีอันตรายหากแก้ไขด้วยตัวเอง จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาแก้ไข เช่น สารทำความเย็นเกิดการรั่วไหล หรือคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน

รูปที่ 15 การทำความสะอาดแผ่นกรองฝุ่งเครื่องปรับอากาศ

ระบบทางเทคโนโลยีหนึ่งๆ อาจประกอบไปด้วยระบบย่อยหลายระบบ (subsystems) ทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อให้เทคโนโลยีนั้นสามารถทำงานได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เรียกว่า ระบบทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ซึ่งความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ซับซ้อนช่วยให้เข้าใจการทำงานและสารมารถแก้ไขหรือพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก