สรุป พร บ รักษาความ ปลอดภัย

สยามรัฐออนไลน์ 4 มิถุนายน 2562 17:03 น. อาชญากรรม

วันที่ 4 มิ.ย. 2562 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร. เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ซึ่งได้เกิดปัญหาสำหรับพนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประกอบอาชีพของพนักงานรักษาความปลอดภัย จึงได้หารือและสรุปแนวทางการปฏิบัติได้ 4 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 พนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตไว้แล้วตามบทเฉพาะกาลมาตรา 74 วรรคหนึ่ง จะสามารถเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรรักษาความปลอดภัยจากสถานฝึกอบรม ที่นายทะเบียนกลางรับรองตามกฎกระทรวงและระเบียนคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย เพื่อการประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยต่อไปตามบทเฉพาะกาลได้หรือไม่ สรุปข้อหารือประเด็นที่ 1 การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตไว้แล้วตามมาตรา 74 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกกฎกระทรวงรับรองสถานฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2560 และปัจจุบันมีสถานฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจากนายทะเบียนกลางแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต สามารถเข้ารับการฝีกอบรมและได้รับหนังสือรับรองจากสถานฝึกอบรมที่นายทะเบียนกลางรับรองตามมาตรา 43 ก. (4) ได้ กรณีจึงเป็นสิทธิในการเลือกสำหรับพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตไว้แล้วตามมาตรา 74 วรรคหนึ่ง ประเด็นที่ 2 การพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย รับอนุญาตสำหรับพนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดของผู้ประกอบการธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตไว้แล้วตามบทเฉพาะกาล มาตรา 74 วรรคหนึ่ง นายทะเบียนจะต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารและหลักฐานของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงการอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต พ.ศ.2560 หรือไม่ สรุปข้อหารือประเด็นที่ 2 เมื่อพิจารณาข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงการอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต พ.ศ.2560 เห็นว่าการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตของนายทะเบียน นอกจากจะต้องพิจารณาจากเอกสารและหลักฐานในการขอรับใบอนุญาตที่ถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ยังต้องพิจารณาประกอบกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัยฯ แต่โดยที่มาตรา 74 วรรคหนึ่งและวรรคสองซึ่งเป็น บทเฉพาะกาล บัญญัติแสดงให้เห็นว่า พนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตไว้ภายในสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จะได้รับการยกเว้นมิให้นำคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงกำหนด เฉพาะกรณีคุณสมบัติตามมาตรา 74 ก. (3) และ (4) และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 34 ข. (3) ดังนั้น การพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตของนายทะเบียน เพื่อแจ้งคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต ไปยังผู้ขอรับใบอนุญาต จึงยังคงต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารหลักฐานเพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ประเด็นที่ 3 การที่มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัยฯ ได้บัญญัติให้ใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต แต่ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 74 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ยื่นคำขอรับอนุญาตภายในระยะเวลาตามที่กำหนดในบทเฉพาะกาลสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ทันทีจนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน ในกรณีดังกล่าววันที่ออกใบอนุญาตให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยตามบทเฉพาะกาลนี้ จะเป็นวันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต หรือเป็นวันที่ออกใบอนุญาต สรุปข้อหารือประเด็นที่ 3 เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดโดยชัดเจนให้ถือเสมือนว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นผู้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ อีกทั้งวัตถุประสงค์ของบทเฉพาะกาลตามมาตรา 74 วรรคหนึ่ง เป็นเพียงเพื่อกำหนดรองรับให้การประกอบอาชีพสามารถกระทำต่อเนื่องต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงักก่อนที่พนักงานรักษาความปลอดภัยจะได้รับใบอนุญาต ด้วยเหตุผลดังกล่าว พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 74 วรรคหนึ่ง จึงยังมิใช่พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น วันที่ที่ระบุในใบอนุญาตจึงต้องเป็นวันที่นายทะเบียนออกใบอนุญาต มิใช่วันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ประเด็นที่ 4 ในปัจจุบันหากจำนวนสถานฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยที่นายทะเบียนกลางรับรองมีไม่เพียงพอแก่การให้บริการ พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตตามบทเฉพาะกาลมาตรา 74 วรรคหนึ่ง และพนักงานรักษาความปลอดภัยรายใหม่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยและออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติเฉพาะกาลมาตรา 75 ได้หรือไม่ สรุปข้อหารือประเด็นที่ 4 การที่มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัยฯ กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรกที่จำนวนสถานฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย มีไม่เพียงพอแก่การให้บริการ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย และออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม โดยให้ถือเป็นหนังสือรับรองตามมาตรา 34 ก. (4) ด้วยเหตุนี้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า สถานฝึกอบรมที่นายทะเบียนกลางรับรองตามมาตรา 34 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัยฯ มีจำนวนไม่เพียงพอแก่การให้บริการในวาระเริ่มแรก กรณีย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามบทเฉพาะกาลมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัยฯ ในการดำเนินการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยและออกหนังสือรับรองให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัย ซี่งได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตตามบทเฉพาะกาลมาตรา 74 วรรคหนึ่ง และพนักงานรักษาความปลอดภัยรายใหม่ได้

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก