การปฏิบัติตนเพื่อให้มีการเจริญเติบโตตามวัย วัยทารก

ทำอย่างไร ให้เด็กไทยมีพัฒนาการสมวัย

ลัดดา เหลืองรัตนมาศ

จุไรรัตน์ วัชรอาสน์

เพ็ญพรรณ พิทักษ์สงคราม

พัชราภา กาญจนอุดม

มนัสวี จำปาเทศ

ศุภกร หวานกระโทก

          จากแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง มีความแข็งแรงทางร่างกายและจิตใจ มีคุณธรรม จริยธรรม มีสำนึกความเป็นพลเมือง กล้าคิด กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ตามวิถีประชาธิปไตย และมีความสุข แต่จากข้อมูลการสำรวจพัฒนาการเด็กไทยล่าสุด เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 ตามโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มีการประเมินพัฒนาการเด็กอายุ 42 เดือน จำนวน 75,832 คน พบเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า จำนวน 11,368 คน ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการและติดตามผล จำนวน 4,872 คน และยังมีเด็กที่พัฒนาการล่าช้าอยู่ จำนวน 1,060 คน ที่ต้องได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวสังคมไทยควรตระหนักและหันมาส่งเสริมพัฒนาการของเด็กไทย เพื่อคุณภาพที่ดีของประชากรในอนาคต

พัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียน

เด็กก่อนวัยเรียน เป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโต มีพัฒนาการด้านสมองและการเรียนรู้อย่างรวดเร็วที่สุด จึงถือได้ว่าเป็นช่วงวัยที่ต้องการการปลูกฝังดูแลเป็นพิเศษ เพื่อจะได้เป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ และการพัฒนาตลอดชีวิต ให้เติบโตเป็นเด็กฉลาดและประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งพัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียนจำแนกออกเป็น 5 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านร่างกาย (Physical หรือ psycho-motor development) หมายถึง ความสามารถของร่างกาย

ในการทรงตัวในอิริยาบถต่างๆ และการเคลื่อนไหวโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่  การใช้สัมผัสรับรู้และการใช้ตาและมือประสานกันในการทำกิจกรรมต่างๆ

  1. ด้านสติปัญญา (Cognitive development) หมายถึง ความสามารถในการเรียนรู้ความสัมพันธ์

ระหว่างสิ่งต่างๆกับตนเอง การรู้คิด รู้เหตุผล และความสามารถในการแก้ปัญหาซึ่งแสดงออกด้วยการใช้ภาษาสื่อความหมายและการกระทำ ดังนั้นพัฒนาการด้านภาษาและสื่อความหมาย การใช้ตากับมือทำงานประสานกันเพื่อแก้ปัญหาและความสามารถในการปรับตัว  จึงมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านสติปัญญา

  1. ด้านจิตใจอารมณ์ (Emotional development) หมายถึง ความสามารถในด้านการแสดงความรู้สึก

เช่น พอใจ ไม่พอใจ รัก ชอบ โกรธ เกลียด กลัว และเป็นสุข ความสามารถในการแยกแยะ ลึกซึ้ง และควบคุมการแสดงออกของอารมณ์อย่างเหมาะสมเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจนการสร้างความรู้สึกที่ดีและนับถือตนเอง บางครั้งจึงมีการรวมพัฒนาการทางด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมเป็นกลุ่มเดียวกัน คือ psycho-social development

  1. ด้านสังคม (social development) หมายถึง ความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีทักษะ

การปรับตัวในสังคม คือ สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของตน ร่วมมือกับผู้อื่น มีความรับผิดชอบ  และมีความเป็นตัวของตัวเอง สำหรับเด็กหมายความรวมถึงความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน (personal-social, self-help, self -care) และการปฏิบัติตัวเหมาะสมกับกาลเทศะในบริบทเชิงสังคมและวัฒนธรรมของสังคมตนเอง และวัฒนธรรมสากล

  1. ด้านจิตวิญญาณ (spiritual development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความสามารถในการรู้จัก

คุณค่าของชีวิตของตนเอง มีกำลังใจในการควบคุมตนเองให้เลือกดำรงชีวิตในทางที่ชอบที่ควรและสร้างสรรค์  นำมาสู่การรู้จักคุณค่าชีวิตของคนอื่นๆ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และพัฒนาการด้านคุณธรรม (moral development)  เช่น  ความเมตตากรุณา  ซื่อสัตย์สุจริต  ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตที่ดีงาม

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก

เด็กเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงเป็นวัยที่ควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม เพื่อให้ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาสู่ตัวเด็ก แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแม่หรือผู้ดูแลเด็ก มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า รูปแบบการเลี้ยงดู อายุ การศึกษา รายได้ ของแม่หรือผู้ดูแลเด็ก รวมถึงระยะเวลาที่เด็กได้รับนมแม่ มีส่วนสัมพันธ์กับพัฒนาการเด็ก แม่ในวัยผู้ใหญ่จะมีพฤติกรรมการปฏิบัติตน มีวุฒิภาวะที่ดีกว่าแม่ที่เป็นวัยรุ่น ซึ่งวุฒิภาวะเป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคลสามารถปรับตัวและทนต่อบทบาทความเป็นแม่ โดยอาศัยสติปัญญา การเรียนรู้ประสบการณ์ในอดีต มองเห็นความสำคัญ มีความพร้อมที่จะปรับตัวทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ แม่ที่มีระดับการศึกษาสูง จะสามารถที่จะหาแหล่งสนับสนุนเมื่อต้องการได้ดีกว่าแม่ที่มีระดับการศึกษาต่ำ รวมถึงสามารถปรับตัวต่อบทบาทการเป็นแม่ได้ดีกว่าด้วย เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ของครอบครัวสูงจะมีสุขภาพแข็งแรง และมีน้ำหนักแรกคลอดสูง มีการอบรมเลี้ยงดูที่ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านดีกว่าครอบครัวที่มีรายได้น้อย

ระยะเวลาที่เด็กได้รับนมแม่เป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการเด็ก เด็กที่ได้รับนมแม่จะมีระดับของสติปัญญาหรือไอคิวที่ดีกว่าเด็กที่ได้รับนมผสม เนื่องจากในนมแม่อุดมด้วยสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นทั้งต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและการพัฒนาของลูกน้อย ได้แก่ ดีเอชเอ (DHA) ทอรีน (Taurine) แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) ไลโซไซม์ (Lysozyme) เด็กที่ได้ดื่มนมแม่อย่างสม่ำเสมอ จะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างรอบด้านผ่านการดื่มนม ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้กลิ่นของแม่ผ่านการโอบกอดใกล้ชิด การใช้ปากและอวัยวะในช่องปาก การสบตากับแม่ การเห็นหน้าแม่ขณะดูดนม การพัฒนากล้ามเนื้อแขนขาเมื่อเล่นกับแม่ และพัฒนาการของระบบการย่อยอาหาร การให้นมแม่แต่ละครั้งแม่จะต้องโอบกอดลูกแนบอก ความสุขใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความอบอุ่น จะถูกปลูกฝังไว้ในจิตใจลูกตั้งแต่วัยแรกเริ่มของชีวิต ช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทั้งทางอารมณ์ และจิตใจ จะเห็นได้ว่านมแม่เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ สามารถลดอัตราการเจ็บป่วยให้เกิดได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ได้รับนมผสม

พัฒนาการเด็กที่ดีเริ่มต้นจากครอบครัว เด็กจะเติบโตมีคุณภาพชีวิตและบุคลิกภาพเช่นไร จะเป็นคนดีมุ่งทำประโยชน์แก่สังคมหรือจะเป็นคนด้อยสมรรถภาพ สร้างปัญหาแก่ตนและสังคม ส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับสภาพครอบครัวและวิธีการอบรมเลี้ยงดูจากบุคคลในครอบครัวเป็นสำคัญ เพราะนอกจากครอบครัวจะถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมแล้วยังทำหน้าที่ดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโตพึ่งตนเองได้ เป็นแบบอย่างที่หล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม ตลอดจนจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปลูกฝังค่านิยม ความรัก และคุณค่าของการมีชีวิต ด้วยเหตุนี้การอบรมเลี้ยงดูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการด้านต่างๆ และเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลครอบคลุมชีวิตมากกว่าสิ่งอื่นใด และผู้ที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุดต่อการอบรมเลี้ยงดูบุตร คือ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองนั่นเอง จากงานวิจัยที่ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการเด็กปฐมวัยในโรงเรียนสังกัดเขตเทศบาลเมืองชลบุรี แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการเลี้ยงดูจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่มีพัฒนาการสมวัยมากกว่าพัฒนาการล่าช้า ส่วนเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบควบคุม แบบตามใจ หรือแบบทอดทิ้ง มีพัฒนาการล่าช้ามากกว่าพัฒนาการสมวัย เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบทอดทิ้งมีความน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะส่งผลให้เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบนี้มีลักษณะที่ก้าวร้าว ต่อต้านสังคม (Antisocial) นำไปสู่การติดยาเสพติด หรือการกระทำผิดทางอาชญากรรมต่างๆได้

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียน

การจะส่งเสริมให้เด็กมีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดี สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จึงควรต้องได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในทุกด้านอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ซึ่งการส่งเสริมสุขภาพในเด็กก่อนวัยเรียนจะส่งผลให้เด็กมีสุขภาพที่ดีและมีพัฒนาการที่สมวัย เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถส่งเสริมสุขภาพร่างกายของตนเองให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปราศจากโรค สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข  ดังนั้นการดูแลและปลูกฝังให้เด็กมีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

วิธีการการส่งเสริมสุขภาพของเด็กวัยก่อนเรียนตามแบบแผนของเพนเดอร์ ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านความรับผิดชอบต่อสุขภาพ เป็นการดูแลส่งเสริมสุขภาพอนามัยของเด็ก เช่น การดูแลสุขภาพ

ร่างกายให้สะอาด จัดอาหารให้สะอาดถูกสุขลักษณะไม่ปนเปื้อน ดูแลของเล่นให้สะอาด จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดมีอากาศถ่ายเทและมีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ สารเคมีต่างๆ การพาเด็กมาตรวจสุขภาพ รับวัคซีน และพบแพทย์เพื่อให้การรักษาเมื่อเจ็บป่วย รวมทั้งแสวงหาความรู้ในการดูแลสุขภาพเด็กจากการอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์เกี่ยวกับสุขภาพเด็ก

  1. ด้านโภชนาการ เป็นการส่งเสริมด้านอาหารและโภชนาการให้เด็กได้อย่างครบถ้วน โดยจัดหา

อาหารให้ถูกต้องเหมาะสมทั้งปริมาณและคุณค่า หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีประโยชน์และเป็นโทษ เพื่อให้เด็กสามารถเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจและพัฒนาการด้านต่างๆอย่างครบถ้วน

  1. ด้านการออกกำลังกาย เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ ช่วยกระตุ้นการ

ทำงานของระบบต่างๆภายในร่างกาย ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ปอด การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เกิดภูมิต้านทานโรค และทำให้เด็กมีอารมณ์แจ่มใสผ่อนคลายความตึงเครียด ช่วยให้เด็กเรียนรู้อยู่ร่วมกับผู้อื่นและการทำงานกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ควรปล่อยให้เด็กมีอิสระในการเคลื่อนไหวแขนขา ให้ได้เดิน คลานหรือวิ่ง และจัดให้เล่นของเล่นประเภทลากจูง ได้ปีนป่ายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่นเย็นสบายและปลอดภัยจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อของเด็ก

  1. ด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ สามารถทำได้โดยการให้กำลังใจ ใกล้ชิดเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝน

การช่วยเหลือตนเองให้มากขึ้น หากเด็กวัยนี้มีการล้มเหลวในการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง จะทำให้เกิดความฝังใจ ไม่มั่นใจ และกลายเป็นเด็กขี้อายต่อไปได้

  1. ด้านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การที่จะส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งกับ

บิดามารดาเอง บุคคลในครอบครัว ญาติพี่น้องหรือเด็กในวัยเดียวกัน เช่น จัดให้มีกิจกรรมร่วมกัน เด็กวัย 1-3 ปี ตามปกติจะยังกลัวคนแปลกหน้าอยู่ ควรส่งเสริมให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆให้มากขึ้น เช่น พาไปพบปะกับญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง

  1. ด้านการจัดการกับความเครียด กิจกรรมการคลายเครียดสามารถกระทำได้โดยการเล่านิทานหรือ

ร้องเพลงให้เด็กฟัง ปลอบโยนเมื่อเด็กมีความกลัวหรือวิตกกังวล จัดหาของเล่นให้เหมาะสมกับวัยให้เด็กได้เล่น เพื่อให้เด็กผ่อนคลายรวมทั้งเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก เด็กควรให้ได้รับการนอนหลับทั้งกลางวันและกลางคืนไม่น้อยกว่า 8-10 ชั่วโมง นอกจากนี้ควรจัดสันทนาการที่ช่วยลดความเครียดและเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ

บทบาทในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กของพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ปัจจุบันสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายไปเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่จะเป็นผู้ที่มีบทบาทในการอบรมเลี้ยงดูบุตร และในขณะเดียวกันพ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องประกอบอาชีพนอกบ้าน ทำให้มีเวลาในการดูแลเอาใจใส่บุตรน้อยลงและส่งบุตรไปเลี้ยงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเวลากลางวัน การอบรมเลี้ยงดูจึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลเด็ก ดังนั้นผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็กตลอดจนสอนและอบรมเด็ก ซึ่งบทบาทของพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ประกอบด้วย

  1. ปฏิบัติหน้าที่ตามกิจวัตรประจำวันของเด็ก เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการทุกด้าน

เหมาะสมตามวัย

  1. ส่งเสริมพัฒนาการเด็กในลักษณะบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ คือ ให้เด็กได้พัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย

จิตใจ อารมณ์ สังคม และจริยธรรมไปพร้อมกัน โดยให้โอกาสเด็กเรียนรู้จากสิ่งของและผู้คนที่อยู่รอบข้าง ซึ่งเด็กจะเรียนรู้โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 การเคลื่อนไหว การเล่น และการลงมือกระทำ ดังนั้น พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก จะต้องส่งเสริม ให้โอกาสเด็กได้พัฒนาอย่างเต็มที่ รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กและเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการปฏิบัติอย่างเหมาะสม เช่น การพูดจาด้วยคำพูดและกิริยาท่าทางที่นุ่มนวล สุภาพ อ่อนโยน และแสดงความรักความอบอุ่น

การปลูกฝังให้เด็กเกิดคุณธรรมจริยธรรมนั้น  พ่อแม่และผู้ดูแลต้องสอนให้เด็กรู้จักเคารพกฎกติกา  ฝึกให้เด็กรู้จักพึ่งพาตัวเอง สอนให้เด็กรับผิดชอบตัวเอง ฝึกความมีวินัยให้กับเด็ก เช่น การชักชวนให้เด็กเก็บที่นอนให้เรียบร้อยหลังตื่นนอนทุกวัน ควรให้เด็กเลือกและตัดสินใจทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง และเมื่อเด็กรับปากว่าจะทำแล้วต้องให้เขารับผิดชอบและทำสิ่งนั้นจนสำเร็จ ควรให้รางวัลหรือแรงเสริมเมื่อเด็กทำได้ จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความภาคภูมิใจและรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและสังคม ต้องใส่ใจพูดคุยและรับฟังเด็กด้วยท่าทีที่เป็นมิตรเสมอ สอนให้เด็กละอายแก่ใจถ้าทำสิ่งไม่ดีแม้ว่าจะไม่มีคนเห็น เป็นการสร้างจิตสำนึกให้เด็ก โดยหลีกเลี่ยงการทำโทษที่รุนแรง

  1. สังเกตและบันทึกการเจริญเติบโตพฤติกรรม พัฒนาการด้านต่างๆของเด็ก เพื่อจะได้เห็นความ

เปลี่ยนแปลงทั้งปกติและผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งจะนำไปสู่การค้นหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขได้ทันท่วงที

  1. จัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะเหมาะสมกับพัฒนาการเด็กทุกด้าน เช่น การจัดเก็บของเล่น

ของใช้ภายในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

  1. ประสานสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว เพื่อทราบถึงพฤติกรรม และ

พัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

นอกจากนี้ผู้ดูแลเด็กจะต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาตนเองทั้งด้านวิชาการและอาชีพ โดยพัฒนาความรู้ทางวิชาการและทักษะอาชีพ ตลอดจนพัฒนาด้านบุคลิกภาพทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง

มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กของพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้แก่ การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนของผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดชลบุรี พบว่า ผู้ดูแลเด็กมีพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนทั้งหมด 6 ด้าน คือ 1) ด้านความรับผิดชอบต่อสุขภาพ คือ การระมัดระวังไม่ให้เด็กได้รับอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้ม ส่งเสริมให้เด็กรับประทานนมจากแก้วหรือกล่อง และสอนเด็กทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ใส่เสื้อผ้า แปรงฟัน ตักอาหารรับประทานเอง 2) ด้านการออกกำลังกาย คือ การจัดกิจกรรมการเล่นให้เด็กได้เคลื่อนไหวมือ แขน ขา ดูแล/สอนเด็กให้ระมัดระวังอันตรายจากการเล่นและการออกกำลังกาย และให้เด็กได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ 3) ด้านโภชนาการ คือ ดูแลให้เด็กดื่มน้ำสะอาด ดูแลให้เด็กรับประทานอาหารตามเวลามื้ออาหาร และดูแลให้เด็กรับประทานอาหารที่สะอาดไม่มีสารพิษและสิ่งเจือปน 4) ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คือ พูดคุยกับเด็กให้เด็กมีโอกาสเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ และสอนให้เด็กเห็นความสำคัญของบุคคลในครอบครัว เช่น การทำความเคารพพ่อแม่ 5) ด้านการพัฒนาทางจิตวิญญาณ คือ สอนให้เด็กรู้จักการมีระเบียบวินัย เช่น การเข้าแถว การทิ้งขยะในถังขยะ กล่าวคำชมเชยเมื่อเด็กทำความดี เช่น การแบ่งปัน การช่วยเหลือผู้อื่น การกล่าวคำขอโทษ ขอบคุณ และสอนให้เด็กรู้จักเอื้อเฟื้อและมีน้ำใจต่อผู้อื่น 6) ด้านการจัดการกับความเครียด คือ ดูแลให้เด็กนอนหลับในเวลากลางวันอย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมง ฝึกให้เด็กร้องเพลงและฟังเพลงสำหรับเด็ก และปลอบโยนให้กำลังใจเมื่อเด็กมีความวิตกกังวลหรือกลัว  และจากการศึกษาถึงวิธีการที่ผู้ปกครองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กก่อนวัยเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในเขตเทศบาลตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี พบว่า วิธีการที่ผู้ปกครองใช้มากที่สุด คือ การใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก รองลงมาเป็นวิธีการเสริมแรงทางบวกการให้รางวัล และวิธีการจัดสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ นอกจากนี้มีการศึกษาความต้องการปลูกฝังพฤติกรรมด้านคุณธรรมและความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อพฤติกรรมด้านคุณธรรมที่ปรากฏในเด็กปฐมวัยของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี กระทรวงมหาดไทย พบว่า ความต้องการปลูกฝังพฤติกรรมด้านคุณธรรมในเด็กของผู้ปกครอง โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยด้านความกตัญญูมีระดับความต้องการมากที่สุด และด้านความอดทนมีระดับความต้องการน้อยที่สุด และยังพบว่าความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อพฤติกรรมด้านคุณธรรมที่ปรากฏในเด็กโดยรวมอยู่ในระดับมากเช่นกัน โดยด้านความมีระเบียบวินัยมีระดับความคิดเห็นมากที่สุด และด้านความอดทนมีระดับความต้องการน้อยที่สุด ดังนั้นในการสนับสนุนให้พ่อแม่ส่งเสริมพฤติกรรมด้านความกตัญญูของเด็กจึงควรให้ความสำคัญไปพร้อมกับการส่งเสริมพัฒนาการในด้านอื่นๆ

            สรุป เด็กก่อนวัยเรียนซึ่งเป็นวัยเริ่มต้นที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาไปสู่วัยต่อๆไปของชีวิต ดังนั้นการที่เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยจะทำให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้ตามขีดความสามารถของเด็ก สามารถปฏิบัติตนได้เหมาะสมกับกาลเทศะ มีกริยามารยาทที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม มีวินัยต่อตนเองและสังคม เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขต่อไปในอนาคต ถ้าได้วัยนี้ถูกปล่อยปละละเลย เด็กจะเสียโอกาสในการเรียนรู้ และมีพัฒนาไม่สมวัย เกิดปัญหาเมื่อเป็นผู้ใหญ่ต่อไปได้

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2552). ๘ คุณธรรมพื้นฐาน. เข้าถึงเมื่อ 6 ตุลาคม 2558. เข้าถึงได้จาก:

//www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=13677&Key=news.

กระทรวงศึกษาธิการ. (2558). แนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา. เข้าถึงเมื่อ 28 พฤศจิกายน

  1. 2558. เข้าถึงได้จาก: //www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=43487&research.

จุไรรัตน์ วัชรอาสน์, พัชราภา กาญจนอุดม และศุภกร หวานกระโทก. (2554). พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพเด็ก

ก่อนวัยเรียนของผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดชลบุรี. วารสารสาธารณสุขมหาวิทยาลัยบูรพา, 6, 2: 108-118.

ดุลยา จิตตะยโศธร.(2552). รูปแบบการอบรมเลี้ยงดู: แนวคิดของ Diana Baumrind / Diana Baumrinds         parenting styles. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, 29: 173-87.

ทัศนียา วังสะจันทานนท์ และอ้อมจิต ว่องวานิช. (2546). การศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการส่งเสริม

สุขภาพเด็กวัย 1-3 ปีของมารดาที่มีบุตรป่วยและไม่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

นิรชา เรืองดารกานนท์ และคณะ. (2551). ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง.

คณะกรรมการสงเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแหงชาติ. (2555). แผนปฏิบัติการพัฒนาเด็กและเยาวชน

แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559. เข้าถึงเมื่อ 6 ตุลาคม 2558. เข้าถึงได้จาก: // www.dcy.go.th/webnew/uploadchild/vle/laws/law_th_20161606230302_1.

เพ็ญพรรณ  พิทักษ์สงคราม และคณะ. (2558). “ความต้องการปลูกฝังพฤติกรรมด้านคุณธรรม และความ

คิดเห็นของผู้ปกครองต่อพฤติกรรมด้านคุณธรรมที่ปรากฏ ในเด็กปฐมวัย โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี กระทรวงมหาดไทย.” ใน Proceedings รวมบทความวิจัย, 56-73. การนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง การสร้างนักคิดสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่21, 17-18 มีนาคม 2559.

เพ็ญแข ปัจจนึก. (2551). การยกระดับคุณธรรม จริยธรรมของสังคมไทยเพื่อการปฏิรูปสังคม : แนวทางและ

การปฏิบัติ. เอกสารจากสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

มนัสวี จำปาเทศ. (2558). “การศึกษาวิธีการที่ผู้ปกครองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กก่อนวัย

เรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในเขตเทศบาลตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี.” ใน Proceedings รวมบทความวิจัย, 131-139. การนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง การสร้างนักคิดสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่21, 17-18 มีนาคม 2559.

ลัดดา เหลืองรัตนมาศ, วิชุดา เวสารัตน์. “ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพัฒนาการเด็กปฐมวัยในโรงเรียนสังกัดเขตเทศบาล

เมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี.” ใน Proceedings รวมบทความวิจัย, 167-174. การนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง การสร้างนักคิดสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่21, 17-18 มีนาคม 2559.

สุธาทิพย์ วิเชียรวัฒนชัย. (2554). การศึกษาความต้องการของผู้ปกครองเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ควรปลูกฝังและ

พฤติกรรมที่ปรากฏคุณธรรมของเด็กปฐมวัย. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม.(การศึกษาปฐมวัย) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน. (2556). ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้ลูกก่อนสายเกินไป. เข้าถึงเมื่อ 6 ตุลาคม 2558.

เข้าถึงได้จาก: //www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000146885.

Pender, N.J. and Pender, A.R. (1996). Health Promotion in Nursing Practice. 3rd ed. Stamford

Connecticut : Appleton and Lange.

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก