วรรณคดีในยุคฟื้นฟูสมัยธนบุรี


เนื่องจากวรรณคดีสมัยธนบุรีได้รับอิทธิพลโดยตรงจากวรรณคดีสมัยอยุธยาตามที่กล่าวมาแล้ว
วรรณคดีสมัยธนบุรีจึงคล้ายคลึงกับวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลายในลักษณะสำคัญต่อไปนี้
๑. แต่งด้วยร้อยกรองทั้งหมดเช่นเดียวกัน โดยใช้คำประพันธ์ทุกประเภท คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย
๒. มีธรรมเนียมในการแต่งเช่นเดียวกัน เช่น ขึ้นต้นด้วยบทไหว้หรือบทประณาม มีการบรรยายและพรรณนาอย่างเข้าแบบ ทั้งบทชมต่างๆและบทพรรณนาอารมณ์ความรู้สึก มุ่งความไพเราะในการประพันธ์มากกว่าเนื้อหาสาระและแนวความคิด
๓.เนื้อเรื่องมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น ศาสนาและคำสอน เรื่องเล่าสำหรับอ่านและบทแสดงนิราศและบทสดุดี

วรรณคดีที่สำคัญในสมัยกรุงธนบุรี มีดังนี้
๑. อิเหนาคำฉันท์
๒.ลิลิตเพชรมงกุฎ

วรรณคดีที่สำคัญในสมัยรชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีดังนี้

๑. สามก๊ก (เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้อำนวยการแปลเรียบเรียง)
๒. ราชาธิราช
๓. กากีคำกลอน
๔. ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี
๕. โคลงพยุหยาตราเพชรพวง
๖. ลิลิตศรีวิชัยชาดก
๗. สมบัติอมรินทร์คำกลอน
๘. โคลงสุภาษิต
๙. โคลงและร่ายจารึกเรื่องสร้างภูเขาทองที่วัดราชคฤห์

กวี
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช > บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ๔ ตอน คือ ตอนพระมงกุฎประลองศร ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานริน ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัทจนถึง ตอนผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑ

- พระภิกษุอินท์และพระยาราชสุภาวดี > กฤษณาสอนน้องคำฉันท์

- นายสวนมหาดเล็ก > โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

- หลวงสรวิชิต (เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ) > อิเหนาคำฉันท์ / ลิลิตเพชรมงกุฎ

- พระยามหานุภาพ > นิราศเมืองกวางตุ้ง/ เพลงยาว

๑. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ๔ ตอน


ผู้แต่ง ปรากฏในบานแผนกฉบับตัวเขียนว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงถือกำเนิดเป็นบุตรจีนไหหลำ ชื่อไหฮองที่ขุนพัฒน์นายอากรบ่อนเบี้ย พระราชมารดาเป็นไทย ชื่อนกเอี้ยง เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๗ ที่กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามว่า สิน เมื่อทรงพระชนมายุได้ ๙ พรรษา ทรงศึกษาหนังสือไทยและขอมในสำนักพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาศน์ (วัดคลัง)
         พระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสามพิหาร ทรงลาสิกขาแล้วได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

         ในระยะนี้ได้ทรงศึกษาวิชาเพลงอาวุธ ตำราพิชัยสงครามและภาษาต่างประเทศที่ จีน ญวน และแขก เป็นต้น

         เมื่อพระชนมายุครบ ได้ทรงผนวช ณ วัดโกษาวาศน์ ๓ พรรษา เมื่อทรงลาสิกขาแล้วทรงเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กรายงานที่กรมมหาดไทย และศาลหลวงกรมวังในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
ครั้งเสด็จไปชำระความที่เมืองตากมีความชอบ ทรงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากแล้วเลื่อนเป็นพระยาตาก ตำแหน่งเจ้าเมืองตาก ต่อมาตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรว่างลง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศมีพระบรมราชโองการให้พระองค์เสด็จลงมากรุงศรีอยุธยา เพื่อโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร เผอิญเกิดศึกพม่า ต้องทรงช่วยป้องกันพระนคร

          ต่อมาเกิดท้อพระทัย เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่เข้มแข็ง ประกอบกับถูกตำหนิโทษกรณีพระยาเพชรบุรีต้องข้าศึกถึงแก่อนิจกรรมในที่รบ พระองค์จึงทรงรวบรวมกำลังไทยจีนประมาณ ๕๐๐ คน ตีฝ่าพม่าไปทางตะวันออก จนได้ตั้งพระองค์เป็นใหญ่อยู่ที่จันทบุรี ขณะที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อทรงรวบรวมกำลังได้แล้วพระองค์ได้ทัพมาขับไล่พม่าที่ตั้งกองควบคุมกรุงศรีอยุธยา  ทรงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ สถาปนาเมืองธนบุรีใน พ.ศ.๒๓๑๐ เมื่อเสวยราชย์แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องทรงตรากตรำพระวรกาย เสด็จกรีธาทัพไปปราบยุคเข็ญภายในและต่อสู้ขับไล่ข้าศึกภายนอกแทบไม่มีเวลาว่างเว้น แม้กระนั้นทรงพระวิริยะอุตสาหะ ทำนุบำรุงฟื้นฟูบ้านเมืองทั้งในด้านศานา ศิลปวัฒนธรรมและขวัญของประชาชน ให้คืนคงบริบูรณ์เช่นสมัยกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชและสวางคบุรีมาจำลองไว้ ณ กรุงธนบุรี ทรงนำคณะละครผู้หญิงมาจากนครศรีธรรมราช

           ทรงฟื้นฟูละครในของหลวงและทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ในรัชสมัยของพระองค์อาณาเขตของประเทศแผ่ขยายไปถึงเชียงใหม่  ทรงได้นำพระแก้วมาจากเวียงจันทน์ และโปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานไว้ที่วัดแจ้งในเขตพระราชฐาน  ในโอกาสสำคัญก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีมหรสพรวมถึงละครในสมโภช นับเป็นการบำรุงรักษาศิลปของชาติและได้บำรุงขวัญของประชาชนพร้อมกันไปด้วย

          ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ ทรงฝักใฝ่ในการปฏิบัติธรรมมากและเป็นเหตุให้พระสติฟั่นเฟือน สำคัญพระองค์ว่าสำเร็จมรรคผล พระยาสวรรค์ตั้งตัวเป็นใหญ่ยึดกรุงธนบุรีไว้ได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกบังคับให้เสด็จออกผนวชที่วัดแจ้ง

        สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับจากปราบกัมพูชาเข้ามาระงับยุคเข็ญ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕
ประวัติ มีบอกวันเวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้หน้าต้นที่เล่มว่า วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขาล โทศก  พระราชนิพนธ์ทรงแต่งชั้นต้นเป็นปฐมยังทรามยังพอดีอยู่ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๑๓ ซึ่งเป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลของพระองค์  ฉบับที่เหลือมาจนทุกวันนี้ เป็นตัวเขียนชุบเส้นทอง บอกเวลาเขียนไว้ว่า วันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๑๔๒ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๒๓


        จากข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีและพระราชวิจารณ์  ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเล่าเรื่องหนังสือรามเกียรติ์ ซึ่งธนิต อยู่โพธิ์ เรียบเรียง ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จกลับจากราชการสงครามเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อเดือน ๔ ปลาย พ.ศ. ๒๓๑๒
ทรงนำเจ้านครกับครอบครัวพร้อมทั้งคณะละครผู้หญิงมายังกรุงธนบุรีและในครั้งนั้นอาจได้บทละครจากนครศรีธรรมราชเข้ามาด้วย ต่อมาในเดือน ๖ พ.ศ.๒๓๑๓ นั้นเอง ได้มีใบบอกรายงานเรื่องเจ้าพระฝางประพฤติมิชอบตั้งตัวเป็นใหญ่ เมื่อทรงทราบก็รับสั่งให้เตรียมการสงครามและเสด็จกรีธาทัพไปปราบเจ้าพระฝาง ณ เมืองสวางคบุรี เมื่อเดือน ๘ พ.ศ. ๒๓๑๓ หากพิจารณากำหนดเวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ตามบานแผนกที่ว่า วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๑๓
ระยะเวลาที่ทรงว่างราชการสงครามสำหรับทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ก็เพียง ๑ เดือน
และการที่ทรงพระอุตสาหะทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นในครั้งนี้  อาจมีมูลเหตุบางส่วนจากการได้คณะละครผู้หญิงและบทละครเมืองนครศรีธรรมราชมาก็เป็นได้ พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์อาจได้ใช้เล่นละครหลวงในงานสมโภชครั้งสำคัญๆ ตลอดสมัยกรุงธนบุรี

       บทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔


        เรื่องรามเกียรติ์ของไทยได้ต้นเค้ามาจากเรื่องรามายณะของอินเดีย  เรื่องรามเกียรติ์คงเข้ามาแพร่หลายในหมู่คนไทยนับแต่สมัยสุโขทัยแล้ว
เพราะปรากฏคำว่า ถ้ำพระราม ในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพระนามของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ก็ตั้งขึ้นตามพระนามของพระรามซึ่งเป็นพระนารายณ์อวตารนั่นเอง เรื่องรามเกียรติ์มีอิทธิพลต่อนาฏศิลป์และวรรณคดีของไทยเป็นอันมาก  เรื่องนี้ผูกขึ้นเป็นบทแสดงหนัง ละครและโขน และแต่งขึ้นสำหรับอ่านโดยตรงมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น

๑. รามเกียรติ์บทพากย์ แต่งด้วยกาพย์ ใช้สำหรับพากย์หนัง สันนิษฐานว่าแต่งระหว่างรัชกาลสมเด็จพระเพทราชากับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
บทพากย์เรื่องรามเกียรติ์เหลืออยู่เป็นบางตอน สำหรับตอนนางลอยสันนิษฐานว่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงนำมาแปลงใหม่และทรงใช้เป็นบทพากย์โขน

๒. รามเกียรติ์บทละคร แต่งด้วยกลอนบทละคร มีเรื่องตั้งแต่ พระรามประชุมพล ถึง องคตสื่อสาร
๓. ราชาพิลาปคำฉันท์ แต่งด้วยฉันท์ ปรากฏบางตอนในจินดามณีของพระโหราธิบดีสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
๔. โคลงพาลีสอนน้องและโคลงทศรถสอนพระราม แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ เชื่อกันมาว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เนื่องจากเรื่องรามเกียรติ์เป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในด้านเนื้อเรื่องและบทการแสดงมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหารชทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ขึ้นจึงแสดงให้เห็นประจักษ์ถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับถ่ายทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา
ทำนองแต่ง แต่งเป็นกลอนบทละคร
ความมุ่งหมาย เพื่อใช้เป็นบทสำหรับเล่นละครใน

เรื่องย่อ 

เนื้อเรื่องมี ๔ ตอนดังนี้
๑. พระมงกุฎประลองศร พระมงกุฎ พระลบ และนางสีดาอาศัยอยู่กับพระฤาษีวัชมฤค พระฤาษีประสิทธ์ประสาทวิชาการและถวายธนูศิลป์วิเศษแก่สองกุมาร วันหนึ่งพระมงกุฎแผลงศรอันเรืองฤทธิ์เกิดเสียงกึกก้องไปทั่ว นางสีดาหวนระลึกถึงพระรามแล้วทรงพระกรรแสง พระลบจึงทราบว่าพระรามเป็นพระบิดา พระรามทรงได้ยินเสียงกัมปนาท รับสั่งให้ประกอบพิธีอัศวเมธ ปล่อยม้าอุปการ มีพระบัญชาให้พระพรต พระสัตรุด และหนุมานคุมกองทัพตามไป หนุมานเสียทีพระมงกุฎ พระพรตต้องเสด็จออกรบจับพระมงกุฎได้ นำมาถวายพระรามเพื่อลงโทษแต่พระลบลอบมาแก้ไขช่วยพาหนีไปได้ก่อน จบลงตอนพระรามทรงกรีธาทัพไปจับพระกุมารทั้งสอง
๒. หนุมานเกี้ยวนางวานริน ถึงท้าวมาลีวราชเสด็จไปสนามรบ
๓. ท้าวมาลีวราชว่าความ
๔. ทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด

พระลักษมณ์ต้องหอกกบิลพัทถึงผูกผมทศกัณฐ์ เรื่องตอน ๒-๓-๔ มีความต่อเนื่องกัน หนุมาน ติดตามวิรุณจำบัง พบ นางวานริน ซึ่งเป็นนางฟ้าถูกสาปได้นางเป็นภรรยา นางวานรินพ้นคำสาปชี้ทางให้หนุมานได้ตามไปประหารวิรุณจำบัง ทศกัณฐ์ ให้เสนาไปทูลเชิญ ท้าวมาลีวราช มาหวังจะให้เข้าข้างตน ท้าวมาลีวราชว่าความ พิพากษาให้ทศกัณฐ์ คืนนางสีดาแก่ พระราม ทศกัณฐ์ขัดขืน ท้าวมาลีวราชจึงสาปแช่งทศกัณฐ์และอวยพรพระราม ทศกัณฐ์ทำพิธีปลุกเสกหอก กบิลพัท ของบิดาที่เชิงเขาพระสุเมรุ ทำพิธีเผารูปปั้นเทวดาเพื่อให้ตาย เพราะแค้นที่เทวดาช่วยเป็นพยานให้พระราม ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ เทพบุตรพาลี ไปทำลายพิธีตามบัญชาของ พระอิศวร ทศกัณฐ์เข้าใจว่า พิเภก มีส่วนรู้เห็น จึงยกทัพไปหมายประหารพิเภก แต่พระลักษมณ์ รับเคราะห์ถูกหอกกบิลพัทของทศกัณฐ์ พิเภกทูลพระรามให้ใช้พระรามไปหาต้นสังกรณีตรีชวาที่ยอดเขาพระสุเมรุมาแก้  หนุมานหักยอดปราสาทของทศกัณฐ์ เข้าไปผูกผมทศกัณฐ์ติดกับ นางมณโฑ ทศกัณฐ์เชิญ พระฤาษีโคบุตร อาจารย์ของตนมาแก้แต่แก้ไม่ได้ พระฤาษีแนะให้นางมณโฑตบเศียรทศกัณฐ์สามทีตามคำสาปของหนุมาน ผมของทศกัณฐ์กับนางมณโฑจึงหลุดจากกัน จบลงตอน พระวิษณุกรรม ลงมาสร้างยอดปราสาทให้แก่ทศกัณฐ์

        พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีศิลปทางวรรณคดีด้อยกว่าบทพระราชนิพนธ์เรื่องเดียวกันของรัชกาลที่ ๑และรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีลักษณะพิเศษเฉพาะคือ ถึงแม้จะใช้คำรวบรัดและลีลารวดเร็วเป็นส่วนมาก อันแสดงพระราชอัธยาศัยเปิดเผยตรงไปตรงมา ตัดสินพระทัยฉับไว เข้มแข็งเฉียบขาด แต่บางตอนก็ใช้ถ้อยคำสำนวนเหมาะสมแก่เรื่อง ตอนใดเป็นบทรักก็ใช้ถ้อยคำอ่อนโยน
ตอนใดเป็นบทสั่งสอนก็ใช้ศัพท์ทางธรรมลึกซึ้งแสดงถึงความใฝ่พระทัยในธรรมชั้นสูงของพระองค์
เป็นที่น่าสังเกตว่าบทพระราชนิพนธ์ถึงแม้โดยทั่วไป จะใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารแข็งกร้าวและลีลารวดเร็ว แต่ก็แทรกความขบขันไว้
ในด้านเนื้อเรื่อง บทพระราชนิพนธ์ทั้ง ๔ ตอน มีความสนุกเพลิดเพลินน่าตื่นเต้นและได้แสดงถึงคติธรรมในด้านต่างๆ เช่น ความกตัญญูของลูกต่อแม่ ซึ่งพระมงกุฎและพระลบแสดงต่อนางสีดา ความเที่ยงธรรมปราศจากอคติของท้าวมาลีวราช
การปฏิบัติธรรมขั้นสูงซึ่งวัชมฤคฤาษีสอนแก่ทศกัณฐ์ ตลอดจนความกล้าหาญเก่งกล้าสามารถของพระมงกุฎ พระลบ และหนุมานด้วย

. ๒. กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ 

ผู้แต่ง ปรากฏนามผู้แต่งในตอนท้ายของเรื่องว่าพระยาราชสุภาวดีและพระภิกษุอินท์เป็นผู้แต่ง สันนิษฐานว่า พระยาราชสุภาวดีอาจแต่งตอนต้น พระภิกษุอินท์แต่งตอนปลาย หรือพระภิกษุอินท์แต่งทั้งหมดตามคำอาราธนาของพระยาราชสุภาวดี พระยาราชสุภาวดีเป็นข้าราชการในสมัยกรุงธนบุรี ในคราวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จยาตราทัพไปจัดการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริยวงศ์  ครองเมืองนครศรีธรรมราชแทนเจ้านคร ซึ่งมีรับสั่งให้นำตัวพร้อมกับครอบครัวมาอยู่ที่กรุงธนบุรี  ครั้งนั้นทรงแต่งตั้งให้พระยาราชสุภาวดีอยู่ช่วยราชการ ตำแหน่งเสนาบดีหลวงที่เมืองนครศรีธรรมราชด้วย  แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดศึกพม่าทางกรุงธนบุรี พระยาราชสุภาวดีได้มาช่วยงานพระราชสงคราม  เมื่อเจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. ๒๓๑๙ ได้โปรดเกล้าฯให้พระนครกลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม และมีรับสั่งให้พระยาราชสุภาวดีย้ายมาประจำราชการที่กรุงธนบุรี  รวมเวลาที่พระยาราชสุภาวดีรับราชการอยูที่เมืองนครศรีธรรมราช ๗ ปี
พระภิกษุอินท์จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งที่เมืองนครศรีธรรมราช คงเป็นสมณะที่ทรงความรู้และเชี่ยวชาญการกวีมีชื่อเสียงผู้หนึ่งส่วนประวัตินอกจากนี้ไม่ปรากฏ

ประวัติ สันนิษฐานว่าพระยาราชสุภาวดีและพระภิกษุอินท์แต่งกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๒ - ๒๓๑๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระยาราชสุภาวดีอยู่ช่วยราชการที่เมืองนครศรีธรรมราช กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ได้เค้าเรื่อง มาจากมหากาพย์มหาภารตะของอินเดีย นางกฤษณาในเรื่องนี้มีชื่อว่า เทราปที เป็นธิดาท้าวทรุบถแห่งปัญจาลนคร นางได้เข้าพิธีสยุมพรกับอรชุน ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์หนึ่งในปาณฑพทั้ง ๕ ซึ่งยิงธนูชนะจึงได้นาง เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๕ ซึ่งได้แก่ ยุธิษเฐียร ภีมเสน อรชุน นกุล สหเทพ พานางไปเฝ้านางกุนตีพระมารดา นางกุนตีเข้าใจว่าโอรสได้ลาภสำคัญมาจึงรับสั่งให้ใช้ร่วมกัน  นางกฤษณาจึงได้เป็นชายาแห่งกษัตริย์ทั้ง ๕ โดยผลัดเปลี่ยนไปปรนนิบัติพระสวามีองค์ละ ๒ วัน

เรื่องกฤษณาสอนน้องได้เค้ามาจากมหาภารตะตอนวนบรรพ ซึ่งเป็นตอนที่กษัตริย์ปาณฑพทั้ง ๕ แพ้สกาแก่ทุรโยธน์  ต้องออกไปประทับป่า มีนางกฤษณาโดยเสด็จด้วย ครั้งนั้นพระกฤษณะซึ่งเป็นสหายรักของอรชุน พานางสัตยภามามเหสีเสด็จมาเยี่ยมปาณฑพทั้ง ๕ นางสัตยภามา คือ นางจิรประภาในกฤษณาสอนน้องคำฉันท์  เมื่ออยู่ด้วยกันตามลำพัง นางสัตยภามาได้ถามนางกฤษณาถึงข้อปฏิบัติที่ทำให้นางสามารถครองใจพระสวามีทั้ง ๕ นางกฤษณาจึงชี้แจงให้ทราบอย่างแจ่มแจ้ง
เรื่องนี้กวีสมัยกรุงศรีอยุธยาคงได้แต่งไว้เป็นภาษาไทยแล้ว แต่ต้นฉบับชำรุดลบเลือนไป
พระยาราชสุภาวดีได้แต่งซ่อมขึ้นใหม่จากของเดิมและได้อาราธนาพระภิกษุอินท์ช่วยแต่งต่อจนจบบริบูรณ์  ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงนิพนธ์เรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ขึ้นอีก โดยอาจทรงดัดแปลงแก้ไขจากฉบับสมัยธนบุรี
เพราะถ้อยคำสำนวนหลายแห่งคล้ายคลึงกันมาก บางแห่งเหมือนกันทั้งวรรค บางตอนต่างกันเฉพาะลักษณะคำประพันธ์ แต่มีคำและความอย่างเดียวกัน คำฉันท์เรื่องนี้พิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙

ทำนองแต่ง แต่งเป็นฉันท์และกาพย์
ความมุ่งมายเพื่อเป็นสุภาษิตเตือนใจสตรี
เรื่องย่อ ท้าวพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีมีราชธิดา ๒ องค์คือ กฤษณา และ จันทรประภา (จิรประภา)
เมื่อพระบิดาจัดพิธีสยุมพรให้นางกฤษณาเลือกภัสดาได้ ๕ องค์ แต่นางจันทรประภาเลือกเพียงองค์เดียว นางกฤษณาปฏิบัติรับใช้ภัสดาได้ดี มีความรักใคร่ต่อกันมั่นคง ส่วนนางจันทรประภาบกพร่องในหน้าที่ของภรรยาจึงไม่มีความสุขกับสามี แต่นางเข้าใจว่านางกฤษณามีเวทย์มนตร์ผูกใจชายจึงมาขอเรียนบ้าง นางกฤษณาได้ชี้แจงความจริงว่า


การที่สามีจะรักใคร่นั้นอยู่ที่รู้จักหน้าที่ของแม่เรือนและอยู่ในโอวาทของสามี เป็นต้น 

นางจันทรประภานำคำสอนของนางกฤษณาไปปฏิบัติ สวามีก็เปลี่ยนมารักใคร่และมีความสุขเช่นเดียวกับนางกฤษณา

กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ฉบับกรุงธนบุรีไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย อาจเป็นเพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิพนธ์เรื่องเดียวกันนี้ใหม่ มีความไพเราะคมคายกว่า แต่อย่างไรก็ดี กฤษณาสอนน้องฉบับกรุงธนบุรีมีคุณค่าแก่การยกย่องเพราะช่วยรักษาวรรณกรรมซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยามิให้เสื่อมสูญ มิฉะนั้นแล้วกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตอาจไม่เกิดขึ้นได้

๓. โคลงยอพระเกียรติ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 

ผู้แต่ง ปรากฏในโคลงบทแรกว่านายสวนมหาดเล็กเป็นผู้แต่ง นายสวนมหาดเล็กรับราชตำแหน่งมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ประวัติ ปรากฏในโคลงบทแรกว่า แต่งเมื่อวันอังคารขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๙ ปี เถาะ จุลศักราช ๑๑๓๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๑๔ เป็นปีที่ ๔ แห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทำนองแต่ง แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ
ความมุ่งหมาย สันนิษฐานว่าแต่งทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อสดุดีพระบารมีของพระองค์
เรื่องย่อ เนื้อหาเป็นโคลง ๘๕ บท เริ่มต้นบอกชื่อผู้แต่ง วันเวลาที่แต่ง ต่อจากนันชมปราสาทราชวัง ป้อมปราการ รี้พล โรงอาวุธ โรงม้า ท้องพระคลัง โรงพระโอสถ นางสนมกำนัล ตลอดจนความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชน แล้วบรรยายเหตุการณ์ของบ้านเมืองทำนองประวัติศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๑๔ เช่น
การปราบยุคเข็ญภายในการรรบกับอริราชศัตรูภายนอก การทำนุบำรุงหัวเมืองต่างๆ ประเทศใกล้เคียงโดยอ้อมเป็นข้ามขัณฑสีมา ตอนท้ายขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุ้มครอง อภิบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

       โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนี้ มีลักษณะดีเด่นทั้งทางวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพราะใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารเรียบง่าย เข้าใจง่ายและให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ถูกต้อง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงยกย่องไว้ในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีเรื่องนี้ ปรากฏว่านายสวนมหาดเล็กเป็นผู้แต่ง สังเกตตามสำนวนเข้าใจว่าแต่งถวาย เป็นหนังสือที่นับถือกันมาว่าแต่งดี ยกย่องว่าเป็นโคลงตำราเรื่องหนึ่ง


       ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องพระราชวิจารณ์ทรงค้นหนังสือเก่าสอบเรื่องพงศาวดารครั้งกรุงธนบุรี ได้ข้อสำคัญในโคลงยอพระเกียรติของนายสวนเรื่องนี้หลายเรื่อง ดูเหมือนได้ทรงอ้างไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ ทรงสรรเสริญโคลงเรื่องนี้ว่ามีประโยชน์ในทางความรู้โบราณคดีด้วย

๔. อิเหนาคำฉันท์ 


ผู้แต่ง ปรากฏท้ายเรื่องว่า หลวงสรวิชิต แต่งเสร็จเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๔๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๒ เป็นปีที่ ๑๒ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
หลวงสรวิชิตผู้นี้ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพระคลัง ในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นามเดิมว่าหน เป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฦาชัย(บุญมี) กับท่านผู้หญิงเจริญ
หลวงสรวิชิตรับราชการในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ตำแหน่งนายด่านเมืองอุทัยธานี เคยไปราชการในสงครามในบังคับบัญชาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชดำรงพระยศ เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปตีเขมรแล้วรีบยกทัพกลับ เนื่องจากทราบข่าวจลาจลในกรุงธนบุรี  หลวงสรวิชิตแสดงความภักดีโดยให้คนนำหนังสือลับแจ้งกิจราชการให้ทราบถึงด่านจารึก และออกไปต้อนรับถึงทุ่งแสนแสบ เพื่อเชิญเข้ามาแก้ไขเหตุการณ์ในพระนคร
         ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกครองราชสมบัติแล้ว ทรงปรารภถึงความจงรักภักดี  ความเข้มแข็งในราชการสงครามและความสามารถทางกวีนิพนธ์ของหลวงสรวิชิต จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาพิพัฒนโกษาและเจ้าพระยาคลัง เสนาบดีจตุสดมภ์กรมท่า
         นอกจากความสามารถในการรบและการปฏิบัติราชการแผ่นดินในตำแหน่งเสนาบดีผู้ใหญ่แล้ว เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ยังเชี่ยวชาญในการกวีทั้งร้อยกรองและร้อยแก้วอย่างเยี่ยมยอด กวีนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เท่าที่ปรากฏหลักฐานมีดังนี้ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) มีบุตรธิดาหลายคน ที่ปรากฏชื่อเสียงคือ เจ้าจอมพุ่มในรัชกาลที่ ๒ เจ้าจอมมารดานิ่ม ในรัชกาลที่ ๒ พระมารดาสมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศร นายเกตและนายพัดซึ่งเป็นกวีและครูพิณพาทย์ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ถึงแก่อสัญกรรม พ.ศ. ๒๓๔๘ ในรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นสกุลบุญหลง

ประวัติ หลวงสรวิชิตแต่งเรื่องอิเหนาคำฉันท์ โดยดำเนินเรื่องตามบทละครเรื่องอิเหนาหรืออิเหนาเล็กของเจ้าฟ้ามงกุฎ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ ฉบับปีที่ ๒๐ ต่อมากรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายหรีด เรืองฤทธิ์เปรียญ ตรวจชำระและทำเชิงอรรถธิบาย พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒
ทำนองแต่ง แต่งเป็นฉันท์และกาพย์
ความมุ่งหมาย เพื่อแสดงความสามารถในการแต่งฉันท์และรักษาเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมาแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เรื่องย่อ จับตอนตั้งแต่ อิเหนา เผาเมืองดาหา แล้วลอบนำ บุษบา ไปซ่อนไว้ในถ้ำ พร่ำงอนง้อขอความรักจากนาง แต่บุษบาไม่ยอมคืนดี อิเหนาจึงแสร้งทำเป็นโศกเศร้า พระพี่เลี้ยงไม่ทราบอุบายจึงเกลี้ยกล่อมให้บุษบาโอนอ่อนผ่อนปรนแก่อิเหนา เพื่อจะได้มีโอกาสกลับบ้านเมือง อิเหนาจึงได้เชยชมนางบุษบาสมใจ ทางฝ่ายเมืองดาหา เมื่อไฟดับแล้ว ท้าวดาหา ทรงทราบว่าบุษบาถูกลักพาไป ทรงคาดคะเนว่าอิเหนาคงเป็นตัวการ แต่มิได้ตรัสแก่ผู้ใด เมื่อ จรกา รู้ว่าบุษบาหายไปก็โกรธ เตรียมยกกองทัพออกติดตาม ล่าสำ พี่ชายเตือนว่าผู้ลอบนำนางไปคงเป็นอิเหนา จรกาบังเกิดความยำเกรงยิ่งนักแต่ฝืนยกทัพต่อไป จนพบรี้พลของ สังคามาระตา จรกาถามข่าวถึงอิเหนา สังคามาระตาแกล้งตอบว่ากำลังไปล่าเนื้อ จรกาเล่าถึงเหตุร้ายที่เกิดขึ้น สังคามาระตาแสร้งพลอยทำเป็นเสียใจ แล้วสั่งพี่เลี้ยงไปตามอิเหนา ในระหว่างนั้นอิเหนาฝันว่านกอินทรีมาจิกนัยน์ตาข้างขวาไปจึงสังหรณ์ใจว่าจะต้องพรากจากนาง พอทราบว่าระตูทั้งสองมาหาก็คิดไปแก้สงสัยในเมือง ขณะอิเหนาฟังเรื่องที่จรกาเล่าก็แสร้งทำเป็นโกรธ เพราะรู้ทีว่าจรกาลอบสังเกตอยู่ พอนึกถึงความฝันอิเหนาก็เลยร้องไห้ออกมาด้วยความจริงใจ


      อิเหนาคำฉันท์มีเนื้อเรื่องพ้องกับบทละครเรื่องอิเหนา พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ามงกุฎ และไม่ละเอียดลออเท่า พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะในกระบวนความพรรณนา และลักษณะฉันท์ จะเห็นว่าอิเหนาคำฉันท์จะมีความไพเราะคมคายไม่น้อย นอกจากนี้ยังเป็นหลักฐานให้เห็นความนิยมยกย่องเรื่องอิเหนาที่สืบเนื่องมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

๕. ลิลิตเพชรมงกุฎ 

ผู้แต่ง ปรากฏในโคลงสุดท้ายของเรื่องว่าหลวงสรวิชิตแต่ง

ประวัติ สันนิษฐานว่าแต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๒ ปรากฏข้อความในร่ายบทนำเรื่องว่า เรื่องนี้ได้ต้นเค้ามาจากปกรณัมเวตาล ของอินเดียโบราณ เรื่องเวตาลเดิมชื่อว่าเวตาลปัญจวึศติ ซึ่งรวมนิทานไว้ ๒๕ เรื่อง ศิวทาสกวีอินเดียแต่งไว้เป็นภาษาสันสกฤต ต่อมาโสมเทวะได้นำมารวมไว้ในกถาสริตสาครประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เรื่องนี้มีผู้ถอดออกเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา เซอร์ริชาร์ด ฟรานซิส เบอร์ตันชาวอังกกฤษได้เก็บความมาเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่ครบ ๒๕ เรื่อง พระราชวรศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงใช้ฉบับของเบอร์ตันเป็นหลักในการนิพนธ์เรื่องนี้เป็นร้อยแก้วให้ชื่อว่านิทานเวตาล ซึ่งมีนิทานเพียง ๑๐ เรื่อง ตรงกับของเบอร์ตันเฉพาะบางเรื่อง สำหรับเรื่องเพชรมงกุฎตรงกับเรื่องวัชรมงกุฎ ซึ่งเป็นนิทานเรื่องที่ ๑ ในนิทานเวตาล พระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  หลวงสรวิชิตอาจได้เรื่องเพชรมงกุฎมาจากนิทานเวตาลปัญจวึศติของศิวทาสโดยตรง หรือจากฉบับอื่นที่ถอดไว้เป็นภาษาอินเดีย ลิลิตเรื่องนี้พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองศ์เจ้านภางค์นิพัทธพงษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ กรมศิลปากรตรวจชำระต้นฉบับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒

เรื่องย่อ เริ่มต้นนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดำเนินเรื่องตาม นิทานเวตาล ว่า วิกรมาทิตย์ เสด็จประพาสป่า จับได้ตัวเวตาลมาเป็นพาหนะ เวตาลทูลขอเล่านิทานถวาย ถ้าทรงตอบปัญหาได้ยอมเป็นข้าตลอดชีวิต ถ้าทรงตอบไม่ได้จะขอพระเศียร เวตาลเริ่มนำนิทานเรื่อง เพชรมงกุฎ มาเล่าว่า ครั้งหนึ่งท้าวรัตนนฤเบศร แห่งเมืองศรีบุรี มเหสีทรงพระนามว่า ประภาพักตร์ มีพระโอรสทรงพระนามว่า เพชรมงกุฎ ซึ่งมีพระสิริรูปงดงามมาก เมื่อชนมายุ ๑๖ พรรษา เสด็จประพาสป่า ทรงติดตามกวางเผือกไปกับ พุฒศรี พระพี่เลี้ยง พวกรี้พลตามเสด็จไม่ทัน พระเพชรมงกุฎและพุฒศรีหลงทางอยู่กลางป่า พระเพชรมงกุฎ ทอดพระเนตรภรรยาของชายผู้หนึ่ง ก็พอพระทัยตรัสขอร้องพุฒศรีออกอุบายล่อหญิงนั้นมาหาโดยมิได้ฟังคำคัดค้านของพุฒศรี เมื่อได้ร่วมประเวณีกับหญิงนั้นแล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองกรรณบุรี ได้ทอดพระเนตรนางประทุมดี พระราชธิดา พระเจ้ากรุงกรรณ เจ้าหญิงทรงทำปริศนาเป็นนัยให้ทราบว่าพระนางเป็นใครและแสดงความพอพระทัยพระเพชรมงกุฎด้วย เมื่อพระเพชรมงกุฎทรงทราบความในปริศนาจากพุฒศรี ทรงปลอมเป็นพรานไปอาศัยอยู่กับยายเฒ่าส่งดอกไม้ในวัง เจ้าชายทรงลอบส่งพระธำมรงค์ไปกับดอกไม้ เจ้าหญิงได้ทอดพระเนตรก็ทรงทราบว่าเจ้าชายเป็นเชื้อกษัตริย์จึงทรงทำปริศนา พุฒศรีไขว่าพระนางให้รออีก ๓ วัน ต่อมาทำปริศนาอีก พุฒศรีก็ทูลแนะนำให้เจ้าชายแต่งองค์อย่างกษัตริย์ ลอบเข้าไปหาเจ้าหญิงทางบัญชรซึ่งเจ้าหญิงจะหย่อนสาแหรกลงมารับ สองพระองค์ได้สมสู่อยู่ด้วยกันหลายวัน ต่อมาเจ้าชายทรงนึกถึงพระพี่เลี้ยงตรัสเล่าความฉลาดของพระพี่เลี้ยงให้เจ้าหญิงทราบ เจ้าหญิงเกรงว่า พุฒศรีจะหาทางให้เจ้าชายกลับเมืองได้ จึงออกอุบายหวังจะประหารพุฒศรี โดยฝากอาหารเจือยาพิษไปให้ ครั้นเจ้าชายทราบความจริงก็ชวนพระพี่เลี้ยงหนี แต่พระพี่เลี้ยงทูลแนะให้กลับไปอยู่กับพระนางเช่นเคย แล้วให้ลอบเปลื้องเครื่องประดับของพระนางมาสิ่งหนึ่งและให้หยิกพระนางไว้เป็นแผลสามแห่ง พุฒศรีออกอุบายปลอมเป็นดาบสบอกว่าเจ้าหญิงเป็นยักษ์ จะทำร้ายตนจึงใช้ตรีแทงไว้ ๓ แผล และได้เครื่องประดับนางไว้เป็นค่าไถ่ชีวิต พระเจ้ากรุงกรรณหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงขับไล่พระราชธิดาออกจากเมือง เจ้าชายและพุฒศรีได้โอกาสจึงรับนางกลับบ้านเมือง พระเจ้ากรุงกรรณทรงทราบว่าถูกอุบายก็เสียพระทัยเสด็จสวรรคต เรื่องจบลงตอนท้าววิกรมาทิตย์ ทรงตอบปัญหาเวตาลได้ว่าบุคคลในเรื่องที่ต้องรับบาป คือ พระเจ้ากรุงกรรณเอง เวตาลจึงยอมรับเป็นข้ารับใช้ต่อไป

      ลิลิตเพชรมงกุฎเป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่มีต้นเค้าแตกต่างไปจากวรรณคดีอื่น ๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียโบราณ วรรณคดีไทยส่วนมากได้เค้าโครงเรื่องมาจากชาดกทางพุทธศาสนา มหากาพย์รามายณะและมหาภารตะ ส่วนลิลิตเพชรมงกุฎได้เค้าเรื่องมาจากเวตาลปัญจวึศติ
ลิลิตเพชรมงกุฎถึงแม้จะไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเช่นลิลิตพระลอ ลิลิตยวนพ่ายและลิลิตตะเลงพ่ายก็จริง  แต่เป็นกวีนิพนธ์ที่มีความดีเด่นไม่น้อย ใช้ถ้อยคำสำนวนนิ่มวล เรียบง่าย เลียนท่วงทำนองลิลิตพระลอได้อย่างใกล้เคียง แต่บางแห่งมีลักษณะพิเศษของตนเอง ประการสำคัญที่สุดก็คือ เป็นวรรณคดีเรื่องแรกที่มีเนื้อความและคติของเรื่องผิดแผกไปจากวรรณคดีส่วนมากที่ได้อิทธิพลจากอินเดีย

๖. นิราศเมืองกวางตุ้ง 

ผู้แต่ง ปรากฏข้อความในเรื่องว่าพระยามหานุภาพแต่ง พระยามหานุภาพเป็นข้าราชการในสมัยกรุงธนบุรี รับราชการสืบต่อมาถึงรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยามหานุภาพในรัชกาลนี้ พระยามหานุภาพมีงานประพันธ์ซึ่งในรัชกาลที่๑ อีกเรื่องหนึ่งคือ เพลงยาว

ประวัติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงส่งคณะราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าเขียนหลงแห่งกรุงปักกิ่ง เมื่อ วันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๑๔๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๔ โดยมีพระยาศรีธรรมาธิราช เป็นราชทูต เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศ (ทองจัน) พระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะดำรงพระยศเป็นหลวงนายฤทธิ์ นายเวรมหาดเล็กเป็นอุปทูตนำพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงปักกิ่ง พร้อมกับสินค้าที่จะจำหน่าย ณ เมืองกวางตุ้ง แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อของใช้ในราชการกลับมา ครั้งนั้นพระยามหานุภาพอยู่ในกลุ่มข้าราชการที่จัดการเกี่ยวกับสินค้า จึงเดินทางไปแค่เมืองกวางตุ้ง ส่วนคณะราชทูตเดินทางต่อไปจนถึงปักกิ่ง นายมหานุภาพคงได้แต่งนิราศเรื่องนี้ในระยะเวลานั้น นิราศเรื่องนี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่านิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน
ทำนองแต่งแต่งเป็นกลอนนิราศ
ความมุ่งหมาย เพื่อบรรยายเหตุการณ์และสิ่งที่ได้พบเห็นในการเดินทาง
เรื่องย่อ กล่าวถึงการเดินทางทางเรือ ซึ่งคนจีนเป็นพนักงานรวม ๑๑ ลำ ออกจากกรุงธนบุรี ผ่านปากน้ำเจ้าพระยา เขาสามร้อยยอด เมืองพุทไธมาศ ป่าสัก เมืองญวน เกาะมะเกา (หมาเก๊า) ถึงเมืองกวางตุ้ง ระหว่างเดินทางประสบคลื่นลมแรงพนักงานบนเรือต้องทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าเนืองๆ ได้พบปลาวาฬ บรรยายถึงหญิงค้าประเวณีชาวเรือเมืองกวางตุ้งและธรรมเนียมห่อท้าวของหญิงจีน ภูมิฐานบ้านเรือนของเมืองกวางตุ้ง การนำพระราชสาส์นเครื่องบรรณาการ การเดินทางเรือต่อไปยังปักกิ่ง การจำหน่ายสินค้าของหลวงที่กวางตุ้ง การเดินทางกลับและสรรเสริญพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

         นิราศเมืองกวางตุ้งเป็นวรรณคดีสมัยธนบุรีเรื่องสุดท้าย มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากบันทึกเรื่องความสัมพันธ์ทางพระราชไมตรี ระหว่างไทยกับจีน และแบบธรรมเนียมการทูตไว้อย่างชัดเจน เป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องของเอกสารด้านประวัติศาสตร์สมัยนั้นได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้บรรยายถึงสภาพบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีน และประเพณีปฏิบัติของชาวเรือทะเล  ในด้านวรรณคดีนิราศ เรื่องนี้ใช้ถ้อยคำสำนวนและลีลาของกลอนเรียบๆ เข้าใจง่าย กระบวนพรรณาละเอียดลออเป็นนิราศเรื่องแรกของไทยที่ใช้ฉากต่างประเทศบรรยายการเดินทางทางทะเลจากประสบการณ์ของกวีเอง และไม่เน้นการคร่ำครวญถึงหญิงคนรักตามธรรมเนียมนิราศที่มีมาในสมัยก่อน

๗.เพลงยาว

ผู้แต่ง พระยามหานุภาพ
ประวัติ พระยามหานุภาพแต่งเพลงยาว ๓ บท ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยามหานุภาพในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
หอสมุดแห่งชาติได้รวบรวมและจัดพิมพ์เพลงยาวนี้ในหนังสือชุมนุมเพลงยาวสมัยโบราณ
ทำนองแต่ง แต่งเป็นกลอนเพลง
ความมุ่งหมาย เพื่อแสดงความรักและให้คติในการครองตนแก่หญิง
เรื่องย่อ เพลงยาว ๒ บทมีใจความเกี่ยวกับความรักหญิง อีก ๑ บท เป็นข้อปฏิบัติในการครองตนทำนองสุภาษิตสอนหญิง


กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก