ผู้ใช้อํานาจปกครองผู้เยาว์ตามกฎหมาย คือ

ข้ามไปยังเนื้อหา

จากกรณีคดีน้องกานต์ที่พ่อแม่ละเลยหน้าที่ในการดูแลน้องกานต์ทางกฎหมายแยกประเภทการจดทะเบียนสมรสไว้ว่า ถ้าจดทะเบียนสมรส บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อแม่ จะโยงไปเรื่องอำนาจปกครองได้ทั้งฝ่ายพ่อและแม่ ถ้าไม่จดทะเบียน เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาฝ่ายเดียว และเป็นบุตรนอกสมรสของบิดาบิดาจึงไม่มีอำนาจปกครองบุตร

“โดยหลักบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา โดยทั้งคู่มีอำนาจปกครองร่วมกัน ไม่สามารถสละ หรือโอนไปให้ผู้อื่นได้ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย หรือตกลงหย่าโดยความยินยอม”

ซึ่งบิดามารดาจะมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรตามสมควร และยังมีสิทธิในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองกำหนดที่อยู่บุตรด้วย ดังนั้น ถ้าบิดามารดาจะมอบบุตรให้อยู่ภายใต้การดูแลของญาติพี่น้องก็ย่อมทำได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งนี้บิดามารดายังมีหน้าที่อุปการะบุตรอยู่ การที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลย ไม่ได้มีความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยตรงแต่ถ้ามีการทำร้ายทุบตี กักขังหน่วงเหนี่ยว ทอดทิ้งก็จะผิดกฎหมายอาญาตามเรื่องนั้นๆ แต่ปัจจุบันมีกฎหมายเฉพาะคือ พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งมีมาตรา 23 25 26 เป็นหัวใจสำคัญกำหนดหน้าที่ไว้

คำนิยาม “อำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อบุตร”

อำนาจปกครองบุตร เป็นสิทธิและหน้าที่ที่บิดามารดาพึงมีต่อบุตร บิดามารดาผู้มีอำนาจปกครองมีสิทธิตัดสินใจเกี่ยวกับบุตร เช่น บิดามารดามีหน้าที่ที่จะดูแล อบรมสั่งสอนบุตร อำนาจปกครองในกฎหมายแพ่งมีนิยามกว้างกว่าคำว่า “การปกครองดูแล” คุณจะทราบว่ากฎหมายแพ่งนั้น “การปกครองดูแล” นั้นจะหมายความถึงแต่เพียงบิดามารดาที่ได้ดูแลบุตรเท่านั้นแต่ะอาจจะไม่ได้มี “อำนาจปกครอง” บุตรด้วย คำนิยาม “อำนาจปกครอง” ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายมาตรา เช่น มาตรา 1549 1551

มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ

  1. กำหนดที่อยู่ของบุตร
  2. ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
  3. ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
  4. เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

อำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อบุตร มีขึ้นนับตั้งแต่บุตรถือกำเนิดมา เป็นอำนาจที่ใช้ในการเลี้ยงดูรักษาบุตรให้เจริญเติบโตต่อไปในภายหน้า และบุตรที่จะอยู่ภายใต้อำนาจปกครองนี้มีเฉพาะบุตรผู้เยาว์เท่านั้น หากบรรลุนิติภาวะแล้วก็ไม่อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาอีกต่อไป สำหรับการใช้อำนาจปกครองบุตรนี้ บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งสามารถใช้อำนาจปกครองโดยลำพัง และจะสละอำนาจปกครองบุตรให้บุคคลอื่นไม่ได้

อ.สุพัทธ์รดา เปล่งแสง
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กรณีที่มีเหตุให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงฝ่ายเดียวก็ย่อมมีได้ ตามมาตรา 1566 วรรคสองและวรรคท้าย และมาตรา 1568 ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

  • มารดาหรือบิดาเสียชีวิต บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
  • ไม่เป็นการแน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิต เช่น มารดาหรือบิดาหายไปไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ดังนี้ บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
  • มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเมือนไร้ความสามารถ เช่นนี้บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
  • มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
  • ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งเช่นนี้ศาลจะต้องคำนึงถึงความุขและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ เช่น บิดามารดาหย่าขาดจากกันขณะที่บุตรยังเล็กอยู่ ศาลอาจจะมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับมารดาคนเดียวก็ได้

ลิขสิทธิ์© 2020 PSU Broadcast

คดีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ #ทนายคดีอำนาจปกครองบุตรThanuLaw

อำนาจปกครองผู้เยาว์ หลังจากสามีภริยาหย่าขาดจากกันแล้ว มีได้ 2 กรณี

1. กรณีหย่าด้วยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือท้ายทะเบียนหย่า ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด โดยชัดแจ้ง ถ้ามิได้ตกลงหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

   แต่ถ้าตกลงกันว่าให้ฝ่ายใดเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตร ย่อมมิใช่ข้อตกลงให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วย แต่ต้องถือว่าอำนาจปกครองยังอยู่กับบิดาและมารดา (หากคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต อำนาจปกครองก็จะตกอยู่กับอีกคนหนึ่ง)

2. กรณีหย่าโดยคำพิพากษาศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้น ชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด โดยศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบุตรของคู่สมรสนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 และสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการเกินพิพากษาคำขอหรือไม่ (แม้โจทก์ไม่ได้ขอมาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็พิพากษาเกินคำขอในเรื่องนี้ได้)

   แต่ถ้าปรากฎว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 ประพฤติไม่เหมาะสมควร หรือภายหลังพฤติการณืได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขอำนาจปกครองบุตร หลังการหย่า : กรณีหย่าด้วยความยินยอมไม่สามารถไปขอแก้ไขที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ที่จดทะเบียนหย่าและบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่า ได้ แต่ต้องอาศัยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเท่านั้น

ตัวอย่าง เหตุในการถอนอำนาจปกครอง 5 กรณี

1. ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

2. ใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุตรผู้เยาว์ เช่น เฆี่ยนตีบุตรอย่างรุนแรง ยุยงส่งเสริมให้บุตรลักขโมย ไม่เลี้ยงดูเอาใจใส่ ลงโทษบุตรอย่างทารุน หรือปล่อยปละละเลยให้บุตรประพฤติชั่ว เป็นต้น

3. ผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติชั่วร้าย เช่น กระทำทางเพศต่อบุตร เป็นโรคเอดส์ บังคับให้บุตรเป็นโสเภณี หรือ ขอทาน ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก เป็นต้น

4. ผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละลาย

5. ผู้ใช้อำนาจปกครองจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในทางที่ผิดจนอาจเป็นภัย

แนวคำวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับการกำหนดตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ หลังสามีภริยาหย่าขาดกัน

   โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ (Best interest of the child) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 และ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 22 การพิจารณาของศาล ทั้งในมิติ ด้านการอบรมเลี้ยงดู การศึกษา ศีลธรรม สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย เวลา ความทุ่มเทเอาใจใส่ และพฤติกรรม

ตัวอย่าง

1. บุตรยังเล็กอยู่ ต้องให้อยู่กับมารดา อ้างอิง ฎ.303/2488 , 21867-21868/2555

2. พี่น้องควรอยู่ร่วมในครอบครัวเดียวกัน ฎ.9130/2539

3. ความอบอุ่น ความรักใคร่เอ็นดู และความรู้สึกผูกพันทางจิตใจระหว่างกัน การทอดทิ้งไป แสดงว่าไม่มีความห่วงใย จึงไม่สมควรใช้อำนาจปกครอง ฎ.5890/2537

4. คำนึงถึงความต้องการและความรู้สึกของบุตรที่โตพอจะตัดสินใจเองได้ คือ ตั้งแต่ 8 ขวบขึ้นไป ฎ.1454/2545 , 116/2547 , 8087/2543

5. อยู่ในความดูแลของฝ่ายไหน ดีอยู่แล้ว หากไม่ปรากฎข้อบกพร่องเสียหาย ควรให้ฝ่ายนั้นดูแลต่อไปตามเดิม (ความคุ้นเคยของบุตร หลีกเลี่ยงการเผชิญสภาพแวดล้อมใหม่) ฎ.8087/2543 , 1616/2518 , 12502/2558 , 6948/2550

6. มีความประพฤติและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่บุตร เช่น เที่ยวเตร่ ดื่มสุรา ทำร้ายร่างกาย มีชู้ ถูกจำคุก ค้าประเวณี ชอบลักขโมย ยาเสพติด เป็นต้น ไม่สมควรที่จะให้บุตรอยู่กับฝ่ายนั้น ฎ.1454/2545 , 3084/2557

7. ความสามารถในการอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาอบรบ พัฒนาปัญญา ศีลธรรม ทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน ให้อยู่กับฝ่ายที่ดีและเหมาะสมกว่า (จบครุศาสตร์ เอกปฐมวัย ถือว่าได้เปรียบ) ฎ.8087/2543 , 5484/2537

8. ความสามารถในการหาที่พักอาศัย และการรักษาพยาบาลให้แก่บุตร ฎ.819/2546

9. เพศเดียวกัน ย่อมดีกว่า ฎ.750/2533

10. ย้ายไปที่อื่น สมรสใหม่  และมีบุตรกับคู่สมรสใหม่ ถือว่าไม่มีความเหมาะสม ฎ.4323/2540 , 8087/2543

11. ให้อยู่กับฝ่ายที่ยังไม่มีครอบครับใหม่ ฎ.4678/2552

12. มีเวลาในการเลี้ยงดู และการทุ่มเท ใครมีมากกว่า บุตรย่อมได้รับความอบอุ่น มากกว่า ฎ.3035/2533 , 819/2546

13. โหดร้ายต่อบุตร เช่น ให้นอนนอกบ้าน ไม่หาอาหารให้ ถือว่าไม่เหมาะสม ฎ.2795/2539

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง / คำฟ้อง

1. สูติบัตรของบุตร

2. ใบสำคัญการหย่า พร้อมบันทึกท้ายทะเบียนหย่า

3. บัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านของบิดา มารดา บุตร ผู้ร้อง

4. ใบเปลี่ยนชื่อตัว / ชื่อสกุล (ถ้ามี)

5. ภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ของผู้ร้องกับผู้เยาว์

6. บัญชีเครือญาติ

7. มรณบัตร (ถ้ามี)

8. พินัยกรรม (ถ้ามี)

9. หนังสือให้ความยินยอม (ถ้ามี)

ค่าธรรมเนียมศาล

1. ค่าขึ้นศาล 200 บาท

2. ค่าประกาศทางเทคโนโลยีสารสนเทศ E-Noice system ฟรี

3. ค่าปิดประกาศคำร้อง ตามภูมิลำเนาผู้ร้องตามระยะทาง แต่ไม่เกิน 700 บาท

4. ค่าส่งหมายและสำเนาคำฟ้องไปยังคู่ความอีกฝ่าย ตามระยะทาง แต่ไม่เกิน 700 บาท

เขตอำนาจศาล

คำร้อง : ภูมิลำเนาผู้ร้อง ภูมิลำเนาผู้คัดค้าน (ผู้ใช้อำนาจปกครอง) หรือสำนักทะเบียน ที่จดทะเบียนหย่าและบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่า

คำฟ้อง : ภูมิลำเนาจำเลย สถานที่ทิ้งร้างบุตร หรือสำนักทะเบียน ที่จดทะเบียนหย่าและบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่า

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น : มารดาคลอดแล้วทิ้ง ศาลถอนอำนาจปกครองได้ โดยกำหนดให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2540

   ในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพัง โดยไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องยังมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่ามารดาของผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ที่อื่น และสมรสใหม่ตั้งแต่ผู้เยาว์อายุได้เพียงปีเศษ และไม่เคยกลับมาดูแลผู้เยาว์อีกเลย กรณีจึงเป็นการที่มารดาผู้เยาว์ใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาถอนอำนาจปกครองจากมารดาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องมาโดยตลอดการให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า

ประเด็น : ละทิ้งบุตร ไม่ช่วยค่าเลี้ยงดู บุตรไม่มีความผูกพันด้วย หวาดกลัวที่จะอยู่ด้วย ถือเป็นเหตุเพิกถอนอำนาจปกครองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2560

   การที่โจทก์ทั้งสองไม่มาดูแลเอาใจใส่ผู้เยาว์ ไม่ช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดู และไม่มาเยี่ยมผู้เยาว์ตามสมควร ทำให้ผู้เยาว์แม้รู้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดา แต่ไม่รู้สึกว่ามีความสัมพันธ์อบอุ่นใกล้ชิด ตรงกันข้ามกลับหวาดกลัวที่จะต้องไปอาศัยอยู่กับโจทก์ทั้งสอง ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ที่ 2 ใช้กำลังหักหาญแย่งชิงตัวผู้เยาว์ ทำให้ผู้เยาว์ตกใจหวาดกลัว เครียดและวิตกหากจะต้องไปอยู่กับโจทก์ทั้งสอง อาการผิดปกติทางจิตใจแสดงออกให้เห็นได้ทางพฤติกรรม มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่โรคทางจิตเวช จำเป็นต้องจัดการแก้ไขให้สภาพการใช้ชีวิตของผู้เยาว์กลับสู่สภาวะปกติ โดยให้ผู้เยาว์ได้อยู่อาศัยในที่ที่เหมาะสมการกระทำดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ แม้ญาติของผู้เยาว์หรืออัยการไม่ได้ร้องขอ ศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบางส่วนของโจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความผาสุกของผู้เยาว์แล้ว จึงเห็นสมควรให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสองเฉพาะที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (1) และตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง

ประเด็น : ตกลงไว้ท้ายทะเบียนหย่าให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เดียว แม้ไม่มีเหตุเพิกถอนอำนาจปกครองได้ แต่เพื่อความผาสุกของบุตร ศาลมีอำนาจกำหนดให้ใช้อำนาจปกครองร่วมกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8596/2559

   ประเด็นขอเพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยนั้น โจทก์อ้างว่า หากผู้เยาว์อยู่กับโจทก์ จะได้ประโยชน์และความผาสุกดีกว่าอยู่กับจำเลย เหตุที่อ้างไม่ถือเป็นการใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้ายอันเป็นเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้เยาว์พักอาศัย เรียนหนังสือ และอยู่ในความดูแลของโจทก์ และผู้เยาว์ทำคำแถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะอยู่กับโจทก์ อยู่กับจำเลยและบิดาเลี้ยงไม่มีความสุข ผู้เยาว์อายุ 10 ปีแล้วถือได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดได้โดยตนเอง สาเหตุที่ไม่อยากอยู่กับจำเลยสามารถบอกเหตุผลได้ มิได้กล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยฝ่ายเดียวตามที่ตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนหย่า แต่คำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดี เป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ตกลงกันไว้กับจำเลย ถือว่าโจทก์ประสงค์ที่จะใช้อำนาจปกครอง เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์ความผาสุกของผู้เยาว์ อาศัยอำนาจ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520, 1521 สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับจำเลย โดยให้โจทก์มีอำนาจกำหนดที่อยู่ผู้เยาว์

ประเด็น : บิดาฟ้องเพิกถอนอำนาจปกครอง แต่บุตรยังไร้เดียงสาอยู่ ศาลเห็นสมควรให้อยู่กับมารดาไปก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616/2518

   ตามปกติอำนาจปกครองย่อมอยู่กับบิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1537 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นภริยาว่า จำเลยทะเลาะกับโจทก์แล้วหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ที่อื่น ขอให้บังคับจำเลยให้ส่งบุตรคืนแก่โจทก์ ก็เป็นการฟ้องเพื่อจะใช้อำนาจปกครองนั่นเอง แต่ศาลจะให้อำนาจปกครองอยู่แก่มารดาก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1538(6) หากกรณีส่อแสดงว่าการให้บุตรอยู่กับมารดาจะเป็นการเหมาะสมกว่า (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1225/2508) เมื่อได้ความว่าบุตรอายุเพียง 2 ปี ยังไร้เดียงสาและได้อยู่กับจำเลยด้วยดีคลอดมา ไม่ปรากฏข้อบกพร่องเสียหาย การให้บุตรอยู่กับจำเลยระยะนี้บุตรจะได้รับความอบอุ่นมากกว่าอยู่กับโจทก์ และจำเลยก็รับว่าไม่รังเกลียดที่จะให้โจทก์เยี่ยมเยียน จึงควรให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยผู้เป็นมารดาไปก่อน หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปโจทก์ก็ชอบที่จะเรียกร้องเอาบุตรคืนได้ ชั้นนี้ศาลย่อมพิพากษายกฟ้อง

ประเด็น : มิใช่ญาติ จึงไม่มีสิทธิร้องขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2537

   ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของ ก. กับ ส. ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก. ผู้เป็นบิดา ผู้ร้องเป็นน้องของบิดาของ ก. จึงมิใช่ญาติของผู้เยาว์ทั้งสองตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ไม่มีสิทธิ์ร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองของมารดาของผู้เยาว์ทั้งสอง และไม่อาจขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง

การเปลี่ยนตัวหรือการถอนผู้ใช้อำนาจปกครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521

   ถ้าปรากฎว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตาม ป.พ.พ มาตรา 1520 ประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงได้ ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง โดยคำนึงถึงความผาสุก และประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521

   การเริ่มคดีขอเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองอาจทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท หรือทำเป็นคำฟ้องก็ได้

ประเด็น : การเริ่มคดีขอเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครอง อาจทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท หรือทำเป็นคำฟ้องก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552

   ตามคำร้องของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของภริยา และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ด้วย อันส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่ภริยา ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่บัญญัติไว้ แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ภริยา เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าประสงค์ให้คดีสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาท และทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทด้วย ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครอง และแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่ โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องฉบับเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8161/2543

   บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(5) ที่ให้อำนาจศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้เยาว์ในการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครองมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้ทั้งการเสนอคดีโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาทฉะนั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ป. อ้างในคำร้องขอว่า ร. มารดาเด็กหญิง ป. ไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กหญิง ป. เนื่องจากมิได้ประกอบอาชีพ ประสงค์จะให้เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ร้องทั้งผู้ร้องรับราชการเป็นทหาร สามารถอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและความอบอุ่นแก่เด็กหญิง ป. ได้ หากเป็นจริงย่อมถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายหลังแล้ว ศาลจึงมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองได้ โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กหญิง ป. เป็นสำคัญหาใช่เป็นเรื่องไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลไม่ แม้ผู้ร้องสอดเสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขอศาลก็รับคำร้องขอของผู้ร้องไว้พิจารณาได้

ประเด็น : เปลี่ยนแปลงบันทึกท้ายการหย่าได้ หากนำบุตรมาเลี้ยงดูเป็นเวลานาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2546

   บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าไม่มีข้อความใดระบุให้จำเลยต้องนำบุตรทั้งสองมาอยู่บ้านของจำเลยที่จังหวัดสมุทรปราการ คงระบุเพียงว่าให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) การที่จำเลยยังคงให้มารดาของตนเลี้ยงดูบุตรทั้งสองต่อมาภายหลังการหย่า โดยจำเลยไปเยี่ยมเยียนพร้อมทั้งส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ตลอดมาย่อมเป็นการใช้อำนาจปกครองอันเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการหย่า

   เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาโจทก์หายจากโรคเครียดเป็นปกติ และทำงานเป็นเสมียนทนายความมีเงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท โจทก์ได้รับบุตรทั้งสองมาเลี้ยงดูตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันฟ้อง โดยให้บุตรทั้งสองศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการและจำเลยได้เคยไปเยี่ยมบุตรทั้งสองที่โรงเรียนด้วย หากจำเลยนำบุตรทั้งสองกลับไปให้มารดาของจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์อีกครั้ง ก็อาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุตรทั้งสอง ซึ่งโจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูอย่างเป็นปกติสุขตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา เมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรทั้งสองประกอบกับพฤติการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวแล้ว จึงมีเหตุสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา มาเป็นโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 โดยให้จำเลยมีสิทธิติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตามมาตรา 1584/1

ประเด็น : อำนาจปกครองจะโอนให้คนอื่นไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้เพิกถอนอำนาจปกครอง

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 66/2495

   มารดาย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรเมื่อบิดาตายไปแล้ว หรือไม่มีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย มารดาจะโอนอำนาจนั้นให้ใครไม่ได้ และผู้อื่นจะเป็นผู้ปกครองเด็กนั้นไม่ได้ก่อนที่มารดาจะถูกอำนาจปกครอง

ประเด็น : ป้าของผู้เยาว์ ที่พ่อยังไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร ไม่มีสิทธิยื่นคำฟ้องขอเพิกถอนอำนาจปกครองจากแม่ และขอตั้งเป็นผู้ปกครองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2537

   ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของ ก. กับ ส. ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก. ผู้เป็นบิดา ผู้ร้องเป็นน้องของบิดาของ ก. จึงมิใช่ญาติของผู้เยาว์ทั้งสองตามความหมายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ไม่มีสิทธิ์ร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองของมารดาของผู้เยาว์ทั้งสอง และไม่อาจขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง

ประเด็น : เรื่องความเหมาะสมในการเลี้ยงดู ศาลพิจารณาได้ แม้ไม่ได้ฟ้องแย้งเข้ามาในคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8087/2543

   โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันและให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง เมื่อจำเลยเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ยิ่งกว่าโจทก์ แม้มิได้ฟ้องแย้ง ศาลก็มีอำนาจชี้ขาดให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์หลังการหย่าได้

ประเด็น : แม้ไม่มีอำนาจปกครองบุตรตามกฎหมาย แต่ก็มีอำนาจฟ้องบังคับให้ปฏิบัติตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า เพื่อประโยชน์ของบุตรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2536

   แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะเป็นสัญญา เพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตาม ป..พ.พ. มาตรา 374 โจทก์เป็นคู่สัญญาในบันทึกดังกล่าวโดยตรงกับจำเลยในการยกทรัพย์สินให้แก่บุตร โจทก์ในฐานะคู่สัญญา จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนทรัพย์สินให้แก่บุตรได้ ตามบันทึกการหย่าเพียงให้จำเลยอุปการะบุตรเท่านั้น หาใช่ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่ผู้เดียวไม่ อำนาจปกครองบุตรยังอยู่กับโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในนามตนเองได้ ไม่จำต้องให้บุตรเรียกชำระหนี้จากโจทก์ เพราะบุตรจะยอมรับทรัพย์สินหรือไม่ เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี การที่จำเลยฎีกาว่า รถยนต์และบ้าน จำเลยไม่เคยตกลงยกให้แก่บุตร บันทึกข้อตกลงที่เจ้าพนักงานทำขึ้นไม่ชอบ เพราะไม่ตรงตามความประสงค์ของจำเลยเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ประเด็น : หลักเกณฑ์ในการของศาล ได้แก่ ความเป็นอยู่ของผู้เยาว์ ความมั่นคงในอาชีพการงาน และประโยชน์สูงสุดของบุตร อ้างอิง ฎ.12502/2558

ประเด็น : แม้จะมีฐานะมั่นคงกว่า แต่ต้องรับราชการในที่ต่าง ๆ ตลอด ประกอบรายงานเจ้าหน้าที่สถานพินิจ แสดงความผูกพันของของฝ่ายที่มีฐานะด้อยกว่า ศาลพิพากษาให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองฝ่ายเดียวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547

   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิดหรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์

   ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภอในจังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง กับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ก) (ข)

   ปัจจุบันเด็กชาย อ. อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้วเด็กชาย อ. ได้มาพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนทั้งหมดก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่กับจำเลยที่ 1 และย่าที่บ้านของย่าที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยิ่งกว่านั้นตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เยาว์ของพนักงานคุมประพฤติ ระบุว่าเด็กชาย อ. ประสงค์จะอยู่กับจำเลยที่ 1 มากกว่าอยู่กับโจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาจะไม่ปรากฏว่ามีความประพฤติเสียหายหรือไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่โจทก์เป็นข้าราชการต้องย้ายไปรับราชการในที่ต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งเด็กชาย อ. ผู้เยาว์อายุประมาณ 12 ปี ขณะนี้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เมื่อคำนึงถึงความผาสุก ความผูกพันระหว่างมารดากับบุตร การที่ผู้เยาว์อยู่กับจำเลยที่ 1 จะมีผลดีต่อสุขภาพของผู้เยาว์ เห็นควรให้จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่เพียงผู้เดียว

ประเด็น : จะกำหนดเรื่องอำนาจปกครองไว้ในพินัยกรรมไม่ได้ หากบิดาหรือมารดา อีกคนยังมีชีวิตอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2497

   บุคคลไม่ใช่ทรัพย์สิน บุตรจึงไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของบิดามารดาที่จะมอบให้บุคคลอื่นได้

   เด็กจะเป็นบุตรที่ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ตามเมื่อบิดาถึงแก่กรรมและไม่ปรากฏว่ามารดาถูกถอนอำนาจปกครองดังนี้ มารดาก็ยังคงเป็นผู้มีและใช้อำนาจปกครองเหนือเด็กนั้นอยู่ บุคคลอื่นแม้จะได้อุปการะมานานและสิ้นเงินไปเพียงใดก็ตาม หาก่อให้เกิดสิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองเด็กนั้นขึ้นมาไม่

ประเด็น : บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรากผู้เยาว์ ไม่ผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2517

   บิดาพรากบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดาเพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำโดยมีเจตนาดีต่อบุตร เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317

ประเด็น : เขตอำนาจศาล คือ สถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6155/2540

   จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อันเป็นการได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1520 และมาตรา 1566 (6)เป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลย โดยอ้างเหตุแห่งการฟ้องร้องว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่า ดังนั้น สถานที่ที่ได้มีการจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ของจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล

   โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าและทำบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จึงต้องถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และเมื่อศาลจังหวัดสระบุรีมิใช่ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล โจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าบุตรผู้เยาว์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดสระบุรีอันเป็นศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1520 ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

   ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ ตามมาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ

มาตรา 1521 ถ้าปรากฏว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตาม มาตรา 1520 ประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลง ไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองโดยคำนึงถึง ความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ

มาตรา 1582 ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งของศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

   ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละลายก็ดี หรือจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในทางที่ผิดจนอาจเป็นภัยก็ดี ศาลจะสั่งตามวิธีในวรรคหนึ่งให้ถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินเสียก็ได้

มาตรา 1583 ผู้ถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดนั้น ถ้าเหตุดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนสิ้นไปแล้ว และเมื่อตนเองหรือญาติของผู้เยาว์ร้องขอ ศาลจะสั่งให้มีอำนาจปกครองดังเดิมก็ได้

มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของ บิดามารดาอำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้

   (1) มารดาหรือบิดาตาย

   (2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย

   (3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ ความสามารถ

   (4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน

   (5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา

   (6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจการปกครองมีสิทธิ

   (1) กำหนดที่อยู่ของบุตร

   (2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน

   (3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

   (4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481

ภาค 5 ครอบครัว

มาตรา 32 กรณีที่จะจัดผู้เยาว์ซึ่งไม่มีบิดามารดาใช้อำนาจปกครอง ให้อยู่ในความปกครองก็ดี หน้าที่และอำนาจของผู้ปกครองก็ดี กรณีที่ความปกครองสิ้นสุดลงก็ดี ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้เยาว์ แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ อำนาจของผู้ปกครองที่จะจัดการกับทรัพย์สินเช่นว่านั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่

   ส่วนผู้เยาว์ซึ่งมีสัญชาติต่างประเทศ และมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย จะจัดให้อยู่ในความปกครองตามกฎหมายไทยก็ได้ ถ้าปรากฏจากพฤติการณ์แห่งกรณีว่า ตามองค์การและระเบียบจัดการแห่งความปกครองซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายต่างประเทศนั้น ไม่เป็นอันคุ้มครองประโยชน์ได้เสียของผู้เยาว์ให้เป็นผลตามสมควรได้

มาตรา 33 การถอนอำนาจปกครอง ให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศซึ่งศาลที่สั่งถอนอำนาจปกครองสังกัดอยู่

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1. ในการเริ่มคดีอาจทำเป็น "คำร้องขอ" แบบคดีไม่มีข้อพิพาท หรือทำเป็น "คำฟ้อง" แบบคดีมีข้อพิพาทก็ได้

2. ชายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กที่เกิดมา ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิง แต่เพียงฝ่ายเดียว

3. สถานที่ทิ้งร้างบุตรผู้เยาว์ สถานที่จดทะเบียนหย่าและบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่า ถือเป็นสถานที่มูลคดีเกิด สามารถยื่นฟ้องต่อศาลในเขตอำนาจได้ อ้างอิง ฏ. 6155/2540

4. ถ้าไม่มีเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 ศาลจะสั่งถอนอำนาจปกครองไม่ได้ แต่ศาลสามารถมีคำสั่งให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองคนเดียวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5)

ค่าบริการว่าความ คดีอำนาจปกครองบุตร

รูปแบบคดี

ราคา(เริ่มต้น)

ยื่นคำร้อง คำฟ้อง ต่อสู้คดี

25,000

รับว่าความทั่วประเทศ

กรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่ ฟรีค่าเดินทางทนายความ

ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายฟรี

เปิดบริการทุกวัน 7.00 - 18.00 น.

ช่องทางการติดต่อ กดที่ไอคอน

    

ตัวอย่าง คำสั่งศาลอุทธรณ์ เขตอำนาจศาลคดีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก