เหตุการณ์ ที่เกิดจากการ สื่อสาร ผิด พลาด

การสื่อความหมายจึงต้องให้แจ่มชัด และเลือกเรื่องที่จะสื่อสารให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงพื้นฐานของผู้รับข่าวสารและผลที่จะตามมาด้วย

            การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเข้าใจ ความตระหนักให้เกิดขึ้นกับผู้ที่เราต้องการสื่อสาร  แต่บางครั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารมีคลื่นความถี่ไม่ตรงกันก็จะทำให้การสื่อสารผิดพลาดไป  ถ้าเป็นการสื่อสารในเรื่องที่ไม่สำคัญนักก็อาจถือเป็นเรื่องตลกขบขันได้ ดังเช่นเรื่องต่อไปนี้...
           
เมื่อประมาณ  พ.ศ. 2546     เกิดโรคซารส์หรือหวัดมรณะระบาดหนัก(ตอนหลังกลายมาเป็นไข้หวัดนก) เริ่มจากประเทศจีน   ฮ่องกง  สิงคโปร์ และมีแนวโน้มว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวจะแพร่ระบาดไปยังประเทศต่าง ๆ  ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการป้องกันอย่างเต็มที่

                                วันหนึ่งคุณยายบัวตอง      ไปหาหมอที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่       แพทย์ก็ถามคุณยายบัวตองว่า

                “แม่อุ๊ย..เป็นโรคอะไร ถึงมาหาหมอ”  คุณยายบัวตองก็บอกว่า “เป็นโรคซา”

                                เท่านั้นเอง คุณหมอและพยาบาลที่อยู่ใกล้ ๆ ก็พากันถอยกรูด วิ่งหาผ้าปิดจมูกกันจ้าละหวั่น พยาบาลตะโกนบอกกันต่อ ๆ ไปให้ระวังการแพร่ระบาด เจ้าหน้าที่พยาบาลต่างเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

                                พอเริ่มได้สติ คุณหมอก็ถามอาการคุณยายต่อ

                                                “ก่อนมาหาหมอ แม่อุ๊ย มีอาการอย่างไรมาก่อน”

                                คุณยายบัวตองก็บอกว่า

                                                “มันซาตามแข้งตามขา วันละเตื้อสองเตื้อ”

                                หมอกับพยาบาลถอนใจอย่างโล่งอกและพูดพร้อมกัน

                                                “โรคเหน็บชา”
     การสื่อสารทำนองนี้แม้จะผิดพลาด แต่ก็ดูขบขันแบบน่ารักๆ   แต่การสื่อสารที่ผิดพลาดดังเรื่องต่อไปนี้  อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้  กล่าวคือ

          ลุงบุญตา   อายุ  65  ปี     มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง   วันหนึ่งลุงบุญตาไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล   ผลปรากฏว่าความดันโลหิตสูงยังไม่ลดลงคือ 160/90 (ค่าปกติประมาณไม่เกิน 145/60  แถมมีไขมันในเส้นเลือด    (คลอเลสเตอรอล)   เพิ่มขึ้นเป็น 230 Mg/dl (ค่าปกติคือ 150 – 220 Mg/dl)  แพทย์จึงจัดยาลดความดันโลหิตสูงและยาลดไขมันในเส้นเลือดให้รับประทาน พร้อมทั้งกำชับเรื่องการรับประทานยา ว่าให้หลีกเลี่ยงอาหารพวกไขมัน โดยให้รับประทานปลาให้มาก พร้อมทั้งนัดหมายให้มาพบแพทย์อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

                        ครบ 2 สัปดาห์  ลุงบุญตามาพบแพทย์ตามนัดและตรวจเลือดอีกครั้ง ปรากฏว่าความดันโลหิตกลับสูงขึ้นถึง 210/100  และไขมันในเส้นเลือดก็ขึ้นสูงถึง 270 Mg/dl   แพทย์เห็นผลและดูอาการทั่วไปก็ตกใจ จึงถามว่า

                       คุณลุงไปทำอะไรมา  ทำไมผลตรวจจึงไม่ดีขึ้น ได้รับประทานยาและอาหารตามที่หมอสั่งหรือเปล่า   ลุงบุญตาก็ตอบว่า

                       ผมทำตามที่คุณหมอสั่งโดยเคร่งครัดทุกเรื่องเลยครับ ทั้งรับประทานยาและปลาจำนวนมากทุกวัน     แพทย์รู้สึกแปลกใจ จึงซักรายละเอียดต่อ

                       คุณลุงรับประทานปลาอะไรทุกวัน   ลุงบุญตาตอบโดยไม่ต้องคิด

                        ปลาหมึกครับ

           การสื่อสารอีกประเภทหนึ่งที่ควรระวังเป็นพิเศษ  คือการถ่ายทอดคำพูดของคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง  ถ้าเป็นเรื่องทั่วๆไปคงไม่เกิดผลเสียหายอะไร  แต่ถ้าเป็นเรื่องที่กล่าวถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบุคคลอื่นก็ต้องระวังเป็นพิเศษ  เพราะผู้รับสารอาจขยายสารต่อไปอีก โดยเติมพริก เติมขิง ปรุงรสให้เข้มข้นยิ่งขึ้น  ซึ่งอาจกลายเป็นเรื่องบานปลายใหญ่โตขึ้นมาได้
          ดังนั้น การสื่อสารจึงต้องให้แจ่มชัด และเลือกเรื่องที่จะสื่อสารให้เหมาะสม  โดยคำนึงถึงพื้นฐานของผู้รับข่าวสารและผลที่จะตามมาด้วย

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก