โรคความดันโลหิตสูง สาเหตุ อาการ การป้องกัน

ความดันโลหิต คือ ค่าความดันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ ส่งผ่านหลอดเลือดเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีสองค่าคือ คือค่าความดันตัวบน เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว และค่าความดันตัวล่าง เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัว

 

โรคความดันโลหิตสูง สำคัญอย่างไร

โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งมักจะไม่มีอาการใดๆ จึงเป็นภัยเงียบที่กว่าจะรู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูง ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นแล้ว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจหนา ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมองตีบหรือแตกเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การที่เรารู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระยะแรกๆ สามารถควบคุมความดันโลหิตที่สูงให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ ก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

 

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

มากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีสาเหตุ มีเพียงส่วนน้อยที่มีสาเหตุ เช่น โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด โรคไต โรคของหลอดเลือดบางประเภท ที่ทำให้ความดันโลหิตสูงได้ ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีความดันโลหิตสูง มีหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม เชื้อชาติ ภาวะนํ้าหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน และการรับประทานอาหารเค็มจัด เป็นต้น

 

ความดันโลหิตเท่าไหร่ดี

ปัจจุบัน ค่าความดันโลหิตที่ยอมรับได้ในผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ควรตํ่ากว่า 150/90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าอายุน้อยกว่า 60 ปี หรือเป็นเบาหวาน หรือมีภาวะไตเสื่อม ค่าความดันโลหิต ควรตํ่ากว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท

 

แนวทางการรักษาความดันโลหิตสูง

จากการการศึกษาที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าการให้ยาลดความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูงได้ นอกจากการรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทุกรายควรจะได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยาร่วมด้วย ดังนี้

     ความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันแพทย์วินิจฉัยว่าในภาวะปกติผู้ที่มีความดันเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หากปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ในระดับนี้นานๆ อาจทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อม เช่น มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบตัน 3-4เท่า และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 7 เท่าของผู้ที่มีความดันปกติ และถ้าปล่อยทิ้งไว้ความดันจะเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มิลลิเมตรปรอทต่อปี

ชนิดของโรคความดันโลหิตสูง
1. ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ กรรมพันธุ์หรือสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยส่งเสริม เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน ทานอาหารเค็ม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เครียด เป็นต้น 

2. ชนิดที่ทราบสาเหตุ เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นผลมาจาก ที่เป็นโรคอื่นมาก่อนและมักต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบในส่วนของช่องอก รวมถึงผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี 

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง 
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
1. กรรมพันธุ์ จากการสำรวจความถี่ในการเกิดโรค พบว่า ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสและความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่า
2. เพศและอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีข้อมูลบ่งบอกว่า พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในช่วงก่อนอายุ 50 ปี แต่เมื่ออายุเลย 50 ปี ผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลง ซึ่งมีผลต่อความยืดหยุ่นของเส้นเลือด ส่วนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบความดันโลหิตสูงเท่ากันทั้ง 2 เพศ  

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
ปัจจัยที่ควบคุมได้
1. อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน
2. ไขมันในเลือดสูง
3. ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
4. กินเค็มเป็นประจำ
5. ขาดการออกกำลังกาย
6. มีภาวะดื้ออินซูลินหรือเป็นเบาหวาน

รู้ได้อย่างไรว่ากำลังเป็นโรคความดันโลหิตสูง 
  ภาวะโรคความดันโลหิตสูง เปรียบเหมือนฆาตกรเงียบ หากความดันสูงเล็กน้อยหรือปานกลาง มักไม่มีอาการเตือนให้รู้ตัว แต่สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก อาจมีอาการเหล่านี้ได้ เช่น
ปวดศีรษะตุบๆบริเวณท้ายทอย
เวียนศีรษะตอนตื่นนอนใหม่ๆ
ตาพร่ามัว
มีเลือดกำเดาไหล
เหนื่อยง่าย
เจ็บหน้าอก

ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง อยู่นานจะเกิดอะไรขึ้น
ถ้าคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงและปล่อยให้ตนเองมีค่าความดันสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือต่อเนื่อง อีกทั้งควบคุมไม่ได้จนกระทั่งเกินกว่า 160/100 มิลลิเมตรปรอท ในที่สุดอาจเกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน โรคเลือดสมอง ไตวาย และหัวใจวาย

ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดงซึ่งเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ (คล้ายแรงลมที่ดันผนังของยางรถเมื่อเราสูบลมเข้า) ซึ่งสามารถวัดได้โดยการใช้เครื่องวัดความดัน (Sphygmomanometer) วัดที่แขน และมีค่าที่วัดได้ 2 ค่า คือ

  1. ความดันช่วงบน หรือ ความดันซิสโตลี (Systolic blood pressure) หมายถึง แรงดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว ซึ่งอาจจะสูงตามอายุ และความดันช่วงบนของคนคนเดียวกันอาจมีค่าแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ตามท่าของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และปริมาณของการออกกำลังาย
  2. ความดันช่วงล่าง หรือ ความดันไดแอสโตลี (Diastolic blood pressure) หมายถึง แรงดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว
    ในปัจจุบันได้มีการกำหนดค่าความดันโลหิตปกติและระดับความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูงสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ดังตารางด้านล่าง

ตารางการแบ่งระดับความรุนแรงของความดันโลหิตสูงในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

ประเภท|ความดันช่วงบน (มม.ปรอท)/ความดันช่วงล่าง (มม.ปรอท)
ความดันโลหิตปกติ|< 120 และ < 80
ความดันโลหิตปกติที่ค่อนไปทางสูง|120-129 และ < 80
ความดันโลหิตสูงระดับที่ 1|130-139 และ/หรือ 80-89
ความดันโหลิตสูงระดับที่ 2|≥ 140 และ/หรือ ≥ 90
ความดันช่วงบนสูงเดี่ยว|≥ 140 และ < 90

หมายเหตุ : หากความดันช่วงบนและความดันช่วงล่างมีความรุนแรงอยู่ต่างระดับกัน ให้ถือระดับที่รุนแรงกว่าเป็นเกณฑ์

โรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง, ความดันเลือดสูง, ความดันสูง หรือที่แพทย์บางท่านเรียกว่า ภาวะความดันโลหิตสูง (อังกฤษ : Hypertension หรือ High blood pressure) หมายถึง ภาวะที่ความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 130 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และ/หรือความดันช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ซึ่งโดยมากผู้ป่วยจะมีความดันช่วงล่างสูง (Diastolic hypertension) โดยที่ความดันช่วงบนจะสูงหรือไม่ก็ได้ แต่บางรายอาจมีความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว แต่มีค่าความดันช่วงล่างไม่สูงก็ได้เช่นกัน เรียกว่า “ความดันช่วงบนสูงเดี่ยว” (Isolated systolic hypertension – ISHT) ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายไม่น้อยไปกว่าความดันช่วงล่างสูงและผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ โดยพบได้สูงถึงประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และจะพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ (ในบางประเทศพบโรคความดันโลหิตสูงได้สูงถึง 50% ของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ส่วนในเด็กก็สามารถพบเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากถึง 1 พันล้านคน ซึ่ง 2 ใน 3 ของจำนวนนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลก 1 คน ใน 3 คนมีภาวะความดันโลหิตสูง

สถานการณ์ของโรคความดันโลหิตสูงทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย (คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วทั้งโลกจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 1.56 พันล้านคน) เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกก่อนวัยอันควรถึงเกือบ 8 ล้านคนต่อปี และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกือบร้อยละ 50 ด้วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กําหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคนี้กันมากขึ้น

สำหรับในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า จำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2550 พบอัตราผู้ป่วยในต่อประชากรแสนคนจาก 1,025.44 เพิ่มขึ้นเป็น 1,561.42 ในปี พ.ศ.2557 และมีอัตราการเสียชิวิตโรคนี้ต่อประชากรแสนคนเป็น 3.64 ในปี พ.ศ.2550 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 10.95 ในปี พ.ศ.2557

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

  1. ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ประมาณ 90-95% แพทย์จะตรวจไม่พบโรค หรือภาวะผิดปกติ หรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความดันโลหิตสูง เรียกว่า “ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ” (Primary hypertension) หรือ “ความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด” (Essential hypertension) เมื่อกล่าวถึงโรคความดันโลหิตสูงเรามักจะหมายถึงโรคความดันโลหิตสูงชนิดนี้เป็นหลัก
    • โรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุนี้ แพทย์เชื่อว่าน่าจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน ที่สำคัญ คือ อิทธิพลของเอนไซม์ (สารเคมีที่มีหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ) ที่เรียกว่า “เรนิน” (Renin) และฮอร์โมนแองจิโอเท็นซิน (Angiotensin) จากไต ซึ่งทั้งสองสารนี้จะทำงานร่วมกับต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมองในการควบคุมน้ำ เกลือแร่โซเดียม และการบีบตีวของหลอดเลือดในร่างกาย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อการควบคุมความดันโลหิต นอกจากนี้ กลไกการเกิดความดันโลหิตสูงยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านพันธุกรรม (เพราะพบโรคนี้สูงขึ้นในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ โดยผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติดังกล่าวประมาณ 3 เท่า), เชื้อชาติ (เพราะพบโรคนี้ได้สูงในคนอเมริกันผิวดำเมื่อเปรียบเทีนบกับคนอเมริกันผิวขาวและชาวแมกซิกันอเมริกัน), การมีอายุมาก, ความอ้วน, การรับประทานอาหารเค็มจัดหรือมีเกลือโซเดียมสูง (เพราะเกลือโซเดียมหรือเกลือทะเลเป็นตัวอุ้มน้ำในเลือด จึงมีผลเพิ่มปริมาตรของเลือดที่ไหลเวียน ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้), การดื่มแอลกฮอล์จัด, กระบวนการของร่างกายที่ส่งผลต่อสมดุลและการทำงานของเกลือแร่แคลเซียมในร่างกาย
    • ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเริ่มเป็นโรคความดันโลหิตสูงเมื่ออายุได้ประมาณ 25-55 ปี (พบได้มากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป) และยิ่งอายุมากขึ้นก็จะมีโอกาสเป็นได้มากขึ้น
  2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนน้อยประมาณ 5-10% แพทย์อาจตรวจพบโรค หรือภาวะผิดปกติ หรือสิ่งที่เป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งเรียกว่า “ความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ” (Secondary hypertension) หรือ “ความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ
    • ในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
      • ความดันช่วงบนมีค่า ≥ 180 หรือความดันช่วงล่างมีค่า ≥ 110 มม.ปรอท
      • ความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นก่อนอายุ 30 ปี หรือหลังอายุ 50 ปี – มีความดันโลหิตสูงซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที – ควบคุมความดันไม่ได้หลังจากเคยคุมได้ดีมาก่อน หรือใช้ยาลดความดันมาหลายชนิดแล้วแต่ยังควบคุมความดันไม่ได้ – พบภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น หัวใจห้องล่างซ้ายโต มีค่าครีอะตินีนในเลือด > 1.5 มก./ดล.
      • จอตาเสื่อม (Hypertension retinopathy) ระดับ 3 หรือ 4
      • มีอาการที่สงสัยว่าเป็นความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ (ดูเพิ่มเติมในหัวข้ออาการ)
    • สาเหตุของความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุนั้นอาจเกิดได้จากหลายสภาวะ ได้แก่
      • โรคไต เช่น โรคไตเรื้อรัง กรวยไตอักเสบเรื้อรัง หน่วยไตอักเสบ โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง ฯลฯ
      • หลอดเลือดแดงไตตีบ (Renal artery stenosis)
      • หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ (Coarctation of aorta)
      • เนื้องอกบางชนิดของต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง
      • โรคคุชชิง / การใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
      • โรคของต่อมไทรอยด์/พาราไทรอยด์
      • ภาวะแอลโดสเตอโรนสูงชนิดปฐมภูมิ (Primary aldosteronism)
      • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
      • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาเม็ดคุมกำเนิด/เอสโตรเจน, อะดรีนาลิน/ซูโดอีเฟดรีน, ไซโคลสปอริน, อิริโทรมัยซิน, อีริโทรโพอิติน, รวมไปถึงการใช้สารเสพติดอย่างแอมเฟตามีน/โคเคน
  3. ความดันช่วงบนสูงเดี่ยว มักพบในผู้สูงอายุ (ยิ่งมีอายุมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีโอกาสพบได้มากขึ้นเท่านั้น), ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ (Coarctation of aorta), ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (Aortic insufficiency), โรคคอพอกเป็นพิษ (Toxic goiter)
  4. ความดันโลหิตสูงเพียงชั่วคราว ความดันโลหิตอาจสูงเพียงชั่วคราวได้เมื่อมีภาวะที่ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เช่น ไข้ ซีด เกิดอารมณ์เครียด (เช่น โกรธ ตื่นเต้น), ออกกำลังกายใหม่ ๆ ฯลฯ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด และความดันจะกลับมาเป็นปกติได้เองเมื่อปัจจัยเหล่านี้ได้หมด

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ คือ

  • พันธุกรรม โอกาสจะสูงมากขึ้นเมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • โรคเบาหวาน เพราะก่อให้เกิดการอักเสบตีบแคบของหลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดของไต
  • โรคไตเรื้อรัง เพราะส่งผลถึงการสร้างเอนไซม์และฮอร์โมนที่ควบคุมความดันโลหิตดังที่กล่าวไป
  • น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน เพราะเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ตีบจากภาวะไขมันเกาะผนังหลอดเลือด
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
  • การขาดการออกกำลังกาย เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนและเบาหวาน
  • การรับประทานอาหารเค็มอย่างต่อเนื่อง ตามเหตุผลที่กล่าวไป
  • การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ส่งผลให้เกิดการอักเสบตีบตันของหลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดไต
  • การดื่มแอกอฮอล์ เพราะส่งผลให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติและมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึงประมาณ 50% ของผู้ที่ติดสุราทั้งหมด
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ตามเหตุผลที่กล่าวไป
IMAGE SOURCE : universityhealthnews.com

อาการความดันโลหิตสูง

ในรายที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (พบได้เป็นส่วนใหญ่) ส่วนใหญ่จะมีไม่อาการแสดงแต่อย่างใด และมักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจคัดกรองโรคหรือเมื่อมาพบแพทย์ด้วยปัญหาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

  • มีส่วนน้อยที่อาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ ซึ่งมักจะเป็นตอนตื่นนอนใหม่ ๆ พอตอนสายอาการจะทุเลาไปเอง
  • บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ แบบไมเกรน
  • ส่วนในรายที่เป็นมานาน ๆ หรือมีความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตามัว มือเท้าชา หรือมีเลือดกำเดาไหล
  • หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษา อาจแสดงอาการของภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น หอบเหนื่อบ เจ็บหน้าอก บวม แขนขาเป็นอัมพาต เป็นต้น

ส่วนในรายที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ (พบได้เป็นส่วนน้อย) อาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น มีระดับความดันโลหิตแกว่งขึ้น ๆ ลง ๆ ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ใจสั่น และเหงื่อออกเป็นพัก ๆ (อาจเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไตฟีโอโครโมไซโตมา), นอนกรนผิดปกติ (อาจเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ), ต้นแขนและขาอ่อนแรงเป็นพัก ๆ (อาจเป็นภาวะแอลโดสเตอโรนสูงชนิดปฐมภูมิ), ปวดหลังร่วมกับปัสสาวะขุ่นแดง (อาจเป็นนิ่วไต), รูปร่างอ้วนฉุ หน้าอูม มีไขมัน (หนอกควาย) ที่หลังคอ และมีประวัติการรับประทานยาสเตียรอยด์ ยาชุด หรือยาลูกกลอนมาก่อน (อาจเป็นโรคคุชชิง) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง

หากไม่ได้รับการักษาหรือปล่อยให้ความโลหิตสูงเป็นเวลานาน ๆ ผู้ป่วยมักจะเกิดความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ตามมา เช่น สมอง ประสาทตา หัวใจ ไต หลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้ เนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงแทบทุกส่วนของร่างกายเสื่อม เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่ได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญนั้น ได้แก่

  • สมอง อาจเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก กลายเป็นโรคอัมพาตครึ่งซีกซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย บางรายถ้าเป็นเรื้อรังอาจกลายเป็นโรคความจำเป็นเสื่อม สมาธิลดลง นอกจากนี้ ในรายที่มีหลอดเลือดฝอยในสมองส่วนสำคัญแตกก็อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว หรือในรายที่มีความดันโลหิตสูงรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันก็อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึม เพ้อ ชัก หรือหมดสติได้ ซึ่งเรียกว่า “Hypertensive encephalopathy”
  • หัวใจ จะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโต (LVH) ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นมากขึ้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ เกี่ยวกับหัวใจตามมาได้ และโรคนี้ยังอาจทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบกลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงอาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย ซึ่งจะทำให้มีอาการบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ส่วนในรายที่มีความดันโลหิตสูงรุนแรง อาจตรวจพบหัวใจเต้นมากกว่า 120 ครั้งต่อนาที และจังหวะไม่สม่ำเสมอจากหัวใจห้องบนเต้นแผ่นระรัว
  • ตา จะเกิดภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดงภายในลูกตาอย่างช้า ๆ ในระยะแรกหลอดเลือดจะตีบ แต่ต่อมาอาจแตกมีเลือดออกที่ตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อย ๆ จนถึงขั้นตาบอดได้
  • ไต อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง เนื่องจากหลอดเลือดแดงแข็ง เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ซึ่งไตที่วายจะยิ่งทำให้ความโลหิตของผู้ป่วยสูงขึ้น กลายเป็นวงจรที่เลวร้าย
  • หลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หลอดเลือดแดงใหญ่เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ หลอดเลือดแดงส่วนที่มาเลี้ยงขาและปลายเท้าอาจเกิดภาวะแข็งตัวและตีบได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย) ทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ขาและปลายเท้าได้น้อย อาจเป็นตะคริวบ่อย หรือปวดน่องขณะเดินมาก ๆ หากหลอดเลือดแดงเกิดการอุดตันก็อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดจนกลายเป็นเนื้อตายเน่า (Gangrene) ได้

ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะเกิดขึ้นรวดเร็วหรือรุนแรงเพียงใดนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะของโรค ถ้าผู้ป่วยสามารถควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ก็อาจป้องกันภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้หรือทำให้ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นลดความรุนแรงลงได้ ส่วนในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาการเกิดภาวะแทรกซ้อนก็อาจใช้เวลานานถึง 7-10 ปี แต่ในรายที่มีความดันสูงมาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้รวดเร็ว และผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี (ถ้ารุนแรงมากอาจเสียชีวิตภายใน 6-8 เดือน) นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด มีโรคอื่นร่วมด้วย (เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ) ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เร็วยิ่งขึ้น ผู้ป่วยจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมโรคเหล่านี้ควบคู่กันไปด้วย

ข้อมูลจากรายงานการคัดกรองความดันโลหิตในปี พ.ศ. 2554 (ตามโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชน) พบว่าในประชากรที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 19,328,463 คน เป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รายเก่า 2,661,954 คน มีภาวะแทรกซ้อนทางตา 18,255 คน (7.94%), มีภาวะแทรกซ้อนทางไต 46,598 (20.26%), มีภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ 51,840 คน (22.54%), มีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง 32,686 คน (14.21%) และมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ 75,503 คน (ร้อยละ 32.83%)

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่มักไม่มีอาการแสดง ยกเว้นผู้ป่วยในระยะรุนแรงที่อาจมีอาการแสดงได้ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง หายใจสั้น มีเลือดกำเดาไหล ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงและบอกไม่ได้ชัดเจน และส่วนใหญ่ของอาการจากโรคก็เป็นอาการจากภาวะแทรกซ้อน เช่น จากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือเป็นอาการจากโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือเป็นอาการจากโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง จึงทำให้โรคนี้ถูกเรียกว่าเป็น “เพชรฆาตเงียบ” (Silent killer) ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างไม่ทันได้ระวังตัว ผู้ป่วยจึงต้องหมั่นตรวจสุขภาพและวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ

การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยา การตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (เพื่อดูการทำงานของหัวใจ), การตรวจภาพอวัยวะที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุ (เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภาพต่อมใต้สมอง), การตรวจปัสสาวะ และการตรวจเลือด (เพื่อดูระดับน้ำตาล คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ กรดยูริก ครีอะตินีน โพแทสเซียม ฮีโมโกลบิน และฮีมาโทคริต) ทั้งนี้การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งควรได้รับการตรวจตั้งแต่ครั้งแรกที่วินิจฉัยและตรวจซ้ำอีกปีละ 1-2 ครั้ง หรือตรวจเมื่อพบว่ามีความผิดปกติ

การตรวจสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ คือ การตรวจวัดค่าความดันโลหิตซึ่งถือเป็นการตรวจหลัก โดยทั่วไปจะทำการตรวจวัดความดันในท่านั่งและมีการตรวจวัดหลายครั้ง ในแต่ละคราวจะทำการตรวจวัดอย่างน้อย 2 ครั้ง (ทิ้งช่วงห่างกันประมาณ 1-2 นาที) เพื่อความแม่นยำของผลการตรวจ ถ้าพบว่าค่าความดันเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าปกติ แพทย์จะนัดให้มาตรวจวัดซ้ำอีกอย่างน้อย 1-2 คราวในต่างวันกัน หากพบว่าค่าความดันเฉลี่ยยังสูงกว่าปกติจะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง

IMAGE SOURCE : acasestudy.com

โดยในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงนั้นจะตรวจพบความดันโลหิตช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 130 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันโลหิตช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 80 มม.ปรอทขึ้นไป หรือสูงทั้งช่วงบนและช่วงล่าง นอกจากนั้นมักไม่พบสิ่งผิดปกติอื่น ๆ เว้นแต่ในรายที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ เช่น คลำได้ก้อนในท้องส่วนบนสองข้างในผู้ป่วยโรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง, ตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะในผู้ป่วยโรคไต, ได้ยินเสียงฟู่ (Murmur) ตรงลิ้นหัวใจเอออร์ติกในผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจเออร์ติกรั่ว, ใช้เครื่องฟังได้ยินเสียงฟู่ (Bruit) ที่หน้าท้องตรงบริเวณใต้ชายโครงด้านขวาหรือซ้ายในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงไตตีบ, คลำชีพจรที่ขาหนีบไม่ได้หรือคลำได้แผ่วเบาในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ ฯลฯ

หมายเหตุ : ควรงดการสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และงดการออกกำลังกายก่อนการตรวจวัดความดันอย่างน้อย 30 นาที และในวันที่ตรวจวัดความดันจะต้องงดการดื่มแอลกอฮอล์ และงดการใช้ยากระตุ้นอะดรีเนอร์จิก เช่น ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)

การรักษาความดันโลหิตสูง

ก่อนการรักษาแพทย์จะทำการประเมินผู้ป่วยแต่ละรายโดยการค้นหาสาเหตุ ประเมินพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด* ค้นหาโรคที่มีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง** และร่องรอยการทำลายของอวัยวะจากโรคความดันโลหิตสูง*** รวมทั้งค้นหาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเลือกใช้ยาลดความดันโลหิต**** ซึ่งทำได้จากการตรวจต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงชนิดของโรคด้วย เพราะถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสในการรักษาหายได้มากกว่าชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ส่วนการรักษาโรคความดันโลหิตสูงนั้น แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาตามระดับความรุนแรงของโรคร่วมไปกับการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดใน 10 ปีข้างหน้า*****

หมายเหตุ :

* ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, อ้วน, ไขมันในเลือดผิดปกติ, ภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะระยะแรกมากกว่าหรือเท่ากับ 30 มิลลิกรัมต่อวัน, มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 55 ปีในผู้ชาย หรือมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปีในผู้หญิง, มีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดในครอบครัวที่เป็นก่อนวัยอันควร (น้อยกว่า 55 ปีในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 65 ปีในผู้หญิง), การสูบบุหรี่, การขาดการออกกำลังกาย

** โรคที่มีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง (Associated clinical conditions – AAC) ได้แก่ โรคเบาหวาน (แม้ไม่ได้เป็นโรคแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูง แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้), โรคหลอดเลือดสมอง (ได้แก่ สมองขาดเลือดชั่วขณะ สมองขาดเลือดจากการอุดกั้น หลอดเลือดสมองแตก), โรคหัวใจ (ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย เคยผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจหรือใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ), โรคของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย, โรคไตเรื้อรัง

*** ร่องรอยการทำลายของอวัยวะจากโรคความดันโลหิตสูงโดยที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ (Target organ damage – TOD) ได้แก่ หัวใจห้องล่างซ้ายโต (LVH) จากการตรวจคลื่นหัวใจหรือการถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram), ตรวจพบจอตาผิดปกติ (Hypertensive retinopathy) ระดับ 3 หรือ 4, ตรวจพบภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะระยะแรก (Microalbuminuria) คือ มีปริมาณ 30-300 มิลลิกรัมต่อวัน, ตรวจทางรังสีหรืออัลตราซาวนด์พบตะกรันท่อเลือดแดง (Atherosclerotic plaque) ตามหลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดแดงคอ ปีกสะโพก และหลอดเลือดแดงต้นขา

**** ภาวะผิดปกติที่มีผลต่อการเลือกใช้ยาลดความดันโลหิต เช่น โรคหืด โรคเกาต์

***** ตารางการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดใน 10 ปีข้างหน้า

ความเสี่ยง|ความดันโลหิตสูงระดับที่ 1|ความดันโลหิตสูงระดับที่ 2
1.ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดใด ๆ เลย|ต่ำ|ปานกลาง-สูง
2.มี 2-3 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด|ปานกลาง|ปานกลาง-สูง
3.มี 3 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดขึ้นไป หรือมีโรคที่มีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง (ACC) หรือมีร่องรอยการทำลายของอวัยวะจากโรคความดันโลหิตสูง (TOD)|สูง|สูง

โดยการรักษาจะมีตั้งแต่การให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต, การให้ยาลดความดันโลหิตซึ่งมีหลากหลายชนิดและมีทั้งชนิดกินและชนิดฉีดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ, การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ (เช่น การกินยาคลายเครียดและการให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ), การรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง (เช่น รักษาโรคเบาหวาน), การรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุ (เช่น รักษาโรคไตเรื้อรัง หรือโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง) และรวมถึงการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง (เช่น รักษาโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่เป็นได้ทั้งสาเหตุและภาวะแทรกซ้อน)

แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง

  1. เป้าหมายของการลดความดันโลหิต คือ ควรลดความดันช่วงบน < 130 และความดันช่วงล่าง < 80 มม.ปรอท
  2. ผู้ป่วยที่มีความดันช่วงบนอยู่ระหว่าง 120-129 และความดันช่วงล่าง < 80 มม.ปรอท แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่ต้องให้ยาลดความดันและติดตามวัดความดันใน 1 ปี ส่วนในผู้ที่มีโรคเบาหวานหรือโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นระยะเวลา 3 เดือนแล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันได้ตามเป้าหมาย (น้อยกว่า 120/80 มม.ปรอท) แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาลดความดัน
  3. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีความเสี่ยงต่ำ (ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ*) แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและติดตามวัดความดันทุก 1-2 เดือน เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน หากยังไม่สามารถควบคุมความดันได้ตามเป้าหมาย แพทย์จึงจะเริ่มให้การรักษาด้วยยาลดความดัน
  4. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีความเสี่ยงปานกลาง (ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 ที่มีปัจจัยเสี่ยง 1-2 อย่าง และระดับที่ 2 ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ หรือมีปัจจัยเสี่ยง 1-2 อย่าง) แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมภาวะอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยง (เช่น ภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ฯลฯ) ร่วมไปกับการติดตามวัดควาดมันทุก 1-2 เดือน นาน 3-6 เดือน หากยังไม่สามารถควบคุมความดันได้ตามเป้าหมาย แพทย์จึงจะเริ่มให้การรักษาด้วยยาลดความดัน
  5. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีความเสี่ยงสูง (ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับที่ 2 ที่มีความดันช่วงบน ≥ 180 และ/หรือช่วงล่าง ≥ 110 ทุกราย และผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 3 อย่างขึ้นไปหรือมีร่องรอยการทำลายของอวัยวะจากโรคความดันโลหิตสูงหรือมีโรคที่สัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูงทุกราย ไม่ว่าจะมีความดันโลหิตสูงอยู่ที่ระดับใดก็ตาม) ในกลุ่มนี้แพทย์จะเริ่มให้ยาลดความดันตั้งแต่แรกพบ ร่วมไปกับการให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมภาวะอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยง
  6. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงวิกฤติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
    • ความดันโลหิตสูงฉุกเฉิน (Hypertensive emergencies) หมายถึง ผู้ป่วยที่มีความดันช่วงบน > 180 และ/หรือความดันช่วงล่าง > 120 มม.ปรอท ร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันของอวัยวะสำคัญ (เช่น โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตครึ่งซีกที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน, ไตวายเฉียบพลัน, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน) ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้ยาฉีดลดความดัน เช่น อีนาลาพริล (Enalapril), นิคาร์ดิปีน (Nicardipine), ไนโตรปรัสไซด์ (Nitroprusside), ลาเบทาลอล (Labetalol) โดยแพทย์จะค่อย ๆ ลดความดันของผู้ป่วยให้เหลือ 160/100 มม.ปรอท ภายใน 2-6 ชั่วโมงต่อมา (เพราะต้องระวังไม่ให้ความดันลดเร็วเกินไป เช่น การไม่ให้ยาไนเฟดิปีน (Nifedipine) อมใต้ลิ้น เพราะอาจทำให้เซลล์สมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงฉับพลันได้)
    • ความดันโลหิตสูงเร่งด่วน (Hypertensive urgencies) หมายถึง ผู้ป่วยที่มีความดันช่วงบน > 180 และ/หรือช่วงล่าง > 120 มม.ปรอท ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง เลือดกำเดาไหล หรือมีความวิตกกังวลรุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง และแพทย์จำเป็นต้องให้ยาลดความดันที่ออกฤทธิ์เร็ว เช่น แคปโตพริล (Captopril), โคลนิดีน (Clonidine), ลาเบทาลอล (Labetalol) รับประทานในทันที หรือให้ยาลดความดันหลายชนิดรับประทานทันที เพื่อให้ความดันของผู้ป่วยลดลงภายใน 24-48 ชั่วโมง
  7. การให้ยารักษาความดัน ในรายที่แพทย์จำเป็นต้องให้ยาลดความดัน แพทย์จะมีแนวทางในการให้ยาดังนี้
    • ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 แพทย์จะเริ่มการรักษาด้วยการให้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งเพียง 1 ชนิด ซึ่งยาที่นิยมใช้จะเริ่มจากไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide) ขนาด 12.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง แล้วติดตามผลทุกเดือน ถ้ายังไม่ได้ผลตามเป้าหมายแพทย์จะปรับขนาดยาเป็น 25 และ 50 มิลลิกรัม ตามลำดับ แต่ถ้ายังควบคุมไม่ได้ แพทย์จะให้ยาอีกชนิดหนึ่งร่วมไปด้วย เช่น ยาปิดกั้นเบต้า (Beta blockers), ยาต้านแคลเซียม (Calcium-channel blockers) หรือยาต้านเอซ (ACE inhibitors) โดยจะปรับขนาดยาขึ้นทีละน้อย แต่บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยา 2 ชนิดในขนาดต่ำก็ได้ คือไม่จำเป็นต้องให้ยาชนิดแรกถึงเต็มขนาดแล้วค่อยเพิ่มชนิดที่ 2
    • ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงระดับที่ 2 แพทย์จะเริ่มให้การรักษาด้วยยา 2 ชนิดร่วมกัน โดยมีไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide) เป็นตัวหลักร่วมกับยาชนิดอื่น โดยจะเริ่มจากขนาดต่ำก่อน ร่วมกับการติดตามวัดความดันเดือนละ 1 ครั้ง (แต่ถ้าความดันสูงมากก็จะติดตามทุก 1-2 สัปดาห์) แล้วค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นทีละน้อย จนกว่าจะควบคุมความดันได้ตามเป้าหมาย แต่ถ้ายังไม่ได้ผลก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนยาและใช้ยาถึง 3-4 ชนิดร่วมกัน
    • ในการให้ยารักษาความดันนั้น แพทย์จะเริ่มจากการให้ทีละน้อยก่อน แล้วจึงจะค่อย ๆ เพิ่มขนาดขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพื่อระวังไม่ให้ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาด เพราะจะทำให้ความตกมากเกินไปจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการหน้ามืดเป็นลมเวลาลุกได้ (ความดันตกในท่ายืน)
    • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ด้วยการใช้ยาลดความดันเพียง 1-2 ชนิด มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องใช้ยาลดความดันมากกว่า 2 ชนิด
  8. การรักษาความดันโลหิตสูงในภาวะต่าง ๆ
    • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีโรคหัวใจขาดเลือดร่วมด้วย ถ้าเป็นโรคหัวขาดเลือดชั่วขณะ แพทย์จะให้ยาปิดกั้นเบต้า (Beta blockers) หรือยาต้านแคลเซียม (Calcium-channel blockers) ชนิดออกฤทธิ์ยาว แต่ถ้าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย แพทย์จะให้ยาปิดกั้นเบต้าและยาต้านเอซ (ACE inhibitors)
    • ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide) ร่วมกับยาต้านเอซ ซึ่งจะช่วยป้องกันการกำเริบซ้ำได้
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาต้านเอซ ยาปิดกั้นเบต้า และยาขับปัสสาวะ (Diuretics) อย่างยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide) และสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone)
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายโต (LVH) แพทย์จะให้ยาปิดกั้นแองจิโอเทนซิน (Angiotensin receptor blocker – ARB)
    • ผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรัง (ตรวจพบมีสารไข่ขาวในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือครีอะตินีนมากกว่า 1.3 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย หรือมากกว่า 1.2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง) แพทย์จะให้ยาลดความดันอย่างน้อย 3 ชนิดร่วมกัน โดยจะมียาต้านเอซหรือยาปิดกั้นแองจิโอเทนซิน (ARB) เป็นหลัก ซึ่งจะสามารถช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้ อีกทั้งยาทั้งสองชนิดนี้แพทย์ยังแนะนำใช้ในผู้ป่วยที่มีเบาร่วมด้วย จึงช่วยป้องกันภาวะไตเสื่อมจากเบาหวานและลดภาวะมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ
    • ผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากโตร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาปิดกั้นแอลฟา (Alpha blockers) เช่น ดอกซาโซซิน (Doxazosin), พราโซซิน (Prazosin) ซึ่งจะช่วยรักษาอาการต่อมลูกหมากโตด้วย
    • ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะให้ยาปิดกั้นเบต้า, ไฮดราลาซีน (Hydralazine), เมทิลโดปา (Methyldopa)
    • ผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันช่วงบนสูงเดี่ยว แพทย์จะให้ยาไฮโดรคลอโรไทอาไซด์และ/หรือยาต้านแคลเซียมชนิดที่ออกฤทธิ์ยาวในขนาดต่ำ หากยังไม่ได้ผลแพทย์จะค่อย ๆ ปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นทีละน้อยอย่างช้า ๆ เพื่อระวังไม่ให้เกิดภาวะความดันตกในท่ายืน
  9. การติดตามผลการรักษาโรคความดันโลหิต ในช่วงแรกของการรักษาแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเดือนละ 1 ครั้ง แต่ถ้าผู้ป้วยมีความดันสูงมากจะนัดมาตรวจทุก 1-2 สัปดาห์ เมื่อควบคุมความดันได้ตามเป้าหมายแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจทุก 3-6 เดือน และตรวจทางห้องปฏิบัติการทุก 6-12 เดือน ซึ่งในการติดตามผู้ป่วยนั้น โดยทั่วไปแพทย์จะเน้นให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังและปรับยาที่ใช้ให้เหมาะสม รวมถึงซักถามอาการและตรวจดูภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้นได้
  10. การดื้อต่อผลการรักษา (Resistant hypertension) หมายถึง ผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันร่วมกันตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป (รวมทั้งยาขับปัสสาวะ) จนเต็มขนาดของยาแล้ว แต่ยังไม่สามารถควบคุมความดันได้ตามเป้าหมาย แพทย์จะค้นหาสาเหตุและทำการแก้ไขสาเหตุที่ตรวจพบ (สาเหตุของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ดื้อต่อการรักษา ได้แก่ การวัดความดันไม่ถูกต้อง, การสั่งยาลดความดันให้ในขนาดน้อยเกินไป, ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง, ใช้ยาที่ทำให้ความดันโลหิตสูง, รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง, น้ำหนักตัวขึ้นมากหรืออ้วน, ดื่มแอลกอฮอล์จัด, เป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ)
  11. หากควบคุมความดันไม่ได้ตามเป้าหมาย สงสัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ หรือมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง หัวใจ ตา หรือไต ซึ่งจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมและให้การดูแลรักษาที่ซับซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

หมายเหตุ : ปัจจัยเสี่ยงในที่นี้หมายถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาให้หายได้ยาก แต่ก็สามารถรักษาควบคุมได้เสมอถ้าเริ่มรักษาตั้งแต่แรก ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และไม่หยุดยาเอง

การปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมความดันโลหิตสูงและเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด มีดังนี้

  • บริโภคอาหารควบคุมความดัน หรือ อาหารแดช (Dietary approaches to stop hypertension – DASH Diet) ซึ่งเป็นวิธีการกินอาหารที่ผู้เชี่ยวชาญยกให้เป็นสุดยอดการป้องกันและรักษาโรคนี้ โดยการเน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง (เพราะมีโพแทสเซียมมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการควบคุมความดัน) ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ เมล็ดธัญพืช ถั่วต่าง ๆ ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันที่ดีต่อร่างกายให้มาก ๆ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ (เนื้อแดง) แป้ง น้ำตาล ของหวาน ไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอล และลดการบริโภคอาหารเค็มหรือโซเดียม (เช่น ไข่เค็ม เนื้อเค็ม ปลาเค็ม น้ำพริก กะปิ ปลาร้า หนำเลี้ยบ อาหารที่ใส่หรือจิ้มเกลือ ของดองเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว หรือซอสที่มีรสเค็ม ฯลฯ) โดยการจำกัดเกลือแกง (โซเดียมคลอไรด์) ให้น้อยกว่าวันละ 6 กรัม หรือ 1 ช้อนชา และลดการบริโภคอาหารที่ใส่ผงฟู (เช่น ขนมปัง ขนมสาลี่ ขนมถ้วยฟู) ผงชูรส และสารกันบูด (เช่น อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป) รวมทั้งโซเดียมไบคาร์บอเนต (เช่น ยาธาตุน้ำแดง ยาเม็ดโซดามินต์) และงดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ชายให้ดื่มได้ไม่เกินวันละ 2 หน่วยการดื่ม (Drink) ซึ่งเทียบเท่ากับวิสกี้ 90 มิลลิลิตร ไวน์ 300 มิลลิลิตร หรือเบียร์ 720 มิลลิลิตร ส่วนผู้หญิงให้ดื่มได้ไม่เกิน 1 หน่วยการดื่ม
  • งดการสูบบุหรี่ รวมถึงการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด
  • ลดน้ำหนักให้มีดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 25 กก./ม.2 (หรือถ้าลดได้น้อยกว่า 23 กก./ม.2 เลยได้ยิ่งดี)
  • หมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำให้ได้เกือบทุกวัน เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • รักษาสุขภาพจิตให้ดี ไม่เครียด เข้าใจและยอมรับชีวิต รวมถึงการหมั่นฝึกผ่อนคลายความเครียดและบริหารสุขภาพจิตอยู่เสมอ เช่น สวดมนต์ ทำสมาธิ โยคะ รำมวยจีน ชี่กง ร้องเพลง เล่นดนตรี หรือทำงานอดิเรกต่าง ๆ ฯลฯ
IMAGE SOURCE : ukhealthcare.uky.edu

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

  • ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง รวมถึงปฏิบัติตัวตามคำแนะนำที่อธิบายไว้ในหัวข้อ “การปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง” เพื่อช่วยในการควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติและช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เพราะถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตัวได้ดี ความดันโลหิตอาจลดลงเป็นปกติโดยไม่ต้องใช้ยารักษาเลยก็ได้ (ถ้าเป็นในระดับที่ 1) หรือไม่ก็ช่วยลดขนาดของยาที่ใช้ลง (ถ้าเป็นระดับที่ 2)
  • ผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน และไม่หยุดยาเอง แม้ว่าจะรู้สึกว่าสบายดีหรือความดันลดลงแล้วก็ตาม โดยการลดยาหรือหยุดยานั้นผู้ป่วยควรให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเมื่อแพทย์ให้ยาจนความดันลดเป็นปกติได้ติดต่อกันนาน 1 ปี แพทย์อาจลดขนาดของยาลงทีละน้อย แล้วตรวจวัดความดันเป็นระยะ ๆ ถ้าความดันปกติแพทย์จะให้ยาในขนาดนั้น ๆ หรือค่อย ๆ ลดขนาดยาลงจนหยุดยาไปเลย แต่ยังต้องหมั่นตรวจวัดความดันผู้ป่วยต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าความดันขึ้นสูงใหม่ก็ต้องให้ยาใหม่ หรือเพิ่มขนาดของยาขึ้นไปใหม่ (มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องใช้ยาควบคุมความดันไปตลอดชีวิต)
  • ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยปล่อยให้ดันโลหิตสูงอยู่นานเป็นแรมปี หากผู้ป่วยรักษาอย่างจริงจัง โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะลดน้อยลงและสามารถมีชีวิตยืนยาวได้เช่นคนปกติ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงควรติดต่อรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด แม้ว่าจะรู้สึกสบายดีแล้วหรือไม่มีอาการผิดปกติเลยก็ตามก็ควรหมั่นตรวจวัดความดันเป็นประจำ อาจเป็นเดือนละ 1-2 ครั้ง อาจวัดกันเองที่บ้านหรือไหว้วานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านช่วยตรวจวัดให้ก็ได้ และควรลงสมุดบันทึกไว้ด้วยเพื่อนำไปให้แพทย์ดูในการตรวจครั้งต่อไป
  • ผู้ป่วยบางรายที่ตรวจวัดความดันที่บ้านจะมีค่าควาดมันปกติ แต่เมื่อไปตรวจวัดที่สถานพยาบาลอาจพบว่าความดันโลหิตสูงก็ได้ ซึ่งอาการลักษณะนี้จะเรียกว่า “White-coat hypertension” ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จึงควรมีเครื่องวัดความดันไว้คอยตรวจวัดเองที่บ้าน เพราะจะช่วยประเมินค่าความดันได้ดีกว่า
  • วิธีการวินิฉัยโรคความดันโลหิตสูงรวมทั้งการติดตามผลการรักษาที่แน่นอนคือ “การตรวจวัดความดันโลหิต” เพราะการอาศัยแต่วิธีการสังเกตเพียงอย่างเดียวมักไม่แน่นอน เพราะโรคนี้ส่วนมากจะไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าความดันโลหิตสูงจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ (ทำให้คิดว่าถ้าไม่มีอาการปวดศีรษะก็จะนึกว่าไม่เป็นความดันโลหิตสูง) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความดันโลหิตสูงที่จะแสดงอาการปวดศีรษะนั้นพบได้น้อย และอาการปวดศีรษะส่วนใหญ่ก็มักมาจากสาเหตุอื่น ๆ มากกว่าความดันโลหิตสูง เช่น ความเครียด ไมเกรน ฯลฯ
  • โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง คือ ความดันโลหิตที่สูงตั้งแต่ 180/110 มม.ปรอทขึ้นไป เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้จากโรคหัวใจ สมอง ไต ล้มเหลว ส่วนโรคความดันโลหิตสูงที่ต้องไปพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน คือ ความดันโลหิตที่สูงตั้งแต่ 220/140 มม.ปรอทขึ้นไป เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการทำงานล้มเหลวของอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น หัวใจ สมอง และไต
  • ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่ออาการต่าง ๆ แย่ลง หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
  • รีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงหรือฉุกเฉิน (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ) เมื่อมีอาการปวดศีรษะมาก, เหนื่อยมากกว่าปกติมาก เท้าบวม (เป็นอาการของโรคหัวใจล้มเหลว), เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น เหงื่อออกมาก จะเป็นลม (เป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งต้องพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน), แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด คลื่นไส้ อาเจียน (เป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน)
    การป้องกันความดันโลหิตสูง

การป้องกันความดันโลหิตสูง

สำหรับคนทั่วไปอาจป้องกันไม่ให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตดังนี้

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะทุกวัน เน้นผักและผลไม้ชนิดไม่หวานให้มาก ๆ และลดอาหารพวกไขมันชนิดอิ่มตัว แป้ง น้ำตาล ของหวาน และอาหารเค็ม
  2. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยให้มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 23 กก./ม.2 ความยาวรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย และ 80 เซนติเมตรในผู้หญิง ด้วยการควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำ เช่น การเดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง หรือวันเว้นวัน
  4. พักผ่อนให้เพียงพอและรักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ
  5. ลดปริมาณของเกลือโซเดียมที่บริโภคไม่ให้เกินวันละ 2.4 กรัม (เทียบเท่าเกลือแกง 6 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา)
  6. ถ้าเป็นผู้ดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว สำหรับผู้ชายควรจำกัดปริมาณของแอลกอฮอล์ให้ไม่เกินวันละ 2 หน่วยการดื่ม (เทียบเท่ากับวิสกี้ 90 มิลลิลิตร ไวน์ 300 มิลลิลิตร หรือเบียร์ 720 มิลลิลิตร) ส่วนผู้หญิงและผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยควรจำกัดปริมาณของการดื่มแอลกอฮอล์ให้ไม่เกินวันละ 1 หน่วยการดื่ม (เทียบเท่ากับวิสกี้ 45 มิลลิลิตร ไวน์ 3150 มิลลิลิตร หรือเบียร์ 360 มิลลิลิตร)
  7. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่เพราะอาจมียาบางตัวที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ ส่วนการใช้ยาคุมกำเนิดแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์
  8. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะยังรู้สึกสบายดีก็ควรไปตรวจสุขภาพซึ่งรวมถึงการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยทุก 2 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป แนะนำว่าควรไปตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตรวจบ่อยตามที่แพทย์หรือพยาบาลแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีรูปร่างอ้วนหรือมีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ (อาจเป็นสถานพยาบาลใกล้บ้านก็ได้ เช่น คลินิกแพทย์ สถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ความดันโลหิตสูง (Hypertension)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 680-691.
  2. หาหมอดอทคอม.  “ความดันโลหิตสูง (Hypertension)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [03 ต.ค. 2017].
  3. พบแพทย์.  “ความดันโลหิตสูง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [05 ต.ค. 2017].
    สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค.  “ประเด็นสารรณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลก 2556”.  (ธาริณี พังจุนันท์, นิตยา พันธุเวทย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaincd.com.  [05 ต.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย

เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก