แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ ในประเทศไทย ได้อย่างไรบ้าง

* Policy Brief ฉบับนี้สรุปและเรียบเรียงจากรายงานการวิจัยเรื่อง “โครงการแนวนโยบายการจัดการน้ำสำหรับประเทศไทย” ของ มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ (2544) และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ดู เอกสารอ้างอิง) (ดร.นฤกมล จันทร์จิราวุฒิกุล ผู้สรุปและเรียบเรียง)

1. บทนำ

            ประเทศไทยจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์และมีสัดส่วนในการกักเก็บน้ำในระดับสูง วิกฤตการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในอดีตส่วนใหญ่เป็นปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งตามวงจรของธรรมชาติ แต่ปัจจุบันการขาดแคลนน้ำนอกจากจะเกิดตามฤดูกาลแล้ว ยังเกิดจากปริมาณฝนที่แปรปรวนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำท่าและน้ำใต้ดินในระยะยาว เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มประสบปัญหาภัยแล้งบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดความไม่สมดุลของปริมาณน้ำจนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนในชาติ เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม

            การใช้น้ำในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ (1) การใช้น้ำเพื่อการเกษตร-ชลประทานและการปศุสัตว์ (2) การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค (3) การใช้น้ำในโรงงานอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว (4) การใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้า และ (5) การใช้น้ำในการรักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ ซึ่งการใช้น้ำสามประเภทแรกถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ มีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นจาก 57,452 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในปี 2551 เป็น 65,452 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในปี 2559 โดยภาคกลางมีความต้องการใช้น้ำมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ทั้งนี้ หมู่บ้านที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งในระดับปานกลางถึงระดับรุนแรงมีประมาณร้อยละ 34.0 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งประเทศ โดยลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเสี่ยงมากที่สุด ความเข้มข้นของกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องการน้ำ ทั้งบริเวณต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้สถานการณ์การใช้น้ำของประเทศไทยเข้าสู่ภาวะตึงเครียดและเกิดปัญหาการจัดสรรน้ำ โอกาสที่ความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนน้ำ และความขัดแย้งจากการแย่งชิงน้ำระหว่างลุ่มน้ำและระหว่างภาคการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกสาขาการผลิต

            แนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนน้ำคือการพยายามจัดหาน้ำให้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการ โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งแต่เดิมเคยมีหน้าที่จัดหาน้ำ เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำรวมถึงอ่างเก็บน้ำ และการจัดการน้ำในระบบชลประทาน ปัจจุบันประเทศไทยมีความสามารถเก็บกักน้ำเพื่อนำมาใช้งานได้ในฤดูแล้ง 74,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถใช้ได้จริงเพียงปีละประมาณ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และใช้ได้เฉพาะในพื้นที่ชลประทานเท่านั้น แต่เมื่อความต้องการน้ำมากขึ้นเป็นลำดับจนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ กรมชลประทานต้องทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรน้ำด้วย

            Policy Brief ฉบับนี้ นำเสนอข้อค้นพบและข้อเสนอแนะจากโครงการวิจัยเรื่อง แนวนโยบายการจัดการน้ำสำหรับประเทศไทย ซึ่งศึกษาปัญหานโยบายและการจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมโดยใช้วิธีการทางเศรษฐศาสตร์ โดยต้องการหากติกาในการจัดสรรน้ำ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หาแนวทางในการใช้น้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม สร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ใช้น้ำ และเป็นแนวทางที่ได้อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้ยั่งยืนด้วย โดยเนื้อหาในการนำเสนอครั้งนี้จะไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ

 

2. ปัญหาการจัดการน้ำของประเทศไทย

            ความขัดแย้งด้านการจัดสรรน้ำได้กลายเป็นปัญหาสำคัญระหว่างเมืองกับชนบท ภาคการเกษตรกับอุตสาหกรรม โดยเกิดปมขัดแย้งระหว่างประชาชน ประชาชนกับรัฐ และระหว่างหน่วยงานของรัฐเอง (มิ่งสรรพ์, 2538) ประเด็นปัญหาของการจัดการน้ำในภาวะขาดแคลนน้ำ ได้แก่

 

  1. การเปิดให้เข้าถึงการใช้น้ำได้โดยเสรีและขาดกติกาการจัดสรรน้ำ

            การใช้ทรัพยากรน้ำของประเทศไทยเป็นการเข้าถึงโดยเสรีและขาดกติกาการจัดสรรน้ำที่ดี การให้เข้าถึงน้ำโดยเสรีนี้เป็นการปล่อยให้ผู้มีเทคโนโลยีสูงกว่า ผู้มีกำลังทรัพย์มากกว่า ผู้มีแรงงาน และผู้มีอำนาจทางการเมืองมากกว่าเป็นผู้ได้เปรียบในการใช้ทรัพยากรน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งในด้านความมีประสิทธิภาพการใช้น้ำและความชอบธรรม จึงทำให้เกิดความกดดันต่อระบบบริหารจัดการน้ำแบบกำกับและควบคุม โดยวิธีการที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำมักใช้คือการหาทางเข้าสู่อำนาจรัฐส่วนอื่นๆ หรือแสวงหาการสนับสนุนจากโครงสร้างอำนาจที่ได้เปรียบในท้องถิ่น มีการรวมตัวกันเรียกร้องและประท้วงรัฐบาลเป็นระยะเวลานาน เกิดการต่อต้านและปฏิเสธอำนาจรัฐ ทำให้เจ้าพนักงานของรัฐไม่อาจดำเนินงานได้ตามปกติ 

 

  1. ความไม่มีเอกภาพ การไม่ให้ความสำคัญ และความไม่มั่นคงของนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

            แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับน้ำหลายฉบับ และมีองค์กรจัดการน้ำของรัฐหลายองค์กร แต่การจัดการน้ำของไทยยังมีปัญหาความขัดแย้งทุกระดับดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงกล่าวได้ว่านโยบายเหล่านั้นยังไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการดำเนินนโยบายยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มาตรการหรือแนวนโยบายมีโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผูกขาดและเหลื่อมล้ำเน้นการบริหารงานแบบศูนย์กลาง รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยแล้งแต่เพียงการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยแบบปลายเหตุ นอกจากนี้การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยเป็นความไม่มั่นคงทางการเมืองทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำไม่ต่อเนื่องและขาดเสถียรภาพ

 

  1. การไม่ได้นำการจัดการด้านอุปสงค์ (Demand Management) มาใช้ในการจัดสรรน้ำ

            การขยายกำลังการกักเก็บน้ำโดยการสร้างเขื่อนที่ผ่านมามักยึดถือหลักเกณฑ์เฉพาะทางด้านวิศวกรรม อุทกวิทยาและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ทำให้เมื่อดำเนินการสร้างเขื่อนแล้วเกิดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐกับกลุ่มอนุรักษ์ เป็นผลให้โครงการก่อสร้างเขื่อนในระยะต่อมาเกิดขึ้นได้ยาก

            ปัญหาข้อขัดแย้งในการจัดสรรทรัพยากรน้ำส่วนหนึ่งมาจากการที่การจัดการชลประทานไม่ได้นำแนวทางการบริหารจัดการอุปสงค์มาปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ทั้งนี้ประสิทธิภาพของการใช้น้ำทางเศรษฐศาสตร์จะต้องพิจารณาถึงต้นทุนส่วนเพิ่ม หรือผลผลิตส่วนเพิ่มที่เกิดจากการใช้น้ำในกิจกรรมนั้นๆ ที่เรียกว่าค่าประสิทธิภาพการใช้น้ำ

 

  1. การวิเคราะห์สถานการณ์น้ำขาดการเชื่อมโยงข้อมูลและไม่เป็นองค์รวม

            การจัดการน้ำของประเทศไทยขาดการเชื่อมโยงข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ในการวิเคราะห์สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ รัฐไม่ได้มองภาพรวมของนิเวศลุ่มน้ำทั้งระบบ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินระบบนิเวศป่าประเภทต่างๆ และผังเมืองกับผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ปริมาณน้ำที่มีในแต่ละช่วงเวลาของปี ขาดข้อมูลเกี่ยวกับการใช้น้ำในภาคการเกษตร ไม่มีข้อมูลการใช้น้ำจริงๆ ของพืชแต่ละชนิด โดยเฉพาะพืชผักผลไม้ และพืชใหม่ๆ เช่น พืชกึ่งเมืองร้อน นอกจากนี้ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการใช้น้ำและการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ในกิจการประเภทต่างๆ นอกภาคเกษตร ทำให้การประเมินการใช้น้ำไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่มีข้อมูลในการพิจารณาที่รอบด้านเพียงพอ นอกจากนี้ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบน้ำมักไม่คำนึงถึงข้อจำกัดด้านนิเวศที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของแต่ละท้องถิ่น ทำให้การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาภัยแล้งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง นำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด

 

  1. การเปลี่ยนแปลงไปของความต้องการใช้น้ำและการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำของประชาชน

            การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นทั้งในลักษณะการจัดการน้ำโดยชุมชนในท้องถิ่นและลักษณะที่หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพ สำหรับการจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่น โดยปกติจะมีระบบเหมืองฝาย1 ทำให้ต้นทุนในการจัดการน้ำในพื้นที่นั้นค่อนข้างต่ำ ผู้ทำนาทุกคนมีสิทธิใช้น้ำอย่างเต็มที่ในฤดูฝน ส่วนการใช้น้ำในฤดูแล้งแก่เหมืองและแก่ฝาย2 จะจัดสรรน้ำให้ผู้ที่ทำการปลูกพืช ผู้ใช้น้ำทุกคนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหมืองฝายตามกฎระเบียบที่เรียกว่าสัญญาเหมืองฝาย ซึ่งเป็นกฎกติกาที่สมาชิกผู้ใช้น้ำร่วมกันกำหนดขึ้น

 

1เหมือง หมายถึง คลองส่งน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อรับน้ำจากการทดน้ำบริเวณฝายเป็นการผันน้ำจากแม่น้ำไปสู่แหล่งเพาะปลูก ฝาย หมายถึงเขื่อนหรืออาคารกั้นน้ำที่ทำขึ้นขวางลำน้ำเพื่อทดน้ำให้มีระดับสูงขึ้นจนถึงระดับที่ต้องการแล้วปล่อยให้ไหลผ่านลำเหมืองหรือคลองส่งน้ำ
2 “แก่เหมือง – แก่ฝาย" เป็นคนในท้องถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ควบคุมดูแลสมาชิกในเหมืองส่งน้ำแต่ละสาย ให้จัดสรรการใช้น้ำอย่างทั่วถึงและยุติธรรม

 

            แต่ต่อมาเมื่อระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวเกษตรกรมีการปลูกพืชแบบเข้มข้นและยังทำการเพาะปลูกตลอดปีด้วย ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งจึงรุนแรงขึ้น และเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นๆ แรงดึงดูดนอกภาคเกษตรทำให้แรงงานหนุ่มสาวออกจากชนบทเข้าไปทำงานและอาศัยอยู่ในเมือง เมื่อแรงงานไม่เพียงพอชาวบ้านที่เหลืออยู่ได้แสวงหานวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือในการจัดการน้ำ เช่น การใช้ระบบแรงงานรับจ้างแทนแรงงานครอบครัวซึ่งเงินค่าจ้างมาจากรายได้ทางอื่น การจ้างผู้จัดการเหมืองแทนการเลือกตั้งแก่เหมืองและแก่ฝาย และขณะเดียวกันคนในพื้นที่บางส่วนได้ขายที่ดินตนเองให้บุคคลภายนอกซึ่งมักจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดินโดยไม่ได้ใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรลักษณะเดิมอีกต่อไป ทำให้มีผู้ใช้น้ำที่ไม่ใช่สมาชิกองค์กรหมู่บ้านเกิดขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ใช้น้ำเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องยึดถือจารีตของชุมชน ทำให้ความเข้มแข็งของการจัดสรรน้ำในองค์กรหมู่บ้านลดลง

            ส่วนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำกับหน่วยงานของรัฐ ในยุคแรกเมื่อกรมชลประทานได้จัดตั้งโครงการชลประทานขึ้น ก็ได้มีความพยายามที่จะตั้งสมาคมผู้ใช้น้ำมาโดยตลอด แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะผู้ใช้น้ำไม่เห็นประโยชน์ของสมาคม เนื่องจากกรมชลประทานได้ให้บริการอยู่ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว ในปัจจุบันแนวความคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนได้มีมิติที่หลากหลายขึ้น แรงกดดันจากขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนได้เรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ และแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อการดำรงชีพของตน

            การเปลี่ยนแปลงไปของสังคมมีผลต่อรูปแบบการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำของประชาชน วิธีการบริหารจัดการน้ำตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม หากยังใช้แนวนโยบายและมาตรการจัดการแบบเดิมจะไม่สามารถบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพได้

 

3. แนวทางในการจัดสรรน้ำสำหรับภัยแล้ง

  1. การประเมินความเสี่ยง

            ประเทศไทยมีปัญหาการจัดการน้ำระดับปานกลางและมีความมั่นคงด้านน้ำค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นคู่แข่งขันในการส่งออกข้าวกับไทย เช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งมีอุปทานน้ำและความมั่นคงด้านน้ำสูงกว่าไทย ส่วนประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชาและพม่า ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งในเอเชียนั้นมีศักยภาพน้ำสูงกว่าไทย แต่มีกำลังกักเก็บต่ำกว่าไทย (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ตัวชี้วัดความมั่นคงด้านน้ำของบางประเทศในปี พ.ศ. 2538

หมายเหตุ: * เป็นข้อมูลในปี พ.ศ. 2538 ที่ใช้ข้อมูลในปี พ.ศ. 2541

ที่มา: Stockholm Environment Institute, 1997

            สถานการณ์ที่ขาดแคลนน้ำย่อมมีวิธีการจัดการและกลไกที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราต้องประเมินสถานการณ์ให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดจึงจะประเมินความเสี่ยงได้ถูกต้อง ภาคการเกษตรใช้น้ำกว่าร้อยละ 90 ของน้ำทั้งหมด ดังนั้นสถานการณ์การขาดแคลนน้ำจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของภาคเกษตรโดยเฉพาะข้าวเป็นสำคัญ ข้าวนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมาก นอกจากจะเป็นพืชอาหารที่คนไทยบริโภคเป็นหลักแล้วข้าวยังเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศลำดับต้นๆ อีกด้วย แต่ข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก หากความต้องการข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นข้าวมีราคาดี การปลูกข้าวจะยิ่งเข้มข้นขึ้น พื้นที่ส่วนใหญ่ทำนาได้เพียงปีละครั้ง แต่บางพื้นที่ปลูกข้าวถึงสองครั้งในรอบปีและบางพื้นที่ปลูกข้าวถึงห้าครั้งในระยะเวลาสองปี นอกจากนี้ชาวนาในบางพื้นที่ยังพยายามที่จะทำนาโดยใช้น้ำใต้ดินเป็นน้ำสำรองเพื่อปลูกข้าว แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการใช้น้ำของชาวนามีความแตกต่างกัน และก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ความขัดแย้งด้านการจัดสรรน้ำได้กลายเป็นปัญหาสำคัญในภาคการเกษตร

 

  2. การพัฒนาปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำ

            การพัฒนาปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในการกักเก็บน้ำต้องเหมาะสมกับระบบนิเวศ ภูมิสังคม เศรษฐกิจ และความต้องการร่วมกันของชุมชนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้เสีย การสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานแก่ประเทศทำได้โดยการเพิ่มพื้นที่ชลประทานและประสิทธิภาพการกระจายน้ำของระบบชลประทานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดาริ ทั้งแหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำบาดาล แหล่งน้ำชุมชนและแหล่งน้ำในไร่นา รวมทั้งแก้มลิงและฝายชะลอน้ำ ตลอดจนการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ควบคู่กับการจัดการความต้องการใช้น้ำ โดยคำนึงถึงความสมดุลและเป็นธรรมในการจัดสรรน้ำให้ภาคการใช้น้ำต่างๆ กับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และความพร้อมของประชาชนในพื้นที่

 

  3. การจัดสรรทรัพยากรน้ำระหว่างผู้ใช้น้ำ

            แนวทางการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างผู้ใช้น้ำด้วยกันมี2 วิธี คือ (1) การใช้มาตรการ “ค่าน้ำ” โดยให้ผู้ใช้น้ำมีส่วนในการรับผิดชอบในต้นทุนในการจัดการ การดำเนินการ และต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้น โดยการเสียค่าน้ำในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งต้องมีการพิจารณาปัจจัยหลายประการ เช่น ระบบการส่งน้ำ ควบคุมน้ำ การยอมรับและการเตรียมความพร้อมในทุกระดับ เป็นต้น และ (2) การใช้กลไกของตลาดโดยทำการซื้อขายสิทธิในการใช้น้ำ กลไกของตลาดจะเกิดได้ก็ต่อเมื่ออุปสงค์ของน้ำมีมากกว่าอุปทานของน้ำ และต้องมีการกำหนดสิทธิของน้ำไว้อย่างชัดเจน มีโครงสร้างของระบบพื้นฐานของระบบชลประทานเพียงพอในการซื้อขายส่งน้ำและวัดปริมาตรน้ำ มีกฎหมายและข้อบัญญัติรองรับ มีแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง มีแนวทางในการจัดสรรน้ำเมื่ออุปทานน้ำน้อยหรือมากเกินไปได้อย่างเสมอภาค มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น

 

  4. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและการชลประทาน

            การวัดประสิทธิภาพของการชลประทานทำได้โดยกำหนดขอบเขตที่แน่นอน และพิจารณาถึงผู้ได้รับประโยชน์จากการชลประทาน ทั้งทางด้านเวลาและสถานที่ คือ effective irrigation efficiency เป็นการพิจารณาน้ำที่ไหลเข้าและไหลออกจากระบบ ในทำนองเดียวกัน ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในระดับลุ่มน้ำจะต้องพิจารณาถึงน้ำไหลกลับและการนำน้ำมาใช้อีก มีการวัดผลิตภาพของน้ำในขบวนการผลิต เป็นการวัดมูลค่าที่แท้จริงจากการใช้น้ำหนึ่งหน่วย เมื่อน้ำเป็นปัจจัยการผลิตปัจจัยหนึ่ง เช่น ผลผลิตข้าวต่อน้ำหนึ่งหน่วย ซึ่งปริมาตรน้ำดังกล่าวได้รวมเอาผลของประสิทธิภาพของการชลประทานเข้าไปด้วย

            การเพิ่มประสิทธิภาพของการชลประทานที่ถูกต้องทำได้โดยการประหยัดน้ำที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้น้ำเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มผลผลิตต่อปริมาณน้ำ การลดปริมาณน้ำที่สูญหายไปจากระบบและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก การไม่ก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพน้ำ นอกจากนี้การเพิ่มประสิทธิภาพควรพิจารณาจากค่าประสิทธิภาพการใช้น้ำทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นข้อมูลสนับสนุนที่สำคัญในการบริหารจัดการน้ำ การจัดสรรน้ำในกรณีน้ำมีปริมาณจำกัด โดยยึดหลักที่ว่าผลตอบแทนต่อน้ำของผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มจะต้องเท่ากัน โดยจัดระบบการกระจายน้ำให้เหมาะสมในทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค ใช้หลักการลดการใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ และจัดทำข้อมูลการใช้น้ำ (Water Footprint)

            การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรมีความสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพของน้ำ เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง พันธุ์พืชอายุสั้นจะใช้น้ำน้อยกว่าพันธุ์พืชอายุยาว วิธีทางเขตกรรม เป็นต้น ทางเลือกในการจัดการน้ำภาคการเกษตรอื่นๆ ได้แก่ การลดความต้องการและการปรับโครงสร้างการเกษตรไปหาพืชที่ใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง การลดการสูญเสียน้ำอันเนื่องมาจากการระเหย การเคลื่อนย้ายน้ำจากการเพาะปลูกที่มีมูลค่าต่ำไปยังการเพาะปลูกที่มีมูลค่าสูง การลดมลพิษทางน้ำและการจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ต้องหาวิธีกักเก็บน้ำให้มีประสิทธิภาพ การจัดการใช้ที่ดินและน้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

            การจัดการการผลิตภายในโรงงานอุตสาหกรรมที่ดีสามารถทำให้ความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมลดลงได้ เช่น การใช้โรงงานให้เต็มความสามารถ หรือการเลือกใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศหรือโรงงานที่มีเจ้าของเป็นชาวต่างประเทศจะมีการใช้น้ำที่ประหยัดกว่าการที่เจ้าของเป็นคนไทย เป็นต้น

 

  5. การจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ

            ควรมีการจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มีน้ำสะอาดในการอุปโภค บริโภคอย่างเป็นระบบโดยจัดการน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินอย่างผสมผสานตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง และให้มีการปรับปรุง พระราชบัญญัติน้ำและพระราชบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีการทำประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติอย่างกว้างขวาง ควรมีการคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์และระบบนิเวศที่เปราะบางและมีความหลากหลายทางชีวภาพโดยพื้นที่ต้นน้ำ ส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าในท้องถิ่นโดยองค์กรชุมชน

 

  6. การให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน
            
ควรมีการบรรจุหลักสูตรความรู้เรื่องน้ำในทุกระดับการศึกษาเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำและสิทธิหน้าที่ของตนเอง ให้ความรู้เรื่องกฎหมาย มีการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องน้ำต่อสาธารณชนและแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง รวมทั้งปลูกจิตสำนึกแก่สาธารณชนในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สนับสนุนและกำหนดรูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันภัยแล้งและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

            สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ โดยจัดงบประมาณสนับสนุนการวิจัย เพื่อให้มีข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ถูกต้องและเหมาะสมกับประเทศ

            สนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้และแนะแนวทางแก่เกษตรกรถึงวิธีเขตกรรมที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยโดยมีทางเลือกในการทำการปลูกพืชที่สร้างรายได้สูง ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ. 2544. โครงการแนวนโยบายการจัดการน้ำสำหรับประเทศไทย เล่ม 1. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

แนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำมีอะไรบ้าง

การปลูกป่า โดยเฉพาะการปลูกป่าบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ หรือบริเวณพื้นที่ภูเขา เพื่อให้ต้นไม้เป็นตัวกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ ทั้งบนดินและใต้ดิน แล้วปลดปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี.
การพัฒนาแหล่งน้ำ ... .
การสงวนน้ำไว้ใช้ ... .
การใช้น้ำอย่างประหยัด ... .
การป้องกันการเกิดมลพิษของน้ำ ... .
การนำน้ำที่ใช้แล้วกลับไปใช้ใหม่.

สามารถมีส่วนร่วมหรือแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ ในประเทศไทย ได้อย่างไรบ้าง

– ใช้ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกเป็นประจำให้เป็นประโยชน์ โดยปรับพื้นที่ทำการเกษตร… ทำคันกั้นน้ำร่วมกับการขุดดินเป็นสระเก็บน้ำขนาดใหญ่เก็บน้ำไว้ใช้ตลอดฤดูแล้ง เปลี่ยนระบบการปลูกข้าวมาปลูกพืชน้ำ เลี้ยงปลา และทำการเกษตรผสมผสาน ก็จะมีรายได้มั่นคงกว่ามาก

ประเทศไทยต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับน้ำอย่างไรบ้าง

1) ฝนตกน้อยและการเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงติดต่อกันเป็นเวลานาน 2) ขาดการวางแผนใช้น้ำที่ดี เช่น การจัดสร้างอ่างเก็บน้ำในฤดูฝนและจัดสรรน้ำไปใช้ในกิจกรรม ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมตลอดทั้งปี 3) ลักษณะของพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นพื้นที่ดอนลาด หรือ ลักษณะดินเป็นดินทราย ไม่อุ้มน้ำ

ปัญหาที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในปัจจุบันมีปัญหาใดบ้าง

1. ปัญหาการมีน้ำน้อยเกินไป เกิดการขาดแคลนอันเป็นผลเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยลง เกิดความแห้งแล้งเสียหายต่อพืชเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ 2. ปัญหาการมีน้ำมากเกินไป เป็นผลมาจากการตัดไม้มากเกินไป ทำให้เกิดน้ำท่วมไหลบ่าในฤดูฝน สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก