ให้ นักเรียน เสนอ แนะ มาตรการ ในการแก้ปัญหา วิกฤตการณ์ น้ำมันในปัจจุบัน

นอกจากเสถียรภาพทางการเมืองที่กำลังง่อนแง่น การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะภาคพลังงานที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของนายสุพัฒนพงศ์ พันธุ์มีเชาว์น รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ยังเข้าสู่ภาวะจนตรอก ขับเคลื่อนการทำงานด้วยเสียง “ด่า” จากคนทั้งประเทศ

เพราะวิกฤติโควิด-19 ที่ยังคงอยู่กับพวกเราไปอีกนาน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยถดถอย ไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาราคาน้ำมันขึ้น ข้าวของแพง ประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก

ตัวเลขล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เมื่อเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว 27% ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 22% โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาสินค้ามากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในด้านอาหารและพลังงานเป็นหลัก

สุพัฒนพงศ์ พันธุ์มีเชาว์

หรือกระทั่งล่าสุด เมื่อกลุ่มม็อบรถบรรทุกออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ผลักดันให้ภาครัฐใช้มาตรการทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ไม่เกิน 25 บาทต่อลิตร แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งคำถาม เช่น “ใครเดือดร้อน” “คนเดือดร้อนเยอะไหมหรือเฉพาะกลุ่มรถบรรทุกเท่านั้น” สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการแบบ “คนไม่เคยลำบาก”

...ครั้งนี้...รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะก้าวผ่านวิกฤติน้ำมันแพง ที่ย้อนกลับมาสั่นคลอนคะแนนนิยมและความเชื่อมั่นในการบริหารราชการแผ่นดินครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ” ขอสะท้อนภาพให้เห็น...จะจะ...

น้ำมันแพงจะอยู่กับเราไปอีกนาน

ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกได้ปรับตัวขึ้นครั้งใหม่ (นิวไฮ) ในรอบ 7 ปี โดยมีราคาสูงถึง 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่โกลด์แมนซาคส์ และเจพี มอร์แกนคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเบรนต์ในปีนี้อาจพุ่งไปถึง 100เหรียญฯ ขณะที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบ 6 เดือนแรกของปี ว่าจะอยู่ที่ 83-84 เหรียญฯ หากเทียบกับเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาที่ราคาอยู่ที่ 81 เหรียญฯ

ขณะเดียวกัน ปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรที่ได้เพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลงขึ้นอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกลดความร้อนแรงลง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายจากการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วโลก ทำให้เริ่มมีการเปิดประเทศ เกิดกิจกรรมที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญราคาน้ำมันดิบจะผันผวนปรวนแปรไปถึงระดับเท่าใด ยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัยที่เกินคาดคะเน ส่วนหนึ่งอาจได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ความตึงเครียดจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมไปถึงสถานการณ์ในสู้รบของรัสเซียและยูเครน หรือแม้กระทั่งค่าเงินบาท เป็นต้น

ประเทศไทยในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันเกือบ 90% ของความต้องการใช้หรือเฉลี่ย 860,000 บาร์เรลต่อวัน จึงหนีไม่พ้นจากผลกระทบต่อราคาขายปลีกในทันทีที่ราคาตลาดโลกผันผวน และเป็นเรื่องที่คนไทยต้องทำใจยอมรับ

เปิดมาตรการรัฐดิ้นหนีตาย

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับการแก้ไขปัญหา แต่อาจเป็นเพราะมาตรการที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้ ไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของปัญหาที่ลุกลามเกินเยียวยา ทำให้ประชาชนมองว่าเชื่องช้าไม่ ทันสถานการณ์

เริ่มจากเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2564 ที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 70 เหรียญฯ ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 28.24 บาทต่อลิตร จากนั้นพบว่าความต้องการใช้น้ำมัน เติบโตรวดเร็วจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตะวันตกที่มีการฉีดวัคซีนก้าวหน้ามาก รวมทั้งสภาพอากาศที่หนาวเย็นขึ้น และการชะลอการผลิตน้ำมันในช่วงโควิด ทำให้ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับราคาขึ้นเรื่อยมา

ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564-10 ก.พ.2565 น้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้น 20 เหรียญฯ หรือ 4 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 28 เหรียญฯ หรือ 5.5 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศเพิ่มเพียง 1.70 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 27 เหรียญฯ หรือ 5.40 บาทต่อลิตร แต่ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นเพียง 5 บาทต่อลิตร

โดยรัฐบาลได้เข้ามาดูแลทั้งราคาน้ำมันและตรึงราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นมาโดยตลอด ซึ่งราคาที่ควรจะเป็น ณ วันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา เท่ากับ 434 บาทต่อถัง 15 กก. อย่างไรก็ตาม การตรึงราคาดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.นี้

ขณะเดียวกัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลงยังได้อัดฉีดเงินชดเชยน้ำมันดีเซลเพิ่มจาก 3.09 เป็น 3.79 บาทต่อลิตร โดยหากไม่สนับสนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศต้องทะลุ 34 บาทต่อลิตรไปแล้ว โดยใช้เงิน 7,000 ล้านบาทต่อเดือน ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซล

นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับสูตรน้ำมันดีเซลให้เหลือเพียง บี 5 (ลดการผสมไบโอดีเซลลงเหลือ 5% หลังปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นส่วนผสมของไบโอดีเซลมีราคาสูงมาก) เพียงสูตรเดียวไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค. เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลทุกประเภทไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

และเพราะกลัวกระสุนหมด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง การขออนุมัติกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ปี 2564 เพื่อนำมาใช้ชดเชยราคาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าวงเงินดังกล่าวจะเข้ามาสู่ สกนช.ได้ในเดือน เม.ย.นี้

หลังจากล่าสุด ณ วันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันมีสถานะติดลบไปแล้วรวม 16,052 ล้านบาท

ม็อบรถบรรทุกกดดันซ้ำ

แต่น้ำมันที่แพงไม่เลิก ทำให้นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศ สมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก สมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย ยกโขยงรถบรรทุกและอื่นๆ รวมกว่า 100 คันมาชุมนุมกดดันที่หน้ากระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดีรังสิตอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565

ข้อเรียกร้องในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการก่อม็อบเป็นครั้งที่ 2 ประกอบด้วย ให้ภาครัฐกำหนดราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร และขอให้ปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ขณะนี้อยู่ที่ 15.59 บาทต่อ กก. เหลือไม่เกิน กก.ละ 10 บาท และราคาแอลพีจีสำหรับภาคขนส่งเหลือไม่เกิน กก.ละ 9 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 13.50 บาทต่อ กก.

รวมทั้งขอให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ออกจากตำแหน่ง

หากไม่ได้รับการสนองตอบภายในสัปดาห์นี้ สหพันธ์ฯอาจขอปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 20%

เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ลดแรงกดดันไม่ให้กระทบชิ่งมากนัก นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ได้ตัดสินใจเปิดวอร์รูมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ปาดหน้าก่อนม็อบจะมา 1 วัน ร่ายยาวถึงแผนรับมือและมาตรการลดผลกระทบด้านพลังงาน

รายละเอียดของงานแถลงข่าววันนั้น เป็นการประกาศมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเฟสต่อไป โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดไปหามาตรการขึ้นมารองรับ หลังมาตรการตรึงราคาพลังงานเฟสปัจจุบันจะหมดอายุลงสิ้นเดือน มี.ค.ที่จะถึง โดยคาดว่าจะชงให้นายสุพัฒนพงษ์แถลงมาตรการใหม่ได้ราวปลายเดือน ก.พ. และจะเป็นมาตรการที่เน้นช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเป็นรายกลุ่ม

ในส่วนของราคาก๊าซหุงต้มที่ตรึงราคา 318 บาทต่อถัง 15 กก. มาแล้ว 2 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดเดือน มี.ค.นี้นั้น อาจจำเป็นต้องขยับราคาขึ้น ตามแผนคือ ขึ้น 1 บาทต่อ กก. ทุกๆ ไตรมาส หรือปรับขึ้นเป็น 333 บาทต่อถัง แต่คงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะเอื้ออำนวยให้ขึ้นราคาหรือไม่

นายกุลิศบอกอีกว่า เนื่องจากสถานการณ์กองทุนน้ำมันที่ติดลบอยู่ 16,052 ล้านบาท และถึงจะมีเงินกู้รองรังอยู่แล้ว 30,000 ล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน อาจจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าเงินกู้ก้อนแรก โดยขณะนี้กำลังหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณว่าจะนำเงินส่วนใดมาดูแล อาทิ อาจนำมาจากงบกลางของรัฐบาลที่เป็นรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นต้น

เรียกได้ว่า ปลัดกระทรวงพลังงานเลือกทิ้งไพ่ตาย ประกาศชัดหากจะให้กระทรวงพลังงานรับภาระ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยหาเงินมาให้ หรือสนับสนุนมาตรการด้านภาษีเพิ่มเติม เพื่อให้มาตรการที่จะประกาศออกมาในเร็วๆนี้ ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

โยน ครม.เคาะลดภาษีดีเซล

และก็เป็นไปอย่างที่คาด ในวันศุกร์ที่ 11 ก.พ.2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ก็ได้ให้สัมภาษณ์ระบุ มีเป้าหมายตรึงราคาน้ำมัน ดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรอยู่แล้ว จากที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเพิ่มเติมด้วยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลนั้น กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการเยียวยาและมาตรการด้านภาษี คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา วันที่ 15 ก.พ.นี้

“ส่วนจะปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในอัตราเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน รวมทั้งจะต้องมีการพิจารณาวงเงินจากแหล่งอื่นๆมาช่วยเยียวยา ได้แก่ เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งต้องไปดูวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.กู้เงิน ว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ ส่วนเงินงบประมาณ ก็ต้องพิจารณาว่าจะใช้เงินจากส่วนใดมาเยียวยา”

ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 ยอดจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดของกรมสรรพสามิตอยู่ที่ 200,000-220,000 ล้านบาท แบ่งการจัดเก็บเป็นน้ำมันดีเซล อัตราลิตรละ 5.85 บาท น้ำมันเบนซิน ลิตรละ 6.50 บาท น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ลิตรละ 5.85 บาท น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ลิตรละ 5.20 บาท น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E80 ลิตรละ 0.97 บาท

ย้อนอดีตกลับไป การพยุงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล โดยการลดภาษีน้ำมันสรรพสามิตนั้น ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะสิ่งที่ทำได้เลยคือการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยที่ผ่านมาสถานะกองทุนเคยติดลบถึง 70,000 ล้าน เมื่อราคาน้ำมันถูกลง ก็สามารถจัดเก็บเงินกลับคืนเข้ากองทุนได้

ขณะที่ทางเลือกในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันนั้น จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลหายไปทันที โดยหากลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร จะทำให้เสียรายได้เดือนละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่าที่ประชุม ครม.จะมีมติเช่นไรต่อกรณีดังกล่าว

ประเมินจากสถานการณ์รอบด้าน จุดจบในเรื่องนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” ฟันธง ในที่สุดแล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะยอมกลืนเลือด โปะทั้งงบทั้งเงินกู้ ตรึงราคาน้ำมัน ราคาแอลพีจี ต่อไปอย่างแน่นอน เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาล ที่ถือได้ว่าติดลบมหาศาลไม่ต่างจากสถานะกองทุนน้ำมัน.

ทีมเศรษฐกิจ

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก