แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 2565



สุ่มตรวจงบฯ "กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย" ตามนโยบายเมืองสีเขียว พบ 5 โครงการ จาก 12 โครงการ เจียดงบ 4 ปี กว่า 300 ล้าน พบหลายพื้นที่เจ้าหน้าที่ "อม" วิทยุ VR ระบบ VHF ไม่แจ้งเจ้าของหน่วยงาน ส่วน "ทุ่นดักขยะ" หลายพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพ เฉพาะ "ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดฯ" วงเงิน 180 ล้าน บนพื้นที่ 35 ไร่ ล่าช้ากว่า 3 ปี ปัญหาเพียบ แถมประชาชนในพื้นที่คัดค้าน

วันนี้ (19 ต.ค.) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.เผยแพร่ ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการภายใต้ประเด็นการพัฒนาสู่การเป็นเมืองสีเขียวและสังคมคุณภาพของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 4 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และ สงขลา

โดยมุ่งไปที่ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2564 รวม 12 โครงการ งบประมาณ 266.04 ล้านบาท ด้านที่ 5 ในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองสีเขียวและสังคมคุณภาพในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย พ.ศ. 2561-2565

“สตง.ตรวจสอบใน 5 โครงการ จาก 8 โครงการ ที่ใช้จ่ายงบประมาณ วงเงิน 250.14 ล้านบาท”

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยและการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้รับจัดสรรงบปี 2561 จำนวน 28.23 ล้านบาท และได้รับต่อเนื่องในปี 2562 จำนวน 6.94 ล้านบาท

มี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทั้ง 4 จังหวัด รับงบประมาณ จัดหา “วิทยุมือถือกำลังส่งไม่เกิน 5 วัตต์ และเครื่องรับ-ส่งวิทยุ ระบบ VHF” จัดซื้อในปี 2561 จำนวน 408 เครื่อง วงเงิน 288,000 บาท แต่หลายพื้นที่กลับไม่มีให้ตรวจสอบ รวมถึงสูญหายจำนวนมาก

“สตง.ของให้จังหวัด ดำเนินการตรวจสอบตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ส่วนที่ 3 ข้อ 214 หากจะต้องหาตัวผู้รับผิดด้วย ให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของทางราชการนั้นต่อไป”

2. โครงการบริหารจัดการขยะทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ให้ปริมาณลดลงเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับงบฯ ปี 2563 จำนวน 21.21 ล้านบาท และได้รับต่อเนื่อง ในปี 2564 จำนวน 13.50 ล้านบาท

เฉพาะปีงบฯ 2563 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) เป็นหน่วยดำเนินโครงการ “ลดปริมาณขยะทะเล”

จัดหา “เครื่องมือเพื่อติดตั้งทุ่นดักขยะ” ในคลอง/ปากน้ำ 5 จังหวัด 10 แห่ง พบว่า มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการโอนครุภัณฑ์ “ทุ่นดักขยะ” ให้กับ อปท.หลายแห่ง เนื่องจากขาดการประสานงาน และทำความเข้าใจ

เช่น ในพื้นที่ของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ไม่มี “ทุ่นดักขยะ” ให้ตรวจสอบคิดเป็นความยาว 15 เมตร จากงบประมาณที่จัดสรร

นอกจากนี้่ ในปีงบฯ 2564 โครงการติดตั้งทุ่นดักขยะ 9 แห่ง พบว่า จัดซื้อจัดจ้างไม่แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ ต้องกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีทั้งจำนวน ณ วันตรวจสอบโครงการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ มีการเบิกจ่ายจ่ายกว่า 10 ล้านบาท

พบว่า ทุ่นดักขยะบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า เพราะมีความยาวไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทุ่นคอนกรีตสำหรับผูกยึดอยู่ใต้น้ำ ขนาด 30x30 เซนติเมตร บางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์

แถมบางแห่งมีสภาพชำรุด เนื่องจากผู้รับจ้างเก็บทุ่นดักขยะล่าช้า ซึ่งเป็นช่วงกระแสน้ำเชี่ยว มีมรสุม น้ำหลาก ทำให้ทุ่นดักขยะฉีกขาด ชำรุด และบางแห่งมีการลักขโมยทำให้เกิดความเสียหาย

3. โครงการจัดตั้งศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดฯ รับงบประมาณต่อเนื่องในปีงบ.2563-2565 จำนวน 64.63, 57.90 และ 57.84 ล้านบาท รวม 180.33 ล้านบาท ตามลำดับ ก่อสร้างโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการสนับสนุนของจังหวัดนครศรีธรรมราช

บนพื้นที่ก่อสร้าง ประมาณ 35 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งการก่อสร้างตามโครงการล่าช้า ทำให้มีผลกระทบทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ต้องพับไป จำนวน 48.90 ล้านบาท

ต่อมามีการอนุมัติการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณปี 2565 เพื่อนำไปชดเชยเงินงบปี 2563 ที่ถูกพับไป และได้รับอนุมัติโอนเปลี่ยนแปลงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

“สาเหตุมาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก่อสร้าง หลังจากลงนามในสัญญาจ้างไปแล้วเพียง 7 วัน ต่อมาเกิดการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการ จึงได้มีการจัดประชุมประชาคมเพื่อเสนอและคัดเลือกพื้นที่ จัดทำมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่”

โดยให้โครงการตั้งห่างจากบ้านเรือนประชาชนอย่างน้อย 400 เมตร มีมาตรการลดกลิ่นจากอุจจาระโดยการฝังกลบ ใช้เตาเผา ซากสุนัข ลดมลพิษทางเสียงโดยสร้างกำแพงและปลูกต้นไม้รอบโครงการ และบำบัดน้ำเสียจากการล้างคอก

นอกจากนี้ โครงการมีความเสี่ยงที่จะไม่มีหน่วยงานบริหารจัดการภายหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยมีสาเหตุมาจาก ก่อนร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก เมื่อ 15 พ.ค. 2560 นั้น ยังไม่มีการตกลงหรือหาข้อสรุปร่วมกันว่าหน่วยงานใดรับหน้าที่บริหารจัดการโครงการ

และเมื่อโครงการมีปัญหาเรื่องสถานที่ก่อสร้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องสถานที่ก่อสร้างและการบริหารงบประมาณ

4. โครงการพัฒนาระบบการเตรียมความพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (จัดหาเรือตรวจการณ์กู้ภัยพร้อมอุปกรณ์ 2 ลำ)

ตามงบปี 2562 จำนวน 49 ล้านบาท ของกองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ คือ เรือ รน.85 และ เรือ รน.86 เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยในหลายภารกิจ ลดระยะเวลาในการเดินทางไปยังพื้นที่เกาะ

โดยติดปัญหา โดยเฉพาะการจัดทำและบันทึกปูมเรือ เช่น บันทึกปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้

5. โครงการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลสาบ จังหวัดพัทลุง-สงขลา เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตามปีงบ 2562 จำนวน 8.72 ล้านบาท เช่น ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จังหวัดพัทลุง-สงขลา

ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า ยังไม่มีการนำอุปกรณ์หลายชนิด ไปติดตั้งในจุดที่กำหนดตามโครงการ หรือการใช้ประโยชน์อุปกรณ์ที่จัดซื้อตามโครงการ ในปริมาณน้อย เป็นต้น


  • จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก