เปรียญธรรม 9 ประโยค ยาก ไหม

เมื่อพระพรหมโมลี (สุชาติ) เลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง ประกาศรายชื่อผู้สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2555 มีผู้สอบได้ 63 รูป ในจำนวนนั้น สามเณรสันติราษฎร์ พวงมะลิ อายุ 19 ปี สำนักเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นหนึ่งในผู้สอบได้ แต่เป็นจุดสนใจ เพราะเป็นสามเณรรูปแรกที่มีอายุ 19 ปี นับว่าน้อยที่สุด ตั้งแต่มีการสอบด้วยข้อเขียน ที่เริ่ม 99 ปีมาแล้ว หรือเมื่อ พ.ศ. 2456 สมัยรัชกาลที่ 6

เมื่อกิตติศัพท์ความเก่งขจรขจาย ทำให้หลายคนอยากรู้จัก อยากเห็นตัว เช่น พระภิกษุและโยมจาก จ.เชียงใหม่ ซื้อพัดลมมาถวาย เพียงเพื่ออยากรู้จักตัวคนเก่งที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคตั้งแต่เป็นสามเณร

หลวงพ่อพระราชรัตนดิลก ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และเจ้าคณะ 4 วัดจักรวรรดิฯ ที่สามเณรสันติราษฎร์อยู่ในสังกัด เป็นผู้เห็นแววคนเก่งรับมาอยู่ด้วย ได้มอบปากกาดูปองต์ราคา 4 หมื่นบาท เป็นรางวัล และสั่งไอศกรีมมูลค่าประมาณ 6,000 บาท มาเลี้ยงพระเณรทั้งวัด วันรุ่งขึ้นพระอาจารย์ที่คณะ 4 อีกรูปหนึ่งสั่งหมูกระทะมาเลี้ยงเพลพระเณรทั้งวัดเช่นกัน

แน่นอนโยมพ่อ (นายแสงจันทร์) โยมแม่ (นางหนูนิด) หลวงพ่อพระครูจินดากัลยาณกิจ วัดจินดาราม อ.น้ำเกลี้ยง วัดที่บ้านเกิดที่ จ.ศรีสะเกษ นอกจากยินดีปรีดาแล้ว ได้เตรียมจัดงานฉลองในเดือน พ.ย. 2555 ด้วย

การเป็นสามเณรสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อันเป็นชั้นสูงสุดในการศึกษาภาษาบาลี สามเณรสันติราษฎร์ จะเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตร และพัดยศเปรียญธรรม 9 ประโยค ร่วมกับผู้สอบผ่านประโยค ป.ธ.9 และ ป.ธ.6 อื่นๆ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในวันที่ 4 มิ.ย. 2555 ตรงกับวันวิสาขบูชา วันนั้นสำนักพระราชวังจะจัดรถยนต์หลวง เป็นพาหนะพิเศษรับจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ส่งถึงวัดจักรวรรดิราชาวาส อันเป็นพระราชประเพณีที่ทรงยกย่องผู้ที่เรียนบาลีจบประโยคสูงสุด

เมื่อเข้าอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่ 2 ส.ค. 2555 จะมีฐานะเป็นนาคหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์

สถานะเดิมนั้น ชื่อ สันติราษฎร์ นามสกุล พวงมะลิ เกิดที่บ้านเลขที่ 51 หมู่ 7 ต.รุ่งระวี อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2535

วันประกาศผลสอบ ป.ธ.9 ตรงกับวันที่ 13 มี.ค. 2555 อายุ 19 ปีเต็ม

ผมไปขอสัมภาษณ์ที่ คณะ 4 วัดจักรวรรดิฯเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2555 สามเณรคนเก่งกำลังสอนสามเณรรุ่นน้องอีก 3 รูป ให้หัดแปลธรรมบท ที่หน้ากุฏิคณะ 4 วัดจักรวรรดิฯ นั่นเอง

สามเณรเล่าความเป็นมาแห่งชีวิตในอดีตว่าเป็นลูกคนเดียวของพ่อแสงจันทร์ แม่หนูนิด จึงมีชื่อเล่นว่าหนึ่ง มีอาชีพเกษตรกรรม คุ้นเคยกับหลวงพ่อพระครูจินดากัลยาณกิจ วัดจินดาราม ต.รุ่งระวี อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน และหลวงพ่อวัดจินดารามเป็นผู้ที่ตั้งชื่อให้ว่าสันติราษฎร์ ให้เพราะเมื่อเกิดจากครรภ์มารดานั้นสายรกพันคอ

เมื่อเข้าวัดบ่อยๆ ความโน้มเอียงที่จะบวชเกิดขึ้นเสมอ จึงบวชสามเณรภาคฤดูร้อน 2 ครั้ง 2 ปี และบวชครั้งที่ 3 หลังจากเรียนจบ ป.6 ที่วัดสบาย มาประจำที่วัดจินดาราม จากนั้นโยมพ่อพามาฝากหลวงพ่อพระราชรัตนดิลก (หลวงพ่ออ้ม) วัดจักรวรรดิราชาวาส แต่ต้องไปเรียนนักธรรมบาลีที่สำนักศึกษาและปฏิบัติธรรมพุทธิวงศมุนี อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ตามระเบียบของวัด ก่อนกลับมาประจำที่วัดจักรวรรดิราชาวาสหลังจากสอบธรรมบาลีได้ตามระเบียบแล้ว

แรงบันดาลใจให้เรียนบาลี

สามเณรเล่าว่ามีเหตุปัจจัยหลายอย่าง ที่ให้มาเรียนบาลี ก่อนบวชเป็นสามเณรนั้นได้อยู่ในปฏิรูปเทศหรือที่อันสมควร อันดับต่อมาได้อยู่ใกล้กับพระเถระ ครูอาจารย์ อุปัชฌาย์ตั้งแต่เด็ก เท่ากับได้นั่งใกล้สัตบุรุษ นอกจากนั้นอาจมีปุพเพกตปุญญตา เคยสั่งสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อน และการตั้งตนไว้โดยชอบ เมื่อมาอยู่วัดจักรวรรดิฯ ก็ได้อาศัยบุญบารมีหลวงพ่อพระราชรัตนดิลก อุ้มชู

สามเณรบอกว่าแรกทีเดียวก็ไม่แน่ใจว่าจะได้มาบวชเรียน ทั้งๆ ที่เคยบวชสามเณรภาคฤดูร้อน 2 ครั้ง แต่ครั้งหลังหลวงพ่อ พระครูจินดากัลยาณกิจ เจ้าอาวาสวัดจินดารามที่สามเณรบวชภาคฤดูร้อนอยู่ด้วย พาไปกราบหลวงพ่อพระราชรัตนดิลก ที่ลงไปปฏิบัติศาสนกิจที่ศรีสะเกษ หลวงพ่อพระราชรัตนดิลกแนะนำให้รู้จักสำนักเรียนวัดจักรวรรดิฯ ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ได้คิดว่าจะมาบวชเรียน เพราะไปสมัครเรียนทางโลกไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรียนจบ ป.6 บวชเป็นครั้งที่ 3 ที่วัดสบาย แต่อยู่วัดจินดาราม ที่หลวงพ่อพระครูจินดากัลยาณกิจ เป็นเจ้าอาวาสได้ 15 วัน โยมพ่อพามาฝากกับหลวงพ่อพระราชรัตนดิลก วัดจักรวรรดิฯ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2547 รุ่งขึ้นเดินทางไปอยู่ที่สำนักศึกษาและปฏิบัติธรรมพุทธิวงศมุนี อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อเรียนนักธรรมบาลี ผลการเรียนสามารถสอบได้ น.ธ.ตรี และ ป.ธ.1-2 ในปี 2548 จากนั้นก็สอบได้ ป.ธ.3 นักธรรมโท พ.ศ. 2549 สอบได้นักธรรมเอก และ ป.ธ.4 พ.ศ. 2550 สอบ ป.ธ.5 ได้ พ.ศ. 2551 จนกระทั่งสอบได้ ป.ธ. 9 พ.ศ. 2555 โดยไม่เคยสอบตกเลย

เคล็ดลับที่เรียนดี

ที่ประสบความสำเร็จจากการเรียนเพราะใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และได้นิสัยจากโยมพ่อที่ทำอะไรทำจริง โยมพ่อพร่ำสอนตั้งแต่เป็นเด็กว่าทำอะไรต้องทำจริงจัง ไม่ให้อ่อนแอ แต่ต้องเข้มแข็ง และดำรงอยู่ในหลักธรรม 4 ประการ คือ ฉันทะ ความพอใจอยากเรียน ซึ่งสำคัญมาก อยากบวชเรียน เมื่อไปอยู่สำนัก ใช้วิริยะ ความเพียร ต้องเรียนจริงจัง ตื่นตั้งแต่ 04.30 น. กว่าจะได้นอนก็ 22.30 น. เรียนทั้งวัน จิตตะ เอาใจใส่สม่ำเสมอ คลุกคลีกับบาลีทั้งวัน ในขณะที่เรียนทางโลกเอาใจใส่น้อย เรียนบาลีเอาใจใส่มาก จึงเรียนได้เร็ว และได้ใช้วิมังสา พิจารณาสม่ำเสมอ

ครูอาจารย์ก็มีส่วนสำคัญ ท่านบอกเป็นประจำว่าอาจารย์ให้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือต้องขวนขวายเอง พระมหาถาวร สิทธิธาตา ป.ธ.9 เคยเป็นนาคหลวง จากวัดทองนพคุณ ไปสอนที่ศูนย์ฯ ปูพื้นฐานด้านไวยากรณ์ให้ดีมาก

ถามว่าเพื่อนมีส่วนหรือไม่ สามเณรสันติราษฎร์ บอกว่า เพื่อนก็มีส่วนเหมือนกัน เพราะทำให้การเรียนสนุก ระยะแรกมีเพื่อนเรียนด้วยกัน 17-18 รูป ต่อมาเหลือ 3 รูป รูปหนึ่งสอบ ป.ธ.4 และอีก รูปหนึ่งสอบ ป.ธ.5 ตัวสามเณรจึงเรียนเดี่ยวตั้งแต่ประโยค 6 ประโยค 7 เมื่อเรียนประโยค 8 และ 9 ที่สำนักเรียนส่วนกลาง วัดสามพระยา มักอยู่คนเดียว โดยไม่ค่อยได้คุยกับเพื่อนๆ มากนัก

เมื่อถามว่าวิชาอะไรหนักใจที่สุด สามเณรบอกว่าแต่ละชั้นประโยคความยากง่ายไม่เหมือนกัน ระดับเปรียญตรีและโทนั้นวิชาที่หนักใจคือวิชาแปลมคธเป็นไทย เมื่อเรียนเปรียญเอก คือ ป.ธ. 7-8-9 นั้น วิชากลับ (แปลไทยเป็นมคธ) เป็นวิชาหนักใจที่สุดเพราะต้องทำให้เหมือนกับที่ท่านทำหรือกำหนดไว้แล้ว เช่นศัพท์ที่ใช้ต้องใช้ที่ท่านกำหนดไว้ก่อน เพราะฉะนั้นต้องชำนาญทั้งไวยากรณ์และศัพท์ ซึ่งประกอบด้วยคาถา และพุทธพจน์ที่ต้องจำเยอะมาก

เมื่อสอบประโยค ป.ธ.8 ได้นั้น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ แม่กองบาลีสนามหลวง ชมว่าทำข้อสอบดีไม่ผิดพลาดแม้แต่ศัพท์เดียว ทั้งนี้สามเณรบอกว่าชอบวิชาแต่งฉันท์ ที่เป็นหลักสูตรชั้น ป.ธ.8 มาก

ในอนาคตวางแผนเรียนปริญญาโทที่ใดที่หนึ่ง ขึ้นอยู่ว่าจะสอบติดที่ไหน ที่เลือกไว้ในใจคือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหิดล ณ เวลานี้กำลังเรียนวิทยาการจัดการด้านคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และกำลังฝึกฝนด้านภาษาอังกฤษเพื่อการเรียนต่อ

ส่วนผู้ที่สามเณรชื่นชมว่าเป็นต้นแบบในการเรียน อย่างจริงๆ ไม่มี แต่หากเลือกผู้ที่จบสูงๆ ก็ชื่นชมหลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) และหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร) ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ

เมื่อถามว่าคิดจะสึกหรือไม่ ตอบว่ายังไม่คิด ขณะนี้ยังอยู่ตรงกลาง ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง แม้กระทั่งเอียงไปว่าจะบวชถวายในพระพุทธศาสนา ก็ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ในอนาคตไม่แน่ ความคิดอาจเปลี่ยนไปก็ได้ เพราะผู้ที่เป็นนาคหลวงลาสิกขาไปมากเหมือนกัน

ถามว่าชีวิตนี้อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหนสามเณรที่สร้างประวัติศาสตร์การเรียนบาลี ตอบว่า ต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนาและภาษาศาสตร์

ประสบความสำเร็จการเรียนขนาดนี้ถ้าจะขอบคุณ จะนึกถึงใคร สามเณรตอบว่า หลวงพ่อพระครูจินดากัลยาณกิจ วัดจินดาราม ท่านบอกโยมพ่อให้เอามาฝากวัดตั้งแต่เป็นเด็ก เพราะขณะที่เกิดมานั้นสายสะดือพันคอ จึงตั้งชื่อให้ว่า สันติราษฎร์ ท่านรักและเมตตาเหมือนลูกศิษย์ลูกหา เป็นผู้ที่ให้ชีวิตใหม่ รองลงมาคือหลวงพ่อพระราชรัตนดิลก (หลวงพ่ออ้ม) เจ้าคณะ 4 วัดจักรวรรดิราชาวาส ท่านเสียสละจ่ายค่ากับข้าววันละ 200 บาท เลี้ยงดูมาตลอดตั้งแต่มาอยู่กรุงเทพฯ ถัดมาก็เป็นญาติโยมที่ถวายอาหาร ถวายปัจจัย 4 เพื่อสะดวกในการเรียน

บวช-เส้นทางสู่ความยิ่งใหญ่

สุดท้ายสามเณรสันติราษฎร์เชิญชวนให้วัยรุ่นเข้ามาบวชเรียนว่า ถ้าไม่เข้ามาบวชเรียนจริงๆ ก็จะคิดว่าการเรียน (บาลี) เป็นเรื่องโบราณ ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าจะเลือกเส้นทางที่นำไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้ ต้องเลือกบวชเรียน โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสีย แต่มีสติปัญญาดี

เมื่อบวชเรียนจะได้ความรู้คู่กับคุณธรรม แก่นในพระพุทธศาสนาสอนเราทุกอย่าง โดยเรียนบาลีเป็นหลัก เรียนทางโลกเป็นรอง ดังที่แม่กองบาลีเคยแนะไว้ว่าเรียนบาลีเหมือนต้นไม้ เรียนทางโลกเหมือนกิ่งก้านสาขา

เมื่อมาเล่าเรียนพุทธศาสนา แล้วจะรู้ว่าพุทธศาสนานั้นมีคุณค่ามหาศาล ได้พบพุทธศาสนาถือว่าโชคดีที่สุดในโลก แม้ว่าเขายังไม่รู้ว่าโชคดีก็ตาม

ที่มา: โพสต์ทูเดย์

เปรียญธรรม 9 ประโยคเทียบเท่าวุฒิอะไร

กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับรองให้ผู้สำเร็จวิชาเรียน ป.ธ. 9 เทียบเท่ากับการสำเร็จปริญญาตรี เพราะเมื่อเปรียบเทียบวิชาในหลักสูตรที่มีอยู่ การสำเร็จ ป.ธ.9 ก็เสมือนกับการสำเร็จวิชาการศึกษาภาษาศาสตร์วิชาหนึ่งเท่านั้น ที่สามารถแปลความได้ แต่งบทความได้ สื่อสารได้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความพยายามที่จะผลักดันให้ ป.ธ.9 เทียบเท่า ...

เปรียญธรรม มี กี่ ประโยค

ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า "เปรียญ" (อ่านว่า ปะเรียน) บาเรียน ก็เรียก เป็นคำใช้เรียกภิกษุสามเณรผู้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และสอบไล่ได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ 3 ประโยค ขึ้นไปจนถึง 9 ประโยค เรียกว่า พระเปรียญ หรือพระเปรียญธรรม สามเณร ...

เรียนเปรียญธรรม กี่ปี

เปรียญธรรม หรือ ประโยค หมายถึงระดับชั้นการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย มี 9 ชั้น 8 ระดับ แบ่งเป็นชั้นประโยค 1-2 (ระดับที่ 1 ใช้เวลาเรียน 1-2 ปี) และระดับเปรียญ (ป.ธ. 3-9) (7 ระดับ) รวม 8 ระดับ

ใครเป็นสามเณรรูปแรกที่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

รู้หรือไม่? พระมหาไพรวัลย์ พส ขวัญใจชาวเน็ต ตอนยังเป็นสามเณร เคยได้ตำแหน่ง สามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยครูปแรกของ จ.สุโขทัย ในรอบ 200 ปี ซึ่งสามเณรที่จะสอบได้แบบนี้หาได้น้อยมากในเมืองไทย เรียกได้ว่าถ้าไม่เก่งจริง สอบไม่ได้แน่นอน ติดตามใน Attention Please.

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก